×

งาน เหงา ผี โมเมนต์ที่ปิงและกังฟูหยิบมาใช้ใน ตีสาม Aftershock

14.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ตีสาม Aftershock คือภาคที่ 3 ของแฟรนไชส์ ตีสาม ที่ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่นทำมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ 3 ผู้กำกับมือดีอย่าง ใหม่-ภวัต พนังคศิริ, ปิง-ธรรมนูญ สกุลบุญถนอม และกังฟู-นิติวัฒน์ ชลวณิชสิริ มาเล่าเรื่องผี 3 เรื่อง 3 สไตล์ที่กอดเกี่ยวทั้งความน่ากลัว ความเหงา และความตลกเข้าไว้ด้วยกัน
  • ปิง ผู้กำกับเรื่อง แรกพบศพตาย เลือกที่จะเล่าเรื่องด้วยการให้ผีเป็นตัวแทนของความเหงา และทุกคนล้วนพยายามทำบางอย่างเพื่อตามหายาวิเศษในการช่วยรักษาความเหงานั้นได้
  • กังฟู ผู้กำกับเรื่อง กอง-ผี-ปีศาจ เลือกนำเสนอมุมมองความน่ากลัวที่ทั้งตลกและสนุกในเวลาเดียวกัน ผ่านบรรยากาศการทำงานกองถ่ายโฆษณา TV Direct ที่มีความน่าสนใจอยู่ในทุกๆ ช่วงของการถ่ายทำ

ในช่วงที่หลายคนมองว่านี่คือยุค ‘ขาลง’ ของวงการหนังไทย โดยเฉพาะ ‘หนังผี’ ที่ดูเหมือนว่าค่อยๆ เสื่อมมนต์ขลังลงไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยังมีความตั้งใจหนึ่งที่ไม่เคยเลือนหายไปของบริษัทไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น ที่ยังยืนยันและมุ่งมั่นสร้างหนังผีที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองต่อไป ด้วยความเชื่อที่ว่าหนังผีคือศาสตร์แห่งภาพยนตร์ที่ทรงพลังที่สุดไม่เสื่อมคลาย

 

อย่างที่ไฟว์สตาร์กำลังจะพิสูจน์ให้พวกเราเห็นอีกครั้งใน ตีสาม Aftershock ผลงานล่าสุดของแฟรนไชส์ ตีสาม และเป็นหนึ่งในหนังไทยไม่กี่เรื่องที่กล้ายืนหยัดทำภาคต่อออกไปเรื่อยๆ จนถึงภาคที่ 3 โดยได้ 3 ผู้กำกับมือดีอย่าง ใหม่-ภวัต พนังคศิริ, ปิง-ธรรมนูญ สกุลบุญถนอม และกังฟู-นิติวัฒน์ ชลวณิชสิริ มาเล่าเรื่องผี 3 เรื่อง 3 สไตล์ ที่กอดเกี่ยวทั้งความน่ากลัว ความเหงา และความตลกเข้าไว้ด้วยกัน

 

วันนี้ THE STANDARD มีโอกาสนั่งคุยกับปิง ผู้กำกับเรื่อง แรกพบศพตาย และกังฟูผู้กำกับเรื่อง กอง-ผี-ปีศาจ เพื่อสำรวจลึกไปถึงความหลงใหลในศิลปะของหนังผี รวมทั้งความตั้งใจในฐานะผู้กำกับหนังไทยรุ่นใหม่ที่อยากสร้างสรรค์ผลงานดีๆ ประดับวงการเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเรื่อง

 

 

‘ตีสาม’ ช่วงเวลาแห่งการทำงาน เหงา และอยู่คนเดียว

กังฟู: ถ้าเป็นสมัยหนุ่มผมจะชอบช่วงเวลาตีสามมากเลยนะ เพราะเป็นช่วงที่คลื่นความถี่ทุกอย่างรอบตัวมันต่ำไปหมด สิ่งเร้าน้อยมาก บรรยากาศสงบ เหมาะกับการทำงานมาก ไอเดียต่างๆ จะมาในช่วงเวลานั้นเยอะ แล้วพอเริ่มออกกองถ่าย ช่วงเวลาตีสามก็จะเป็นช่วงที่วุ่นวายที่สุด เพราะหมายความว่าเหลือเวลาอีกไม่ชั่วโมงเราจะถ่ายทุกอย่างให้เรียบร้อยตามที่ต้องการ เป็นช่วงที่บีบคั้นและท้าทายทั้งร่างกายและจิตใจของคนทำงานทุกคนในกองถ่าย

