×

ชัยธวัชชี้ พิธาควรเป็นนายกฯ ตามครรลองปกติของระบอบประชาธิปไตย ชวน ส.ส.-ส.ว. ลงมติเพื่อแสดงความเคารพต่อประชาชน

โดย THE STANDARD TEAM
13.07.2023
  • LOADING...

วันนี้ (13 กรกฎาคม) ที่รัฐสภา การประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ชัยธวัช ตุลาธน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวอภิปราย ระบุว่า

 

ตนขออนุญาตอภิปรายผ่านไปยังสมาชิกรัฐสภาทุกท่านว่าทำไมในวันนี้พวกเราควรลงมติรับรองให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตร์ของพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปแทน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

แต่ทั้งนี้ตนคงไม่รบกวนเวลาของสมาชิกทุกท่านมากนัก เพราะอันที่จริงแล้ววันนี้ตนไม่จำเป็นต้องมาอภิปรายถึงคุณสมบัติของพิธา รวมถึงนโยบายของพรรคก้าวไกลในรัฐสภาแห่งนี้เพราะถือว่าประชาชนทั้งประเทศ รวมถึงสมาชิกรัฐสภาทุกท่านใช้วิจารณญาณของตัวเองพิจารณาและลงมติ 1 คน 1 เสียงเท่าเทียมกัน ผ่านการเลือกตั้งไปแล้วเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา

 

และเมื่อผลปรากฏว่าพรรคก้าวไกลได้เสนอชื่อพิธาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้ชนะการเลือกตั้งและสามารถรวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ทั้งสิ้น 312 เสียง จากพรรคการเมือง 8 พรรคได้แล้ว พิธาก็ควรจะได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีตามครรลองปกติของระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา

 

เรื่องควรจะเรียบง่ายตรงไปตรงมาแบบนี้ไม่ใช่เหรอ แต่บรรยากาศที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา จนกระทั่งถึงวันนี้ กลับทำให้เกิดคำถามต่างๆ ในใจพี่น้องประชาชนนับล้านคนที่เฝ้าจับตาดูการประชุมรัฐสภาว่าหากนายกรัฐมนตรีคนใหม่ไม่เป็นไปตามผลการเลือกตั้ง แล้วเราจะมีการเลือกตั้งไว้ทำไม ตกลงอำนาจอธิปไตยของประเทศนี้เป็นของปวงชนชาวไทยตามที่ปรากฏบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญจริงหรือไม่ หรือเป็นของใครกันแน่ 

 

นอกจากนี้ยังมีคำถามว่าตกลงประชาชนอยู่จุดไหนในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของเรา

 

ชัยธวัชกล่าวต่อว่า คำถามในใจของพี่น้องประชาชนเหล่านี้สะท้อนอะไร และมีนัยสำคัญอย่างไรกับสังคมบ้านเมืองของเรา ความจริงคำถามเหล่านี้ไม่ใช่เพิ่งจะเกิดแต่เป็นคำถามที่ดังขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับตลอดเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

 

เราผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว 5 ครั้ง ผ่านการรัฐประหาร 2 ครั้ง ผ่านการพยายามที่จะเขียนรัฐธรรมนูญฉบับถาวรหลังรัฐประหาร 2 ฉบับ ผ่านแม้กระทั่งการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร 1 ครั้ง ผ่านการยุบพรรคการเมือง ผ่านการชุมนุมของประชาชนฝ่ายต่างๆ และการปะทะกันบนท้องถนน มีผู้ถูกดำเนินคดี จำคุก บาดเจ็บ รวมถึงเสียชีวิต รวมแล้วนับร้อยนับพันจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังไม่ทราบว่าจะยุติเมื่อไร

 

การผ่านเหตุการณ์เหล่านี้มาเกือบ 2 ทศวรรษ สังคมไทยยังไม่สามารถให้คำตอบที่ดีได้ต่อคำถามในใจของพี่น้องประชาชนอย่างที่ตนได้กล่าวไว้ และไม่สามารถหาคำตอบที่พวกเรายอมรับร่วมกันได้สักที หากเรายังหาคำตอบของคำถามเหล่านี้ไม่ได้ สังคมไทยก็จะจมนิ่ง ว่ายบนอยู่ในวงจรเดิม มองไม่เห็นอนาคตไปอีกนาน

 

ชัยธวัชกล่าวว่า ตนในฐานะผู้แทนราษฎร ในฐานะสมาชิกรัฐสภา และในฐานะตัวแทนของพรรคก้าวไกล เห็นว่าการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาและการลงมติของรัฐสภาในวันนี้จะเป็นโอกาสสำคัญของพวกเรา ที่จะเป็นโอกาสในการแสวงหาคำตอบครั้งใหม่ให้กับสังคมไทย

 

สมาชิกหลายท่านอาจจะไม่เห็นด้วยกับพรรคก้าวไกลในบางเรื่อง หลายท่านอาจจะกังวลใจกับความเปลี่ยนแปลงที่พวกเราไม่คุ้นเคยหรือไม่รู้จัก ความกังวลใจว่าพวกเราจะพยายามเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐหรือระบอบการปกครองหรือไม่ พวกเราพยายามที่จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่กลายเป็นสถาบันหลักของชาติอีกหรือไม่ เจตนาที่แท้จริงของการเสนอให้มีการแก้ไขปรับปรุงมาตรา 112 ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายนโยบายของเราเป็นอย่างไร

 

ตนไม่ขอใช้เวลาจุดนี้แลกเปลี่ยนกับหลายสมาชิกที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ แต่ประเด็นสำคัญที่อยากจะกล่าวเอาไว้ในที่นี้คือ ข้อเสนอใดๆ ของเรา ของพรรคก้าวไกล อยู่บนฐานความคิดที่ว่าสถาบันหลักของชาติหรือสถาบันการเมืองใดๆ ก็ตาม จะดำรงอยู่ได้ด้วยความยินยอมพร้อมใจของประชาชน ไม่มีสถาบันใดที่สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยการกดปราบ บังคับ

 

นี่เป็นสิ่งที่เราพยายามจะเตือนสติกับทั้งสมาชิกในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สังคมไทยกับผู้มีอำนาจทุกฝ่าย ขอให้ตั้งสติ มองการณ์ไกล เข้าใจสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน และเล็งเห็นให้ได้ว่าวิธีการอะไรที่ดีที่สุดที่จะสามารถทำให้รักษาสิ่งที่พวกเรารัก สิ่งที่หลายคนหวงแหน ให้ดำรงอยู่ให้ได้ในสังคมที่มีพลวัตตลอดเวลา เราไม่เชื่อว่าสิ่งใดๆ จะดำรงอยู่ได้ด้วยการสถิตอยู่เหมือนเดิมทุกประการแล้วจะมั่นคงสถาพร

 

ชัยธวัชกล่าวต่อว่า หลายท่านบอกว่าการลงมติเลือกพิธาเป็นนายกฯ จะเป็นการถ่วงรั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการไม่รักชาติ เป็นการไม่เคารพรักสถาบันพระมหากษัตริย์ นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่พวกผมพยายามจะบอกว่ามันไม่ควรจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะพระมหากษัตริย์และสถาบันในระบอบประชาธิปไตยต้องอยู่เหนือการเมือง ต้องอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง

 

เราต้องช่วยกันเอาสถาบันพระมหากษัตริย์ออกจากความขัดแย้งทางการเมือง และการที่นำสถาบันฯ มาปะทะกับผลการเลือกตั้งยิ่งไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง ใครจะรับผิดชอบกับผลกระทบจากการกระทำแบบนี้

 

สุดท้ายผมอยากเชิญชวนท่าน ส.ส. และ ส.ว. ในที่ประชุมแห่งนี้ ลงมติให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เหตุผลไม่ใช่เพราะทุกท่านรักพิธา ไม่ใช่เพราะทุกท่านเห็นชอบด้วยกับพรรคก้าวไกลไปเสียทุกเรื่อง แต่มันจะเป็นการลงมติเพื่อคืนความปกติให้แก่ระบบรัฐสภาของไทย เป็นการลงมติเพื่อแสดงความเคารพต่อประชาชน เป็นการลงมติเพื่อให้โอกาสครั้งใหม่ให้แก่สังคมไทย เป็นการลงมติเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการแสวงหาคำตอบแห่งยุคสมัยร่วมกันให้ได้

 

ผมขออวยพรให้ประชาชนซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในระบอบประชาธิปไตย คุ้มครองสมาชิกรัฐสภาทุกท่านที่จะตัดสินใจอย่างกล้าหาญตามมโนธรรมสำนึก และเจตจำนงที่พี่น้องประชาชนได้แสดงออกไปแล้วเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X