×

เซ่นพิษเศรษฐกิจ-ส่งออกซบ การจ้างงานทั่วประเทศไตรมาส 3 ชะลอตัวหนักสุดรอบ 5 ไตรมาส ผู้เสมือนว่างงานพุ่งเฉียด 25%

27.11.2023
  • LOADING...
การจ้างงาน

สภาพัฒน์เผยการจ้างงานไตรมาส 3 เพิ่มเพียง 1.3% ชะลอตัวหนักสุดรอบ 5 ไตรมาส เหตุเศรษฐกิจซบเซา-ส่งออกอ่อนแอ แม้อัตราการว่างงานลดลงเหลือ 0.99% แต่จำนวนผู้เสมือนว่างงานพุ่งเฉียด 25%

 

วันนี้ (27 พฤศจิกายน) ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวในงานนำเสนอรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 3/66 โดยพบว่าการจ้างงานในไตรมาสดังกล่าวปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าเพียง 1.3% โดยผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 40.1 ล้านคน นับเป็นการชะลอตัวหนักสุดในรอบ 5 ไตรมาส หรือหนักที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 2/65 ซึ่งตอนนั้นการจ้างงานเติบโตเพียง 0.3% เท่านั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการผลิตภาคอุตสาหกรรม (ส่วนใหญ่อยู่ในภาคส่งออก) มีการจ้างงานลดลง

 

ย้อนกลับไปสัปดาห์ก่อน สภาพัฒน์เปิดเผยว่า GDP ไทยไตรมาส 3 โตเพียง 1.5% จากปีก่อน นับเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำสุดของปีนี้ เนื่องมาจากการส่งออกที่อ่อนแอและการใช้จ่ายของรัฐบาลที่ลดลง

 

สำหรับตัวชี้วัดด้านตลาดแรงงานอื่นๆ ในไตรมาส พบว่า อัตราการว่างงานอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด โดยลดลงมาอยู่ที่ 0.99% หรือมีผู้ว่างงาน 4.01 แสนคน

 

สำหรับคำจำกัดความ ‘การว่างงาน’ ของไทยค่อนข้างแคบ โดยผู้ว่างงานจะหมายถึงผู้ตอบแบบสอบถามว่าไม่ได้ทำงานแม้เพียงชั่วโมงเดียวใน 1 สัปดาห์ที่สำรวจเท่านั้น

 

อย่างไรก็ตาม ชั่วโมงการทำงานลดลงเล็กน้อย โดยภาพรวมอยู่ที่ 42.4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และเอกชนอยู่ที่ 46.1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จากจำนวนผู้ทำงานล่วงเวลาที่ลดลง 2.0% ขณะที่ผู้เสมือนว่างงานเพิ่มขึ้น 24.9%

 

ทั้งนี้ ผู้เสมือนว่างงานคือผู้มีงานทำ 0-20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในภาคเกษตร และ 0-24 ชั่วโมงต่อสัปดาห์นอกภาคเกษตร ส่วนผู้ทำงานล่วงเวลาคือผู้มีงานทำที่ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X