วันนี้ (22 สิงหาคม) ที่รัฐสภา การประชุมร่วมรัฐสภาที่มี วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม โดยมีวาระสำคัญคือการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ซึ่งในวันนี้พรรคเพื่อไทยจะเสนอชื่อ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย
วันมูหะมัดนอร์ขึ้นบัลลังก์ทำหน้าที่ประธานรัฐสภาตั้งแต่เวลา 10.00 น. ซึ่งก่อนเข้าสู่วาระการประชุม ประธานรัฐสภาได้ชี้แจงสาเหตุการสั่งเลื่อนการประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา หลังจาก รังสิมันต์ โรม สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา ให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาทบทวนมติรัฐสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ห้ามเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีซ้ำได้ในสมัยประชุมนี้
จากนั้นประธานรัฐสภาใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 80 วินิจฉัยไม่รับญัตติด่วนด้วยวาจาที่รังสิมันต์เสนอมา ซึ่งการใช้อำนาจประธานรัฐสภาตีตกญัตติดังกล่าว ทำให้ สส. ของพรรคก้าวไกลลุกขึ้นประท้วงการทำหน้าที่ของประธานรัฐสภา
โดยไฮไลต์อยู่ที่ ธีรัจชัย พันธุมาศ สส. กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นประท้วงถึงการทำหน้าที่ของประธานรัฐสภาที่ไม่เป็นกลาง และไม่กล้าใช้อำนาจประธานรัฐสภาชี้ขาด และรู้เห็นเป็นใจกับเสียงข้างมากของวุฒิสภาและพรรคขั้วรัฐบาลเก่า จนทำให้วันมูหะมัดนอร์เรียกร้องให้ธีรัจชัยถอนคำพูดที่กล่าวหาตนเองรู้เห็นเป็นใจกับเสียงข้างมาก
ระหว่างนั้นวันมูหะมัดนอร์กล่าวด้วยน้ำเสียงมีอารมณ์ให้ธีรัจชัยถอนคำพูด ‘รู้เห็นเป็นใจ’ พร้อมกล่าวว่า ข้อกล่าวหาว่าตนเองรู้เห็นเป็นใจนั้นเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรง ประธานสภาจะรู้เห็นเสียงข้างมากได้อย่างไร ยืนยันว่าซื่อสัตย์ต่อตัวเอง หากไม่ถอนให้นั่งลงพร้อมปิดไมค์ กล่าวต่อไปอีกว่าคำสั่งของประธานสภาถือว่าเด็ดขาด
หลังการปะทะคารมกันระหว่างวันมูหะมัดนอร์กับธีรัจชัยเสร็จสิ้น รังสิมันต์ได้ลุกขึ้นขอถอนญัตติด่วนด้วยวาจาดังกล่าว เพื่อให้รัฐสภาสามารถเดินหน้าเข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป
จากนั้น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส. น่าน ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้เสนอชื่อ เศรษฐา ทวีสิน บุคคลที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 88 พร้อมยืนยันว่าเศรษฐามีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ จึงขอให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป