×

วัคซีนเข็มสาม – คำถามเรื่อง Moderna – เตียงผู้ป่วยเต็ม: วิกฤตซ้อนวิกฤตในวันที่โควิด-19 ระบาดหนัก

23.06.2021
  • LOADING...
วัคซีนเข็มที่ 3

ภายหลังจากมีรายงานการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในประเทศไทยที่ 51 ราย มีผู้ป่วยผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,174 ราย แยกเป็นทั่วไป 3,138 ราย และจากเรือนจำหรือที่ต้องขัง 36 ราย หากนับรวมตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนจะพบว่ามีผู้ป่วยสะสม 199,676 ราย รวมถึงข่าวการกลับมาติดเชื้อไวรัสอีกครั้งของบุคลากรทางการแพทย์หลังฉีดวัคซีน Sinovac จนครบสองเข็มไปแล้ว

 

ท่ามกลางวิกฤตรุมเร้า หลายคำถามผุดขึ้นมาในสังคมทั้งประสิทธิภาพของวัคซีนที่มี ตลอดจนทิศทางการจัดการดูแลผู้ป่วยของประเทศที่ดูจะเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตและยังไร้ทางออก 

 

  • วัคซีน Moderna และ สรยุทธ สุทัศนะจินดา

หนึ่งในคนที่ตั้งคำถามต่อวัคซีนอย่างตรงไปตรงมามากที่สุดจนกลายเป็นกระแสไปทั่วเมืองคือกรณีที่ สรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ประกาศข่าวที่ตั้งคำถามถึงการนำเข้าวัคซีนทางเลือก หรือวัคซีนที่ประชาชนจ่ายเงินเอง โดยก่อนหน้านี้ประเทศไทยนำเข้าวัคซีนหลักสองยี่ห้อคือ Sinovac กับ AstraZeneca ซึ่งปรากฏว่ามีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนทั้งประเทศ มิหนำซ้ำประสิทธิภาพของวัคซีน  Sinovac ก็ยังเป็นที่กังขาอย่างมากเนื่องจากมีผลข้างเคียงรุนแรง เช่น ทำให้แขนขาอ่อนเพลียหรือหมดสติ และอาจสร้างภูมิคุ้มกันไม่ได้ ดังที่ปรากฏเหตุการณ์ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากที่กลับมาติดไวรัสอีกหนหลังฉีดจนครบสองเข็มไปแล้ว ทำให้ประชาชนหลายคนเรียกร้องวัคซีนทางเลือกที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก เช่น Moderna, Pfizer ที่ต้องรอให้โรงพยาบาลเอกชนนำเข้ามาจัดจำหน่าย

 

อย่างไรก็ดี โรงพยาบาลเอกชนไม่สามารถนำเข้าวัคซีนทางเลือกเองได้เนื่องจากตัววัคซีนถูกผลิตขึ้นมาในภาวะเร่งด่วนของสากลโลก และแม้จะได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกแล้วแต่ก็มีโอกาสจะเกิดผลข้างเคียงต่างๆ ทำให้ผู้ผลิตจำเป็นต้องติดต่อกับรัฐของแต่ละประเทศให้เป็นผู้นำเข้าไปจัดจำหน่ายและรับผิดชอบต่อประชาชนด้วยตัวของรัฐเอง ดังนั้นกรณีของประเทศไทย วัคซีนต่างๆ ทั้งวัคซีนหลักและวัคซีนทางเลือกจึงต้องผ่านองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งจนถึงปัจจุบันมีวัคซีน 5 ยี่ห้อที่ทาง อย. อนุมัติแล้วได้แก่ Sinovac, AstraZeneca, Moderna, Sinopharm และ Johnson & Johnson

 

Moderna กลายเป็นวัคซีนที่หลายคนจับจ้องอย่างมากเนื่องจากมีการวัดผลแล้วพบว่ามีประสิทธิภาพว่าป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ถึง 94% และลดความรุนแรงของโรคได้ 100% หมายความว่าหากฉีด Moderna แล้ว นอกจากโอกาสแพร่เชื้อหรือรับเชื้อจะน้อยลงมากๆ ก็ยังทำให้ร่างกายเรียนรู้จะรับมือกับเชื้อโรค ไม่ป่วยจนเสียชีวิต ทำให้ Moderna กลายเป็นวัคซีนที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายๆ ประเทศ และโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งก็ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปลงทะเบียนเพื่อแสดงเจตจำนงในการฉีดวัคซีนทางเลือกยี่ห้อ Moderna นี้

 

และทั้งที่เป็นวัคซีนที่ผ่านการอนุมัติจาก อย. แล้ว แต่กลับพบว่ามีความล่าช้าในการจัดส่ง ทำให้ สรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ประกาศข่าวตั้งคำถามว่า “สถานการณ์บ้านเมืองมาถึงขนาดนี้ แต่ยังไม่มีความคืบหน้าวัคซีนทางเลือก ‘Moderna’ สมาคมโรงพยาบาลเอกชนสั่งจองไปที่ ‘องค์การเภสัชกรรม’ นานแล้ว 10 ล้านโดส ได้รับคำบอกเล่าจากโรงพยาบาลเอกชนแค่ว่า คาดการณ์จะเข้ามาตุลาคมนี้ ‘องค์การเภสัชกรรม’ เป็นองค์กรเดียวที่สั่งซื้อได้เพราะเขาขายให้รัฐ หรือตัวแทนรัฐเท่านั้น กฎหมายก็เปิดทางแล้ว พร้อมราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ อย. ก็รับรอง Moderna ไปนานแล้ว หลายคนไม่เข้าใจว่า ‘องค์การเภสัชกรรม’ ทำอะไรอยู่ กราบเลยครับ”

 

การออกมาตั้งคำถามของสรยุทธ ได้จุดประเด็นความจริงใจของภาครัฐในการจัดหาวัคซีนมาให้ประชาชนอย่างมาก เพราะจนถึงตอนนี้ก็เป็นเวลานานหลายเดือนแล้วที่ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะการระบาดจากระลอกที่สาม แต่กลับยังไม่มีการเยียวยาหรือดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง ดังนั้น ทางออกหนึ่งอย่างการจัดหาซื้อวัคซีนทางเลือกด้วยตัวเองโดยไม่ต้องรอรัฐบาลจัดหาให้จึงเป็นอีกทางที่หลายคนเฝ้ารอคอย แต่กลับยังมาไม่ถึงสักที ทำให้หลายคนตั้งคำถามต่อประสิทธิภาพการทำงานและความจริงใจของรัฐบาลชุดนี้

 

  • Sinovac 3 เข็ม (?) และกระแส #หยุดซื้อซิโนแวค

ขณะที่ นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัวที่มีใจความว่า วัคซีนที่มีการกระตุ้นภูมิต้านทานได้น้อยกว่า อาจต้องใช้การฉีดเข็มที่สามเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย และบอกว่า “จำเป็นต้องฉีดเข็มที่สามถึงจะได้ภูมิคุ้มกันระดับน้องๆ Pfizer” ทำให้ประชาชนหลายคนตั้งคำถามว่า เหตุใดรัฐไทยจึงไม่เลือกสั่งซื้อ Pfizer เข้ามาตั้งแต่แรก ทั้งยังไม่มีการเปิดดีลหรือเปิดสัญญาการซื้อขายวัคซีน Sinovac อย่างเป็นทางการ ทำให้หลายคนตั้งคำถามต่อความโปร่งใสของรัฐในภาวะวิกฤตเช่นนี้ โดยมีผู้เทียบเคียงสมการว่า วัคซีน Moderna นั้นมีประสิทธิภาพถึง 94.5% และต้องฉีดสองโดส คิดเป็นเงินโดสละ 757-1,120 บาท ส่วนวัคซีน Sinovac มีประสิทธิภาพ 50.4% ต้องฉีดสองโดส คิดเป็นเงินโดสละ 944 บาท

 

ล่าสุดเพจ Drama-addict โพสต์ว่า “โพสต์เปิดผนึกถึงนายก หยุดซื้อ Sinovac ได้แล้ว แล้วซื้อ Pfizer, Moderna, AZ, JJ มาเยอะๆ ทำไม่ได้ก็ยุบสภาลาออกไป” และมีผู้เข้าไปแสดงความเห็นด้วยจำนวนมาก หลายคนแสดงความต้องการอยากฉีดวัคซีนทางเลือกที่มีประสิทธิภาพและได้รับการรับรองอย่างกว้างขวางในสากลโลก และอีกหลายคนระบุว่า รอคิวฉีดวัคซีนหลักอย่าง Sinovac หรือ AstraZeneca มาหลายสัปดาห์แล้วแต่ยังไม่ได้คิวฉีดสักที ถึงอย่างไรก็ต้องออกจากบ้านไปทำงานเลี้ยงตัว จึงอยากได้วัคซีนทางเลือกที่อาจได้คิวฉีดเร็วขึ้น หรือมีทางเลือกในการจัดการชีวิตมากกว่านี้

 

ขณะที่ในทวิตเตอร์ ผุดแฮชแท็ก #หยุดซื้อซิโนแวค เพื่อสะท้อนไปถึงรัฐบาลว่าประชาชนต้องการวัคซีนอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้

 

  • โลกโซเชียลเผยวิกฤต ‘เตียงเต็ม’

ด้านเพจ ‘หมอแล็บแพนด้า’ หรือ ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ ระบุว่าเวลานี้มีผู้ติดโควิด-19 ทักมาขอความช่วยเหลือให้หาเตียงเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ป่วยที่นอนอยู่บ้านเนื่องจากโรงพยาบาลไม่มีเตียงรองรับมากพอ 

 

“อินบ๊อกซ์แตกมากครับ คนไม่ได้เตียงและนอนรอที่บ้านเพียบเลย จะวิกฤตแล้วนะผมว่า”

 

ขณะที่เพจ เส้นด้าย – Zendai ที่มีบริการรถรับส่งเคสผู้ป่วยติดโควิด-19 หรือความเสี่ยงสูงต่อการติดโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายก็ระบุว่า

 

“อยากให้ทุกคนที่รอเตียงอดทนอีกนิด ตอนนี้เตียงผู้ป่วยสีเหลืองเต็มเอี๊ยด ถ้าอาการเริ่มไม่ดี (หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก) กด 1669 เบอร์เดียวเท่านั้น อย่ารอเรา ย้ำอีกครั้งเส้นด้ายไม่ใช่บริการฉุกเฉิน เราขอโทษที่ทำได้เท่านี้จริงๆ” และ

 

“ตอนนี้ เตียงของ #บ้านเส้นด้าย เหลืออยู่เฉพาะผู้ป่วยสีเขียวเท่านั้น กำหนดเวลาการหาเตียง หากท่านกรอก Google Forms มาก่อน 18.00 น. จะได้รับการติดต่อกลับภายในวันถัดไป อดทนหน่อยทุกคน เป็นกำลังใจให้นะ”

 

ขณะที่เพจ ‘บันทึกเรื่องน่ารู้ by Dr.Adune’ โพสต์ในวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า ผู้ป่วยหนักกำลังจะล้นเตียงในกรุงเทพฯ เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยใหม่ไม่ลดลง มีคลัสเตอร์มากขึ้นเรื่อยๆ และตัวไวรัสก็กลายพันธุ์ดุร้ายกว่าเดิม ทำให้มีผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้นจาก 1,000 รายเป็น 1,500 ราย และวัคซีนที่ฉีดในตอนนี้ก็น้อยมาก ช่วยไม่ได้ “แถมผู้ป่วยหนักระลอกใหม่นี้มีสัดส่วนที่สูงซึ่งเป็นผู้สูงอายุและมีโรคเรื้อรัง และมีหลายรายที่สืบสาวหาต้นตอการรับเชื้อไม่ได้ชัดเจน ซึ่งหมายถึงเชื้อได้ระบาดซึมลึกเข้าไปในชุมชนทั่วไปแล้ว ไม่ได้อยู่แต่ในกลุ่มก้อนทั้งใหม่และเก่าที่โผล่ขึ้นมามากมายเป็นดอกเห็ดจนจดจำกันไม่หวาดไม่ไหว” และว่า “เช้าวันนี้ (เมื่อวาน) เตียงโดยรวม ของ กทม. ที่จัดไว้ 2,760 เตียง ใช้ไป 2,784 เตียง (โดยการต้องเสริมเตียงในหลายโรงพยาบาล)”

