วันนี้ (13 กรกฎาคม) ที่รัฐสภา เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อภิปราย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้ได้รับการเสนอชื่อสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ว่า สิ่งที่จะเสนอต่อที่ประชุมไม่ได้เกิดจากความอคติหรือความไม่ชอบต่อพิธาหรือพรรคก้าวไกล แต่เป็นด้วยหลักสำคัญของรัฐธรรมนูญ ม.272 ให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่สมควร แต่พิธาไม่สมควรได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
เสรีกล่าวว่า ในฐานะ ส.ว. มักถูกพูดเสมอว่าจะไม่เลือกพิธาตามมติมหาชน ต้องทำความเข้าใจในส่วนนี้ว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นการเลือกตั้งที่พี่น้องประชาชนเลือกพรรคการเมืองมาแล้ว แต่การทำหน้าที่ในรัฐสภาเป็นกระบวนการอีกส่วนหนึ่งที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ บุคคลที่จะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องไม่มีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม
ที่ผ่านมา ส.ว. มักถูกสื่อมวลชนถามว่าไม่หวั่นต่อประชาชนหรือไม่นั่น ต้องบอกว่ากลัวมาก แต่ต้องคำนึงถึงการทำหน้าที่เพื่อรักษาปกป้องประเทศและสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้นความกลัวที่เกิดขึ้นทั้งเสียงข่มขู่ ให้ร้าย และพูดจาเสียดสี แต่กลัวน้อยกว่าความรู้สึกต่อประเทศและสถาบันฯ การทำหน้าที่ในรัฐสภานี้ก็มีเสียงพูดอีกว่า เสียงงที่สนับสนุนพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีจาก 8 พรรค 312 เสียง รวมประชาชน 25 ล้านเสียง เมื่อนำตัวเลขมารวมกันแล้วทำให้ประชาชนโกรธ ก่นด่าวุฒิสภาว่าทำไมถึงไม่ลงคะแนนให้พรรคก้าวไกลที่ได้ 14 ล้านเสียง
เสรีกล่าวขอพรรคก้าวไกลว่า อย่าสำคัญตัวเองผิดว่าได้ 30 ล้านเสียง โดยเสียงที่เหลือเป็นของพรรคร่วมรัฐบาลอื่น เช่น พรรคเพื่อไทยได้ 10 ล้านเสียง เป็นคะแนนเสียงที่ไม่น้อย แต่พรรคร่วมอื่นไม่ประสงค์เลือกพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เป็นการลงคะแนนเลือก แพทองธาร ชินวัตร, เศรษฐา ทวีสิน และ ชัยเกษม นิติสิริ เป็นนายกรัฐมนตรี
เสรีกล่าวอีกว่า “วุฒิสภาเคารพเสียงของประชาชน แต่การรวบรวมเสียงของ 8 พรรคร่วมรัฐบาลไม่ใช่เจตนารมณ์ของประชาชนที่เลือกมา ไม่อย่างนั้น ส.ว. จะถูกต่อว่าไม่จบ ดังนั้น การทำหน้าที่ของ ส.ว. วันนี้จะต้องเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 ที่ห้ามถือหุ้นสื่อ หากยังมีความคิดหรือดำเนินการตามมาตรา 159 โดยไม่คำนึงถึงเรื่องคุณสมบัติ เท่ากับทำผิดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งยังยืนยันในหลักการสำคัญว่า การจะทำหน้าที่เป็นผู้นำประเทศจะต้องมีการกระทำที่ไม่ดูหมิ่นสถาบันฯ จึงเกิดข้อคำถามย้อนกลับไปว่า ม.112 เหมาะสมที่จะแก้ไขหรือไม่
“การแก้ ม.112 เป็นเพียงการแสดงเจตนาในการแก้กฎหมาย แต่สิ่งที่ ส.ว. เกือบทั้งหมดตระหนักและรู้คิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดในบ้านเมืองก่อนแก้ ม.112 ไม่ใช่เพื่อการกลั่นแกล้งทางการเมือง นายกรัฐมนตรีต้องมีความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองและประชาชน แต่ที่ผ่านมา ส.ว. ทนอยู่เนื่องจากต้องการปกป้องบ้านเมืองในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ทั้งที่ผ่านมาเกิดการส่งเสริมแนวคิดให้เด็กและเยาวชนไปในแนวทางที่ผิด ให้เกิดการกระทำที่ละเมิดจาบจ้วงสถาบันฯ มากมาย ดังที่ปรากฏตามสื่อและคลิปวิดีโอมากมาย แทนที่จะลดความผิดแต่กลับเป็นการยุยงส่งเสริม เพียงเพื่อต้องการมวลชน
“ทั้งนี้ยังไม่เคยเห็นพิธาออกมาปกป้องหรือห้ามปรามในสิ่งเหล่านี้ แต่นอกจากไม่ห้ามปรามแล้วยังส่งเสริม ปรากฏชัดเจนว่าเป็นการล้มล้าง ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วจะให้ ส.ว. ไปสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือบริหารประเทศนั้นจะเป็นการผิดวิสัย หากผมพูดแล้วท่านอยากจะเป็นนายกรัฐมนตรี และลุกขึ้นมาพูดว่าจะไม่แก้ไข ม.112 อยากพูดก็พูดมาแต่ผมไม่เชื่อ เพื่อต้องการเป็นนายกรัฐมนตรี คิดว่าเป็นการหลอกลวง
“อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้เกิดจากความไม่ชอบแล้วรู้สึกไม่ดี แต่เป็นหน้าที่และภารกิจสำคัญ ถ้าหากได้เสียงสนับสนุนจากประชาชนจนเป็นนายกรัฐมนตรีได้ผมก็ยินดี แต่ถ้าหากว่าเสียงไม่ถึงก็ต้องกราบเรียนด้วยความเคารพว่า ท่านจะต้องไม่แสดงพฤติกรรมการกระทำใดที่จะไปปลุกม็อบ ไปเรียกร้องดำเนินการใดๆ ให้คนในประเทศนี้ออกมาผลักดันให้ตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรี”
ขณะที่พิธาได้ชี้แจงประเด็นดังกล่าวว่า การกล่าวหาว่ายุยงเด็กนั้น ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องที่มีความเห็นต่างกันระหว่างสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยืนยันว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่ไม่สามารถยุยงปลุกปั่นได้แล้ว คนรุ่นใหม่มีความคิด มีความเป็นตัวของตัวเอง และเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้มากมาย ไม่สามารถชักจูงด้วย Propaganda โฆษณาชวนเชื่อ ด้วยค่านิยม 12 ประการ แบบที่เคยมีมาได้แล้ว พร้อมยืนยันว่าไม่มีการไปยุยงปลุกปั่นใดๆ ทั้งสิ้น