×

จาก ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ สู่ ‘30 บาทรักษาทุกที่’ ยกระดับด้วยบัตรประชาชนใบเดียวได้แค่ไหน

โดย THE STANDARD TEAM
09.01.2024
  • LOADING...
30 บาทรักษาทุกโรค 30 บาทรักษาทุกที่

‘40 นาที’ คือตัวเลขสำคัญที่ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกลายเป็นระบบสำคัญของไทยจนถึงทุกวันนี้ 

 

“แรกเริ่มเดิมที นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เดินสายเสนอทุกพรรคการเมือง รวมถึงพรรครัฐบาลในขณะนั้น แต่ไม่มีใครมองว่าเรื่องนี้ทำได้ บางคนบอกว่าเพี้ยน จนกระทั่งผมได้พบกับคุณหมอสงวนอีกครั้งในปี 2542 แล้วพาคุณหมอสงวนไปพบหัวหน้าพรรคไทยรักไทย หลังจากนำเสนอเสร็จ 40 นาที คุณทักษิณก็บอกกับที่ประชุมและบอกกับคุณหมอสงวนว่า แนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่มีประโยชน์กับประชาชน และสามารถเอาไปใช้เป็นประโยชน์กับประเทศไทยได้ แล้วก็เดินหน้าบรรจุเป็นนโยบายทันที” 

 

นี่คือบางส่วนของคำบอกเล่าเหตุการณ์เมื่อ 24 ปีก่อนของ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข 

 

โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ จึงได้เริ่มต้นถือกำเนิด กลายมาเป็นนโยบายสำคัญของพรรคไทยรักไทยเมื่อปี 2544 และดำเนินการได้ทั่วประเทศในปี 2545 เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคนได้รับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการของรัฐ 

 

เริ่มต้นจากกลุ่มตกหล่น

 

ก่อนจะมีโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ประเทศไทยมีระบบสวัสดิการและหลักประกันสุขภาพของรัฐ 4 ประเภท คือ

 

  1. ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ
  2. ระบบประกันสังคม
  3. ระบบประกันสุขภาพโดยสมัครใจ (โครงการบัตรสุขภาพ เสียเงินรายเดือนหรือรายปี) 
  4. โครงการสวัสดิการประชาชนด้านการรักษาพยาบาล (สปร.) หรือบัตรอนาถา

 

ส่วนภาคเอกชนมี ‘ประกันชีวิต’ แต่พบว่ามีประชากรอีก 20 ล้านคนหรือร้อยละ 30 ของประเทศในขณะนั้น ไม่ได้รับสวัสดิการหรือหลักประกันสุขภาพใดๆ เลย 

 

ปี 2533 นพ.สงวน ประธานชมรมแพทย์ชนบทรุ่นที่ 8 จึงได้เริ่มศึกษาความเป็นไปได้และเสนอร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวกลับถูกปัดตก

 

‘30 บาท’ มีที่มา

 

ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บอกเล่าถึงที่มาของ 30 บาท ซึ่งได้คิดร่วมกับ นพ.สุรพงษ์ ว่า ถ้าเอามากกว่า 30 บาท คนยากจนก็ไม่มีเงินอยู่ดี แต่ถ้าเอาน้อยกว่า 30 บาท เป็น 5 บาท 10 บาท ก็จะไม่มีความหมาย การเก็บ 30 บาทจะทำให้คนไม่มาโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น หากเขาไม่ป่วยจะได้ไม่มา แต่หากมาก็จ่าย 30 บาทเท่านั้นไม่ว่าจนหรือรวย นี่คือหัวใจของประชาธิปไตย และเราใช้เงินประมาณ 3 หมื่นล้านบาทก็ทำได้ 

 

ต่อมาหลังการปฏิวัติโครงการนี้ได้ยกเลิกการจ่ายเงิน 30 บาท ทำให้ประชาชนผู้มีสิทธิได้รับการบริการโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาจนถึงปัจจุบัน จนอาจมีเสียงคัดค้านและเกิดข้อครหารายทาง 

 

เหมือนที่ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ กล่าวไว้ว่า แม้ในตอนนั้นจะมีหลายข้อครหาที่ไม่เข้าใจ มีวาทกรรมในแง่ร้ายมากมาย วันนี้ทุกท่านได้เห็นแล้วว่า 30 บาทรักษาทุกโรคได้เปลี่ยนชีวิตของพี่น้องประชาชนได้ดีขึ้นจริงๆ นั่นแปลว่านโยบายที่ดีสามารถเปลี่ยนชีวิตของเราได้ วันนี้รัฐบาลกลับมารับไม้ต่อ ทำให้ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็น 30 บาทรักษาทุกที่ เราจะไม่หยุดพัฒนานโยบายที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

 

ครอบคลุมแต่ปัญหาล้นทะลัก

 

กว่า 22 ปี นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ไม่เพียงช่วยเหลือผู้ไม่ได้รับสิทธิสวัสดิการให้ได้รับการรักษา แต่อีกหนึ่งสิ่งที่โครงการนี้ทำประโยชน์โดยไม่รู้ตัวคือ การลดความยากจนจากความล่มจมการจากรักษา 

 

มีบวกย่อมมีลบ สิ่งที่ฉายภาพชัดเจนคือ บุคลากรทางการแพทย์ทำงานหนัก ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล รอคิวนาน เสียเวลาค่อนวัน และเมื่อสิทธิการรักษาฟรี งบประมาณจำนวนมหาศาลที่ถัวเฉลี่ยการตรวจรักษาผู้ป่วยจาก สปสช. จึงไม่เพียงพอให้ได้รับการรักษาตามมาตรฐานการแพทย์ที่ดี โดนลดคุณภาพสเปกยาหรืออุปกรณ์บางตัว  หลายๆ โรงพยาบาลต้องประสบปัญหาการขาดเงินทุนหมุนเวียนในการจัดซื้อยา เครื่องมือแพทย์ และเวชภัณฑ์ต่างๆ แพทย์สั่งจ่ายยาให้ผู้ป่วยได้เฉพาะยาที่มีอยู่ในรายการบัญชียาหลักแห่งชาติเท่านั้น 

 

กำเนิด ‘รักษาทุกที่’ คิกออฟ 4 จังหวัดนำร่อง ก่อนขยายทั่วประเทศ

 

‘30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว’ หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘30 บาทพลัส’ จึงเกิดขึ้นมาเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาเหล่านี้ โดยวันที่ 7 มกราคม 2567 คือวันเริ่มต้นนำร่องใน 4 จังหวัดที่มีความพร้อม ได้แก่ จังหวัดแพร่, เพชรบุรี, นราธิวาส และร้อยเอ็ด มี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานเปิดโครงการอย่างยิ่งใหญ่ ณ ลานสาเกตนคร หน้าหอโหวด 101 จังหวัดร้อยเอ็ด

 

ก่อนจะขยายไปสู่จังหวัดอื่นๆ เฟส 2 ภายในเดือนมีนาคมนี้ จะครอบคลุมพื้นที่อีก 8 จังหวัด คือ จังหวัดเพชรบูรณ์, นครสวรรค์, สิงห์บุรี, สระแก้ว, หนองบัวลำภู, นครราชสีมา, อำนาจเจริญ และพังงา และภายในสิ้นปีจะขยายให้ครอบคลุมสามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวได้ทั้งประเทศ 

 

ยกระดับ 30 บาทพลัส บัตรประชาชนใบเดียวใช้ได้ทุกที่

 

สำหรับการยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ ถูกยกระดับเป็น 30 บาทพลัส ที่ใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียวเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลทุกเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนได้โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว เนื่องจากสามารถเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และที่สำคัญยังสามารถเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งได้ครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่การฉีดวัคซีน การคัดกรองมะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งเต้านม หากตรวจพบก็จะถูกส่งต่อเข้ารับการรักษาต่อไป

 

นอกจากนี้ยังเข้าถึงบริการในเขตเมือง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยเชิญเอกชนเข้ามาร่วมให้บริการมากขึ้น ทั้งร้านยา คลินิกทันตกรรม และคลินิกกายภาพบำบัด นับเป็นการลดความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุขและอำนวยความสะดวกในการรับบริการของประชาชน

 

30 บาทรักษาทุกที่ ลดภาระให้คนไข้เมื่อต้องย้ายสถานพยาบาล ไม่จำเป็นต้องมีใบส่งตัว ข้อมูลผู้ป่วยจะถูกบันทึกในระบบออนไลน์ และการขอใบรับรองแพทย์ดิจิทัลสามารถทำผ่านแอปหมอพร้อมได้ เช่นเดียวกับการรับบัตรคิวก็สามารถจองล่วงหน้าได้

 

เพิ่มสิทธิการรักษาผ่านหน่วยบริการปฐมภูมิ ลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดการรอพบแพทย์ และสามารถหาหมอทางไกลผ่านออนไลน์ รับยาร้านยาใกล้บ้าน หรือส่งไปรษณีย์ รวมถึงใช้บริการ อสม. Rider ที่จะเริ่มให้บริการในเดือนมีนาคมนี้ 

 

แต่ทั้งหมดนี้ไม่อาจฟันธงได้ว่าหมอและพยาบาลจะสามารถลดงานหนักได้จริง และการให้บริการจะ ‘ทุกที่’ สมชื่อหรือไม่ จนกว่าผลการปฏิบัติจะออกมา 

 

ทางออกคนไข้ ปลดภาระบุคลากรทางการแพทย์

 

ในเสียงสนับสนุนกลับมีข้อแย้งที่บอกว่า 30 บาทพลัส ไม่ต่างจากเดิม

 

แหล่งข่าว สปสช. ระบุว่า การเปลี่ยนผ่านเพียงแต่เป็นการเพิ่มระบบบริการ ซึ่งการนำบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่เคยมีการนำร่องทดลองแล้วในเขตบริการสุขภาพที่ 9 และเพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีปัญหางบประมาณบานปลาย การรักษาพยาบาลจึงจำกัดแค่การรักษาภายในเขตและมีการเชื่อมต่อข้อมูลกันเท่านั้น

 

เช่นเดียวกับ นพ.สุรพงษ์ เคยให้สัมภาษณ์กับไทยรัฐออนไลน์ไว้ว่า การปรับเปลี่ยนยังมีข้อจำกัด เพราะรัฐบาลมีงบให้ปีละ 2 แสนล้านบาท และสิ่งที่น่ากังวลคือจำนวนบุคลากร โดยเฉพาะพยาบาลที่ไม่เพียงพอต่อการให้บริการ อาจต้องสนับสนุนการเรียนพยาบาลเพื่อผลิตบุคลากรให้มากขึ้น หรืออาจรื้อฟื้นโรงเรียนพยาบาลบางแห่งของหน่วยงานทหารให้กลับมาสอนอีกครั้ง

 

เติมความรู้ ลดเจ็บป่วย

 

แม้จะอยู่ในช่วงรอยต่อจาก 30 บาทรักษาทุกโรค สู่ 30 บาทรักษาทุกที่ แต่หากทำได้จริง ปัญหาคนไข้ล้นคงจะเบาบางลง ภาระบนบ่าของบุคลากรทางการแพทย์คงทุเลา เวลาที่เคยเสียไปกับการรอของคนไข้เกือบ 47 ล้านคนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะคืนกลับมา มาเพื่อทำประโยชน์และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้คนไทยดีขึ้นอย่างแน่นอน 

 

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X