วันนี้ (23 พฤศจิกายน) อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ ‘การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง’ (พ.ศ. 2563) และแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง เน้น 3 มาตรการหลัก เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ พร้อมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง เป็นกลไกหลักในการกำกับดูแลและรับมือสถานการณ์
ร่างแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” (พ.ศ. 2563) ประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่
มาตรการที่ 1 การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ เพิ่มความเข้มงวดในการดำเนินการ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง/จังหวัด/พื้นที่เสี่ยง สามารถพิจารณากำหนดเกณฑ์ที่เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์และบริบทของพื้นที่ มีหน่วยงานรับผิดชอบชัดเจน สามารถสั่งการได้ทันทีในช่วงเกิดสถานการณ์ โดยเฉพาะในพื้นที่วิกฤต เช่น กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภาคเหนือ 17 จังหวัด
มาตรการที่ 2 การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) ลดและควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด ได้แก่ ยานพาหนะ อุตสาหกรรม การเผาในที่โล่ง การก่อสร้างและผังมือง และภาคครัวเรือน เช่น การพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีสำหรับรถยนต์และน้ำมันเชื้อเพลิง ที่เทียบเท่ามาตรฐานยูโร 5 ก่อนวันที่กฎหมายกำหนด และการส่งเสริมการทำการเกษตร ปลอดการเผา เป็นต้น
มาตรการที่ 3 การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ พัฒนาเครือข่ายการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศเสริม เพื่อเป็นการเฝ้าระวังในพื้นที่พัฒนาแบบจำลองการพยากรณ์คุณภาพอากาศ ฐานข้อมูลสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจากไฟป่า และการเผาในที่โล่ง พัฒนาระบบเตือนภัย ระบบสนับสนุนการตัดสินใจ รวมถึงการพัฒนาและใช้งานแอปพลิเคชันและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นต้น
สำหรับแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง (แผนเฉพาะกิจฯ) 12 ข้อ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง โดยฉพาะในช่วงเกิดสถานการณ์ ได้แก่
- การสื่อสารประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย (เช่น แต่งตั้งคณะอนุกรรมการสื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ และจัดทำแผนประชาสัมพันธ์)
- แต่งตั้งคณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ภายใต้คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งขาติ เพื่อเป็นกลไกหลักในการกำกับดูแลและรับมือสถานการณ์
- การบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า โดยการเก็บขนและใช้ประโยชน์เศษวัสดุในป่า และการบริหารจัดการเชื้อเพลิงใน 17 จังหวัดภาคเหนือ
- สร้างเครือข่าย อาสาสมัคร และจิตอาสา เป็นกลไกหลักเข้าถึงพื้นที่ ทั้งสื่อสาร ติดตาม เฝ้าระวัง และดับไฟ
- เร่งขับคลื่อนโครงการปลูกป่าและป้องกันไฟป้า ภายใต้ศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทาน โดยกำหนดเป้าหมาย 12 จังหวัดภายในปี 2563 และครบ 76 จังหวัด ภายในปี 2570
- เร่งรัดการเพิ่มประสิทธิภาพการถ่ายโอนภารกิจการควบคุมไฟป่าให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
- การพยากรณ์ฝุ่นละอองล่วงหน้า 3 วัน เพื่อแจ้งเตือนประชาชน
- ประยุกต์ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมในการรายงานปริมาณฝุ่นละอองเชิงพื้นที่ โดยเริ่มใช้วันที่ 1 ธันวาคม 2563
- พัฒนาระบบคาดการณ์ และระบบสนับสนุนการตัดสินใจ รวมถึงการพัฒนาและใช้งานแอปพลิเคชันบัญชาการการดับไฟป่า โดยเริ่มใช้วันที่ 1 ธันวาคม 2563
- บริหารจัดการเชื้อพลิงโดยใช้แอปพลิเคชันลงทะเบียนจัดการเชื้อเพลิง
- ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลป่าไม้ และลดการเผาป่าผ่านการจัดที่ดินทำกิน
- เจรจาสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งระดับอาเซียน ระดับทวิภาคี และระดับพื้นที่ชายแดน
ทั้งนี้ บางมาตรการในแผนเฉพาะกิจฯ ได้มีการเริ่มดำเนินการแล้ว เพื่อเตรียมรองรับสถานการณ์ฝุ่นปี 2564 อาทิ การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยมีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมพยากรณ์ฝุ่นละอองล่วงหน้า 3 วัน เผยแพร่ผ่านเพจเฟซบุ๊ก ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อแจ้งเตือนประชาชนให้ทราบล่วงหน้าด้วย
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์