 

โดยล่าสุดทางเพจได้อัปเดตเพิ่มเติมว่า ปัญหาเรื่องเตียงไม่พอสำหรับคนไข้หนักนั้นยังมีอยู่ โดยผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มคนที่เจอเอง ไม่ได้มาจากการที่รัฐตรวจเชิงรุกนั้นมีจำนวนมาก สะท้อนว่ามีผู้ป่วยในชุมชนซึ่งอาจแพร่เชื้อไปให้ผู้อื่นแล้ว และเป็นไปได้ว่าในอีก 4-7 วันข้างหน้าจะมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างแน่นอน

 

ทั้งนี้ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ระบุว่าเวลานี้มีผู้รักษาตัวอยู่ 37,018 คน รักษาในโรงพยาบาล 11,366 คน โรงพยาบาลสนาม 25,652 คน อาการหนัก 1,526 คน ใช้เครื่องช่วยหายใจ 433 คน และรับว่าเวลานี้โรงพยาบาลรัฐแน่นไปด้วยผู้ป่วยหนักแล้ว เตียงเอกชนก็ไม่เพียงพอ และเล็งล็อกดาวน์เฉพาะจุด เช่น แคมป์ โรงงาน ที่อาจเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้ง่าย เป็นต้น

 

  • หรือเข็มที่สาม อาจต้องเป็นวัคซีนอื่นๆ

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เสนอแนะผ่านการโพสต์ข้อความบนเพจเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ว่า เริ่มเห็นปัญหาภูมิขึ้นน้อยถึงน้อยมากมาก ทำให้คิดว่าประเทศไทยอาจต้องการเพิ่มการฉีดวัคซีนเข็มที่สาม โดยเลือกใช้ยี่ห้อ Pfizer และ Moderna เตรียมรับมือกับโควิด-19 ที่กลายพันธุ์ ว่าอาจต้องมีการฉีดวัคซีนที่มีตอนนี้ไปก่อน ใครที่ได้ฉีด Sinovac เตรียมตัวฉีดเข็มที่สามได้เลย โดยอาจเป็นยี่ห้อ Pfizer หรือ Moderna จะเหมาะสมกว่า เนื่องจากสายพันธุ์เบตาซึ่งเป็นสายพันธุ์ใหม่นั้น Pfizer สองเข็มสามารถกันการติดเชื้อได้ 72-75%ต์ ขณะที่สายพันธุ์เดลตา Pfizer กันการติดเชื้อได้ 79-96%

 

โดย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ได้โพสต์ด้วยว่า “ขนาดไวรัสบ้านๆ ขณะนี้ ห้องผู้ป่วยอาการหนักไอซียูอัตคัดขาดแคลนกันไปทั่ว ชนิดยี่ห้อที่ใช้ยังคงสร้างเกราะป้องกันการติดเชื้อ และป้องกันอาการได้ไม่ดีนักกับวายร้ายใหม่เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เก่าแบบบ้านๆ ที่มี” และ “เป็นเหตุผลที่ในที่สุดต้องเตรียมเข็มที่สามที่ไม่ใช่ยี่ห้อเดิมที่มีอยู่”

 

ทั้งหมดนี้เป็นความเคลื่อนไหวเรื่องการแจกจ่ายวัคซีนอย่างทั่วถึง ท่ามกลางสถานการณ์ที่เริ่มรุนแรงและหนักข้อขึ้นทุกที ทำให้น่าจับตาว่ารัฐบาลไทยจะมีท่าทีอย่างไรในการจัดการต่อจากนี้ เพื่อเยียวยาประชาชนและประเทศให้พ้นจากวิกฤตนี้โดยไวที่สุด

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising