×

3 ความท้าทายของคนรุ่นใหม่ในโลกหลังโควิด-19 และวิธีพิชิตอนาคตที่ไม่แน่นอน

23.09.2020
  • LOADING...

เพราะในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา มีความท้าทายหลายด้าน Sea Insights หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการวิจัยด้านนโยบายสาธารณะภายใต้ Sea Group จึงได้ทำวิจัยสอบถามความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ที่จะกลายเป็นผู้กำหนดอนาคตทั่วอาเซียนว่า พวกเขาเผชิญกับความท้าทายอะไรบ้าง อะไรคือสิ่งที่พวกเขารู้สึกว่าเป็นปัญหา อะไรคือสิ่งที่อยากจะปรับตัว และอะไรคือสิ่งที่พวกเราทุกคนทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือและจับมือให้พวกเขาก้าวไปด้วยกันได้ 

 

จากงานวิจัยที่สำรวจคนรุ่นใหม่ 70,000 คนทั่วอาเซียน อายุระหว่าง 16-35 ปี ซึ่งได้เจาะลึกเฉพาะ ‘คนรุ่นใหม่ของไทย’ และถูกนำเสนอผ่าน Virtual Conference ในหัวข้อ Thai Youth’s Challenges in the Next Normal (คนรุ่นใหม่กับความท้าทายที่ทุกคนต้องจับมือก้าวไปด้วยกัน) โดย Sea (Thailand) ร่วมจัดขึ้นกับ THE STANDARD 

 

“ผมเชื่อว่าผลกระทบจากโควิด-19 จะมีผลกระทบกับชีวิตของคนรุ่นใหม่มหาศาล ซึ่งจะมีผลไปตลอดในอนาคตด้วย เพราะฉะนั้นการเข้าใจพวกเขาจะเข้าใจอนาคตของประเทศไทยด้วย” ดร.สันติธาร เสถียรไทย Group Chief Economist, Sea Group กล่าว 

 

หลายฝ่ายเชื่อกันว่า การระบาดของโรคโควิด-19 จะทำให้คนเข้าสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น มีการปรับตัว ทักษะแห่งอนาคตสำคัญมาก แต่ที่สุดแล้ว ดร.สันติธาร ก็เชื่อว่า สิ่งที่จะยืนยันได้ดีคือ Data ซึ่งจากการทำวิจัยพบ 4 เซอร์ไพรส์ที่เกิดขึ้นกับคนรุ่นใหม่ของไทยด้วยกัน คือ คนรุ่นใหม่ของไทยพบกับความลำบากค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการปรับตัว ถึงแม้ว่าไทยสามารถควบคุมการระบาดได้ดีในระดับโลก, ดิจิทัล กลายเป็น New Normal สำหรับแค่บางวงการ ไม่ใช่ว่าทุกวงการดิจิทัลจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรทั้งหมด บางวงการมีการเปลี่ยนรูปแบบเป็นลักษณะไฮบริด, กลุ่มเด็กๆ อายุ 16-25 ปี พบความท้าทายในการปรับตัวไม่แพ้กลุ่มอายุ 30 ปีขึ้นไป และมีคนไทยจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งการเงิน

 

ผลจากงานวิจัยได้กะเทาะออกมาเป็น 3 ความท้าทายที่เรียกว่า 3D คือ 

 

  1. Disruptions to Work & Study โดย 76% ของกลุ่มตัวอย่างคนรุ่นใหม่ บอกว่า การทำงาน การเรียน เป็นไปอย่างยากลำบาก โดยกลุ่มที่เปราะปรางมากที่สุดถูกพบว่า เป็นกลุ่มที่ทำงานในภาคเศรษฐกิจดั้งเดิม เช่น เกษตร และกลุ่มด้านการศึกษา ซึ่งเห็นภาพทั้งนักเรียนและอาจารย์ โดยมีปัญหามาจากคุณภาพของอินเทอร์เน็ตและทักษะดิจิทัลของคน

 

  1. Deficits in Funding เรื่องสถานะทางการเงินของคนไทยที่ค่อนข้างมีปัญหา และสูงกว่าเพื่อนบ้านในภูมิภาค โดยกลุ่มที่มีปัญหาที่สุดคือ กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs และกลุ่มผู้ที่ทำงานรับจ้างซึ่งรายได้ไม่แน่นอน แต่นอกจาก 2 กลุ่มนี้ ในไทยยังพบกว่ากลุ่มสตาร์ทอัพและภาคประชาสังคม เป็นกลุ่มที่ต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างมากในสถานการณ์นี้ 

 

  1. Downturns in Demand เยาวชน 40% บอกว่า นอกจากรายได้ลดลง ยังจำเป็นที่จะต้องมีการระมัดระวัง รัดเข็มขัดในการใช้จ่ายมากขึ้น 

 

“แม้ว่าความท้าทายจะมากมายเปรียบเสมือนคลื่นลูกใหญ่ที่จะเข้ามา แต่คนรุ่นใหม่ของไทยก็ไม่ได้ยอมแพ้ โดยจากผลการวิจัยพบว่า มีการปรับตัวที่เห็นมี 3 เรื่องด้วยกัน คือ การเข้าสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น แต่เท่านั้นยังไม่พอ เพราะดิจิทัลเป็นเพียงแค่เครื่องมือในการช่วยให้คนปรับตัวมีความยืดหยุ่น แต่สิ่งสำคัญเราต้องมองให้ลึกกว่านั้น การปรับตัวบางคนเรียกว่าเป็นการปฏิวัติตัวเอง เพราะดิจิทัลก่อให้เกิดการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ธุรกิจหาโมเดลใหม่ๆ และอีกด้านคือเรื่องการเงิน มีการปรับตั้งแต่การใช้จ่าย ออมมากขึ้น จนไปถึงพึ่งพาแหล่งการเงินแบบใหม่” 

 

 

นอกจากนี้ ดร.สันติธาร ระบุว่า การระบาดของโควิด-19 เป็นบททดสอบแห่งอนาคตที่ยิ่งใหญ่และมาเร็วกว่ากำหนด ผลวิจัยบอกว่า คนไทยถือว่าเก่งพอสมควรในการปรับตัว โดย 63% แสดงให้เห็นว่ามีการปรับตัวและเรียนรู้ โดยบางคนระบุว่า มีการปรับตัวอยู่กับความไม่แน่นอน บางคนเรียนรู้ทักษะใหม่

 

“นอกจากการปรับตัว ล้มและลุกได้เร็ว สิ่งที่เห็นได้เด่นชัดคือ การเรียนรู้ซึ่งเป็นเรื่องของ Growth Mindset แปลว่าไม่ได้ล้มแล้วลุกมาที่เดิม แต่เราล้มแล้วเราเด้งขึ้นไปได้ไกลกว่าเดิม ซึ่งระบบการศึกษาในบ้านเราสามารถส่งเสริม Growth Mindset ได้มากกว่านี้ สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากๆ เลยคือ เราควรจะสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่เข้าใจทักษะแห่งความล้มเหลว ซึ่งการล้มเหลวไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว เพราะเป็นการพัฒนา สร้างความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเหล่านี้เป็นทักษะที่สำคัญมากในอนาคต” 

 

ท้ายนี้ ดร.สันติธาร ระบุว่า โดยรวมเรามีช่องว่างอยู่ 3 อัน ซึ่งถ้ามองว่าคนรุ่นใหม่เป็นไม้แห่งอนาคต ถ้าอยากให้เติบโตขึ้นไป ต้นไม้ก็ต้องมีทั้งน้ำ ดิน และแสงแดด ซึ่งเราก็จะเห็นช่องว่างแต่ละอันอยู่ ดินเปรียบเทียบกับทักษะแห่งอนาคต ถ้าเรามี Growth Mindset มีทักษะที่เปิดรับความรู้ใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา นี่จะทำให้เราสามารถดูดสารอาหารออกมาได้ เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา 

แสงแดดเปรียบได้กับดิจิทัลที่ตอนนี้แม้สาดส่องตลอดเวลาแต่ยังไม่ทั่วถึง หลายคนเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต ขณะเดียวกันต้องมีทักษะดิจิทัลด้วย เรื่องนี้ต้องช่วยทั้งภาครัฐและเอกชน สุดท้ายน้ำเปรียบได้กับการเงิน สิ่งที่ค้นพบคือ ในช่วงที่ผ่านมาเยาวชนของไทยพึ่งพาการเงินจากภาครัฐค่อนข้างเยอะ คนที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งการเงินแบบธนาคารในเมืองไทยยังมีค่อนข้างพอสมควร 

 

“หน้าที่ให้น้ำ ดิน และแสงแดด เป็นของทุกคน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ตอนแรกที่ทำงานวิจัยชิ้นนี้มองว่า เป็นบททดสอบของคนรุ่นใหม่ แต่ทำเสร็จแล้วถึงเข้าใจว่า โควิด-19 ไม่ใช่บททดสอบของคนรุ่นใหม่ แต่เป็นบททดสอบของทั้งสังคมไทยว่าสุดท้ายแล้วเราเห็นคนรุ่นใหม่ที่เป็นนักสู้ที่สามารถปรับตัวได้ขนาดนี้ บางคนโต้คลื่น แต่บางคนยังไม่มีแม้กระทั่งกระดาน เราจะหากระดานให้กับคนเหล่านั้นได้อย่างไร ทุกคนต้องมาร่วมทำด้วยกันหมด”

 

ขณะเดียวกันภายในงานนี้ยังได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาให้มุมมองจากหลายภาคส่วนเกี่ยวกับการมองผลวิจัยและการนำไปปรับใช้ โดย บัญชา มนูญกุลชัย ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมาการเข้าถึงโลกของดิจิทัลเราอาจจะมองว่า มีแต่คนรุ่นใหม่ที่เข้าถึงได้ แต่ปัจจุบันวิวัฒนาการทำให้คนเริ่มเข้าสู่ดิจิทัลในทุกเจเนอเรชันมากขึ้น และบริการทางการเงินก็เข้าถึงได้มากขึ้น ผ่านเทคนิคเล็กๆ เช่น Digital Footprint หรือ Alternative Data เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยการเข้าถึงบริการทางการเงินที่ง่ายขึ้น

 

โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกนโยบาย Digital Lending  ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ใช้ข้อมูลทางเลือกอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่เพียงสลิปเงินเดือนเท่านั้น เพื่อสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น เช่น ข้อมูลการชำระเงิน ข้อมูลการใช้โทรศัพท์ ซึ่งเป็นข้อมูลเสริมกลไกของการขอสินเชื่อได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงได้เปิดโอกาสให้มี P2P Lending (การกู้ยืมระหว่างบุคคลกับบุคคลผ่านช่องทางออนไลน์) ซึ่งเริ่มทดสอบและจะเป็นอีกกลไกที่ทำให้คนที่มีไอเดียดีๆ อยากได้สินเชื่อเข้าไปหาแหล่งเงินทุนได้ 

 

ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (กลุ่มสังคมและกำลังคนดิจิทัล) กล่าวว่า ผลจากงานวิจัยเป็นอีกหลักฐานที่ทำให้เราได้เห็นว่า ดิสรัปชันมาเร็วและแรงจริงๆ ซึ่งวันนี้เข้าสู่ยุคที่ 3 แล้ว โดยดิจิทัลเข้ามาดิสรัปต์กว้างขึ้นตั้งแต่ไลฟ์สไตล์ การซื้อสินค้า การเรียนการสอน ไปจนถึงการทำงาน ซึ่งมีการคุยกันว่า สิ่งที่เกิดจะต้องเกิดอยู่แล้วในอีก 5 ปีจากนี้ไป แต่โควิด-19 ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้เกิดการย่นย่อเวลาให้ 5 ปีข้างหน้าเกิดขึ้นในวันนี้

 

ปัญหาที่ตามมาคือ คน องค์กร สถาบัน ยังไม่ได้เตรียมการ แม้การเรียนออนไลน์ ทำงานออนไลน์ มีหลายๆ แห่งเตรียมไว้นานแล้ว แต่ก็มีอีกหลายแห่งที่ไม่ได้เตรียมไว้ พอเกิดโควิด-19 ทำให้ความต้องการ Work from Home หรือการเรียนจากที่บ้านไม่มีประสิทธิภาพ เพราะไม่ได้เตรียมโครงสร้างพื้นฐานรองรับไว้ ล่าสุดมีข้อมูลจากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า สิ่งที่อาจารย์มหาวิทยาลัยต้องการคือ ทักษะในการผลิตสื่อออนไลน์ เพื่อช่วยให้เยาวชนมีความรู้เพิ่มมากขึ้น ส่วนอาจารย์ในโรงเรียนควรต้องมีความรู้เรื่องวิธีจัดคลาสเรียนออนไลน์

 

“วันนี้การศึกษาเราเป็นซัพพลายเชนแบบมหาวิทยาลัย นักวิชาการ นักการศึกษา เป็นผู้สร้างหลักสูตรแล้วค่อยไปสู่ครูผู้สอน แต่พอเกิดดิสรัปต์จากโรคระบาด กระบวนการเหล่านั้นถูกยกออกมาและทำไม่ทัน ดังนั้นวันนี้จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างรวดเร็ว และถ้าเราไม่ทำอะไรจะจัดการไม่ทัน ดังนั้นนี่จึงเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องร่วมกันทำ ซึ่งการเรียนการสอนไม่ได้อยู่ในห้องเรียนแล้ว แต่อยู่ในทุกที่ ทุกเวลา และทุกช่องทาง ห้องเรียนไม่ใช่โลกทั้งใบ แต่ว่าโลกทั้งใบเป็นห้องเรียนของคน”

 

ดร.วิโรจน์ จิรพัฒนกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง Skooldio กล่าวว่า คีย์ที่สำคัญคือ ตอนนี้ทุกคนรู้แล้วว่าดิจิทัลคืออนาคต เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องของการปลูกฝังตั้งแต่เด็กจนโตจึงเป็นเรื่องสำคัญ ภาพใหญ่เชิงนโยบายเกี่ยวกับการเรียนต้องเข้าไปแทรกในทุกๆ จุด ซึ่งก่อนหน้านี้เราทำงานแยกกันเป็นท่อนๆ คนวางคอนเทนต์ คนผลิตสื่อ คนทำ e-Learning แต่สุดท้ายในภาพปัจจุบันเราต้องเห็นภาพรวม คอนเทนต์เราจะวางอย่างไร เทคโนโลยีจะเข้าไปเสริมอย่างไร เพราะเวลาเราพูดถึง e-Learning เรามักจะนึกถึงการนั่งดูวิดีโอยาวๆ แต่จริงๆ แล้วเราสามารถดูวิดีโอได้ ทำแบบทดสอบได้ ทบทวนด้วยตัวเองในบางส่วน สุดท้ายจะทำอย่างไรให้สื่อผสมได้อย่างลงตัว ทำให้การเรียนรู้สนุกและหลากหลายยิ่งขึ้น 

 

ด้าน Lifelong Learning อยากให้แบ่งวัตถุประสงค์ให้ชัด เพราะจริงๆ การเรียนแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนเรียนเพื่อพัฒนาทักษะ เพิ่มทักษะ แต่ถ้าเพื่อหางานใหม่ต้องเข้มข้นในระดับหนึ่ง โดยสิ่งที่ ดร.วิโรจน์ ชอบในสถานการณ์โควิด-19 คือการถูกบังคับให้เราได้ลองเรียนรู้ผ่านออนไลน์ ซึ่งไม่ได้แย่อย่างที่คิด และทำให้เราติดนิสัยของการเรียนรู้ยิ่งขึ้น 

 

ปิดท้ายด้วย ดร.ศรุต วานิชพันธุ์ Director of Sea (Thailand) ที่กล่าวว่า Sea มีวิชันที่ต้องการนำเทคโนโลยีมาทำให้ชีวิตของผู้บริโภคและ SMEs ดีขึ้น เพราะฉะนั้นเรื่องของการศึกษาจึงเป็นเป้าหมายที่ทำมาตลอด และเราสนับสนุนการเรียนรู้ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน โดยได้มีการทำ Garena Academy เพื่อให้น้องๆ ที่อยู่ในช่วงมัธยมเข้าไปดูได้ว่า อาชีพในอุตสาหกรรมเกมและอีสปอร์ตมีอะไรบ้าง สามารถทำแบบประเมินเพื่อหาว่าเหมาะสมกับอาชีพอะไร อีกทั้งยังแนะนำทักษะที่ต้องเพิ่มเติมว่ามีอะไรบ้าง และควรจะเรียนด้านไหน เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะไปเป็นอาชีพนั้น

 

ขณะเดียวกันยังมี Shopee e-Learning ที่เรียนจบสามารถขายสินค้าออนไลน์ได้เลย แต่ถ้าใครที่ขายเป็นอยู่แล้ว อยากฝึกทักษะเพิ่ม เช่น การถ่ายรูปก็สามารถเข้าไปเสริมทักษะได้ รวมไปถึงแนะนำการทำออนไลน์มาร์เก็ตติ้งว่าต้องทำอย่างไรถึงจะประสบความสำเร็จ เป็นต้น ซึ่งหลังจากนี้ Sea พร้อมที่จะขยายผลเหล่านี้ออกไปอีกเรื่อยๆ อาทิ ไปยังศูนย์ดิจิทัลชุมชน ซึ่งเป็นการ Train the Trainer ให้ผู้นำในชุมชมสามารถนำความรู้ไปสอนต่อให้กับคนในหมู่บ้านได้ในวงกว้างขึ้น

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X