×

รู้จักวัคซีนต้านโควิด-19 3+1 จากรัสเซีย เมื่อ Sputnik V ไม่ใช่วัคซีนเพียงตัวเดียวที่รัสเซียเดิมพัน

01.05.2021
  • LOADING...
รู้จักวัคซีนต้านโควิด-19 3+1 จากรัสเซีย เมื่อ Sputnik V ไม่ใช่วัคซีนเพียงตัวเดียวที่รัสเซียเดิมพัน

ถ้าเอ่ยถึงวัคซีนต้านโควิด-19 จากค่ายรัสเซีย ชื่อ Sputnik V คงเป็นชื่อวัคซีนแรกที่เรานึกถึง แต่หลายคนคงอาจนึกไม่ถึงว่า รัสเซียไม่ได้แทงม้าตัวเต็งอย่าง Sputnik V เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีวัคซีนอื่นอีก 2 ชนิดที่ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค อาหารและยาแห่งรัสเซีย (Rospotrebnadzor) เรียบร้อยแล้ว

 

วัคซีน 3 ชนิดที่ว่าคือ Gam-COVID-Vac (Sputnik V), EpiVacCorona และ CoviVac ซึ่งมีเพียงวัคซีนเหล่านี้เท่านั้นที่ได้รับการรับรองให้เป็นวัคซีนป้องกันต้านโควิด-19 ที่ถูกต้องตามกฎหมายของรัสเซีย (บรรดาวัคซีนต่างชาติอื่นๆ เช่น Pfizer, AstraZeneca, Sinovac และอื่น ๆ ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้) และยังมีวัคซีนน้องใหม่ล่าสุดอย่าง Sputnik Lite ที่เตรียมรับการจดทะเบียนอย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้

 

ภาพ: Photo Illustration by Thiago Prudêncio / SOPA Images / LightRocket via Getty Images

 

Gam-Covid-Vac หรือในชื่อเครื่องหมายการค้าว่า Sputnik V เป็นวัคซีนต้านโควิด-19 ชนิดแรกของโลกที่พัฒนาโดยสถาบันวิจัยโรคติดต่อและจุลชีววิทยาแห่งชาติกามาเลยา กรุงมอสโกของรัสเซีย (National Epidemiology and Microbiology Research Center Named After Gamaleya) ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1891 (ในสมัยซาร์อเล็กซานเดอร์ที่สาม) ซึ่งวัคซีน Sputnik V ได้รับการรับรองโดยประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2020 และปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 60 ประเทศทั่วโลก

 

Sputnik V เริ่มมีการฉีดตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา ในขณะที่การทดลองเฟส 3 ยังไม่เสร็จสิ้นดี ท่ามกลางเสียงท้วงติงจากโลกตะวันตกถึงความเหมาะสมในการเริ่มฉีดให้แก่พลเรือนทั่วไป ทั้งๆ ที่ยังไม่สิ้นสุดการทดลองเฟส 3 รวมไปถึงมุมมองที่ตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพที่แท้จริงของวัคซีนนี้ แต่ Sputnik V ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า มีประสิทธิภาพอยู่ที่ 91.4% สำหรับคนทั่วไปและ 100% สำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรง โดยตัวเลขดังกล่าวได้จากอาสาสมัคร 30,000 รายจากการทดลองในเฟส 3 และผู้ที่ผ่านการเข้ารับวัคซีนทั่วประเทศแล้วกว่า 1.5 ล้านราย และยืนยันสมทบโดยผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ โดยระบุว่าผลการทดลองกับอาสาสมัคร 19,866 รายนั้นมีประสิทธิภาพสูงถึง 91.6% 

 

หลักการทำงานของวัคซีนคือ การใช้หลัก AAV (Adeno-Associated Virus) ซึ่งถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยอีกชนิดหนึ่ง เป็นการตัดส่วนพันธุกรรมของโควิด-19 ที่ใช้จำลองตัวเองออกไปใส่ Adenovirus อีกตัว แล้วฉีดเข้าไปในร่างกายเพื่อให้ร่างกายกระตุ้นภูมิได้ โดยไวรัสดังกล่าวไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้ พูดง่ายๆ คือการตัดสารพันธุกรรมจากไวรัสหนึ่งไปใส่ไวรัสอีกตัวแล้วฉีดให้คนสร้างภูมิ (เดิมทีวิธีเก่าคือการฉีดเชื้อเป็นหรือเชื้อตายเข้าไปสร้างภูมิ) หรือกล่าวในอีกแง่หนึ่งคือการนำตัวเชื้อมาเปลี่ยนให้เป็น AAV Vector ซึ่งมีการตัดต่อพันธุกรรมในยีนที่เข้ารหัสหนามโปรตีนและไม่สามารถขยายพันธุ์และติดต่อต่อไปได้ โดยไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายโดยฉีดทั้งหมด 2 โดส โดสแรกฉีด Vector Ad26-S ส่วนโดสที่สองฉีด Vector Ad5-S ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับ AstraZaneca แต่รายละเอียดและเทคนิคเฉพาะต่างกัน สามารถเก็บรักษาในอุณหภูมิ +2 ถึง +8 องศาเซลเซียส ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ไม่เกินโดสละ 10 ดอลลาร์สหรัฐ 

 

จากการติดตามผลข้างเคียงการเข้ารับวัคซีนตัวนี้ทั้งในประเทศรัสเซียและต่างประเทศที่ให้การรับรองวัคซีนนี้กว่า 60 ประเทศ ยังไม่มีรายงานใดๆ แม้แต่กรณีเดียว ถึงผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายจากการรับวัคซีนชนิดนี้

 

Sputnik V ถือเป็นวัคซีนหลักของทางการรัสเซียในการแจกจ่ายภายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศในบทบาทตามกรอบของ ‘การทูตวัคซีน’ (Vaccine Diplomacy) ซึ่งผลกระทบทางการเมืองระหว่างประเทศที่เห็นได้ชัดคือ การเมืองภายในสหภาพยุโรป (EU) ที่เริ่มมีความเห็นที่ต่างกัน กล่าวคือสมาชิก EU ที่มีความเป็นปฏิปักษ์ต่อรัสเซีย อยู่ใกล้รัสเซีย และเกรงว่าอิทธิพลของรัสเซียจะเข้ามาครอบงำอย่างโปแลนด์และกลุ่มประเทศบอลติก ในขณะที่ก็มีประเทศสมาชิกที่มีความต้องการใช้วัคซีนเร่งด่ว นและไม่อาจรอคอยการจัดสรรจาก EU ได้อย่าง อิตาลี มอลตา เชเคีย และฮังการี โดยเฉพาะประเทศหลังนี้ได้ประกาศรับรอง Sputnik V พร้อมผลการทดลองอันเป็นที่น่าพอใจอย่างเป็นทางการเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

 

ภาพ: EpiVacCorona

 

EpiVacCorona เป็นวัคซีนต้านโควิด-19 ลำดับที่สองที่ได้รับการจดทะเบียนในรัสเซีย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020 และเป็นวัคซีนใหม่ของรัสเซียชนิดเดียวนอกจาก Sputnik V ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในต่างประเทศอย่างเติร์กเมนิสถาน รวมไปถึงเวเนซุเอลา ที่แม้จะยังไม่ได้รับรองอย่างเป็นทางการ แต่ก็ได้รับวัคซีนชนิดนี้แล้ว เป็นวัคซีนที่ได้รับการพัฒนาโดยสถาบันวิจัยไวรัสและไบโอเทคโนโลยีเว็กเตอร์ (State Research Center of Virology and Biotechnology VECTOR) เมืองนาวาซีบีร์สก์ (Novosibirsk) ในภูมิภาคไซบีเรีย ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1974 ในยุคสหภาพโซเวียต

 

เปปไทด์วัคซีนนี้เป็นนวัตกรรม 3 ส่วนประกอบ ได้แก่ Peptides, Carrier-proteins และ Adjuvant กล่าวคือแอนติเจนเปปไทด์ที่สังเคราะห์เชิงเคมีของโปรตีนของไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งรวมคู่กันกับโปรตีนพาหะรีคอมบิแนนต์สังเคราะห์ในระบบแบคทีเรียและดูดซับด้วยสารเสริมที่มีอะลูมิเนียม เปปไทด์ประกอบด้วยกรดอะมิโนตกค้าง 20-31(chemically synthesized peptide antigens of the proteins of the SARS-CoV-2 virus, conjugated to a recombinant carrier protein, synthesized in a bacterial system and adsorbed on an aluminum-containing adjuvant) (ปราศจากไวรัสเชื้อเป็นๆ) แต่เทคโนโลยีการผนึกกรดอะมิโนต่อให้เป็นโซ่นั้นก็ทำให้วัคซีนนี้มีต้นทุนที่สูงกว่าตัวอื่น และโปรตีนพาหะดังกล่าวนั้นก็เป็น Know How เฉพาะของสถาบันเว็กเตอร์ที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ สามารถเก็บรักษาในตู้เย็นธรรมดาที่อุณหภูมิ +2 ถึง +8 องศาได้ 

 

จากผลการทดสอบในเฟส 1 และ 2 จากอาสาสมัคร 3,000 คน ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป รวมไปถึงผู้มีอายุเกิน 60 ปีอีก 150 ราย ผลการทดสอบอยู่ที่ 100% และล่าสุดในช่วงเฟส 3 ที่กำลังทดสอบอยู่นี้ให้ผลอยู่ที่ 94% วัคซีนนี้สร้างภูมิคุ้มกันสามชั้น โดยมีผลข้างเคียงต่ำเหมาะสำหรับผู้สูงอายุและผู้ที่มีอาการแพ้ต่างๆ วัคซีนนี้ได้เริ่มทยอยแจกจ่ายตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยรัฐบาลได้ทำการแจกจ่ายไปแล้วกว่า 40 เขตการปกครองทั่วรัสเซีย

 

วัคซีนนี้ถือเป็นความหวังต่อปรากฏการณ์กลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 อีกทั้งจากการที่ฐานการผลิตอยู่ในภูมิภาคนี้นั้นเป็นข้อดีคือ เพิ่มทางเลือกในการรับวัคซีนของชาวรัสเซียโดยรวมได้มากขึ้น ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาก็เริ่มมีการขยายสายพานการผลิตมากขึ้นให้ได้ใกล้เคียงกับ Sputnik V เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน (ตัวอย่างเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเริ่มมีให้ประชาชนเลือกแล้วว่าต้องการวัคซีนตัวใด) และที่สำคัญควรติดตามอัปเดตของวัคซีนชนิดนี้ต่อไป

 

ภาพ: TASS via Getty Images

 

CoviVac เป็นวัคซีนที่ได้รับการรับรองล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ เพิ่งทดลองเฟสที่ 3 ไปเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พัฒนาโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาเวชภัณฑ์ด้านชีววิทยาภูมิคุ้มกันแห่งชาติชูมาคอฟกรุงมอสโกของรัสเซีย (Federal Academic Center of immune-biological preparations R&D named after Chumakov) ที่ก่อตั้งในปี 1955 ตามนักไวรัสวิทยาโซเวียตชื่อดังอย่าง มิคาอิล ชูมาคอฟ (Mikhail Chumakov) ผู้คิดค้นวัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบจากเห็บ และผู้คิดค้นวัคซีนโปลิโอร่วมกับนักไวรัสวิทยาอเมริกัน อัลเบิร์ต เซบิน (Albert Sebin)

 

นวัตกรรมนี้ใช้วิธีดั้งเดิมคือใช้เชื้อตาย (Inactivated Virus) ของไวรัส SARS-CoV-2 ประกอบกับสารอะลูมิเนียมไฮดร็อกไซด์ (Aluminium Hydroxide as an adjuvant) สามารถใช้กระตุ้นภูมิคุ้มกันในผู้ที่เคยป่วยเป็นโควิด-19 มาแล้ว รวมไปถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวต่างๆ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ทีมพัฒนาไวรัสนี้เน้นย้ำว่าตราบเท่าที่วัคซีนใดใช้หลักการ ‘ไวรัสเชื้อตาย’ จะมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการกลายพันธุ์ส่วนใหญ่ ประสิทธิภาพจากผลการทดลองล่าสุดอยู่ที่ราว 90% อย่างไม่เป็นทางการ โดยรัสเซียเพิ่งส่งวัคซีนชนิดนี้ให้องค์การอนามัยโลก (WHO) พิจารณา ซึ่งต้องติดตามอัปเดตกันต่อไป

 

ภาพ: Valery Sharifulin / TASS via Getty Images

 

Sputnik Lite เป็นวัคซีนที่กำลังจะได้รับการจดทะเบียนอย่างเป็นทางการในช่วงการเฉลิมฉลองวันแห่งชัยชนะต้นเดือนพฤษภาคมนี้ เจ้าของเดียวกับ Sputnik V ส่วนเทคโนโลยีการผลิตและผลการทดลองอย่างเป็นทางการนั้นยังไม่ได้รับการเปิดเผย มีเพียงผลการทดลองอย่างไม่เป็นทางการของผู้อำนวยการสถาบันกามาเลยา ซึ่งอย่างน้อยที่สุดมีประสิทธิภาพไม่ต่ำกว่า 85% โดยคาดว่าจะทราบแน่ชัดหลังการจดทะเบียนอย่างเป็นทางการ 

 

ข้อมูลที่มีระบุเพียงว่าการรับวัคซีนนี้ต่างจากวัคซีน 3 ชนิดข้างต้นคือ ฉีดเพียง 1 โดสเท่านั้น เหมาะสำหรับผู้ที่เคยป่วยเป็นโควิด-19 และมีอาการหนัก ซึ่งจะทำให้ร่างกายสูญเสียความสามารถในการผลิตภูมิคุ้มกันไปพอสมควร วัคซีนตัวนี้จึงตอบโจทย์คนกลุ่มนี้ที่ควรรับวัคซีนปีละหนึ่งครั้ง (คล้ายวัคซีนไข้หวัดใหญ่) รวมไปถึงการส่งออกไปยังต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศที่ขาดงบประมาณไม่สามารถจัดหาวัคซีนให้เพียงพอได้ Sputnik Lite จะตอบโจทย์ที่สุดเนื่องจากต้นทุนการผลิตถูกลงจาก Sputnik V เข้าไปอีก

 

โดยรวมวัคซีนทั้ง 3+1 ชนิดมีมาเพื่อตอบโจทย์การป้องกันโควิด-19 เหมือนกัน แตกต่างกันในรายละเอียดบางอย่าง และความเหมาะสมส่วนบุคคลบางกลุ่มต่อวัคซีนบางชนิด โดยวัคซีนทั้ง 3 ชนิดต่างต้องฉีด 2 โดส โดยเว้นระยะไม่เกิน 21 วันเช่นเดียวกัน (ยกเว้น Sputnik Lite ที่ฉีดเพียง 1 โดส) นอกเหนือไปจากวัคซีนแบบฉีด รัสเซียยังมีโครงการวัคซีนแบบแคปซูลหยอดจมูก (Nasal Vaccine) สำหรับเด็กซึ่งกำลังวิจัยอยู่ในขณะนี้ด้วย

 

ถึงแม้ว่ายังไม่มีรายงานผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อการรับวัคซีน Sputnik V แต่เร็วๆ นี้เพิ่งจะมีรายงานความผิดปกติของวัคซีน โดย Anvisa หรือองค์การอาหารและยาของบราซิลว่าเว็กเตอร์ Ad5-S เกิดการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนในเซลล์ A549 ซึ่งตามหลักแล้ว Adeno Viral ไม่ควรที่จะแบ่งตัวได้ (แต่เว็กเตอร์ Ad26-S ยังไม่พบความผิดปกตินี้) ซึ่งรัสเซียได้ออกมาตอบโต้บราซิลในเรื่องนี้แล้วโดยกล่าวว่าเป็นเรื่องทางการเมือง 

 

ประเด็นข้อกล่าวหาของบราซิลก็น่าคิด เพราะบราซิลเป็นประเทศที่ใช้วัคซีนตัวอื่นร่วมด้วย ยกตัวอย่างเช่น Sinovac ที่ยังไม่สามารถยืนยันประสิทธิภาพที่ชัดเจนได้ รวมถึงมีข้อกังขาด้านผลข้างเคียงที่รุนแรงในบางกรณี แต่ก็ยังได้รับการจดทะเบียนให้ใช้ได้ ทว่า Sputnik V ที่เพิ่งเริ่มใช้ในบราซิลเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และยังไม่มีรายงานผลข้างเคียงร้ายแรงใดๆ และมีผลงานวิจัยในวารสารด้านการแพทย์ระดับโลกอย่าง Lancet เป็นตัวการันตีความมีประสิทธิภาพของ Sputnik V นั้น กลับถูกบราซิลแบนอย่างรวดเร็ว 

 

คงจะต้องติดตามกันต่อไปว่าความไม่ปกติที่ตรวจพบนี้จะนำไปสู่ผลข้างเคียงอื่นที่ร้ายแรงหรือไม่อย่างไร ผลการทดลองจากประเทศต่างๆ ที่รับรอง Sputnik V ในช่วงเวลานี้กำลังอยู่ในกระบวนการ ซึ่งต้องใช้เวลาและคงให้คำตอบพวกเราได้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ แต่ถ้าหากคิดในเชิง The Worst-case scenario ที่ Sputnik V อาจจะไม่ได้ไปต่อ แต่ที่แน่ๆ รัสเซียก็ยังมีวัคซีนตัวอื่นไว้รองรับการใช้งานโดยไม่ต้องพึ่งพาวัคซีนนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งนี้ถ้าหากการทดลองวัคซีนที่เหลือเสร็จสิ้นลงและพิสูจน์ได้ว่ามีประสิทธิภาพสูง คงปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกจะยิ่งเข้าหารัสเซียมากขึ้น และรัสเซียคงจะใช้ ‘การทูตวัคซีน’ ในการแสดงบทบาทในฐานะมหาอำนาจของโลกต่อไป

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising