×

ออกกฎกระทรวง 3 ฉบับ ให้ประชาชนได้รับชดเชยเมื่อรัฐใช้ที่ดิน-สิ่งก่อสร้างแก้น้ำท่วม-ภัยแล้ง

โดย THE STANDARD TEAM
11.09.2021
  • LOADING...
Acts of solve flood-drought

วันนี้ (11 กันยายน) ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ได้ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ กรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้งและภาวะน้ำท่วม ในการใช้ที่ดินหรือสิ่งก่อสร้างของประชาชน เพื่อก่อสร้าง วางสิ่งของ สูบน้ำ หรือระบายน้ำผ่านเข้าไปในที่ดินได้ โดยต้องกำหนดค่าทดแทนและค่าชดเชยความเสียหายดังกล่าวแก่ประชาชนด้วยนั้น

 

ล่าสุดวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกฎกระทรวง 3 ฉบับ ให้ประชาชนได้รับความคุ้มครองตามข้อกฎหมายดังกล่าว ประกอบด้วย 

 

  1. กฎกระทรวงค่าทดแทนและค่าชดเชยความเสียหาย จากการใช้ที่ดินหรือสิ่งก่อสร้างเพื่อป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้งและภาวะน้ำท่วม โดยสาระสำคัญของกฎหมายนี้ เพื่อปกป้องสิทธิของประชาชน กำหนดให้หน่วยงานรัฐมีหน้าที่จ่ายค่าทดแทนและค่าชดเชยความเสียหายแก่ผู้ครอบครองหรือเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ที่ได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม โดยให้คำนึงถึงความเสียหายตามความเป็นจริงของสภาพของทรัพย์สินนั้น พิจารณาราคาที่ซื้อขายกันปกติในท้องตลาด หรือเทียบราคาที่อ้างอิงจากราคากลางที่ทางราชการกำหนด

 

  1. กฎกระทรวง ค่าชดเชยความเสียหายจากการดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม โดยคุ้มครองประชาชนกรณีพนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม เนื่องจาก พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ได้ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในการทำลายสิ่งกีดขวาง ตัดฟันต้นไม้ ขุดดิน ปิดกั้นแนวเขตที่ดิน รื้อถอนสิ่งก่อสร้างซึ่งมิใช่เป็นบ้านเรือนที่อยู่อาศัย หรือดำเนินการอื่นใดเท่าที่จำเป็นแก่การป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมได้ โดยให้ชดเชยความเสียหายแก่ประชาชนเจ้าของที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างตามเกณฑ์ที่กำหนด

 

  1. กฎกระทรวง กำหนดค่าทดแทนให้แก่บุคคล ซึ่งต้องเฉลี่ยน้ำที่กักเก็บไว้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในการอุปโภคบริโภคของประชาชนในพื้นที่เขตภาวะน้ำแล้งอย่างรุนแรง โดย พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ยังบัญญัติในกรณีที่เกิดภาวะน้ำแล้งอย่างรุนแรงในพื้นที่ใด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้บุคคลซึ่งกักเก็บน้ำไว้ ต้องเฉลี่ยน้ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในการอุปโภคบริโภคของประชาชนในพื้นที่ โดยให้บุคคลดังกล่างมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากการที่ต้องสูญเสียน้ำที่กักเก็บไว้ โดยพิจารณาทั้ง ราคาต้นทุนของน้ำในแหล่งกักเก็บน้ำ, สภาพและทำเลที่ตั้งของแหล่งกักเก็บน้ำ, ขนาดและลักษณะของความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการสูญเสียน้ำที่กักเก็บไว้, ค่าขาดประโยชน์จากการไม่ได้ใช้น้ำเพื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือวิถีชีวิตประจำวัน

 

“กฎกระทรวงทั้ง 3 ฉบับ เพื่อคุ้มครองปกป้องสิทธิของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้งและน้ำท่วม ทั้งยังเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการช่วยกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี” ไตรศุลีกล่าวในที่สุด

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X