‘แบงก์กรุงเทพ-กสิกรไทย-ไทยพาณิชย์’ พร้อมใจปรับขึ้นดอกเบี้ยทั้ง 2 ขา รับการส่งสัญญาณของ กนง. โดยขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยน้อยกว่าลูกค้ารายใหญ่ สะท้อนความกังวลคุณภาพหนี้กลุ่มลูกค้ารายย่อยและผู้ประกอบการรายเล็ก
กฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.25% เป็น 1.50% ต่อปี ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชน เพื่อส่งผ่านนโยบายดังกล่าวและเพิ่มกำลังซื้อให้กับลูกค้าในภาวะที่ภาระค่าใช้จ่ายยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง ธนาคารจึงปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำให้สูงขึ้น 0.10-0.25%
อย่างไรก็ตาม ธนาคารมีความห่วงใยลูกค้ารายย่อยและผู้ประกอบการรายเล็ก และเพื่อดูแลลูกค้ากลุ่มดังกล่าวให้สามารถปรับตัวได้อย่างราบรื่นในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้น จึงดำเนินการปรับดอกเบี้ยเงินกู้อย่างรอบคอบและระมัดระวัง โดยทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้ารายย่อยเพียง 0.10% และปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ประเภทอื่นตามรายละเอียดดังนี้
อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) ปรับจาก 6.37% เป็น 6.57%
อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ปรับจาก 6.74% เป็น 6.89%
อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ปรับจาก 6.50% เป็น 6.60% โดยให้มีผลในวันที่ 30 มกราคม 2566 เป็นต้นไป
ด้านกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า จากภาวะเศรษฐกิจไทยที่กำลังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังคงอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น ส่งผลต่อเนื่องมายังต้นทุนในระบบธนาคารที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตาม
ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินงานของธนาคารไทยพาณิชย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับทิศทางดอกเบี้ยภายในประเทศ และสะท้อนต้นทุนทางการเงินในระบบที่สูงขึ้น ธนาคารจึงมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืม แต่เพื่อช่วยบรรเทาภาระดอกเบี้ยของลูกค้าเงินกู้
โดยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย MLR, MOR และ MRR 0.10-0.20% ต่อปี มีรายละเอียดดังนี้
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate) จากปัจจุบันอยู่ที่ 6.520% เป็น 6.620% ต่อปี
อัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (Minimum Loan Rate) จากปัจจุบันอยู่ที่ 6.150% เป็น 6.350% ต่อปี
อัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate) จากปัจจุบันอยู่ที่ 6.745% เป็น 6.895% ต่อปี
พร้อมกันนี้ เพื่อช่วยส่งเสริมการออมเงินในระยะยาวและให้ผู้ฝากเงินมีรายได้เพิ่มขึ้น ตามทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารจึงเห็นควรปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากขึ้น 0.05-0.25% ต่อปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ธนาคารกรุงเทพได้ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยไปเป็นธนาคารแรก โดยปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีแบบมีระยะเวลา (MLR) จากเดิมอยู่ที่ 6.25% เพิ่มเป็น 6.45% ต่อปี พร้อมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเบิกเงินเกินบัญชี (MOR) จากเดิมอยู่ที่ 6.75% เพิ่มเป็น 6.90% ต่อปี และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) จากเดิมอยู่ที่ 6.65% เพิ่มเป็น 6.80% ต่อปี
ขณะที่ดอกเบี้ยเงินฝากสะสมทรัพย์ปรับขึ้นจาก 0.45% เป็น 0.50% และดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 และ 6 เดือน จากเดิม 0.60% เป็น 0.75% และเงินฝากประจำ 12, 24 และ 36 เดือน ปรับเพิ่ม 0.25% โดยให้มีผลบังคับใช้ในวันนี้ (27 มกราคม)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ธนาคารออมสิน เปิดตัวเงินฝากดอกเบี้ยขั้นบันได จ่ายสูงสุด 4.5% และ 10% หวังส่งเสริมการออมระยะยาว
- เปิดสถิติ 9 เดือนแรกปี 65 ธนาคาร ไหนครองแชมป์แอปล่มมากที่สุด
- คลอดแล้ว! เกณฑ์ ‘Virtual Bank’ ธปท. จำกัดไลเซนส์แค่ 3 ราย เผยมีผู้สนใจแล้ว 10 ราย เล็งประกาศผลกลางปีหน้าก่อนเริ่มให้บริการจริงปี 68