 

ปิง: ผมตรงข้ามกันเลย เพราะผมจะไม่ทำงานในช่วงเวลานั้น ผมไม่ชอบอยู่ดึกถึงขนาดนั้นด้วย รู้สึกว่ามันช่วงเวลาที่เหงา เปล่าเปลี่ยว โดดเดี่ยวอยู่คนเดียว ในแง่หนึ่งมันเป็นช่วงเวลาที่โรแมนติกนะ แต่ในความโรแมนติกมันมีความเจ็บปวดซ่อนอยู่ เพราะช่วงตีสามจะเป็นช่วงที่เราคิดถึงอดีต ซึ่งถ้าเป็นอดีตที่มีความสุขก็เป็นเรื่องดี แต่บางครั้งเราจะนึกถึงอดีตที่ไม่ดีแล้วทำให้เราเจ็บปวดไปด้วย มันทำร้ายจิตใจเราได้เหมือนกันนะ ตีสามค่อนข้างเป็นช่วงเวลาที่เปราะบาง แต่ไม่รู้ว่าเป็นเพราะฤทธิ์แอลกอฮอล์ด้วยหรือเปล่านะ (หัวเราะ)

 

จุดเริ่มต้นของความหลอนในช่วงเวลาตีสาม

ปิง: ผมเป็นคนขึ้นโครงของทั้ง 3 เรื่อง มีโจทย์ว่าทุกเรื่องต้องสไตล์ต่างกัน เรื่องที่หนึ่ง ทางด่วน อยากให้เป็นหนังผีที่เล่นกับตัวละครตัวเดียว แล้วให้เจอผีแบบดุๆ เลยมองหาอาชีพที่ต้องทำงานตอนกลางคืนคนเดียวแล้วอยู่ถึงตีสาม ก็มาลงตัวที่คนเก็บเงินทางด่วน ด้วยองค์ประกอบหลายๆ อย่าง สถานที่ที่ต้องอยู่ในห้องแคบๆ นั่งอยู่คนเดียว รอให้นานๆ ครั้งถึงจะมีคนผ่านไปผ่านมา ความมืด ความเหงา ความน่ากลัว ทุกอย่างมันเอื้อให้เกิดเหตุการณ์หลอนๆ แบบในเรื่องได้เหมาะมาก

 

ส่วนเรื่องที่สอง แรกพบศพตาย เรื่องนี้อยากให้ผีเป็นนามธรรมหน่อย เมื่อความเหงาของคนในเมืองหลายๆ คนมารวมกันเลยเกิดเป็นผีขึ้นมาหนึ่งตัว แล้วเล่าเรื่องคนที่ใช้ชีวิตตอนกลางคืนเพื่อรักษาความเหงาของตัวเอง ส่วนเรื่องที่สาม กอง-ผี-ปีศาจ เป็นแนวตลก ก็บังเอิญไปคลิกกับคุณแม่ของผม ที่ชอบหลงไปกับโฆษณาขายของแบบ TV Direct จนต้องเปิดทีวีค้างเอาไว้ แล้วก็ซื้อหลายๆ อย่างตาม ซึ่งผมเห็นความน่าสนใจบางอย่าง คิดว่าถ้าเขาต้องถ่ายสินค้าเยอะขนาดนี้ เขาต้องถ่ายถึงเช้าแน่ๆ แล้วกองถ่ายแบบนี้ต้องมีเรื่องตลกเกิดขึ้นแน่นอน เพราะของบางอย่างที่ไม่น่าจะขายได้ เขาก็ทำให้มีคนยอมซื้อได้ ก็เลยเอาเรื่องนี้มาตั้งแล้วใส่ผีเข้าไปในกอง ว่าความวุ่นวายที่มันน่าจะเกิดขึ้นอยู่แล้ว จะยิ่งวุ่นวายไปได้อีกขนาดไหน

 

 

ความเหงาของช่างซ่อมภาพวาด และความสนุกของคนในกองถ่าย TV Direct

ปิง: ผมเรียนด้านศิลปะมาตั้งแต่เด็ก แล้วได้รู้ว่าอาชีพช่างซ่อมภาพวาดสำคัญมากสำหรับพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ ซึ่งผมเอามาโยงกับตัวพระเอกในเรื่องที่มีปมในเรื่องความรัก เขาต้องการซ่อมแซมอดีตของตัวเอง ซึ่งความหมายมันตรงมากกับการซ่อมภาพวาดเก่า ที่เป็นเหมือนการซ่อมแซมบางส่วนของอดีตที่ถูกทำลายหรือเสียหายไป

 

ผมเรียนอาร์ตมาตั้งแต่เด็ก พอเข้ามหาวิทยาลัย ผมได้รู้จักอาชีพนี้ เพราะคิดว่าผมจะไปต่ออเมริกา มันมีเรื่องการซ่อมภาพวาด มันจำเป็นมากสำหรับพิพิธภัณฑ์ ก็เลยดึงคาแรกเตอร์นี้มา เพราะพระเอกเป็นคนมีปมเรื่องความรัก ซึ่งการซ่อมภาพวาดก็เหมือนการซ่อมแซมอดีตของตัวเอก เป็นซิมโบลิกของเรื่องด้วย

 

กังฟู: เรื่องนี้บังเอิญมาก เพราะก่อนทำโปรเจกต์นี้มีโปรดิวเซอร์ของ TV Direct ติดต่ออยากให้ผมไปทำโฆษณาให้เขาพอดี แล้วผมก็ได้ไบเบิลโครงสร้างการทำโฆษณาของ TV Direct มาเล่มหนึ่ง พอเปิดดูแล้วมันตื่นเต้นมากเลยนะ เขาวางแพตเทิร์นกันเป็นวินาที ตอนนี้ต้องวางโปรดักต์ ตอนนี้ต้องสัมภาษณ์ ทุกอย่างถูกกำหนดโดยนักจิตวิทยาว่าช่วงวินาทีนี้คนจะต้องเริ่มสนใจ วินาทีคนนี้จะต้องเชื่อ วินาทีนี้ทำให้คนตัดสินใจซื้อสินค้า ซึ่งบรรยากาศการทำงานทุกอย่างมันน่าสนใจมาก เพราะฉะนั้นถ้าใส่องค์ประกอบอย่างผีเพิ่มเข้าไปอีกหนึ่งอย่าง คิดว่าน่าจะทำบรรยากาศสนุกขึ้นได้เยอะ

 

 

ส่วนผสมระหว่างหนังโรแมนติกที่มีผี กับหนังผีที่มีความตลก

กังฟู: พื้นฐานของผมคือเป็นทั้งคนทำหนังและละคร ซึ่งผมไม่เคยทำแนวผีแบบเต็มตัวมาก่อนนะ แต่ในทุกๆ ผลงานก็จะพยายามหยอดความเป็นผี หรือหยอดซีนเกี่ยวกับผีใส่เข้าไปด้วยตลอด รู้สึกว่ามันเป็นส่วนผสมที่ถ้าเอามารวมกันแล้วคนน่าจะสนุก พอเริ่มต้นด้วยความสนุกมันเลยต้องมีจังหวะโป๊งชึ่ง ตุ้งแช่เข้ามาบ้าง เพื่อให้คนสนุกและตกใจ ซึ่งวิธีคิดของผมไม่มีอะไรมากเลยนะ อาศัยความเป็นคนกลัวผีของตัวเองเป็นที่ตั้ง แล้วคิดว่าถ้าทำแบบไหนแล้วเรากลัว คนดูก็น่าจะได้ด้วยเหมือนกัน (หัวเราะ)

 

ปิง: เรื่อง แรกพบศพตาย ตอนแรกผมคิดไว้ฟุ้งมากเลยนะ อยากให้เป็นแนวอีโรติก อาร์ตๆ เลย แต่ด้วยระบบเซนเซอร์และเงื่อนไขหลายๆ อย่างในบ้านเราเลยลดเหลือแค่ความโรแมนติกอย่างเดียว ทีนี้อีก 2 เรื่องเป็นหนังผีแบบเห็นตัวจริงๆ กลัวจริงๆ ตกใจจริงๆ ไปแล้ว เลยอยากให้ผีในเรื่องนี้เป็นนามธรรมมากกว่านั้น มีความหลอนในด้านความคิด การตีความของแต่ละคน ก็เลยวางพล็อตให้เป็นโลกของคนเหงาที่มาอยู่ด้วยกัน แล้วพยายามหา ‘ยา’ ที่จะสามารถรักษาความเหงาได้ เป็นจุดร่วมที่ว่าไม่ว่าคนหรือผีล้วนมีความเหงาไม่ต่างกัน ซึ่งวิธีการบรรเทาความเหงาก็แตกต่างกันไป ซึ่งหลักๆ แล้วก็คงไม่พ้นแอลกอฮอล์ (หัวเราะ) ล้อเล่นนะครับ มันมีอะไรมากกว่านั้น ความเหงามันมีทั้งด้านที่เจ็บปวดและสวยงาม อยากให้ทุกคนได้ไปดูกันเองมากกว่า

 

หนังผีในวัยเด็ก เบ้าหลอมที่นำประสบการณ์ร่วมมาใช้สร้างสไตล์ของตัวเอง

ปิง: ผมเคยทำงานพิเศษที่ร้านเช่าวิดีโอ ตอนนั้นเป็นยุคหนังผีฮ่องกงพวกผีกัดอย่ากัดตอบ หนังผีที่จัดไฟส้ม เขียว แดง บอกไม่ได้เหมือนกันนะว่าผมชอบแบบนั้นจริงๆ หรือเปล่า แต่สิ่งที่รู้สึกได้คือมันหล่อหลอมเข้ามาเป็นสไตล์ของผมโดยไม่รู้ตัว เวลาเขียนบท คิดหนัง มันจะติดความเป็นหนังฮ่องกง เอเชียในยุคนั้น หนังหลายๆ เรื่องของผมแทบไม่มีเรฟเฟอเรนซ์มาจากฮอลลีวูดเลย   

 

กังฟู: ผมเคยดูหนังกลางแปลงตอนอายุประมาณ 9 ขวบ เป็นหนังที่เขาตอกตะปูขังผีไว้ในต้นไม้ใหญ่ ถ้าใครถอนตะปูออกมาผีก็จะออกมาอาละวาด ผมจำชื่อเรื่องไม่ได้แล้วนะ แต่จำอารมณ์ จำความกลัวตอนนั้นได้แม่นมาก พอดูจบ เดินกลับบ้านแล้วผ่านต้นไม้ใหญ่ก็คิดตลอดว่ามันมีตะปูตอกอยู่หรือเปล่า กลับบ้านแล้วนอนไม่หลับถึงเช้า เป็นความกลัวในวัยเด็กที่ยังดึงความรู้สึกมาใช้ถึงตอนนี้

 

รวมทั้งพวกหนังผีไทยยุคหลังๆ ผมก็ชอบดูนะครับ พวก บ้านผีปอบ, บุปผาราตรี, เป็นชู้กับผี รู้สึกว่าบรรยากาศในหนังพวกนี้มันใช่หมดเลย ทำให้เราเข้าไปอยู่ในความกลัวแบบไทยๆ ได้ดีมาก ซึ่งอิทธิพลทั้งหมดก็ค่อยๆ หลอมอยู่ในพาร์ตหนังผีของผมมาเรื่อยๆ

 

 

การต่อสู้ของหนังผีในยุคที่คนมองว่านี่คือขาลงของความน่ากลัว

ปิง: ผมมองว่าไม่ใช่แค่หนังผี แต่มันเป็นขาลงของหนังไทยทั้งหมดเลยนะ แต่ผมยังมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่าหนังไทย โดยเฉพาะหนังผียังสามารถไปโตที่ต่างประเทศได้อยู่ หลายๆ ประเทศ อย่างจีน เขาก็ยังชอบเทสต์หนังแบบของเราอยู่ คิดว่ายังมีโอกาสไปได้ แล้วอีกอย่างการบอกว่านี่คือขาลง ก็ไม่ใช่เหตุผลที่ดีพอที่จะทำให้พวกเราหยุดทำหนัง ยิ่งทำให้พวกเราต้องทำหนังออกมาให้มากขึ้นเพื่อพิสูจน์ตัวเองต่อไปมากกว่า

 

กังฟู: ผมเคยถามผู้กำกับผู้ใหญ่ที่ผมเคารพว่า คนทำหนังแบบพวกเราควรวางตัวอย่างไรในสถานการณ์แบบนี้ เขาตอบคำถามที่ปลดล็อกผมได้มาก คือหนังไทยเราผ่านวิกฤตแบบนี้มาหลายครั้งแล้ว เราไม่ต้องทำอย่างไร เราเพียงแค่รอเวลา และตั้งใจทำหนังของเราไปเรื่อยๆ อย่าหยุดทำ ต่อให้ทำแล้วล้มเหลวก็อย่าหยุดทำ พิสูจน์ตัวเองต่อไปเรื่อยๆ พิสูจน์ว่าเราศรัทธาในการทำหนังมากขนาดไหน แล้วสักวันคนดูก็จะศรัทธาในงานของเราเอง

 

ปิง: อย่างที่ทำเรื่อง ตีสาม ผมคงไม่บังอาจพูดว่าผมจะพัฒนาวงการ หรือทำให้หนังไทยกลับมาบูมอีกครั้ง แต่ที่ผมพูดได้ก็คือทั้งผม พี่ปิง และพี่ใหม่ รวมทั้งผู้กำกับไทยหลายคนที่ยังทำหนังกันอยู่ พวกเรากำลังตั้งใจทำทุกๆ ผลงาน ทุกๆ เรื่องออกมาให้ดีที่สุดตามความสามารถและสไตล์ที่แตกต่างกันของแต่ละคน ถ้าหนังไม่ประสบความสำเร็จก็ไม่เป็นไร ถ้าเจ๊งก็คงชวนไปกันไปดื่มให้เต็มที่ แล้วมาหาคำตอบร่วมกันว่าทำไม แต่อย่างที่พี่กังฟูบอกก็คือ ไม่ว่าอย่างไร เราจะไม่หยุดทำหนังแน่นอน

 

Photo: ภิญโญ อยู่ป้อม

FYI
  • ผลงานอีกหนึ่งเรื่องใน ตีสาม Aftershock คือเรื่อง ทางด่วน ของใหม่-ภวัต พนังคศิริ ผู้กำกับที่ฮอตที่สุดในเวลานี้จากเรื่อง บุพเพสันนิวาส ที่ทำให้กระแส ‘ออเจ้า’ ระบาดไปทั่วบ้านทั่วเมือง
  • ปิงคือผู้กำกับสายหนังผีรุ่นใหม่ที่เคยมีผลงานมาก่อนหน้านี้ 3 เรื่องคือ เขี้ยวอาฆาต, รักเอาอยู่ และ ตายโหงตายเฮี้ยน ตอน รถตู้ตกทางด่วน
  • กังฟูคือผู้กำกับที่ไม่เคยจับงานผีแบบเต็มตัวมาก่อน เพราะผลงานก่อนหน้านี้ของเขาอย่าง กะปิ ลิงจ๋อไม่หลอกจ้าว, ผู้กองยอดรัก และ ลืมรักไม่ลืมเธอ เป็นผลงานแนวโรแมนติก ดราม่า คอเมดี้สนุกๆ ทั้งหมด แต่เขาก็พยายามสอดแทรกฉากเล็กๆ ที่มีผีเข้าไปอยู่ในทุกๆ เรื่องอยู่เสมอ
  • ตีสาม Aftershock เข้าฉายที่โรงภาพยนตร์ในวันที่ 15 มีนาคมนี้
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising