×

30 ปี บุญชูผู้น่ารัก มิตรภาพและเรื่องราววายป่วงของนักศึกษายุคระบบเอนทรานซ์

12.06.2018
  • LOADING...

ปี 2561 คือวันเวลาที่ #Dek61 กำลังปวดหัวกับระบบคัดเลือกเข้าเรียนมหาวิทยาลัยรูปแบบใหม่ TCAS (Thai University Center Admission System) ที่ดูเหมือนจะทำพิษทำภัยให้กับวัยกระโปรงบานขาสั้น อนาคตของชาติในวันหน้าจำนวนมาก

 

แต่ถ้านั่งยานเวลาย้อนกลับไป 30 ปี 8 มิถุนายน 2531 มันคือวันแรกที่ภาพยนตร์คอเมดี้ใสซื่อแต่ฮาเกรียน ว่าด้วยเรื่องราวมิตรภาพ ความรัก ความผูกพันระหว่างกลุ่มนักเรียนเตรียมสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในยุคที่ยังใช้ระบบที่เรียกว่า ‘เอนทรานซ์’ …ซึ่งต่างคนต่างที่มา หลากคนหลายคาแรกเตอร์ เหนือ ใต้ ออก ตก กลาง อีสาน ทั้งหมดได้มาเจอกันในโรงเรียนกวดวิชาแห่งหนึ่ง

 

 

จากจุดเริ่มต้นนั้นเองที่นำพาให้ภาพยนตร์ไทยชุด บุญชูผู้น่ารัก กลายเป็นงานภาพยนตร์ไทยคลาสสิกขึ้นหิ้งที่เรียกทั้งเสียงฮา อีกทั้งยังสะท้อนบริบทของสังคมไทยได้อย่างลึกซึ้ง มีเสน่ห์ และเข้าถึงผู้คนในวงกว้าง  

 

 

โดยมีจุดร่วมของเรื่องราวที่ชีวิตของ บุญชู บ้านโข้ง (สันติสุข พรหมศิริ) หนุ่มสุพรรณแสนซื่อ ที่เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อสอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย ตามความฝันผู้เป็นแม่ (จุรี โอศิริ) ก่อนที่ความใสซื่อตามประสาหนุ่มสุพรรณบุรี เสียงเหน่อจะนำพามาซึ่งเรื่องราวความรักระหว่างคุณหนูเมืองกรุง (จินตหรา สุขพัฒน์) กับหนุ่มบ้านนอก มิตรภาพระหว่างเพื่อน และเรื่องป่วนๆ ที่กลายเป็นหนึ่งใน ‘เสน่ห์’ ของหนังชุด บุญชูผู้น่ารัก ที่ถูกขยายเรื่องราวออกมาอีกหลายภาค หลังจาก บุญชูผู้น่ารัก ประสบความสำเร็จ เริ่มต้นจาก

 

 

บุญชู 1 – บุญชูผู้น่ารัก (2531)

บุญชู 2 – น้องใหม่ (2532) (ภาค 3 จำจากแม่ และภาค 4 ปีหนึ่ง ถูกสร้างในรูปแบบหนังสั้นเปิดเรื่องให้กับภาค 5)

บุญชู 5 – เนื้อหอม (2533)

บุญชู 6 – โลกนี้ดีออก สุดสวย น่ารัก น่าอยู่ ถ้าหงุ่ย (2534)

บุญชู 7 – รักเธอคนเดียวตลอดกาล ใครอย่าแตะ (2536)

บุญชู 8 – เพื่อเธอ (2538)  

 

 

ด้วยความนิยมอย่างล้นหลาม ทำให้ภาพยนตร์ในชุดบุญชูประสบความสำเร็จทั้งด้านรายได้และเสียงวิจารณ์ อีกทั้งยังส่งผลให้นักแสดงนำอย่าง สันติสุข พรหมศิริ และ จินตหรา สุขพัฒน์ กลายเป็นดาราคู่ขวัญที่มีผลงานร่วมกันทั้งในจอเงิน จอแก้วมายาวนานกว่า 27 ปี

 

อีกหนึ่งเสน่ห์ที่ขาดไม่ได้เลยในหนังชุด บุญชูผู้น่ารัก คือเพลงประกอบ ผ่านการแต่งเพลงและสำเนียงการร้องโดย จรัล มโนเพ็ชร ที่ยิ่งส่งให้หนังเป็นที่จดจำและหลงรักของนักดูหนังไทย

 

 

นอกเหนือจากความสำเร็จมากมายทั้งรายได้และรางวัล สำคัญที่สุด บุญชูผู้น่ารัก ยังถูกจัดให้เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ไทย 100 เรื่องที่คนไทยควรดู และได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติครั้งที่ 3

 

อาจารย์ประวิทย์ แต่งอักษร นักวิจารณ์ภาพยนตร์ชื่อดังของเมืองไทยเคยให้สัมภาษณ์ถึงผลงานของบัณฑิต ฤทธิ์ถกล ในเรื่อง บุญชู ไว้ว่า “ความสำเร็จของ บุญชูผู้น่ารัก มันไม่ใช่แค่ความเป็นหนังตลกอย่างเดียว คนแบบบุญชู เป็นคนในแบบที่สังคมไทยควรจะมีเยอะๆ คือคนที่ดีโดยเนื้อแท้ และทำดีโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน”

 

 

กระทั่งเมื่อบัณฑิต ฤทธิ์ถกล ได้เสียชีวิตลงในปี 2552 ไฟว์สตาร์ในฐานะสตูดิโอชั้นนำของไทยที่สร้างสรรค์ภาพยนตร์ชุด บุญชูผู้น่ารัก ไปจนถึงผลงานภาพยนตร์ชั้นดีของบัณฑิต ฤทธิ์ถกล อีกหลายสิบเรื่อง ก็ตัดสินใจสร้างภาคต่อของ บุญชู ขึ้นอีกหนึ่งภาคในชื่อ บุญชูจะอยู่ในใจเสมอ (2553) เพื่อเป็นเกียรติกับหนึ่งในผู้กำกับระดับตำนานของเมืองไทย โดยยังคงนักแสดงหลักและนักแสดงสมทบ ซึ่งล้วนแล้วแต่เคยสร้างชื่อและสร้างความประทับใจไว้ในภาคก่อนๆ อย่างคับคั่ง (หนังได้ ซูโม่กิ๊ก-เกียรติ กิจเจริญ นักแสดงหลักที่อยู่คู่กับหนังชุด บุญชู มาตั้งแต่ภาคแรก ในการเป็นผู้กำกับภาพยนตร์)

 

อ้างอิง:

 

ขอบคุณภาพจาก

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X