วานนี้ (8 กุมภาพันธ์) พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย เอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร อธิบายถึงปัจจัยสำคัญของการสะสมค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5
พรพรหมเปิดเผยว่า 3 ปัจจัยหลักที่มีผลต่อสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพมหานคร ปัจจัยแรกคือมลพิษในพื้นที่ซึ่งมีคงที่อยู่ตลอด เนื่องจากจำนวนอุตสาหกรรมหรือรถยนต์มีจำนวนเท่าเดิม
ปัจจัยที่สองคือสภาพอากาศที่ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งดูได้จาก 2 ประเด็น
- อัตราการระบาย เปรียบเสมือนพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นห้องห้องหนึ่ง ถ้าอยู่ในช่วงกลางปีที่สภาพอากาศเปิด เพดานของห้องจะค่อนข้างสูง เมื่อมีมลพิษก็จะสามารถระบายออกได้ค่อนข้างง่าย แต่ถ้าเป็นช่วงที่สภาพอากาศปิดที่อัตราการระบายต่ำ เพดานห้องจะลดลง เมื่อมีมลพิษจะกักอยู่ ก็จะระบายออกได้ยาก โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาวมีอัตราการระบายต่ำเพราะเพดานอากาศมีการกดตัว ซึ่งสังเกตได้ว่าเพดานอากาศจะมีการกดตัวลงในช่วงเวลากลางคืน ในช่วงเช้าจะเห็นถึงการสะสมของฝุ่น แต่พอมีแดดออกในช่วงกลางวัน เพดานอากาศจะมีการเพิ่มสูงขึ้น
- ทิศทางลม ช่วงที่มีลมจากจีน เป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดเข้ามา จะพาฝุ่นจากภายนอก ทั้งภาคตะวันออก ภาคกลาง และจากประเทศเพื่อนบ้านพัดเข้ามา ประกอบกับในกรุงเทพฯ มีอาคารสูงหนาแน่น ทำให้อัตราการระบายต่ำ ส่งผลให้ฝุ่นที่พัดเข้าถูกกักอยู่และระบายได้ยาก
และปัจจัยที่สามคือจุดเผา หากทิศทางของลมพัดมาจากจุดที่มีการเผามากๆ จะส่งผลต่อค่าฝุ่นที่สูงขึ้นได้
ด้านเอกวรัญญูกล่าวว่า ปัจจัยของสภาพอากาศ เพดานอากาศ การระบายอากาศ และทิศทางของลม เป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ แต่ปัจจัยภายในที่เกิดขึ้น กทม. ได้พยายามเข้าไปจัดการที่ต้นตอ ยกตัวอย่างมาตรการในการตรวจรถควันดำอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งจัดแคมเปญ ‘รถคันนี้ลดฝุ่น’ รณรงค์ให้ประชาชนไปเปลี่ยนไส้กรองและถ่ายน้ำมันเครื่อง โดยมีแพ็กเกจจากบริษัทน้ำมันและค่ายรถยนต์ต่างๆ ให้ส่วนลดและสิทธิประโยชน์ ซึ่งสามารถรับสิทธิ์ได้จนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้