×

รู้จัก 3 สตาร์ทอัพไทยมาแรงและควรค่าแก่การใช้งาน จากรายการ ‘The Unicorn สตาร์ทอัพพันล้าน’

31.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins Read
  • ในบรรดาสตาร์ทอัพและเจ้าของแอปพลิเคชันจำนวนหลายร้อยพันโปรเจกต์ของประเทศไทยในปัจจุบัน ยังมี 3 สตาร์ทอัพมาแรงอย่าง Seekster, iTAX และ Hungry Hub ที่ได้รับคะแนนสูงสุดใน 3 อันดับ จนทะลุเข้าไปถึงรอบชิงชนะเลิศรายการ ‘The Unicorn สตาร์ทอัพพันล้าน’ ได้เป็นผลสำเร็จ
  • โดย Seekster คือคือแอปพลิเคชันผู้ให้บริการจัดหา ทำความสะอาด และซ่อมแซมทุกเรื่องเกี่ยวกับบ้าน, iTAX คือเเอปพลิเคชันผู้ช่วยบริหารจัดการและคำนวณภาษี ส่วน Hungry Hub เป็นบริการเปลี่ยนร้านอาหารแบบ a la carte ให้กลายเป็นร้านอาหารบุฟเฟต์
  • The Unicorn สตาร์ทอัพพันล้าน เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ ธนาคารกสิกรไทย และ เวิร์คพอยท์ ที่ต้องการผลิตรายการเกมโชว์ของสตาร์ทอัพที่ชูจุดเด่นเรื่ององค์ความรู้คลุกเคล้าไปกับประสบการณ์จริงของผู้เข้าแข่งขันเจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัพทั้ง 12 ราย โดยพยายามจะบอกเล่าและนำเสนอมุมมองแนวคิดของสตาร์ทอัพที่น่าสนใจเหล่านั้นให้มากที่สุด เพื่อต่อยอดเป็นความรู้ให้กับผู้ชม

     ไม่น่าเชื่อว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กระแสสตาร์ทอัพไทยที่มาแรงและได้รับความนิยมแบบสุดๆ จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ตามมาที่เห็นเป็นรูปธรรม อย่างเเอปพลิเคชันสัญชาติไทยจำนวนมหาศาลที่เข้ามาช่วยตอบโจทย์ pain point และอำนวยความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตประจำวันของใครหลายคนให้ราบรื่นกว่าที่เคย

     ซึ่งในบรรดาสตาร์ทอัพไทยและเจ้าของแอปพลิเคชันจำนวนหลายร้อยพันโปรเจกต์ที่ว่ามานี้ยังนับรวมถึง 3 สตาร์ทอัพไทยมาแรง ได้แก่ Seekster, iTAX และ Hungry Hub ที่ได้รับคะแนนสูงสุดใน 3 อันดับ จนทะลุเข้าไปถึงรอบชิงชนะเลิศรายการ ‘The Unicorn สตาร์ทอัพพันล้าน’ ภายใต้การผลิตโดย ธนาคารกสิกรไทย (KBank) และ เวิร์คพอยท์ (Workpoint TV)

     THE STANDARD ชวนคุณมาทำความรู้จัก 3 สตาร์ทอัพตัวเก็งผู้ชนะ The Unicorn สตาร์ทอัพพันล้าน ว่าแต่ละรายมีฟีเจอร์การใช้งานที่โดดเด่นในด้านใดบ้าง และเพราะเหตุใดพวกเขาถึงลุกขึ้นมาสรรสร้างนวัตกรรมที่แปลกใหม่เช่นนี้

 

 

Seekster – ว่าที่ยูนิคอร์นมาแรงลำดับที่ 3 (89 คะแนน) ผู้ให้บริการจัดหา ทำความสะอาด และซ่อมแซมทุกเรื่องเกี่ยวกับบ้าน

     พวกเขาคือ: สตาร์ทอัพเจ้าของแอปพลิเคชันผู้ให้บริการจัดหาช่างซ่อมแซมและคนทำความสะอาดทั่วไป ซึ่งมีผู้ให้บริการเข้าร่วมมากกว่า 1,700 รายทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเน้นไปที่บริการซ่อมแซม (repairing) และบริการทำความสะอาด (cleaning) เป็นหลัก ซึ่งมีรูปแบบบริการให้เลือกใช้มากมาย เช่น ตกแต่งและจัดสวน,​ การไฟฟ้า,​ การประปา, ล้างและซ่อมแอร์, การซ่อมแซมและการติดตั้งต่อเติมทั่วไป, บริการกำจัดปลวกและแมลง, บริการทำความสะอาด, รีดผ้า ล้างรถ และดูดฝุ่น เป็นต้น

     จุดเด่นคือบริการทั้งหมดมีราคามาตรฐานแน่นอน ผู้ใช้สามารถทราบราคาก่อนตัดสินใจจ้างงานได้ ทั้งยังการันตีความปลอดภัย เนื่องจากมีมาตรการให้ผู้บริการต้องผ่านการอบรมและตรวจสอบประวัติอาชญากรรมทุกคน

     ความตั้งใจในการสร้างแอปพลิเคชัน: เกิดขึ้นจากสองตัวแทนผู้ร่วมก่อตั้งอย่าง สเฮ็บ อนันต์ทรงวิทย์ และ โจเเซ่ด-ชัชนาท จรัญวัฒนากิจ โดยเดิมทีนั้น ครอบครัวของสเฮ็บประกอบธุรกิจโรงแรม และต้องพบกับปัญหาการจ้างงานช่างซ่อมแซมส่วนต่างๆ ที่ผู้ให้บริการแต่ละรายไม่สามารถการันตีราคาซ่อมที่แน่นอนได้

     ที่สุดแล้วทั้งสเฮ็บและโจเเซ่ดจึงมองว่าน่าจะมีช่องทางที่ช่วยเป็นตัวกลางประสานงานระหว่างฝั่งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ โดยที่ผู้รับบริการจะสามารถทราบราคามาตรฐานของบริการที่แน่นอน ไม่ถูกเอาเปรียบ และยังมีประกันความเสียหายให้สูงสุดถึง 5,000 บาท ขณะเดียวกัน ผู้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการก็จะได้รับประโยชน์จากการการันตีรายได้ 350 บาทต่อ 2 ชั่วโมงขึ้นไป ซึ่งสูงกว่ารายได้ขั้นต่ำ ที่สุดแล้วแนวคิดเหล่านี้จึงเกิดเป็น Seekster ขึ้นมา 

คลิกดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่:

 

 

iTAX – ว่าที่ยูนิคอร์นลำดับ 2 ผู้ยึดหัวหาดทำคะแนนนำนานถึง 9 ตอน (90 คะแนน) ผู้ช่วยบริหารจัดการและคำนวณภาษีที่ใครๆ ก็เป็นเจ้าของได้

     พวกเขาคือ: สตาร์ทอัพเจ้าของแอปพลิเคชันบริการคำนวณภาษีที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเสียภาษีได้น้อยที่สุดจากการช่วยบริหารจัดการ วางแผน ให้ข้อมูลคำปรึกษาการชำระภาษี รวมถึงเสนอแนวทางตัวช่วยในการลดหย่อนภาษีได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

     เพียงแค่ผู้ใช้เข้าไปกรอกข้อมูลรายรับ-รายจ่ายในแอปพลิเคชัน iTAX ระบบก็จะคำนวณให้เสร็จสรรพว่า ภายในปีดังกล่าวจะต้องเสียภาษีเป็นจำนวนเงินเท่าไร และจะสามารถลดหย่อนภาษีด้วยวิธีใดได้บ้าง นอกจากนี้ก็ยังมีระบบแจ้งเตือนชำระภาษีก่อนถึงกำหนดจ่ายวันสุดท้ายอีกด้วย

     ความตั้งใจในการสร้างแอปพลิเคชัน: เรือบิน-ธรรม์ธีร์ สุกโชติรัตน์ ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ iTAX มองว่า ในปัจจุบันมีผู้คนจำนวนไม่น้อยมีปัญหาด้านความเข้าใจเรื่องภาษี เช่น ไม่เข้าใจคำศัพท์เกี่ยวกับภาษีบางส่วน ไม่รู้ว่าตนเองต้องจ่ายภาษี รวมถึงไม่ทราบว่ามีตัวช่วยในการลดหย่อนภาษีได้ ที่สุดแล้วผู้คนจำนวนไม่น้อยเหล่านั้นจึงเสียผลประโยชน์ที่ตนพึงจะได้รับ เช่นเดียวกับประเทศที่เสียผลประโยชน์จากการไม่มีภาษีมาช่วยพัฒนาบ้านเมือง

     เมื่อเล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ธรรมธีร์จึงลุกขึ้นมาพัฒนาเเอปพลิเคชัน iTAX เพื่อช่วยให้การชำระภาษีกลายเป็นเรื่องที่ง่ายและสะดวกกว่าที่เคย ผ่านฟีเจอร์ข้อมูลด้านภาษีในภาษาที่เข้าใจได้ไม่ยาก ทั้งยังช่วยเสริมความได้เปรียบด้านการเงินให้ผู้ใช้ทั่วๆ ไปจากการมีตัวช่วยด้านการบริหารจัดการการชำระภาษีที่ครบครัน

คลิกดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่:

 

 

Hungry Hub – จ่าฝูงว่าที่ยูนิคอร์นที่แซงโค้งตอนปลาย (106 คะแนน) บริการเปลี่ยนร้านอาหารแบบ a la carte ให้กลายเป็นร้านอาหารบุฟเฟต์

     พวกเขาคือ: สตาร์ทอัพจ่าฝูงของรายการ The Unicorn สตาร์ทอัพพันล้าน ที่มาแรงแซงสตาร์ทอัพเจ้าอื่นๆ ในช่วงท้าย (ตอนที่ 9) โดยจุดเด่นที่ทำให้ Hungry Hub สามารถเอาชนะใจคณะกรรมการทั้ง 3 ท่าน และบรรดาคนดูในห้องส่งด้วยคะแนนที่ถล่มทลายเช่นนี้มาจากรูปแบบบริการที่เน้นจับกลุ่มผู้บริโภคที่โปรดปรานการรับประทานอาหารแบบบุฟเฟต์ ด้วยบริการจองร้านอาหารที่จะเปลี่ยนร้านอาหารแบบ a la carte ทั่วๆ ไปให้กลายเป็นร้านอาหารบุฟเฟต์ โดยมีประเภทของร้านอาหารชั้นนำให้เลือกหลากหลาย ไม่จำกัดแค่ปิ้งย่างหรือชาบู ที่สำคัญ ผู้ใช้ยังสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายที่แน่นอนในแต่ละมื้อได้

     ความตั้งใจในการสร้างแอปพลิเคชัน: เดิมทีในปี 2557 สิทธิ์-สุรสิทธิ์ สัจจะเดว์ และ โบว์-กมลพร เทศรัตนวงศ์ สองผู้ร่วมก่อตั้งที่เริ่มต้นทำแอปพลิเคชัน Hungry Hub ขึ้นมา โดยเน้นจุดมุ่งหมายของการเป็นผู้ให้บริการจองร้านอาหารทั่วๆ ไป แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับทำให้พวกเขาไม่สามารถต่อยอดโมเดลธุรกิจได้ไกลเท่าที่ควร

     กระทั่งในปี 2559 ทั้งคู่จึงปรับเปลี่ยนรูปแบบบริการของ Hungry Hub ใหม่ โดยยังคงความป็นผู้ให้เป็นบริการจองร้านอาหารอยู่ แต่เพิ่มความพิเศษที่ร้านอาหารดังกล่าวจะกลายเป็นร้านอาหารแบบบุฟเฟต์ทันทีที่จองผ่าน Hungry Hub เนื่องจากเล็งเห็นปัญหา pain point ของตัวเลือกประเภทร้านอาหารบุฟเฟต์ที่มีอยู่อย่างจำกัด รวมถึงความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่ต้องการควบคุมค่าใช้จ่ายของอาหารแต่ละมื้อ ส่วนผลลัพธ์ที่ตามมา นอกเหนือจากจะสร้างประโยชน์ให้กับผู้ใช้บริการแล้ว ร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการก็พบว่าโมเดลนี้ช่วยตอบโจทย์และดึงลูกค้าเข้ามาใช้บริการร้านอาหารได้มากขึ้นอีกด้วย

คลิกดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่:

 

 

‘The Unicorn สตาร์ทอัพพันล้าน’ เบื้องหลังรายการที่ปลุกให้ใครหลายคนลุกขึ้นมาทำตามแรงบันดาลใจและฝันของตัวเอง

     กว่าที่บทความนี้จะได้รับการเผยแพร่ออกไป เราคงจะได้ทราบกันแล้วว่าสตาร์ทอัพรายใดจะกลายเป็นยูนิคอร์นตัวแรกอย่างเป็นทางการในประเทศไทยพร้อมคว้าเงินรางวัลมูลค่ากว่า 1 ล้านบาทไปครอง (คลิกดูรอบชิงชนะเลิศได้ที่ www.youtube.com/watch?v=-hUqbzR3Aw8&t=10s)

     อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่าเบื้องหลังของรายการ The Unicorn สตาร์ทอัพพันล้าน เกิดจากความต้องการของธนาคารกสิกรไทย ที่อยากจะมีส่วนผลักดันให้คนรุ่นใหม่มีโอกาสได้คิดค้นแอปพลิเคชันที่เป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันของผู้ใช้งาน

     กสิกรไทย จึงจับมือกับ เวิร์คพอยท์ ในการผลิตรายการเกมโชว์การแข่งขันของสตาร์ทอัพที่ชูจุดเด่นเรื่ององค์ความรู้คลุกเคล้าไปกับประสบการณ์จริงของผู้เข้าแข่งขันเจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัพทั้ง 12 ราย โดยพยายามจะบอกเล่าและนำเสนอมุมมองแนวคิดของสตาร์ทอัพที่น่าสนใจเหล่านั้นให้มากที่สุดเพื่อต่อยอดเป็นความรู้ให้กับผู้ชม

     ที่สุดแล้วใครจะเป็นผู้ชนะและกลายเป็นยูนิคอร์นในรายการจึงอาจไม่ใช่สาระสำคัญอีกต่อไป เพราะใจความสำคัญที่แท้จริงของ The Unicorn สตาร์ทอัพพันล้าน คือการสร้างแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนที่อยากเป็นเจ้าของสตาร์ทอัพกล้าลุกขึ้นมาสานความฝันของตัวเองให้สำเร็จ ทั้งยังช่วยเป็นช่องทางให้สตาร์ทอัพเหล่านั้นเป็นที่รู้จักของคนไทยมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

 

ภาพประกอบ: Thiencharas W.

อ้างอิง:

FYI
  • ทั้ง Hungry Hub, iTAX และ Seekster ไม่ได้เป็นสตาร์ทอัพสัญชาติไทยไอเดียดีและน่าสนใจแค่ 3 รายเท่านั้น เพราะในรายการ The Unicorn สตาร์ทอัพพันล้าน ยังมีสตาร์ทอัพรายอื่นๆ ที่น่าสนใจไม่ต่ำกว่า 9 รายรอให้คุณทำความรู้จักอยู่ และหากสนใจก็สามารถติดตามย้อนหลังได้จากลิงก์นี้ 
  • นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ธนาคารกสิกรไทยให้การสนับสนุนเจ้าของสตาร์ทอัพหรือผู้ประกอบการ SME สัญชาติไทยอย่างจริงจัง เพราะถ้ายังจำกันได้ ก่อนหน้านี้พวกเขาก็เคยผลิตรายการ ‘SME ตีแตก’ (2553-2554, 2557-2559) ที่ได้รับผลตอบรับและได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม และยังเคยผลิตรายการอย่าง ‘ตะกายฝัน ปั้นธุรกิจ (Dream Chaser)’ และ ‘SME มีตังค์เยอะ’ มาแล้ว
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising