×

ศิธาย้ำ ไทยสร้างไทย โหวตนายกฯ จากฝ่ายประชาธิปไตยเท่านั้น ชี้มี ส.ส.-ส.ว. บางส่วนหยิบ ม.112 มาเป็นเงื่อนไขกรณีพิธา

โดย THE STANDARD TEAM
13.07.2023
  • LOADING...
ศิธา ทิวารี

วันนี้ (13 กรกฎาคม) ที่อาคารรัฐสภา น.ต. ศิธา ทิวารี แกนนำพรรคไทยสร้างไทย เดินทางมาร่วมสังเกตการณ์ การประชุมรัฐสภา วาระโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย

 

น.ต. ศิธากล่าวว่า ตนเองมองการประชุมสภาครั้งนี้ในวาระโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งวันนี้พรรคร่วมรัฐบาลจะได้มีการเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็มีสิทธิอภิปราย ซึ่งสภามีการแบ่งช่วงเวลาในการอภิปรายไว้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว และหลังจากช่วงนั้นเวลา 17.00 น. ก็จะเริ่มโหวตนายกฯ 

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ได้ฝากอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ในวันโหวตเลือกนายกฯ น.ต. ศิธาระบุว่า ช่วงนี้คุณหญิงไม่ค่อยสบายบวกกับภาวะความเครียดจึงเข้าโรงพยาบาล และได้ตัดสินใจลาออกก่อนถึงวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีนัดกับหมอไม่สามารถเลื่อนได้ จึงให้ ส.ส. บัญชีรายชื่อลำดับถัดไปเข้ารับตำแหน่งเพื่อมาโหวตแทน แต่ก่อนลาออกก็มีความกังวลว่าราชกิจจานุเบกษาจะประกาศรับรอง ส.ส. ไม่ทัน เพราะคะแนนจะขาดหายไป แต่โชคดีที่ประกาศทัน

 

น.ต. ศิธากล่าวต่อว่า สำหรับกระบวนการของระบบประชาธิปไตยได้ผ่านไปแล้ว ซึ่งมีประชาชนกว่า 30 ล้านคนได้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่กระบวนการในการเลือกนายกฯ ไม่สามารถที่จะทำได้เลยเพราะรัฐธรรมนูญระบุให้ ส.ว. มีสิทธิเลือกด้วย 

 

ส่วนตัวมองว่าเป็นการทำสัญญาคล้ายกับนิติสงคราม เพราะกฎหมายดังกล่าวถูกฝังไว้ว่า แนวทางในการเลือกตั้งเป็นไปแบบนี้ ซึ่งประชาชนไม่สามารถที่จะเลือกนายกฯ ได้ เพียงแต่เปิดให้เลือก ส.ส. เท่านั้น แต่ต้องอาศัยอำนาจจาก ส.ว. ในการโหวตเลือก ซึ่งส่วนตัวประเมินว่า วันนี้พิธาจะไม่ผ่านการโหวตเลือกด้วยคะแนนเสียง 376 อย่างแน่นอน เนื่องจาก ส.ว. เป็นคนคุมกุญแจที่จะเปิดทางให้ ส.ส. ในสภาเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาล

 

โดยหลังจากนี้หากพิธาไม่ผ่านการโหวตเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี ทางพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 8 พรรค ก็ต้องกลับไปหารือว่าจะเปลี่ยนตัวหรือไม่ ส่วนตัวในฐานะพรรคไทยสร้างไทยมีจุดยืนชัดเจนว่าให้พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยต้องไปตกลงกันว่าจะเสนอชื่อใครอีกครั้ง ส่วนพรรคไทยสร้างไทยจะโหวตแน่นอน ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้วางแคนดิเดตนายกฯ ไว้ 3 คน ซึ่งจะต้องมาดูอีกทีว่า ส.ว. จะโหวตให้ผ่านหรือไม่ในการโหวตเลือกครั้งหน้า

 

แต่จะถึงขั้นที่พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 8 พรรคจำเป็นต้องให้พรรคใดพรรคหนึ่งออกจากพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ เพื่อให้ ส.ว. ยอมรับ หากถ้าเป็นไปในทิศทางนี้มองว่าในขั้วรัฐบาลพรรคเดิมจะเข้ามายุ่งเหยิง ซึ่งแนวคิดในการแก้รัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระยืดเยื้อออกไปอีก

 

ส่วนกรณีที่หากมี ส.ส. และ ส.ว. มีการเสนอให้เลื่อนวันโหวตเลือกนายกฯ ออกไป น.ต. ศิธากล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าเป็นสิทธิของรัฐสภา และสมาชิกก็จะต้องไปตกลงกันว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร แต่ส่วนตัวมองว่าการเปิดโหวตเลือกนายกฯ ครั้งนี้ให้เปิดโหวตครั้งแรกกันไปก่อน หากไม่สำเร็จ รัฐสภามีอำนาจก็มีอำนาจกำหนดวันโหวตเลือกครั้งใหม่ อาจจะเป็นวันที่ 19 กรกฎาคม หรือวันอื่นก็ต้องมาโหวต

 

ส่วนประเด็นที่ ส.ว. และ ส.ส. หยิบยกเรื่องมาตรา 112 มาเป็นเงื่อนไขในการโหวตเลือกนายกฯ น.ต. ศิธาบอกว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่ามาตรา 112 เป็นกฎหมาย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการเลือกนายกรัฐมนตรี และส่วนตัวมองว่าหากจะนำประเด็นนี้มาอภิปรายขยี้แบบนี้ในสภาไม่ได้เป็นผลดีกับใครเลย โดยเฉพาะสถาบันหลักของประเทศ และไม่ควรอภิปรายในประเด็นนี้ อยากให้ทุกคนมองว่าเรากำลังเลือกและทำอะไรอยู่ เพราะการแก้มาตรา 112 เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่อยากให้นำมาโยงในการโหวตเลือกนายกฯ

 

นอกจากนี้ยังได้ชี้แจงถึงประเด็นที่คุณหญิงสุดารัตน์ลาออกจากตำแหน่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อ เพื่อจะนำไปสู่การเลื่อนตำแหน่งจนให้ตนเองเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. หรือไม่ น.ต. ศิธาระบุว่า ส่วนตัวไม่ได้สนับสนุนให้ใครลาออกจนมาถึงลำดับของตนเอง เพราะตั้งแต่แรกในการกำหนดรายชื่อลำดับของ ส.ส. บัญชีรายชื่อภายในพรรค ตนเองก็ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวตั้งแต่แรก เพราะตนเองเพิ่งรู้ลำดับรายชื่อ ส.ส. บัญชีรายชื่อ หลังจากที่พรรคส่งรายชื่อสมัครกลางดึก ซึ่งตนเองก็ทราบในวันนั้นว่าอยู่ลำดับที่ 5 ทั้งนี้ ศิธาย้ำว่าไม่สนับสนุนให้ใครลาออกเพื่อตนเอง

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X