×

สงกรานต์ปีที่ 3 ในวิกฤตโรคระบาด เราจะอยู่ร่วมกับโควิดอย่างไร

12.04.2022
  • LOADING...
สงกรานต์ โควิด

วันหยุดยาวนี้จะเป็นเทศกาลสงกรานต์ที่ 3 นับตั้งแต่มีการระบาดใหญ่ (Pandemic) ของโควิด การเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด การรวมญาติ และการจัดกิจกรรมตามประเพณีในช่วงนี้ ทำให้กระทรวงสาธารณสุขกังวลว่าจะทำให้การระบาดของโควิดเพิ่มขึ้น แต่เมื่อเดือนมีนาคม 2565 กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอแผนการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น (Endemic Approach to COVID-19) ซึ่ง ศบค. เห็นชอบ จึงไม่มีการปรับมาตรการควบคุมและป้องกันโรคเพิ่มขึ้น

 

สถานการณ์การระบาดช่วงสงกรานต์นี้เป็นอย่างไร และเราจะสามารถอยู่ร่วมกับโควิดได้หรือไม่ น่าจะเป็นคำถามที่หลายคนสงสัยในขณะนี้

 

สถานการณ์ช่วงสงกรานต์นี้จะประมาณไหน

 

แดชบอร์ด (Dashboard) สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิดของกรมควบคุมโรคมี 5 ช่องที่สามารถบอกสถานการณ์การระบาดได้ ทว่าแต่ละช่องต่างมีข้อจำกัดในการแปลผล ดังนี้ 

 

  1. ผู้ติดเชื้อรายใหม่ เป็นจำนวนผู้ติดเชื้อยืนยัน ซึ่งต้องตรวจด้วยวิธี RT-PCR แต่ปัจจุบันผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่ได้รับการตรวจ RT-PCR ซ้ำ เนื่องจากรักษาในระบบ ‘เจอ แจก จบ’ ยกเว้นเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล / ศูนย์พักคอย (Community Isolation) ตัวเลขนี้จึงไม่บอกสถานการณ์จริง 

 

  1. ผู้ติดเชื้อเข้าข่าย / ATK เป็นจำนวนผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบผล ATK เป็นบวก แต่ประชาชนบางส่วนไม่มีชุดตรวจ ผู้ติดเชื้อบางส่วนอาจไม่ได้ตรวจเพราะไม่มีอาการ / อาการเล็กน้อย เมื่อตรวจพบผลบวกอาจไม่ได้รายงานเข้าระบบเฝ้าระวัง และบางจังหวัดอาจรายงานยอดต่ำกว่าความเป็นจริง ตัวเลขนี้จึงไม่บอก ‘สถานการณ์จริง’ เช่นกัน แต่ทั้ง 2 ช่องนี้อาจบอก ‘แนวโน้ม’ การระบาดได้ ส่วนถ้าจะนำตัวเลขทั้ง 2 ช่องนี้มารวมกันอาจมีปัญหายอดซ้ำกัน ซึ่งต้องพัฒนาระบบให้ตรวจชื่อซ้ำได้

 

  1. ผู้ป่วยปอดอักเสบ และ 4. ผู้เสียชีวิตรายใหม่ เป็นจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรง ซึ่งต้องตรวจด้วยวิธี RT-PCR และรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ธรรมชาติการดำเนินโรคผู้ติดเชื้อจะไม่มีอาการรุนแรง / เสียชีวิตในทันที ทั้ง 2 ช่องนี้จึงบอกสถานการณ์จริงในช่วงประมาณ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา 

 

  1. ร้อยละการตรวจพบเชื้อ เดิมเคยใช้บอกความเพียงพอของการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR แต่ปัจจุบันมีการตรวจ ATK เพิ่มขึ้น โดยไม่มีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ จึงไม่สามารถใช้แปลผลได้

 

เมื่อประเมินจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้ติดเชื้อเข้าข่ายแล้ว สถานการณ์การระบาดระดับประเทศในช่วงต้นเดือนเมษายน 2565 มีแนวโน้มคงที่ โดยไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเหมือนเดือนกุมภาพันธ์ และไม่ได้ลดลงชัดเจน ในขณะที่จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมากกว่า 2,000 ราย (เพิ่มขึ้นเกือบ 20% ในช่วง 2 สัปดาห์) และจำนวนผู้เสียชีวิตก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันเฉลี่ยวันละเกือบ 100 ราย ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่การระบาดจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากสงกรานต์

 

 

ซึ่งจากการคาดการณ์การระบาดระลอกนี้ของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นถึงจุดสูงสุดช่วงปลายเดือนเมษายน และจำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบจะเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ประมาณ 3,000 ราย (เส้นสีเหลือง) – 6,000 ราย (เส้นสีแดง) ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม เว้นแต่สามารถควบคุมโรคได้ดีจะถึงจุดสูงสุดที่ประมาณ 1,500 ราย (เส้นสีเขียว) ช่วงต้นเดือนเมษายน ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันอยู่ระหว่างเส้นสีเขียวกับเส้นสีเหลืองที่ภาครัฐยังคงมาตรการและประชาชนร่วมมือกันเท่ากับก่อนหน้านี้

 

คน-ไวรัส-สิ่งแวดล้อมด้านสังคม

 

คน-ไวรัส-สิ่งแวดล้อมด้านสังคม เป็นปัจจัยหลัก 3 ประการที่ส่งผลต่อการระบาดของโควิด ขอข้ามเรื่องการปฏิบัติตัวในช่วงเทศกาลไปก่อน (จะพูดถึงในหัวข้อถัดไป) ปัจจัยด้านคนที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือภูมิคุ้มกันจากวัคซีน ประเทศไทยมีผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม 72.7% แต่ปัจจุบันการฉีดวัคซีน 2 เข็มอาจไม่เพียงพอต่อสายพันธุ์โอมิครอน และภูมิคุ้มกันยังลดลงตามระยะเวลา จึงต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ ที่ 3 ซึ่งยังฉีดได้น้อยมาก โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่คิดเป็น 38.5% เท่านั้น

 

ไวรัสสายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศไทยในขณนี้คือ BA.2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนที่ระบาดต่อจาก BA.1 ที่เคยแทนที่สายพันธุ์เดลตาเมื่อเดือนมกราคม 2565 สายพันธุ์ย่อย BA.2 มีความสามารถในการแพร่กระจายเร็วกว่า BA.1 (ซึ่งเร็วกว่าเดลตาอยู่แล้ว) แต่มีความรุนแรงไม่ต่างจากเดิม ระดับภูมิคุ้มกันหลังติดเชื้อสายพันธุ์ BA.1 สามารถยับยั้ง BA.2 ได้ในผู้ที่ฉีดวัคซีน แต่จะยับยั้งได้ต่ำมากหากติดเชื้อสายพันธุ์ BA.1 เป็นครั้งแรก จึงอาจติดเชื้อซ้ำได้

 

สิ่งแวดล้อมด้านสังคม หมายถึง วัฒนธรรมประเพณี และมาตรการควบคุมป้องกันโรค เทศกาลสงกรานต์มีวัฒนธรรมการรวมญาติพี่น้อง หรือสังสรรค์ในกลุ่มเพื่อน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีการรวมตัวกัน อาจทำให้เกิดการระบาดเป็นคลัสเตอร์ได้ หรือหากในแต่ละจังหวัดมีการจัดงานเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว ก็ต้องมีมาตรการจัดการความเสี่ยงเพิ่มเติม เช่น การจัดหาชุดตรวจ ATK ให้เพียงพอ การเฝ้าระวังโรค การเตรียมเตียงสำหรับผู้ป่วยสีเหลือง / แดง รองรับกรณีเกิดคลัสเตอร์ใหญ่

 

เราจะอยู่ร่วมกับโควิดช่วงเทศกาลอย่างไร

 

การอยู่ร่วมกับโควิดอาจประเมินความเสี่ยงใน 2 ส่วนคือ 1. ส่วนบุคคล ว่ามีความเสี่ยงต่ออาการรุนแรงหรือไม่ โดยพิจารณาจากปัจจัยเสี่ยงต่ออาการรุนแรง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขใช้ตัวย่อว่า 608 หมายถึง ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป โรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค (โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด ไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะอ้วน มะเร็ง และเบาหวาน) และหญิงตั้งครรภ์ และปัจจัยป้องกันอาการรุนแรง คือ การได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มไม่เกิน 3 เดือน และวัคซีน 3 เข็มไม่เกิน 4 เดือน

 

  1. ส่วนกิจกรรม ว่ามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อระดับใด โดยพิจารณาจากลักษณะกิจกรรม สถานที่ และระยะเวลา หากเป็นกิจกรรมที่สามารถสวมหน้ากากอนามัยหรือเว้นระยะห่าง 1-2 เมตรได้ตลอด จัดในสถานที่อากาศถ่ายเทสะดวก และใช้ระยะเวลาไม่นาน ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ แต่ถ้าเป็นกิจกรรมที่ต้องถอดหน้ากากอนามัย พูดคุยใกล้ชิด เช่น นั่งรับประทานอาหารร่วมกัน จัดภายในอาคารหรือห้องปรับอากาศ และใช้เวลานาน จะถือว่ามีความเสี่ยงสูง

 

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ออกคำแนะนำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ แบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้ 

  • ระยะก่อนเทศกาล กลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง (กลุ่ม 608) ต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น (ไม่น้อยกว่า 7 วันก่อนร่วมกิจกรรม) ประเมินตนเองหากมีความเสี่ยงให้หลีกเลี่ยงเดินทาง / ร่วมกิจกรรม ตรวจ ATK ก่อนเดินทาง / ร่วมกิจกรรม 72 ชั่วโมง 
  • ระยะเทศกาล กิจกรรมตามประเพณี เช่น สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัว เล่นน้ำ (ริน รด พรม) โดยสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และรักษาระยะห่าง ห้ามปะแป้ง ปาร์ตี้โฟม และห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในงาน กิจกรรมในครอบครัวให้จัดในที่โล่ง ระบายอากาศได้ดี สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และงดรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มร่วมกันเป็นเวลานาน
  • ระยะหลังเทศกาล สังเกตอาการตนเอง 7-10 วัน หากมีอาการหรือความเสี่ยงให้ตรวจ ATK ในช่วงสังเกตอาการหลีกเลี่ยงการพบปะกับผู้อื่น และสถานที่ทำงานสามารถพิจารณามาตรการทำงานที่บ้าน (Work from Home) ตามความเหมาะสม

 

แผนการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น 

 

หลังเทศกาลสงกรานต์ ถ้าเป็นไปตามแผนการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 สู่โรคประจำถิ่นของกระทรวงสาธารณสุข ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2565 เป็นระยะ Plateau (จำนวนผู้ติดเชื้อคงที่ เป็นระนาบจนลดลงเรื่อยๆ) ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน เป็นระยะ Declining (จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงเหลือวันละ 1,000-2,000 ราย) และตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป จะเป็นระยะ Post-pandemic (หลังการระบาดใหญ่) เข้าสู่โรคประจำถิ่น โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือ

 

  • การเข้าถึงการดูแลรักษาได้อย่างรวดเร็ว มีคุณภาพ อัตราป่วยตายไม่เกิน 0.1% (ปัจจุบันในระลอกโอมิครอนมีอัตราป่วยตาย 0.27% แต่ถ้ารวมยอดผู้ติดเชื้อเข้าข่าย / ATK อาจต่ำกว่านี้)
  • ความครอบคลุมของวัคซีนเข็มกระตุ้นมากกว่า 60% 
  • ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง และความร่วมมือของประชาชนในการรับมือและปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับโควิด

 

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขและแต่ละจังหวัดจะต้องเตรียมความพร้อม คือ ระบบดูแลรักษาผู้ติดเชื้อหลังเทศกาลสงกรานต์ ตั้งแต่การลงทะเบียน การประสานงาน การให้คำแนะนำหรือการรักษาแบบผู้ป่วยนอกสำหรับผู้ป่วยสีเขียว เตียงสำหรับผู้ป่วยสีเหลือง / แดง และการรับผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาล รวมถึงการจัดหายาต้านไวรัสให้เพียงพอ (กระทรวงสาธารณสุขเพิ่งรับมอบยาแพ็กซ์โลวิดจากบริษัท Pfizer จำนวน 50,000 คอร์ส) จนถึงการฟื้นฟูภาวะลองโควิด (Long COVID) หลังติดเชื้อ

 

วันหยุดยาวนี้จะเป็นเทศกาลสงกรานต์ที่ 3 นับตั้งแต่มีการระบาดใหญ่ของโควิด หลายประเทศเดินหน้าสู่การอยู่ร่วมกับโควิดอย่างเต็มรูปแบบ เราก็สามารถอยู่ร่วมกับโควิดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ได้ด้วยการประเมินและจัดการความเสี่ยง ส่วนการเดินหน้าสู่โรคประจำถิ่นของไทยหลังสงกรานต์ ถึงแม้จะมีเงื่อนไขความรุนแรงของโรคที่ลดลงด้วย แต่การกลายพันธุ์ของไวรัสเป็นสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้ เงื่อนไขที่เป็นไปได้คือการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X