×

396 นักวิชาการนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ และสื่อสารมวลชน ออกแถลงการณ์ให้ยกเลิกข้อกำหนดห้ามเสนอข่าว ชี้คลุมเครือ สร้างความหวาดกลัว

โดย THE STANDARD TEAM
01.08.2021
  • LOADING...

วันนี้ (31 กรกฎาคม) นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ และสื่อสารมวลชน ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ยกเลิกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่ง

พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 29) โดยมีรายละเอียดระบุว่า

 

ตามที่รัฐบาลได้ออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 29) ห้ามเสนอข่าวหรือข้อความที่อาจทำให้ประชาชนหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และกำหนดให้สํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สํานักงาน กสทช.) แจ้งผู้รับใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ตให้ตรวจสอบเลขที่อยู่ไอพี (IP Address) ที่มาของข้อความหรือข่าวสารในลักษณะตามข้อกำหนดดังกล่าว ก่อนส่งเรื่องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินคดีต่อไป โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 นั้น

 

กลุ่มนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ และสื่อสารมวลชน ดังมีรายนามท้ายแถลงการณ์นี้ ขอคัดค้านและขอให้รัฐบาลยกเลิกการประกาศใช้ข้อกำหนดดังกล่าวด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

 

​​1. เครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่หลักของการสื่อสารในยุคดิจิทัล การจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของผู้ใช้โดยไม่มีหลักการหรือแนวปฏิบัติที่ชัดเจนย่อมเป็นภาพสะท้อนของการขาดธรรมาภิบาล (Governance) อันเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐ ข้อกำหนดฉบับนี้เห็นได้ชัดเจนว่าขาดหลักนิติธรรม เพราะนอกจากมีความคลุมเครือในบทบัญญัติแล้ว ยังให้อำนาจรัฐในการตีความว่าเนื้อหาใดเข้าข่ายบิดเบือน สร้างความหวาดกลัว หรือสร้างความเข้าใจผิด อาจส่งผลให้เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติตามอำเภอใจ และกระทบถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชนซึ่งเป็นหลักพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย 

 

ข้อกำหนดฉบับนี้ยังให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐในการปิดกั้นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของผู้ถูกกล่าวหาโดยไม่มีโอกาสชี้แจง โต้แย้งและร้องเรียนประการใดๆ ได้ ขณะเดียวกันการสั่งการไปยังสํานักงาน กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานขององค์กรอิสระให้เป็นผู้สนองนโยบายย่อมเป็นการแทรกแซง และกระทบถึงความเป็นอิสระขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญอย่าง กสทช. ส่งผลให้ขาดธรรมาภิบาลต่อผู้รับใบอนุญาตอย่างผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต และประชาชนอีกทอดหนึ่งด้วย 

 

​​อนึ่ง การอภิบาลอินเทอร์เน็ตเป็นแนวทางสำคัญในการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตในระดับสากล ซึ่งองค์การระหว่างประเทศ และองค์การระดับพหุภาคีระดับนานาชาติอย่างสหประชาชาติ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) องค์กรผู้ดูแลทรัพยากรโดเมนเนมอินเทอร์เน็ตสากล (ICANN) และเวทีอินเทอร์เน็ตภิบาลสากล (IGF) ได้สนับสนุนการสร้างการอภิบาลอินเทอร์เน็ตในด้านเสรีภาพในการแสดงออกและการคุ้มครองตัวกลางออนไลน์มาโดยตลอด หากข้อกำหนดนี้มีผลบังคับใช้จริงจะทำให้ประเทศไทยถูกมองว่ามีระบอบอันขาดธรรมาภิบาลและไม่เคารพสิทธิมนุษยชนในด้านการสื่อสาร 

 

​​2. ภายใต้สถานการณ์การระบาดใหญ่ของโรคโควิด และการล็อกดาวน์ในปัจจุบัน ซึ่งจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในด้านต่างๆ ผู้คนขาดโอกาสในการได้พบปะพูดคุยและมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกันอย่างเห็นหน้าค่าตา ดังนั้นจึงต้องอาศัยพื้นที่ออนไลน์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวไปโดยปริยาย ด้วยความเครียด ความกดดัน และความไม่แน่นอนของการดำรงชีวิตในภาวะโรคระบาด ย่อมทำให้มีการแสดงออกทางอารมณ์มากกว่าปกติ ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยทรัพยากรที่มีจำกัดในการจัดการกับการระบาดอย่างร้ายแรงของโรค ประชาชนและภาคส่วนต่างๆ จำเป็นต้องอาศัยระบบอาสาสมัครในรูปแบบต่างๆ และการร่วมด้วยช่วยกันของปัจเจกบุคคลและองค์กรในการติดตามตรวจสอบความเป็นไป และให้ข้อเสนอแนะหรือข้อคิดเห็นต่อนโยบายหรือกิจกรรมต่างๆ ในการควบคุมโรค การสังเกตการณ์จากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดอาจไม่ได้ถูกต้องเที่ยงตรงทั้งหมด แต่ก็ไม่ควรถูกกล่าวหาและประเมินค่าว่าเป็นข่าวปลอมหรือข้อมูลเท็จเสมอไป เพราะอาสาสมัครหรือผู้ที่อยู่ในสถานการณ์จำนวนมากอาจไม่ได้มีเจตนาที่จะสร้างข่าวปลอมหรือข้อมูลเท็จแต่ประการใด   

 

เมื่อมีการออกข้อกำหนดที่คลุมเครือและมีโทษทางอาญากำกับอยู่ย่อมส่งผลในการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว และทำให้วัฒนธรรมอาสามัครและจิตวิญญาณในการร่วมด้วยช่วยกันต้องถูกสั่นคลอนไป นอกเหนือไปจากความรู้สึกไว้วางใจและศรัทธาของสาธารณะ (Public Trust) ต่อรัฐบาลในฐานะผู้ที่มีอำนาจตรงในการจัดการกับภาวะโรคระบาดแล้ว 

 

​​3. การกำกับดูแลตนเองทั้งในระดับผู้ใช้และผู้ให้บริการเนื้อหาออนไลน์เป็นแนวทางการกำกับดูแลเนื้อหา ซึ่งเป็นที่ยอมรับและสอดคล้องกับพลวัตของแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์มากที่สุด แทนที่รัฐบาลจะเสียทรัพยากรในการดำเนินคดีกับผู้ใช้สื่อออนไลน์ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 65 ของประชากรทั้งหมด ควรจะเปลี่ยนไปใช้แนวทางการให้ความรู้ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact-Checking) หรือการสร้างวัฒนธรรมความรู้เท่าทันสื่อและข่าวสารดิจิทัล (Digital Media and Information Literacy) มากกว่า เพราะจะสามารถติดอาวุธและเสริมพลังให้ผู้ใช้ได้ในระยะยาว นอกจากนี้ยังอาจใช้วิธีการรณรงค์ไม่ให้มีผู้ลงโฆษณาสนับสนุนทางการเงินเพื่อตัดเส้นทางรายได้ของสื่อหรือผู้ให้บริการเนื้อหาออนไลน์ที่ขาดจริยธรรมและนำเสนอเนื้อหาปลอม เป็นเท็จ และบิดเบือนมากกว่าการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการดำเนินคดีอาญาแก่ประชาชน 

 

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณายกเลิกการบังคับใช้ข้อกำหนดฉบับดังกล่าวโดยด่วนที่สุด

 

คลิกดูรายชื่อและรายละเอียดแถลงการณ์: https://drive.google.com/file/d/1bmxTtCsFbmPY-VktBF6ujskB91svXpTY/view?usp=sharing

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X