เมื่อเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว ส่งผลต่อการส่งออกไทยซบเซาไปด้วย แต่ค่าเงินบาทยังเป็นที่จับตามองต่อเนื่อง เพราะเกี่ยวข้องกับขาธุรกิจและการลงทุน ล่าสุดค่าเงินบาทแข็งค่าทะลุ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐมาแล้ว แนวโน้มหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร
เงินบาทแข็งค่าแตะ 30.87 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ผู้สื่อข่าวรายงานค่าเงินบาทวันนี้ (11 มิถุนายน) เมื่อเวลา 10.00 น. ค่าเงินบาทแข็งค่าแตะระดับ 30.879 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากเมื่อวานนี้ (10 มิถุนายน) ที่ปิดตลาดที่ระดับ 31.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้จากต้นปี 2563 ที่ผ่านมา พบว่า วันที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าที่สุดคือ 1 เมษายน อยู่ที่ระดับ 33.08 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และทยอยแข็งค่าอย่างต่อเนื่องจนมาถึงระดับปัจจุบัน (30.879 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของเงินบาทในวันนี้ยังแข็งค่าน้อยกว่าช่วงต้นปี (1 มกราคม) ที่อยู่ระดับ 30.17 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
TMB เผยเงินบาทแข็งค่าเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย สิ้นปีมองเทรนด์อ่อนค่า
นริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า เช้าวันนี้ค่าเงินบาทแข็งค่าทะลุ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐลงมาแล้ว ถือว่าแข็งค่ากว่าค่าเงินประเทศเพื่อนบ้าน โดยในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 4.01% ถือว่าแข็งค่ามากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากอินโดนีเซียรูเปียห์ ที่แข็งค่า 6.94%
ทั้งนี้ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่ากรอบการเคลื่อนไหวที่มองไว้ ดังนั้นคาดว่าในระยะสั้นอาจมีมาตรการด้านค่าเงินออกมาเพิ่มเติม แต่ในระยะยาวมองว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลง โดยช่วงสิ้นปี 2563 นี้คาดว่า ค่าเงินบาทจะกลับมาอ่อนค่าที่ระดับ 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุมาจากพื้นฐานเดิมของไทยที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาต่อเนื่อง แต่ช่วงเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมาเริ่มขาดดุลฯ และทั้งปีนี้คาดว่าจะติดลบ 3% ของ GDP แตกต่างจากหลายปีที่ผ่านมาซึ่งเกินดุลฯ ราว 7-10% ของ GDP โดยอีกปัจจัยสำคัญคือ ความต้องการเงินบาทจากนักท่องเที่ยวยังไม่กลับมาทำให้บาทมีแนวโน้มจะอ่อนค่าลง
SCBS ชี้สิ้นปีมีโอกาสบาทแข็งค่าแตะ 30.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักวิเคราะห์ตลาดการเงินและการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ (SCBS) เปิดเผยว่า แม้ค่าเงินบาทจะแข็งค่าเกินกว่ากรอบการเคลื่อนไหววันนี้ ที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 30.95-31.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่มองว่าเป็นการแข็งค่าระยะสั้นเท่านั้น และเชื่อว่าตลาดจะปรับตัวกลับสู่กรอบที่ตั้งไว้
ทั้งนี้หลังจาก เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) แถลงว่ามีการหารือเกี่ยวกับมาตรการควบคุมบอนด์ยีลด์ในสหรัฐฯ แต่ไม่มีข้อสรุปว่านโยบายดังกล่าวจะสามารถช่วยเศรษฐกิจได้ เมื่อ Fed ไม่มีนโยบายการเงินใหม่ ทำให้ตลาดผิดหวัง และส่งผลต่อเนื่องไปยังตลาดหุ้นสหรัฐฯ รวมถึงยุโรปปรับตัวลดลง
ขณะเดียวกันการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐ (FOMC) โดย Fed ประกาศลดทอน QE จากระดับไม่จำกัด (Unlimited) ลงเป็นการตั้งเป้าซื้อสุทธิเดือนละ 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และประมาณการเศรษฐกิจในปี 2020-2021 โดยมองอัตราการว่างงานที่ 9.3% และ 3.6% และเงินเฟ้อที่ 1% และ 1.5% ตามลำดับ สะท้อนมุมมองของ FOMC (Dot Plot) ว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะไม่เกิดขึ้นในสองปีนี้
จากภาพทั้งหมดนี้ส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลง โดยในคืนที่ผ่านมาปรับตัวขึ้นเพียงระยะสั้นจากการปรับตัวลงของหุ้น แต่ท้ายที่สุดก็ปรับตัวลง 0.7% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก
“ส่วนในฝั่งของเงินบาทในระยะสั้นเชื่อว่าจุดที่ต้องระวังคือระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นแนวรับทางจิตวิทยาของผู้ส่งออก ถ้าเงินบาทแข็งค่าหลุดระดับดังกล่าวอย่างรวดเร็ว ก็อาจทำให้เกิดอาการตกใจและเทขายดอลลาร์เพิ่มขึ้นด้วย”
ในขณะที่ระยะยาวมองว่าเงินบาทจะอ่อนค่าในไตรมาส 2 หากหุ้นปรับฐานและการเมืองที่ยังผันผวน โดยมองว่ากรอบบนอยู่ที่ 31.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ปลายปี 2563 มองว่า จะแข็งค่า 30.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยปรับลดลงจากประมาณการณ์ก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
สุดท้ายนี้ค่าเงินบาทยังผันผวนต่อเนื่องและต้องจับตาปัจจัยภายนอกอย่างใกล้ชิด
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า