×

สะกดคำว่า ‘ตาย’ ในขวบวัยที่ 33 ของเต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์

20.11.2017
  • LOADING...

     ก่อนหน้าจะถึงขวบวัยที่ 33 เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ เพิ่งผ่านการกำกับภาพยนตร์เรื่องยาวมาเพียง 4 เรื่องคือ 36 (2555), Mary is Happy, Mary is Happy. (2556), The Master (2557), ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย.. ห้ามพัก.. ห้ามรักหมอ (2558) และ Die Tomorrow กำลังจะเป็นเรื่องที่ 5 ซึ่งมันจะว่าด้วยแง่มุมของ ‘ความตาย’

     อย่างที่ทราบกันดีว่า ‘ความตาย’ นั้นเป็นกฎธรรมชาติที่แสนจะธรรมดา ถ้าอย่างนั้นก็ควรจะเล่าที่มาและที่ไปของDie Tomorrowอย่างง่ายดายที่สุด

     Die Tomorrow จะว่าด้วยเรื่องราวของความตาย โดยหยิบเอาแรงบันดาลใจมาจาก  6 เหตุการณ์ตายประหลาดที่เป็นข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ เพื่อบอกเล่าว่า ‘ก่อนจะถึงวันสุดท้ายของชีวิต มันมักเป็นวันธรรมดาวันหนึ่ง’ และเมื่อคิดให้ดี เราต่างก็ไม่รู้ว่า ‘พรุ่งนี้อาจจะเป็นวันสุดท้ายที่ได้ใช้ชีวิต’ ก็เป็นได้?

     สิ่งที่น่าสนใจคือทำไมผู้กำกับหนังวัยต้นหลักสามถึงสนใจใน ‘ความตาย’ ตกลงความตายกระทบความอยากรู้อยากเล่าของเขาจากตรงไหนจนถึงขั้นต้องหยิบมันขึ้นมาทำเป็นหนัง ทั้งที่น่าจะมีอีกหลากหลายแง่มุมในชีวิตให้เลือกทำ THE STANDARD จึงชวนนวพลมาสะกดคำว่า ‘ตาย’ ให้ฟัง เพื่อที่เราจะได้เข้าใจ ‘ความหมาย’ ของมันในแง่มุมที่เขาเรียนรู้และอยากเล่าให้มากขึ้น

 

 

ผู้กำกับวัยต้น 30 ที่สนใจในความเป็น ‘ความตาย’

     ความจริงมันคิดมาเรื่อยๆ เหมือนตอนอายุยี่สิบปลายๆ ขึ้นสามสิบ มันเจอเรื่องพวกนี้บ่อย ไปงานศพคนโน้นคนนี้ที่อาจไม่ได้ใกล้ชิดกับเรามาก คือไปงานศพสลับกับงานแต่งงาน แล้วพอไปบ่อยขึ้นก็รู้สึกว่ามันใกล้ตัวเรามากขึ้น ก็เลยเริ่มคิด ความสนใจค่อยๆ เกิดขึ้นทีละนิดทีละหน่อย อย่างเรื่องง่ายๆ เช่น แม่ชอบมาบอกว่าเอกสารของบ้านเราทั้งหมดอยู่ในกล่องตรงนี้นะ หรือถ้าแม่ไม่อยู่ บัญชีนี้อย่าลืมไปเปลี่ยนชื่อนะ ฯลฯ คือเหมือนเขาก็พยายามละไว้ แต่ก็พูดให้รู้

     เราเองก็ถึงวัยที่ต้องรับผิดชอบ แม่ก็ถึงวัยที่รู้ตัวว่าตัวเองแก่ พอถึงจุดหนึ่งมันก็จะต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ที่คิดไปมากกว่าเรื่องบัญชีอยู่ที่ไหน มันคือเรื่องแบบ.. วันหนึ่งเราก็จะไม่ได้อยู่ด้วยกันเนอะ

     แล้วพออยู่กับมันมากขึ้น เราก็เริ่มเห็นเคสโน่นนี่นั่น อุบัติเหตุหรืออะไรต่างๆ แต่สิ่งที่จะชอบนึกถึงมากที่สุดคือ ‘หนึ่งวันก่อนหน้านั้นมันเกิดอะไรขึ้น’ ยกตัวอย่าง จอห์น เลนนอน ถูกยิงเสียชีวิต ข่าวก็จะเล่าว่าในวันนั้นก่อนจะถูกยิงเกิดอะไรขึ้น เขาไปถ่ายภาพปกกับนิตยสาร Rolling Stone ที่เป็นภาพเลนนอนเปลือยคุดคู้กอดโยโกะ โอโนะ ซึ่งถ่ายไปจนเสร็จก็ไม่มีอะไร จนมาถึงตอนดึกๆ ของวันนั้นเขาก็โดนยิง ง่ายๆ อย่างนั้นเลยว่ะ แฟนคลับชอบผลงานมาก (มาร์ก เดวิด แชปแมน ผู้ที่ลั่นไกปืนใส่เลนนอนจนเสียชีวิต) ถ้างั้นตายซะเถอะ แล้วชีวิตก็จบลงง่ายๆ อย่างนั้นเลย แค่เดินผ่านตรอกมืดๆ แคบๆ เพื่อจะเดินเข้าบ้าน ไม่มีสัญญาณอะไร เราก็เลยรู้สึกว่าเหตุการณ์วันสุดท้ายก่อนจะตายมันเป็นสิ่งน่าสนใจ เพราะไปๆ มาๆ มันก็เป็นวันสำคัญที่สุดในชีวิตเหมือนกัน เพียงแต่เราไม่รู้ว่าจะเป็นวันนั้น

     ผมรู้สึกว่าเวลาเราคิดถึงความตาย สุดท้ายแล้วมันสะท้อนถึงชีวิตมากกว่า เพราะความตายมันกำหนดความหมายของชีวิต ความตายมันคืออยู่ดีๆ ก็มีคนบอกเราว่าชีวิตมีจำกัด เหมือนทรัพยากรที่มีจำกัด ยูต้องบริหารนะ ยูจะใช้ยังไงก็แล้วแต่ แต่วันหนึ่งมันจะหมด คราวนี้ก็อยู่ที่ว่าใครจะใช้ชีวิตในส่วนของตัวเองยังไง

     คนเราก็เลยต้องทำงานเพื่อไม่ให้ตาย บางคนบอกว่าเราตายไม่ได้ อีกคนไปตายแทนไหม บางคนไม่สนใจเรื่องความตาย

     สภาวะนี้มันกำหนดพฤติกรรมและวิธีคิดทั้งหมดของคน เช่น บางคนเขาไม่สนใจเรื่องความตาย เขาอาจจะต้องการสละชีวิตเพื่อความสุขไปเลยก็ได้ ผมเลยรู้สึกว่าการทำหนังเรื่องความตาย จริงๆ แล้วคือการทำหนังเรื่องชีวิตแค่นั้นเอง  

 

ถ้านี่คือ ‘ไฟนอลฟิล์ม?’ มันจะเป็น ‘ไฟนอลฟิล์ม’ ที่รักที่สุด พอใจที่สุด  

     โอ๊ย ผมพอใจมากเลยครับ นี่เป็นครั้งแรกที่ผมรู้สึกว่าทำเสร็จแล้วคือจบ ที่เหลือคือการไปโรงหนังเพื่อหาสถานที่ฉายให้คนมาดูหนังเราได้ ผมบอกไม่ได้ว่านี่คือหนังที่ดีหรือเปล่า แต่ผมคิดว่ามันน่าจะพูดคุยกับคนได้มั้ง

     ผมก็ไม่อยากเรียกว่าเป็นชิ้นงานศิลปะอะไร แต่มันคล้ายๆ ว่าเราทำของเสร็จแล้วก็ลองไปโชว์ให้คนอื่นดู แต่กับเรื่องก่อนๆ มันอาจมีโกลบางอย่างที่ต้องพิชิต หรืออย่างเวลาทำโฆษณา เราก็ต้องคิดว่าของแบบนี้มันจะเวิร์กกับกลุ่มนี้ไหม กลุ่มนั้นจะชอบไหม ทำยังไงให้ชอบทั้งสองกลุ่มได้บ้าง มีการดีไซน์มาประมาณหนึ่ง

     แต่กับเรื่องนี้ ผมรู้สึกว่าถ้าคอนเซปต์มันคือ ‘ไฟนอลฟิล์ม’ เราก็เลยรู้สึกขึ้นมาว่าอยากชวนนักแสดงเก่าๆ ที่เคยทำงานร่วมกันได้มารวมตัวกันในหนังเรื่องนี้ โดยมีเราเป็นคนบันทึกเขาไว้ มันก็เหมือนเป็นการบันทึกความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเขา มีทีมงานที่เรารู้จักก็บันทึกไว้ด้วยกัน ซึ่งถ้าเป็นไฟนอลฟิล์มจริงๆ มันจะคอมพลีต เพราะมันมีตั้งแต่ เต้ย-จรินทร์พร จุนเกียรติ (บันทึกกรรม ตอน มั่นใจว่าคนไทยเกิน 1 ล้านคนเกลียดเมธาวี, 2554) จนจบที่ ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ (ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย.. ห้ามพัก.. ห้ามรักหมอ, 2558) ข้อไม่ดีคือเราเชิญไม่ได้ทุกคน หมายถึงว่าสคริปต์ไม่ได้มีเยอะขนาดจะสามารถเอาทุกคนมาเล่นได้ หรืออย่าง ใหม่-ดาวิกา โฮร์เน่ จริงๆ แล้วเขาไม่ได้ติดที่จะมาเล่นนะฮะ แล้วเราก็รู้อยู่ก่อนแล้วว่าน้องเขาก็อยากลองการแสดงโน่นนี่นั่น แต่ผมพยายามอ่านสคริปต์ว่ามีอะไรที่เหมาะกับเขาไหม แต่ดูแล้วไม่รู้จะลงยังไง เลยไม่เป็นไร เอาไว้เรื่องต่อไป ถ้ายังไม่ตาย (หัวเราะ) จะชวนมาเล่นหนังอินดี้

     คือเวลาทำหนังเราก็ไม่ได้อยากจะแบบ… ต้องมีคนนี้เพื่อจะได้มาให้ครบชุด แต่เราดูตามสคริปต์ว่าดีไหม เพราะเรารู้สึกว่าอีกครึ่งหนึ่งนอกจากความเป็นส่วนตัว มันก็ควรจะเป็นภาพยนตร์ที่คนไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้ว่านี่คือนักแสดงที่เคยร่วมงานกับเราเมื่อสมัยก่อน คุณสามารถดูหนังไปตามปกติได้เหมือนกัน ผมก็เลยพยายามเลือกตัวแสดงให้เหมาะ บางคนที่ไม่เคยทำงานด้วยกันอย่าง พลอย-รัตนรัตน์ เอื้อทวีกุล (เราสองสามคน, 2553 และ ห้องหุ่น, 2557) กับพาย-กัญญภัค วุธรา (นักร้องนำวง My Life As Ali Thomas) ก็ชวนมา

 

เต้ย-จรินทร์พร จุนเกียรติ ในผลงาน บันทึกกรรม ตอน มั่นใจว่าคนไทยเกิน 1 ล้านคนเกลียดเมธาวี ในปี 2554

 

 

The Personal Film

     ผมรู้สึกว่าหนังทุกเรื่องที่ทำมันมีความเป็นส่วนตัวหมดแหละ คือมันจะมาจากจุดต่างๆ ของชีวิต เช่น 36 ก็มาจากสมัยหนึ่ง Mary is Happy, Mary is Happy. อาจจะมาจากชีวิตมัธยม The Master ก็เป็นเรื่องจริงที่เรารู้จัก ‘พี่คนนั้น’ ฟรีแลนซ์ฯ คือช่วงชีวิตวัยสามสิบสัก 2-3 ปีก่อนที่เราจะทำงานหนัก หนังทุกเรื่องมันเลยมีความเป็นส่วนตัวหมด เพียงแต่ Die Tomorrow อาจจะส่วนตัวกว่าทุกเรื่อง เพราะจริงๆ มันพูดถึงว่าเรามีคอมเมนต์ยังไงกับชีวิตเรา

     ย้อนกลับไปตรงที่ผมบอกว่าความตายมันสะท้อนถึงวิธีการมองชีวิต ฉะนั้นพอทำหนังเรื่องนี้ก็แปลว่ามันสะท้อนวิธีการมองชีวิตของเรา รวมไปถึงการมีชีวิตของเราด้วยเหมือนกัน ผมก็เลยรู้สึกว่ามันส่วนตัว

     เพราะฉะนั้นพอพูดถึงโปรเจกต์ Die tomorrow จะรู้สึกว่า ‘ก็ไม่แน่นะ เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องสุดท้ายก็ได้’ เหมือนเป็นการพูดว่าชีวิตมันไม่มีอะไรแน่นอน แล้วโชคดีที่มันเป็นหนังอินดี้ แปลว่าเราทำอะไรก็ได้ มันเลยยิ่งส่วนตัวขึ้นไปอีก เพราะไม่มีความกังวลอะไร มันเป็นหนังที่เสร็จแล้วคือเสร็จ ระหว่างทางก็ค่อยๆ ถ่ายกันไปสบายๆ ปกติเวลาทำหนังหรือโฆษณาจะมีความแบบ เฮ้ย เดี๋ยวไม่ทัน! (หัวเราะ) แต่อันนี้มันเหมือนเป็นการบำบัดแบบหนึ่ง คล้ายๆ กับศิลปินที่บางทีต้องมีเซกชันมาวาดเล่นโดยที่ไม่ต้องคิดอะไรมาก ไม่ต้องคิดว่าเป็นงาน หนังเรื่องนี้ก็คล้ายๆ กัน ลองออกกอง 9 โมงเช้า เลิก 6 โมงเย็น สบายๆ ถ่ายไปแก้ไป รู้สึกว่ามันเหมือนไปปิกนิก ตีแบดกันนิดนึง ซ้อมวันนึง ถ่ายวันนึง

     แต่นี่คือมุมมองของผมนะ นักแสดงอาจจะบอกว่า สัด! กูเหนื่อย แม่งถ่ายลองเทก กูเหนื่อยนะเว้ย กูต้องจำบท (หัวเราะ) อีกอย่างคือมันได้อีกฟีลลิ่งหนึ่ง คือเป็นงานเล็กๆ ส่วนตัวๆ เพียงแต่มันเป็นเรื่องส่วนตัวที่ผมรู้สึกว่าสามารถแชร์กับคนอื่นได้ คล้ายๆ สเตตัสในเฟซบุ๊กที่ความจริงมันก็ส่วนตัว แต่เราสามารถแชร์กับคนอื่นได้

 

 

สาระจากความตาย  

     สุดท้ายแล้วเราพบว่าความตายไม่ใช่เรื่องของคนแก่ แต่มันคือ anytime ความจริงจะคุยกันตอน 7 ขวบก็ได้ เพราะยูอาจจะตายตอน 8 ขวบก็ได้นะ ความตายมันอะไรก็ได้เลยจริงๆ

     ในความเชื่อของคนทั่วไป เราจะคิดว่าความตายคือสิ่งที่ไกลมาก คงจะต้องแก่ก่อนมั้งแล้วค่อยคิด แต่ในความเป็นจริงแล้วคนที่ตายก็ไม่ได้แก่กันสักเท่าไร บางทีอาจมีอุบัติเหตุหรืออะไรก็ตามเกิดขึ้นกับชีวิต ความตายมันเลยสามารถคุยในช่วงอายุไหนก็ได้

     ผมไม่รู้ว่านะว่าช่วงอายุ 30 กลางๆ ของคนอื่นเขาคิดอะไรกัน แต่นี่คือเรื่องใหม่สำหรับเรา มันคือช่วงวัยที่แม่เดินมาบอกว่าเก็บเอกสารโน่นนี่ไว้ตรงนี้นะ มันถึงช่วงวัยที่เราไปงานศพบ่อยจัง มันคงเป็นช่วงวัยที่ทุกคนใช้ชีวิตเต็มที่ ผาดโผนกันมาประมาณหนึ่ง จนกระทั่งมาถึงช่วงวัย 30 ที่คงเป็นมาร์กสุดท้ายแล้วเหมือนกันนะก่อนจะไปใช้ชีวิตครอบครัวหรืออะไรก็ตาม คือความเสี่ยงเยอะขึ้น เป็นโรคง่ายขึ้น ฯลฯ

     อย่าง 2 ปีก่อนตอนที่ถามพี่เต๋อ (ฉันทวิชช์ ธนะเสวี) เรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าความตายจะเป็นเรื่องนี้ที่ตัวเองสนใจ แทนที่จะเป็นเรื่องเป้าหมายชีวิตของคนช่วงอายุ 35 คืออะไรครับ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าคนเราไม่ต้องมีเป้าหมายชีวิตตอนอายุ 35 ก็ได้นะ เพราะรู้ได้ยังไงว่าเราจะอยู่ถึงตอนนั้น ที่ผมพูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าเราไม่จำเป็นต้องใช้ชีวิตแบบมีแผน คือมีแผนก็ได้ แต่อาจไปไม่ถึงก็ได้

     กลายเป็นว่าเรากลับมาคิดถึง ‘วันนี้’ มากขึ้น เราเชื่อว่าความตายเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ และวันนี้ ตอนนี้สำคัญสุดว่ะ ซึ่งมันเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการทำงานไปเยอะเหมือนกันนะ

     หมายถึงพอคิดเรื่องนี้เยอะๆ หรือพอทำหนังเรื่องนี้ผ่านไปแล้ว เรารู้สึกว่าอยากให้แต่ละวันเป็นวันที่เรานอนหลับสบาย เพราะสมัยก่อนทำงานเยอะๆ มันจะปวดหัว บางทีจบวันแล้วนอนไม่หลับ กังวลโน่นนี่นั่น และมีวันที่พอส่งงานเสร็จแล้วก็นอนแบบไม่มีอะไรต้องคิด พอได้เจอแล้วเรารู้สึกว่า โอ้โห ชีวิตแม่งแค่นี้เองว่ะ นั่นคือสภาวะที่ดีที่เงินซื้อไม่ได้

     พอเจอแล้วเราก็เกิดคำถามว่าเราจะทำให้มันเกิดขึ้นทุกวันได้ไหม ก็เลยพยายามจะปรับไดเรกชันการทำงานหรือการใช้ชีวิตให้เป็นแบบนั้น อย่างเรื่องการรับงาน เราพยายามทำทีละงาน ข้อไม่ดีคือรับงานได้น้อย ก็จะจนๆ หน่อย (หัวเราะ)

     ผมไม่ได้บอกว่าวิธีนี้ดีที่สุด แต่เราพยายามปรับให้เข้ากับระบบชีวิตของตัวเอง สมมติว่าชีวิตผมเสือกมีหนี้หรือภาระอะไรที่ต้องรับผิดชอบ ผมอาจจะยังคิดแบบนี้ไม่ได้ แต่ผมก็จะพยายามคิดว่าจะทำยังไงได้บ้าง เราอาจจะทำงานหนัก แต่เป็นงานที่โอเคหน่อย หรือเป็นงานที่ทำให้เรารู้สึกดีตอนนอน เราอาจจะยังทำงานหนัก แต่มันจบด้วยความรู้สึกที่ดี ต่อให้พรุ่งนี้เรา ‘ตาย’ ถึงงานมันไม่เสร็จ เราก็ยังจบวันด้วยการทำงานที่เราชอบ งานที่เราเชื่อ หรือทำงานที่เรารักที่สุด ต่อให้มันยังไม่เสร็จ แต่อย่างน้อยมันก็เป็นวันที่โอเค

     เพราะว่าทั้งชีวิตมากกว่า 50% มันคือการทำงานของผมนะ ฉะนั้นเราก็จะพยายามหาสิ่งแวดล้อมที่ดีสำหรับการทำงาน

     ผมไม่ได้หมายความว่าการทำงานที่ดีคืองานที่ไม่เหนื่อย คือมันเหนื่อย ทุกวันนี้ก็เหนื่อย แต่มันเป็นฟีลลิ่งที่ดี เราเอ็นจอยที่จะทำ

 

 

กลัวตาย?

     อาจจะตอบว่าไม่กลัวก่อน ด้วยความที่คิดว่ามันเป็นธรรมชาติ แล้วเราก็ผ่านการทำหนังเรื่องนี้มาแล้ว ผมไม่แน่ใจว่าสถานการณ์จริงเราจะกลัวหรือไม่กลัว เมื่อมันมาถึงจริงๆ เราอาจจะไม่กลัว หรือกลัวกว่าที่เราคิดก็ได้ หรืออาจจะกลัวอยู่แป๊บหนึ่ง แต่พอไตร่ตรองแล้วเข้าใจแค่นั้นเอง การทำหนังเรื่องนี้ทำให้เข้าใจ มันอาจจะไม่ได้ทำให้ไม่กลัวเลย แต่มันอาจทำให้กลัวน้อยลงหรือดีลกับมันได้มากขึ้น

 

ทำความเข้าใจกับ ‘ความตาย’

     ถ้ากับตัวเอง ผมเข้าใจว่าอะไรแม่งก็เกิดขึ้นได้ ตรงนี้โอเคหมดเลย แต่ถ้าเกิดขึ้นกับคนอื่น ผมว่าเราอาจต้อง move on หรือทำความเข้าใจกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นกับคนรอบๆ อาจจะแปลความเศร้าจากการสูญเสียเป็นความคิดถึง ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ดี เราจะได้ไม่ฟูมฟาย ทำไมเขาถึงจากไป! แต่คงเป็นอารมณ์ประมาณนั่งๆ อยู่แล้วแบบ เขาไม่อยู่แล้วคิดถึงเขาเหมือนกันเนอะ แต่ควรจะต้องเข้าใจว่าวันหนึ่งมันจะเกิดขึ้นกับทุกคนแหละ แล้วมันไม่ใช่เรื่องความตายอย่างเดียว บางคนเขาไม่ตาย แต่เราไม่เจอเขาแล้ว ฟีลลิ่งก็คล้ายๆ กัน หรือบางคนตอนเจอก็เป็นโมเมนต์ที่ดี แต่อาจจะได้เจอกันแค่แป๊บเดียวหรืออยู่กันคนละประเทศ มันก็ทำให้คิดถึงกัน ผมว่ามันคงเป็นความเศร้าในครั้งแรก แต่จะกลายเป็นความคิดถึงในมุมโพสิทีฟในตอนหลัง

     ความจริงจะพูดว่าผมยังไม่เข้าใจมันร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ไม่ผิด แต่นี่คือความเข้าใจที่ผมมีมากที่สุดแล้ว และผมคิดว่ามันไม่มีมากกว่านี้แล้วแหละ คราวนี้ก็อยู่ที่ว่ายูจะใช้ความเข้าใจนี้ดำเนินชีวิตยังไงต่อไป แต่ถ้าเกิดยูไม่เข้าใจเลย ยูอาจจะจมอยู่กับความทุกข์ไปเรื่อยๆ ก็ได้นะ แต่ถ้ายูมีความเข้าใจ ยูก็อาจจะทุกข์อยู่ประมาณหนึ่งหรือ 2 เดือน อาจจะคิดถึงเขาในบางครั้ง แต่ต้องยอมรับว่าสิ่งนี้มันจะเกิดขึ้นกับทุกคนอยู่แล้ว

 

 

ความตาย > Positive  

     ผมมองเป็นเรื่องโพสิทีฟ เพราะรู้สึกว่ามันเป็นกฎพื้นฐานอยู่แล้ว คู่มือมีมาตั้งแต่แรกแล้ว แต่ไม่มีคนอ่าน อ่านแต่ข้อหนึ่งกับข้อสอง คนเราต้องเกิด คนเราต้องใช้ชีวิต แต่ข้ออื่นพยายามไม่สนใจ อยู่บ้านนี่แม่ห้ามพูดเรื่องตายเลยนะ พูดขึ้นมาทำไมเนี่ย มันเป็นลางไม่ดี แต่ความจริงยังไงมันก็ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว

     ความจริงเวลาผมพูดว่า ‘หนังเรื่องนี้เหมือนเป็นหนังสืองานศพของผมเลยครับ’ แรกๆ ผมก็ยังรู้สึกแปลกๆ เหมือนกันนะเนี่ย แต่เอาเถอะ จะพูดหรือไม่พูดมันก็มีสิ่งนี้อยู่แล้ว งั้นก็พูดไปเหอะ บางคนเขาไปซื้อหลุมเตรียมไว้ก่อนเลยนะครับ

 

ความตาย > Negative  

     เราคงเคยกลัวมันแหละ เหมือนไม่เคยคิดแล้วอยู่ดีๆ ก็คิด คิดแล้วหยุดไม่ได้ด้วย ความจริงผมเป็นพวก life skill ต่ำ ถ้าเกิดวันหนึ่งแม่ไม่อยู่ก็คงรู้สึกเหมือนขาดอะไรบางอย่าง เราเหมือนเป็นเด็กสปอยล์นิดๆ เพราะแม่คอยซัพพอร์ตตลอดตั้งแต่เด็ก เราอยากทำอะไรแม่ก็คอยช่วย แล้วพอแม่เดินมาบอกเรื่องแบบนี้ ไปๆ มาๆ กลายเป็นกูนี่แหละที่ต้องบอกว่าแม่อย่าพูด (หัวเราะ)

     วันหลังเรามาเปิดคอร์สคุยกันสักวันหนึ่งก็ได้นะ พวกการจัดเก็บเอกสาร โฉนดที่ดินโน่นนี่นั่น สมมติบางครั้งผมต้องไปทำธุรกรรมทางการเงิน ระยะหลังก็ต้องถามๆ ไว้บ้าง เพราะผมไม่รู้เรื่อง ไม่เคยเข้าใจเลยจริงๆ ที่ผ่านมาคือแม่ช่วยไปทำให้หน่อย บางทีไปทำธุรกรรมทางการเงิน แต่คือเซ็น จบ กลับบ้าน

 

 

ความตาย > เรื่องเศร้า

     ผมว่าการจากลามันเศร้าโดยอัตโนมัติอยู่แล้วกับการที่คนควรจะได้อยู่ด้วยกันแล้วไม่ได้อยู่ เอาจริงแล้วที่เรารู้สึกว่าความตายมันเศร้าไม่ใช่เพราะสภาพหรืออะไร แต่มันคือความผูกพันก่อนหน้านั้นมากกว่าที่จะมีผลให้เรารู้สึกเศร้าหรือไม่เศร้า

