ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานตัวเลขหนี้ครัวเรือน ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2563 อยู่ที่ระดับ 13.76 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP ที่ 86.6% ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หรือสูงสุดในรอบ 18 ปีนับตั้งแต่เก็บสถิติมา
สำหรับตัวเลขหนี้ครัวเรือนในระดับ 13.76 ล้านล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2563 ถือเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ระดับ 13.25 ล้านล้านบาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้นราว 5.1 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.84%
ด้านรายงานการประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทยปี 2563 ของ ธปท. ระบุว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการปิดเมือง ทำให้ภาคครัวเรือน ซึ่งมีหนี้ในระดับสูงอยู่เดิมมีความเปราะบางทางการเงินเพิ่มขึ้น ผ่านการจ้างงานที่ลดลงและการปรับลดชั่วโมงการทำงานของภาคธุรกิจ ส่งผลให้รายได้ของครัวเรือนลดลงอย่างฉับพลัน โดยข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ในไตรมาส 2 ปี 2563 การจ้างงานในภาคการผลิตและภาคบริการลดลงกว่า 706,169 คน
ภายหลังคลายมาตรการปิดเมือง หลายภาคธุรกิจทยอยฟื้นตัวและกลับมาจ้างงานเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3
อย่างไรก็ตาม หลายภาคธุรกิจที่ฟื้นตัวน้อย เช่น ธุรกิจที่พักแรม ยังปรับลดการจ้างงานลงต่อเนื่อง ซึ่งธุรกิจดังกล่าวมีสัดส่วนของลูกจ้างรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน สูงถึง 77% ซึ่งลูกจ้างกลุ่มนี้ถือเป็นครัวเรือนกลุ่มเสี่ยงที่มีความสามารถในการรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจต่ำ และอาจมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น
ด้วยเหตุนี้ทางการจึงต้องมีมาตรการช่วยเหลือเรื่องรายได้และด้านสภาพคล่อง เช่น โครงการชดเชยประกันสังคม โครงการเราไม่ทิ้งกัน มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเพื่อบรรเทาภาระหนี้ของครัวเรือน ซึ่งช่วยบรรเทาผลกระทบต่อคุณภาพสินเชื่อของสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ของกลุ่มลูกจ้างดังกล่าวได้
อย่างไรก็ตาม หลังสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือ ภาคครัวเรือนอาจต้องประสบปัญหาการชำระคืนหนี้ โดยจากผลการศึกษาข้อมูลเครดิตบูโรของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่า หากภาวะเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวและไม่มีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 โดยเฉพาะในไตรมาส 4 ของปี 2563 จะมีผู้เข้ามาตรการช่วยเหลือของภาครัฐที่อาจจะมีปัญหาชำระหนี้จำนวน 2.1 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษานี้ยังไม่ได้รวมมาตรการพักชำระหนี้ระยะที่ 2
ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ต่อเนื่องกับสถาบันการเงิน เนื่องจากภาคครัวเรือนส่วนใหญ่มีสินเชื่อมากกว่า 1 บัญชี และกู้ยืมจากผู้ให้บริการทางการเงินมากกว่า 1 แห่ง จึงต้องติดตามสถานการณ์ของลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวใกล้ชิด และต้องมุ่งเน้นมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ครัวเรือนที่ตรงจุดและครบวงจรต่อไป เช่น การเพิ่มรายได้ผ่านการกระตุ้นการท่องเที่ยว การปรับโครงสร้างหนี้ โครงการคลินิกแก้หนี้ และการสร้างวินัยทางการเงิน
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล