×

สว. คำนูณ ชี้จะโหวตเห็นชอบนายกฯ ตามเสียงข้างมาก เหตุไม่มีนโยบาย-พรรคการเมืองเสนอแก้มาตรา 112

โดย THE STANDARD TEAM
22.08.2023
  • LOADING...
คำนูณ สิทธิสมาน

วันนี้ (22 สิงหาคม) ที่รัฐสภา การประชุมร่วมรัฐสภาที่มี พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม โดยมีวาระสำคัญคือ การพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ซึ่งในวันนี้พรรคเพื่อไทยจะมีการเสนอชื่อ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย 

 

คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงหลักคิดในการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ​ มาตรา 272 ว่า การกำหนดให้ สว. ร่วมกันให้ความเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี แม้จะเป็นอำนาจตามหน้าที่รัฐธรรมนูญ แต่เป็นการทำหน้าที่ชั่วคราวตามบทเฉพาะกาล และเป็นบทบัญญัติที่ไม่เคยมีมาก่อนในระบบรัฐธรรมนูญไทย รวมถึงรัฐธรรมนูญฉบับนี้จัดทำขึ้นจากรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร และผ่านการลงประชามติทั้งฉบับไปแล้ว แต่บทบัญญัตินี้ สว. มีอำนาจเพียงเห็นชอบเท่านั้น โดยไม่มีโอกาสเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ไม่มีสิทธิรับรองชื่อแคนดิเดตนายกฯ

 

คำนูณกล่าวต่อไปว่า สำหรับหลักคิดในการเห็นชอบบุคคลที่ควรได้รับการเห็นชอบให้เป็นนายกรัฐมนตรี หากเป็นช่วงเวลาปกติเห็นว่าควรตัดสินใจให้ความเห็นชอบตามเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรเป็นหลัก เพื่อเป็นการสะท้อนผลการเลือกตั้งทั่วไป และการตกลงทางการเมืองของพรรคการเมือง เพราะการบริหารราชการแผ่นดิน และการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินทุกขั้นตอน หลังได้นายกรัฐมนตรีแล้วต้องอาศัยเสียงข้างมากในรัฐสภาโดยไม่อาศัยเสียง สว. 

 

ดังนั้นการลงมติให้กับบุคคลที่ควรได้รับการเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ต้องเป็นไปอย่างเปิดเผย และแตกต่างจากการให้ความเห็นชอบจากกรณีอื่นๆ เป็นมาตรการที่ทำให้เป็นการสะท้อนการเลือกตั้ง และการตกลงทางการเมืองของพรรคการเมือง แต่ไม่ได้ความว่า สว. จะโหวตเห็นชอบตามเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรทุกกรณี ไม่เช่นนั้นถือว่าก็ไม่จำเป็นต้องมีบทบัญญัติพิเศษ มาตรา 272 โดยที่ สว. สามารถใช้วิจารณญาณส่วนบุคคลในการเลือกนายกรัฐมนตรีได้ 

 

คำนูณกล่าวต่อว่า การที่ตนเองจะตัดสินใจไม่เห็นชอบ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ตามเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร ณ ขณะนั้น เพราะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีท่านนั้นและพรรคยังคงมีนโยบายแก้ไขมาตรา 112 เปรียบเสมือนเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดพระมหากษัตริย์ทางประตูหลัง และเสมือนเป็นการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112 ทั้งหมดที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมทุกระดับทางประตูหลัง

 

ตนเองจึงเห็นว่าเป็นอันตรายต่อรัฐธรรมนูญและระบอบการปกครอง ซึ่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีท่านนั้นก็ไม่ได้ถอยนโยบายนี้ แม้จะมีเสียงอภิปรายคัดค้านสักเพียงใด ดังนั้นการให้ความเห็นชอบบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้นั้น เป็นที่ชัดเจนเพราะมีการแถลงต่อสาธารณะว่าแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการเสนอชื่อไม่มีนโยบายที่อาจจะเป็นอันตรายต่อรัฐธรรมนูญและระบอบการปกครองในลักษณะดังกล่าว รวมถึงไม่มีพรรคการเมืองเจ้าของนโยบายดังกล่าวเข้าร่วมรัฐบาล ตนจึงเห็นควรกลับคืนสู่หลักการทั่วไปคือ ตัดสินใจลงมติให้เป็นไปตามเสียงข้างมากของสภา

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X