     อย่างตอนอาม่าเสีย ถามว่าเศร้าไหม ผมก็ไม่เศร้านะ คือผมอยู่กับอาม่ามาตั้งแต่เด็ก มันผูกพัน มันมีแต่เรื่องดีๆ แล้วอาม่าก็แก่ เราเลยรู้สึกว่าไม่เป็นไรหรอก อาม่าคงเหนื่อยแล้วแหละ เย่ จบ พอมันเป็นความสัมพันธ์แบบนี้ เราเลยรู้สึกว่าความตายเป็นการ pass คนหนึ่งไปสู่อีกที่ ถ้าเกิดมันจะมีอีกที่หนึ่งนั้นอยู่จริงๆ แต่ถ้าไม่มีก็คือจบ

     แต่ถ้ามันจะเศร้า คงเป็นประมาณว่าจะทำแต่ยังไม่ได้ทำ ซึ่งคล้ายๆ กับ ‘ยุ่น’ ใน ฟรีแลนซ์ฯ ที่มัวแต่ไม่ทำๆ แล้วสุดท้ายแม่งก็ไม่ได้ทำจริงๆ ซึ่งผมอาจจะเป็นคนแบบนั้นนะ หมายถึงเราดันเอาเวลาทุกอย่างไปให้งาน ซึ่งหลังๆ ผมเริ่มเปลี่ยนแล้วนะครับ คือปกติผมจะทำงานอยู่ที่บ้าน นั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ บางทีจะแม่เดินมาชวนคุย เราก็ฟังบ้าง ไม่ฟังบ้าง หรือบางทีเราบอกให้แม่คิดว่าเต๋ออยู่ออฟฟิศแป๊บหนึ่งได้ไหม เพราะงานมันจะไม่ทันแล้ว (หัวเราะ) คือเราก็รู้สึกผิดนะที่ฟังในสิ่งที่เขาอยากพูดได้ไม่เต็มที่ เพราะบางทีเราทำงานจนเหมือนว่าแม่ไม่อยู่ ทั้งที่เขาก็อยู่  

     แต่พอเราได้ทำหนังเรื่องนี้ บางทีกลับบ้านมาดึกๆ แล้วไม่ได้เจอ เพราะเขาอยู่ในห้อง ความจริงเราสามารถกลับไปทำงานต่อหรือพักผ่อนได้เลย แต่เราก็อยากจะแวะไปคุยกับเขาก่อนสักนิดนึง …ซึ่งผมเพิ่งรู้สึกแบบนี้เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้เองว่าถ้าพรุ่งนี้กูไม่ได้ตื่นขึ้นมา อย่างน้อยกูขอจบวันนี้ที่การได้คุยกับแม่นิดๆ หน่อยๆ ก็ยังดี ผมไม่รู้ว่านี่คือความน่าเศร้าหรือเปล่า

 

คุณแม่และอาม่า (สุนิสา ธำรงรัตนฤทธิ์ และซกเกียง แซ่แต้) เคยร่วมเฟรมในหนังสั้นเปิดเทศกาล 15th Thai Short Film and Video Festival ซึ่งถ่ายทำและกำกับโดย เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์

 

 

ถ้าพรุ่งนี้ ‘ตาย’ คงเสียดายที่ยังไม่ได้ทำ

     ผมไม่เสียดายเลยจริงๆ เพราะผมรู้สึกว่าได้ทำในสิ่งที่อยากทำไปหมดแล้ว ผมอาจจะโชคดีที่ผ่านทุกอย่างมาเร็วมาก 5 ปีที่ผ่านมามันเร็วมาก หมายถึงว่าหนังที่เราอยากทำทั้งหมดมันได้ถูกทำไปหมดแล้วอย่างรวดเร็ว

     พูดในเชิงการทำภาพยนตร์ พอทำเรื่องนี้แล้วผมจะเอาอะไรอีก ผมก็ยังไม่รู้เหมือนกัน (หัวเราะ) เพราะว่ามันได้ทำสิ่งที่เป็นตัวเองไปแบบเต็มๆ ได้พูดในเรื่องที่อยากพูด ได้ทำโปรเจกต์อินดี้ที่อินดี้จริงๆ โดยไม่ต้องกังวลอะไร เราไปถ่ายหนังอย่างสนุกๆ ได้เจอเพื่อน เฮ้ย นี่มันดีเกินไปหรือเปล่าวะ (หัวเราะ) คือถ้าเป็นพล็อตในหนังมันน่ากลัวนะ มันปูมาให้เราไปสู่ The last film หรือเปล่า กับเรื่องงานผมก็เลยไม่มีอะไรขนาดนั้น

     อาจจะมีนิดหน่อยที่บางครั้งเราเอ็นจอยกับงานมากจนลืมสิ่งรอบตัวไปนิดนึง ซึ่งนี่ถือว่าลดลงมาจากช่วงก่อนทำเรื่อง ฟรีแลนซ์ฯ แล้วนะ เมื่อก่อนบ้าคลั่งกว่านี้อีก (หัวเราะ) แต่หลังจาก ฟรีแลนซ์ฯ ก็เริ่มรู้สึกว่าต้องบาลานซ์ชีวิตไปตามไอ้ยุ่นนี่แหละ เพราะตอนเขียนบท ฟรีแลนซ์ฯ ก็เหมือนเราได้เรียนรู้มาพร้อมกับตัวละครว่า เฮ้ย กูจะทำแบบนี้ไปทำไมวะ ซึ่งนี่คือข้อดีของการทำหนังที่เป็นส่วนตัว เพราะการทำภาพยนตร์มันไม่ใช่เพื่อที่จะให้ความบันเทิงหรือทำงานเพื่อให้ออกไปสู่สังคม แต่มันคือการเดินทางของตัวคนทำด้วย

     การเขียนบทคือการที่เราตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นที่เราสนใจแล้วรีเสิร์ชมัน คิดกับมัน แล้วจึงสรุปออกมาว่าเป็นยังไง มันก็เป็นคำถามเดียวกับที่เกิดขึ้นในชีวิต เพราะทุกครั้งที่เราทำหนังเสร็จเรื่องหนึ่งก็เหมือนว่าเราได้มี coming of age ด้วยเหมือนกัน  

     ถามว่ามีอะไรค้างคาไหม ไม่มี แต่อาจจะมีเสียดายที่เราเคยไปทำผิดกับบางคนแล้วยังไม่ได้ไปขอโทษ หรือเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ใช่เรื่องสำคัญในชีวิต แต่ถ้าเกิดมีการประเมินผลแล้วพบว่าจริงๆ ในหนึ่งปีมึงคุยกับแม่แค่ 50 วัน อันนี้จะรู้สึกว่าแม่งน้อยไปจริงๆ ว่ะ

 

 

ถ้ารู้ล่วงหน้าว่าจะ Die Tomorrow

     อาจจะเป็นประมาณว่าอย่าเครียดในงานศพมากกว่า แต่แม่อาจจะไม่ยอม ไม่รู้เหมือนกัน ถ้าเป็นงานศพก็จะไม่ได้อะไร แต่ถ้าเรื่องภารกิจในชีวิต ผมจะรู้สึกว่าของหรืออะไรก็ตามที่พอจะมีประโยชน์กับคนอื่นก็เอาไปใช้เถอะ

     พูดจริงๆ คือไม่เคยคิดจะเตรียมอะไรแบบนี้เลย มันแค่คิดจะวางเฉยๆ มากกว่า ถ้าเราไปแล้ว ใดๆ มันก็ไม่ใช่ของเราแล้ว ก็แยกย้ายกันไป เพราะผมรู้สึกว่าที่เราเป็นเรา เราก็ไปเอาจากคนอื่นมาเหมือนกัน พอถึงเวลาไป เราก็คืนให้เขาไป

FYI
  • Die Tomorrow จะเริ่มเข้าฉายที่โรงภาพยนตร์ในเครือ SF Cinema วันที่ 23 พฤศจิกายนนี้
  • มากไปกว่านั้นเต๋อยังบอกไว้อีกว่า ถ้าพรุ่งนี้ต้องตาย หนังเรื่องนี้จะเป็น ‘ไฟนอลฟิล์ม’ ที่เขารักและพอใจกับมันที่สุด และหนังยังมีความเป็นส่วนตัวมากที่สุดเรื่องหนึ่งสำหรับเขา
  • Die Tomorrow รวบรวมนักแสดงที่เคยร่วมงานกับเขาผ่านผลงานต่างๆ ทั้งหนังยาว หนังสั้น หนังโฆษณาตลอดช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เช่น เต้ย-จรินทร์พร จุนเกียรติ จากละครชุด บันทึกกรรม ตอน มั่นใจว่าคนไทยเกิน 1 ล้านคนเกลียดเมธาวี, ทราย-กรมิษฐ์ วัชรเสถียร จาก 36, จูนจูน-พัชชา พูนพิริยะ และเมโกะ-ชนนิกานต์ เนตรจุ้ย จาก Mary is Happy, Mary is Happy., ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ และวี-วิโอเลต วอเทียร์ จาก ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย..ห้ามพัก..ห้ามรักหมอ ฯลฯ
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising