×

เช็กลิสต์ 3 ข้อ เพื่อเลือกธีมลงทุนปี 2022

05.01.2022
  • LOADING...
เช็กลิสต์ 3 ข้อ เพื่อเลือกธีมลงทุนปี 2022

สวัสดีปีใหม่ Thematic Investor ทุกท่าน ยินดีกับพวกเราที่สามารถผ่านช่วงที่ยากลำบากของการลงทุนในปี 2021 มาได้อย่างปลอดภัยครับ

 

อย่างไรก็ดี เป็นที่รู้กันในโลกลงทุนว่า การก้าวข้ามปีปฏิทินอย่างเดียวไม่ได้มีความหมายกับตลาดมากนัก เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจ นโยบายการเงิน และมุมมองของนักลงทุนทั่วโลก ยังเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เรายังต้องตามติดประเด็นเหล่านี้ให้ทันไม่ว่าจะเป็นปีไหน

เพื่อให้เราพร้อมกับการลงทุนปี 2022 ผมจึงสรุปภาพ Thematic Investing ในปี 2021 แปลความหมายให้นักลงทุนเข้าใจแนวโน้มตลาด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือและมองหาธีมลงทุนสำหรับปีนี้

 

มองย้อนกลับไปปี 2021 สรุปกลยุทธ์สั้นๆ คือ ‘ต้องกระจายธีมลงทุน สะสมธีมที่ยาวขึ้น และรู้จักขายทำกำไรธีมที่สั้นลง’  

ผมใช้ข้อมูล ETF ที่จดทะเบียนใน NYSE, Nasdaq และ London คัดเฉพาะ Thematic ETF ที่เป็น Passive หรือระบุการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ชัดเจน พบประเด็นที่น่าสนใจในปี 2021 อยู่ 3 อย่าง คือ

 

1. แม้ Thematic Investing เหล่านี้จะให้ผลตอบแทนต่ำกว่าดัชนี S&P 500 แต่ก็ไม่ติดลบไปทั้งหมด

โดยเฉลี่ย Thematic ETF เติบโตขึ้น 6.6% และถ้าถ่วงน้ำหนักด้วยขนาดกองทุน (Asset Under Managed) ผลตอบแทนก็จะสวยขึ้นเป็น 11.5%

 

หมายความว่าถ้าเรากระจายธีมลงทุนให้ดี แม้จะเป็นปีที่หุ้นใหญ่นำตลาด การลงทุนในพอร์ต Thematic ETF ก็สามารถสร้างผลงานเป็นบวกให้นักลงทุนได้อยู่

 

2. ธีมเทคโนโลยีด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม หรือ Sustainable Energy เป็นธีมที่ทำผลงานเด่นที่สุด เพราะมีเป้าหมายที่ยาวขึ้น

การลงทุนในธีมนำโดย ETF หลักอย่าง Global X Autonomous & Electric Vehicles ETF (DRIV) หรือ VanEck Environmental Services ETF ตัวย่อ EVX และ iShares Self-Driving EV and Tech ETF ตัวย่อ IDRV ทั้งหมดมีกลยุทธ์ลงทุนธีมพลังงานสะอาด พาหนะไร้คนขับ และรถไฟฟ้าในสัดส่วนที่ต่างกัน แต่ก็ปรับตัวขึ้นได้เกิน 25% ทุกกองทุน  

 

ผมเชื่อว่าเหตุผลหลักมาจากการผสมผสานอุตสาหกรรม เทคโนโลยี และพลังงาน เข้าด้วยกัน อีกทั้งยังได้แรงสนับสนุนจากภาครัฐทั่วโลก จนทำให้ตลาดมองว่าธีมจะมีอนาคตที่ยาวขึ้น

 

3. หนักที่สุดคือธีม Consumer Evolution ที่ทำผลงานย่ำแย่แทบทุกกิจกรรม

เมื่อมีธีมที่ได้รับการสนับสนุน ก็มี Thematic ETF ที่พบกับแรงต้านจากนโยบายภาครัฐ

 

ไม่ว่าจะเป็นธีมการศึกษาออนไลน์อย่าง Global X Education ETF ตัวย่อ EDUT, ธีมกัญชาถูกกฎหมายอย่าง Global X Cannabis ETF (POTX) แม้กระทั่งธีมที่สร้างกำไรได้โดดเด่น และเคยเป็นขวัญใจนักลงทุนอย่าง E-Commerce เช่น Amplify Online Retail ETF ตัวย่อ IBUY ทั้งหมดต่างปรับฐานลงเกินกว่า 30% ในปีที่ผ่านมา

 

หมายความว่าการไม่มีนโยบายสนับสนุนหรือการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มเศรษฐกิจระยะสั้น ก็เป็นความเสี่ยงสำหรับธีมระยะยาวด้วยเช่นกัน  

 

ผมเชื่อว่าประสบการณ์เหล่านี้สอนเราหลายอย่าง และในปี 2022 Thematic Investor จำเป็นต้องนำบทเรียนเหล่านี้มาปรับให้ธีมในพอร์ตเหมาะสม ไม่พุ่งเป้าไปที่โอกาสการเติบโตในอนาคตอย่างเดียว แต่ต้องจับจังหวะการลงทุนและตรวจสอบแนวโน้มนโยบายเศรษฐกิจไปพร้อมกัน ผมจึงสรุปเป็นเช็กลิสต์ไว้ให้เราได้เลือกธีมลงทุนปี 2022 ดังนี้

 

1. ธีมลงทุนนี้เข้ากับจังหวะเศรษฐกิจหรือไม่

ประเด็นที่ต้องเข้าใจคือ การเติบโตของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ 

 

มองจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2022 เรากำลังเข้าสู่ช่วง Mid-Cycle Expansion การเติบโตมีสมดุลขึ้น เงินเฟ้อสูง

 

ธีมที่จะเข้ากับจังหวะเศรษฐกิจแบบนี้ควรมีส่วนประกอบที่เป็น High Beta เช่น อุตสาหกรรมหรือการเงิน มากกว่ากลุ่ม High Alpha เช่น เทคโนโลยีหรือสาธารณสุข สิ่งที่ต้องระวังคือเศรษฐกิจอาจเข้าสู่ช่วง Late-Cycle เร็ว จะทำให้หุ้นขนาดใหญ่ได้รับความนิยมมากกว่าหุ้นขนาดเล็ก

 

2. ธีมลงทุนนี้เข้ากับสภาวะตลาดปัจจุบันหรือไม่

ประเด็นที่ต้องเข้าใจคือต้นทุนของตลาดและ Valuation

 

ภาพตลาดที่เราคาดว่าจะเจอในปี 2022 คือ Yield ระยะสั้นสูงขึ้น และการเติบโตของรายได้บริษัทจดทะเบียนชะลอตัวลง

 

ประเด็นนี้เป็นปัญหากับธีมลงทุนที่ผันผวนสูงและไม่สามารถสร้างรายได้ได้ในระยะสั้น (High Volatility and Long Duration) เช่น Disruptive Technology หรือ Healthcare Innovation แต่ Long-Term ธีมอื่นก็คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของตลาดไปพร้อมกัน ถ้าจะหลบก็ต้องอยู่ในธีม Defensive เช่น ค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ หรือโครงสร้างพื้นฐาน

 

3. ธีมลงทุนนี้มีโอกาสที่จะได้รับแรงสนับสนุนเชิงนโยบายต่อเนื่องหรือไม่

ประเด็นที่ต้องติดตามคือการเมืองทั้งในและระหว่างประเทศ

 

ประเมินจากนโยบายเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศใหญ่ ธีมที่คาดว่าจะได้รับการสนับสนุนต่อเนื่องอันดับหนึ่งตอนนี้คือ Sustainable Energy แต่ที่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงคือธีม Digitalization และ Fintech ในสหรัฐฯ ต้องจับตาความเปลี่ยนแปลงด้านกฎเกณฑ์ว่าจะเป็นบวกหรือลบ ขณะเดียวกันธีม Industry Revolution ที่เน้นผลิต Semiconductor เอง และใช้ AI ก็น่าจับตาว่าจะได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมหรือไม่ในฝั่งเอเชีย

 

จากเช็กลิสต์นี้จะเห็นว่า กลยุทธ์ที่เหมาะสมในปี 2022 ต้องเป็น ‘การลงทุนทั้งธีมระยะสั้นและระยะยาว ไม่ผันผวนสูงเกินไป และมีองค์ประกอบกระจายมากกว่ากระจุก’

 

ผมเชื่อว่า 2 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ Thematic Investing เติบโตมากที่สุด ทั้งในด้านปริมาณ คุณภาพ และประสบการณ์ แม้ปี 2021 จะเป็นปีที่ยากลำบาก แต่เราก็เห็นแล้วว่ามีธีมสำหรับนักลงทุนที่พร้อมเข้าใจและเปลี่ยนแปลงตามตลาดอยู่เสมอ

 

ดังนั้น แค่เราไม่หยุดลงทุน ไม่หยุดเรียนรู้ ในอนาคตบทเรียนและโอกาสการลงทุนเหล่านี้จะเปลี่ยนเป็นผลตอบแทนของการลงทุนที่ดีให้เราแน่นอน

 

ขอให้ Thematic Investor ทุกท่านโชคดีในปี 2022 ครับ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising