วันนี้ (19 กรกฎาคม) การประชุมรัฐสภาที่มี วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม มีวาระสำคัญในการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ซึ่งถือเป็นการพิจารณาครั้งที่ 2 หลังการประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา
ที่ประชุมรัฐสภามีมติไม่ให้ความเห็นชอบ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีไปแล้ว แต่ทันทีที่เข้าสู่การประชุม สุทิน คลังแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ได้เสนอชื่อพิธาให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 2 เพียงรายชื่อเดียว โดยไม่มีพรรคการเมืองอื่นเสนอบุคคลอื่นเข้าท้าชิง
ทำให้ อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส. จังหวัดราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ลุกขึ้นทักท้วง เนื่องจากตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 ระบุว่า ญัตติใดที่ตกไปแล้วห้ามนำเสนอขึ้นใหม่ในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติที่ยังไม่ได้มีการลงมติ ซึ่งในการประชุมรัฐสภาที่ผ่านมา รัฐสภาเคยมีมติไม่ให้ความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรีไปแล้ว ซึ่งญัตติการเสนอชื่อพิธาดังกล่าวจึงถือเป็นอันตกไป และการเสนอชื่อพิธาซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ก็ไม่มีเหตุการณ์อื่นใดเปลี่ยนแปลงไป อาจจะขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภาได้ พร้อมเสนอญัตติให้พิจารณาว่าการเสนอชื่อพิธา ขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 หรือไม่
ด้าน สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สนับสนุนให้ที่ประชุมได้อภิปรายประมาณ 2 ชั่วโมงก่อนลงมติ ตามที่ที่ประชุมพรรคการเมืองและคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา หรือวิปวุฒิสภา หารือไว้เมื่อวานนี้ (18 กรกฎาคม) เพื่อไม่ให้ประธานรัฐสภาต้องวินิจฉัย
ขณะที่ รังสิมันต์ โรม ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้เห็นแย้ง เนื่องจากกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีได้ดำเนินการไปตามรัฐธรรมนูญบัญญัติแล้ว จึงขอให้ประธานรัฐสภาวินิจฉัย รวมถึง วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล มั่นใจว่าการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ใช่ญัตติ แต่เป็นข้อพิจารณาให้ความเห็นชอบตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 136
เช่นเดียวกับ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส. จังหวัดเชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ได้ประท้วงเนื่องจากระหว่างที่รัฐสภาพิจารณาข้อเสนอเสมือนญัตติตามรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถเสนอญัตติอื่นๆ ซ้อนได้ ซึ่งขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 31 และจะทำให้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาไปขัดต่อกระบวนการรัฐธรรมนูญไม่ได้ ทำให้อัครเดชลุกขึ้นตอบโต้ว่า กรณีที่จุลพันธ์ระบุว่าไม่สามารถพิจารณาญัตติซ้อนญัตติได้นั่นหมายความว่าได้ยอมรับแล้วว่าการเสนอชื่อพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นญัตติ โดยจุลพันธ์เห็นว่ากระบวนการที่จะต้องดำเนินการหลังจากนี้ รัฐสภาควรจะใช้เสียงข้างมากตัดสินว่าที่ประชุมจะเห็นชอบให้ดำเนินการไปตามทิศทางใด
ทำให้ เอกณัฏฐ์ พร้อมพันธุ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้แนะนำให้ 8 พรรคร่วมไปตกลงกันให้ดีก่อนว่าจะดำเนินการเลือกนายกรัฐมนตรีต่อไปหรือไม่ เพราะจุลพันธ์ก็ยอมรับแล้วว่าการเสนอนายกรัฐมนตรีเป็นญัตติ แต่พรรคก้าวไกลกลับเห็นค้านว่ากระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ใช่เป็นญัตติ และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
ท้ายที่สุดแล้วที่ประชุมไม่สามารถหาข้อยุติได้ ทำให้วันมูหะมัดนอร์ต้องเปิดโอกาสให้ ส.ส. และ ส.ว. อภิปรายว่าการเสนอชื่อพิธาถือเป็นญัตติหรือไม่ ตามการเสนอของอัครเดช ซึ่งเบื้องต้นได้กำหนดเวลาการอภิปรายไว้ 2 ชั่วโมง แบ่งเป็นฝ่าย 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล 40 นาที, ฝ่าย 10 พรรคร่วมรัฐบาลรักษาการปัจจุบัน 40 นาที และฝ่ายวุฒิสภา 40 นาที แต่สามารถขยายเวลาได้ เพื่อให้เกิดความรอบคอบและไม่เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าตลอดการถกเถียงกันอย่างวุ่นวายเกือบ 2 ชั่วโมง ส.ส. ของพรรคก้าวไกลส่วนหนึ่งพยายามให้ที่ประชุมรัฐสภาดำเนินการเลือกนายกรัฐมนตรีตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และขอให้ประธานรัฐสภาได้ใช้อำนาจชี้ขาดตามที่ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาได้ให้อำนาจไว้ เพื่อให้ที่ประชุมสามารถเดินหน้ากระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีต่อไปได้ ขณะที่พรรคเพื่อไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ และสมาชิกวุฒิสภา พยายามให้ที่ประชุมร่วมกันลงมติชี้ขาดว่ารัฐสภาจะดำเนินการเลือกนายกรัฐมนตรีอย่างไรต่อไป