×

สื่อนอกตีข่าวสภาไทยไม่เห็นชอบเสนอชื่อพิธา โหวตนายกฯ รอบ 2 ชี้ ‘บ่อนทำลายตัวเลือกประชาชน’

19.07.2023
  • LOADING...
พิธา โหวตนายก รอบ 2

สื่อต่างประเทศหลายสำนักเกาะติดนำเสนอข่าวสถานการณ์การเมืองของไทยที่เป็นไปอย่างดุเดือดวันนี้ (19 กรกฎาคม) หลังจากที่พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุติหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ชั่วคราวจากกรณีถือหุ้นสื่อ ITV 

 

ขณะที่ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติเสียงข้างมาก 395 ต่อ 312 เสียง ไม่เห็นชอบเสนอชื่อพิธาในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีซ้ำรอบ 2 

 

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางการจับตามองจากทั่วโลก ซึ่งมีการพาดหัวข่าวที่อาจจะดูแปลก เช่น “ผู้ชนะการเลือกตั้งถูกห้ามโหวตชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี”

 

ห้ามพิธาโหวตนายกรัฐมนตรีรอบ 2 บ่อนทำลายตัวเลือกประชาชน

 

สำนักข่าว AP รายงานว่า การต่อสู้อันขมขื่นเพื่อเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของไทยต้องเจอกับการพลิกผันครั้งใหญ่ หลังจากที่รัฐสภาโหวตปฏิเสธเสนอชื่อพิธารอบ 2 

 

ขณะที่ Bloomberg รายงานว่า การห้ามพิธาจากการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีรอบ 2 นั้น เป็นการตัดสินใจที่บ่อนทำลายตัวเลือกของประชาชน ซึ่งไม่ให้ผู้นำของพรรคที่ชนะการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคมได้ทำหน้าที่ผู้นำรัฐบาลชุดใหม่

 

ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นยังมีผลให้พิธาแทบจะไม่มีโอกาสได้เป็นผู้นำประเทศ ถึงแม้ 8 พรรคแนวร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสมยังมีเป้าหมายยุติการปกครองที่สืบทอดอำนาจจากทหาร

 

Bloomberg ยังระบุถึงกรณีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่สั่งพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ชั่วคราวจากปมถือหุ้นสื่อ และกรณีก่อนหน้านี้ที่ศาลรับคำร้องวินิจฉัยการกระทำของพิธาและพรรคก้าวไกลที่เสนอแก้ไขกฎหมาย มาตรา 112 ว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ ซึ่งคำร้องดังกล่าวมีโทษถึงขั้นยุบพรรค 

 

โดย Bloomberg ชี้ว่า ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นเป็นพัฒนาการที่คล้ายคลึงกันอย่างน่าประหลาด เมื่อเทียบกับกรณีของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาถือหุ้นสื่อและขาดคุณสมบัติในการเป็น ส.ส. และพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบจากอีกกรณีหนึ่ง ซึ่งจุดชนวนให้เกิดการประท้วงใหญ่ในปี 2020

 

ทั้งนี้ Bloomberg รายงานว่า แม้นักลงทุนจะคาดการณ์ว่าการหยุดชะงักทางการเมืองในประเทศไทยอาจสิ้นสุดลงในเร็วๆ นี้ แต่ความกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งนานกว่า 2 เดือน ตลอดจนการรับรองงบประมาณประจำปี ส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมของบริษัทต่างๆ สูงขึ้น

 

ทางด้าน Financial Times รายงานคล้ายกันว่า ผู้ชนะการเลือกตั้งของไทยถูกสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่จะมีการโหวตเรื่องการเสนอชื่อพิธาชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรอบ 2

 

โดย Financial Times ระบุว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความขัดแย้งที่ตึงเครียดมากขึ้นระหว่างพิธาและพรรคก้าวไกลในฐานะผู้ชนะเลือกตั้ง กับบรรดาผู้มีอำนาจที่มุ่งจะกีดกันเขาจากอำนาจรัฐบาล”

 

ความพยายามเป็นนายกรัฐมนตรีของพิธาจบลงแล้ว

 

Channel NewsAsia รายงานว่า ความพยายามในการโหวตนายกรัฐมนตรีของพิธานั้นสิ้นสุดลงแล้ว แม้ว่าพรรคของเขาจะได้คะแนนเสียงมากที่สุดในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา

 

ขณะที่ AFP รายงานคำสัมภาษณ์ของหนึ่งในกลุ่มผู้สนับสนุนพิธาที่ประท้วงอยู่บริเวณประตูหน้ารัฐสภา โดยตั้งคำถามด้วยความไม่พอใจว่า “แล้วจะขอให้ประชาชนไปเลือกตั้งทำไม?” 

 

ด้าน BBC ซึ่งเรียกพิธาว่า ‘ผู้นำนักปฏิรูป’ ชี้ว่าคำสั่งศาลให้พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ชั่วคราวนั้นยิ่งส่งผลกระทบต่อโอกาสในการเป็นนายกรัฐมนตรีของเขาที่เหลือเพียงน้อยนิด

 

ขณะที่ผู้สนับสนุนพิธาอย่าง อาร์ต จาตุรงกุล วัย 39 ปี ชาวกรุงเทพฯ ให้สัมภาษณ์ BBC ว่าเขาและเพื่อนที่สนับสนุนพิธารู้สึกเป็นกังวล เพราะพวกเขามองว่าพิธาเป็นตัวแทนเสียงของพวกเขาในสภา

 

“ผมเต็มไปด้วยอารมณ์ที่หลากหลาย ทั้งโกรธ หงุดหงิด และผิดหวัง มันรู้สึกเหมือนเป็นความพ่ายแพ้ของกระบวนการประชาธิปไตย” เขากล่าว

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising