×

ถอดบทเรียน 27 ปี รอยเลือด คราบน้ำตาของคนดงมะไฟ สู่ชัยชนะของการต่อสู้คัดค้านโรงโม่หินในถิ่นเกิด

15.08.2021
  • LOADING...
คนดงมะไฟ

เมื่อวันที่ 13-14 สิงหาคม 2564 ที่หมู่บ้านผาฮวกพัฒนา หน้าเหมืองหินดงมะไฟ จังหวัดหนองบัวลำภู นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ได้จัดงานเฉลิมฉลอง 1 ปีชัยชนะในการยึดเหมืองหินดงมะไฟ และก้าวต่อไปของการฟื้นฟูป่าชุมชน เพื่อระลึกถึง 365 วันในการก่อตั้ง 

 

โดยกิจกรรมในวันที่ 13 สิงหาคม เริ่มจากการทำบุญตักบาตร ครบรอบ 1 ปีสู่การปิดเหมืองหินดงมะไฟ บวงสรวงศาลปู่ย่าภูผาฮวก เรียกขวัญกลับคืนสู่ภูผาป่าไม้ และกิจกรรม ‘เปิดกล่องความทรงจำ ย้อนเส้นทางการต่อสู้’ ที่รวบรวมวิดีโอการต่อสู้ของชาวบ้านตลอด 365 วันที่ผ่านมา พร้อมกันนี้ยังมีกิจกรรมสำหรับนักอนุรักษ์น้อย ‘จากผืนดินสู่ความฝัน ป่าของฉันในวันใหม่’ และการเปิดตลาดของดีของเด็ดดงมะไฟ

 

​ต่อมาในวันที่ 14 สิงหาคม 2564 องค์กร Protection International (PI), โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ (PPM), มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ได้ร่วมกันจัดเวทีเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ ‘Exploring the Eight Wonders of Thailand (Dongmafai) 365 วันกับสิ่งมหัศจรรย์ของการต่อสู้ที่ดงมะไฟ’ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการถอดบทเรียนการต่อสู้ที่ผ่านมาของกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได

 

เครือข่ายประชาชนเจ้าของแร่ ยกกรณีดงมะไฟชาวบ้านเอาชนะความกลัวต่อสู้อำนาจรัฐ-ทุน จ่อลุยฟ้องยกเลิกประกาศแหล่งหินเพื่ออุตสาหกรรมทวงคืนเขาหินทั่วประเทศ

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ร่วมสะท้อนบทเรียนการต่อสู้ของกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันไดในครั้งนี้ว่า ตนคิดว่าความมหัศจรรย์ของที่นี่คือการยืนระยะยาวของการต่อสู้ที่เป็นเรื่องสำคัญมาก จากประสบการณ์ หลายพื้นที่มักแยกการต่อสู้กับชีวิตประจำวันออกจากกันอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ ปากท้อง หรือการต่อสู้กับโครงการพัฒนาของรัฐและเอกชน แต่ที่นี่มีความพยายามที่จะหลอมรวมหรือปรับการต่อสู้เข้ากับการใช้ชีวิตประจำวันร่วมกันให้ได้ สรุปคือไม่ใช่มหัศจรรย์ในวันที่ 13 สิงหาคม 2563 ที่ลุกขึ้นมาปิดเหมือง แต่มหัศจรรย์ในวันที่ 13 สิงหาคม 2564 ที่มันครบ 1 ปี และเป็นการต่อสู้ที่ยืนระยะยาวได้ขนาดนี้

 

เลิศศักดิ์กล่าวว่า ตัวชี้วัดหนึ่งที่สำคัญมากของการที่พี่น้องประชาชนจะลุกขึ้นสู้กับอำนาจรัฐ อำนาจทุนก็คือเรื่องของความกลัว ตราบใดที่ยังไม่กล้าพูดในประเด็นของตัวเองแสดงว่านั่นยังกลัวอยู่ แต่ที่นี่เราเห็นพัฒนาการของพี่น้องไม่ใช่แค่ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาที่มีความกล้าและพลังใจมหาศาลในการลุกขึ้นมาพูดในที่สาธารณะ เพราะพื้นที่นี้ถูกกดทับมาอย่างยาวนาน ดังนั้นความกลัวที่มีจึงมหาศาล แต่การลุกขึ้นสู้ด้วยความคับแค้นใจไม่ได้หายไปไหน มีการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ที่สำคัญคือพัฒนาการของผู้หญิงที่นี่ที่เป็นคนลุกขึ้นมาพูดและปราศรัยให้สังคมได้รับรู้ถึงปัญหาในพื้นที่ ซึ่งตนคิดว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก

 

เลิศศักดิ์กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้การต่อสู้ที่เริ่มต้นด้วย 3 ข้อของชาวดงมะไฟนั้นไม่ธรรมดา มีการวางวิสัยทัศน์ไว้ตั้งแต่เริ่มต้นต่อสู้ เอาแค่ข้อแรกก็ถือว่ายากแล้ว ส่วนข้อ 2 และ 3 ก็ให้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่รัฐแทน แต่หากไม่มีกลไกของการเมืองท้องถิ่นเข้ามาร่วมให้มีพลังเพิ่มเติมมันจะไปไม่ถึง เราเห็นอยู่ว่าทั้งสภาใหญ่ สภาเล็ก ทำหน้าที่และบทบาทอะไร การที่เข้าไปยึดสภาเล็ก เช่น อบต. และเทศบาลได้จะช่วยอย่างมากในการเปลี่ยนวิสัยทัศน์และงบประมาณของท้องถิ่นใหม่ ส่วนเรื่องการฟื้นฟูตนเข้าใจว่าไม่ใช่มีแค่เรื่องพัฒนาให้ดงมะไฟเป็นแค่แหล่งท่องเที่ยว แต่เป็นการเปลี่ยนวิสัยทัศน์ดงมะไฟทั้งหมด เพราะมีกลุ่มภูเขาหินที่นี่เต็มไปหมด เชื่อมโยงทั้ง อำเภอสุวรรณคูหาที่ถูกประกาศให้เป็นแหล่งหินอุตสาหกรรมเอาไว้แล้ว

 

เลิศศักดิ์กล่าวอีกว่า ดังนั้นข้อเรียกร้องข้อ 3 เป็นความต้องการที่จะต่อสู้กับการประกาศกำหนดแหล่งหินอุตสาหกรรมว่าจะสามารถล้มเลิกประกาศนี้ได้อย่างไร ถึงแม้การประทานบัตรมันจะถูกยกเลิกไปแล้ว และอำนาจทุนไม่สามารถต่อสู้กับชาวบ้านและไม่สามารถทำเหมืองได้แล้ว แต่ว่าพื้นที่ภูผาฮวกที่ถูกระเบิดไปยังไม่ถูกปลดออกจากการเป็นประกาศกำหนดแหล่งหินเพื่ออุตสาหกรรม ถ้าเราทำตรงนี้ได้มันจะไม่สะเทือนไปแค่ตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา แต่จะสะเทือนทั้งประเทศตรงที่ว่าหน่วยงานราชการใช้อำนาจตัวบทกฎหมายใดจึงสามารถประกาศกำหนดแหล่งหินอุตสาหกรรมทั่วประเทศได้ เพื่อทำให้ปริมาณการสำรองแร่หินเพื่ออุตสาหกรรมและปูนซีเมนต์มีอายุยืนยาวไปอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 50 ปี สร้างหลักประกันและความมั่นคงให้กับอุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ สิ่งเหล่านี้มันเชื่อมโยงกัน

 

“เราได้พูดคุยกันว่าเป็นโอกาสเหมาะสมที่เราจะเป็นพื้นที่หนึ่งในการร่วมกันฟ้องเพื่อยกเลิกประกาศแหล่งหินเพื่ออุตสาหกรรมออกไปให้หมด เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการปกติของการขอประทานบัตรหรือการอนุญาตต่างๆ อุตสาหกรรมแร่หินเพื่อปูนซีเมนต์นั้นเป็นเหมือนแร่เทวดา ที่อยู่ดีๆ ก็มีประกาศแหล่งหินเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านปริมาณสำรองแหล่งหินเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างและอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ให้มีหลักประกันชัดเจนไปอีก 50 ปี โดยไม่ได้สนใจเลยว่าไปประกาศทับตาน้ำ แหล่งน้ำซับซึม แหล่งหาอยู่หากินของชาวบ้านอย่างไร อีกทั้งกฎหมายแร่ฉบับใหม่มันชัดเจนว่าพื้นที่ใดๆ ก็ตามที่จะอนุมัติให้มีการสำรวจทำเหมืองแร่ได้จะต้องเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองเท่านั้น ถ้าไม่ได้อยู่ในเขตแหล่งแร่หรือเป็นพื้นที่น้ำซับซึมจะต้องถูกกันออก ดังนั้นข้อเรียกร้องข้อ 2 และ 3 จะบรรลุไม่ได้เลยถ้าไม่สมัครลงเลือกตั้งเพื่อทำงานท้องถิ่นของตำบลดงมะไฟ ซึ่งเป็นทิศทางข้างหน้าระยะยาวต่อไป” เลิศศักดิ์กล่าว

 

ธนาธร ชื่นชมเป็นชัยชนะของประชาชน ปลุกชาวบ้านทวงคืนความยุติธรรม นักต่อสู้ต้องไม่ตายฟรี แนะยึดพื้นที่การเมืองท้องถิ่นสานต่อภารกิจชุมชน

ขณะที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวว่า ข้อเรียกร้อง 3 ข้อของคนในชุมชน คือ 

 

  1. หยุดการสร้าง หยุดการต่อประทานบัตรเหมือง 

 

  1. ฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

 

  1. สร้างดงมะไฟให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน 

 

ตนคิดว่าตั้งแต่ข้อเสนอมันไม่ได้มีแค่การหยุดยั้งแต่ยังมองไปข้างหน้าด้วย ซึ่งน่าสนใจมาก นอกจากนั้นตนยังชื่นชมความกล้าหาญของคนในพื้นที่ รอยยิ้มและชัยชนะที่เรากำลังชื่นชมนั้นแลกมาด้วยคราบน้ำตา มันมีคนถูกข่มขู่คุกคาม มีความแตกแยกในชุมชนที่ทั้งฝ่ายทุนและรัฐเข้ามาทำให้ชุมชนไม่ไว้วางใจกัน เกิดความสูญเสีย มีคนตายจริง และยังไม่มีความยุติธรรมปรากฏในวันนี้

 

“ผมตั้งเชิงอรรถสำคัญไว้ว่ายังมีอีกหลายพื้นที่ในประเทศไทยเหลือเกินที่การต่อสู้ยังคงดำเนินอยู่ ไม่ว่าจะเป็นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา, เหมืองโปแตช จังหวัดสกลนคร ที่ยังดำรงอยู่และมีลักษณะเหมือนกัน ฝ่ายต่อต้านถูกกล่าวหาว่าชังชาติ ไม่รักชาติ ไม่เอาการพัฒนา ถูกยัดเยียดคดีและถูกข่มขู่คุกคาม ซึ่งชาวบ้านที่ดงมะไฟต้องเป็นกำลังให้ที่อื่น เพราะน้อยครั้งที่การต่อสู้ของประชาชนในการรักษาสิทธิชุมชนและปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะได้รับชัยชนะ แล้วมีการฟื้นฟูพื้นที่ต่อ ตนคิดว่านี่เป็นความมหัศจรรย์และเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมมาก จึงอยากให้พี่น้องดงมะไฟเป็นกำลังใจในการต่อสู้ให้ที่อื่นด้วย” ธนาธรกล่าว

 

ธนาธรกล่าวต่ออีกว่า ทั้งนี้ตนมี 4 ประเด็นที่อยากจะพูดถึงสำหรับการมองไปข้างหน้าในการต่อสู้ ได้แก่ 

 

  1. เรื่องความยุติธรรม กรณีต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับพี่น้องชาวดงมะไฟ คนที่ต่อสู้ต้องไม่ตายฟรี คนที่สั่งการต้องถูกนำตัวมาดำเนินคดี และอีกเรื่องก็คือการยกระดับด้วยการแก้กฎหมาย ถ้ามีโอกาสก็ยินดีช่วยผลักดันเรื่องนี้ ผ่านอดีตเพื่อนร่วมงานอย่าง ส.ส. พรรคก้าวไกล ให้ดำเนินการต่อไป

 

  1. เรื่องเศรษฐกิจ การฟื้นฟูดงมะไฟให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ก็อยากเข้ามาช่วย เพราะจากที่มีโอกาสได้มาเยือนพื้นที่นี้ก็พบว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ เป็นภูเขาหินปูนที่สวยงาม มีภาพเขียนสีที่ผนังถ้ำเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ ถ้าเราพัฒนาดีๆ เชื่อว่าจะเป็นแหล่งเศรษฐกิจ สร้างรายได้นอกจากภาคการเกษตรซึ่งทำอยู่ในพื้นที่ ถ้าพื้นที่เปิด สถานการณ์โควิดคลี่คลาย เราพร้อมมาให้ความช่วยเหลือ อย่างที่ตอนนี้ที่คณะก้าวหน้ากำลังทำอยู่คือ เทศบาลตำบลทากาศเหนือ จังหวัดลำพูน จะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญต่อไป

 

  1. เรื่องการเมืองตนยืนยันเสมอว่า การเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัว การใช้สิทธิต่างๆ ของประชาชนจะช่วยในเรื่องพัฒนาประชาธิปไตย การเมืองคือพื้นที่ที่ต้องรณรงค์กันอย่างแข่งขัน เราหยุดเหมืองหินได้แล้วแต่อย่างไรก็ต้องทำต่อ ซึ่งข้อเสนอตนคือ ยึด อบต. ให้ได้ เพื่อให้เราได้เป็นคนกำหนดเกณฑ์เอง เพื่อมีอำนาจอย่างเป็นทางการ ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจ การเมืองเป็นเรื่องของเราทุกคน งบประมาณองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ดงมะไฟ 54 ล้านบาท มีงบลงทุน 5-6 ล้านบาท ถ้าเราได้นายก อบต. ที่มีความรู้ความสามารถ เชื่อว่าจะสามารถฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวนี้ได้ เราต้องใช้ช่องทางอำนาจและงบประมาณตรงนี้ผลักดันให้ชุมชนเราเจริญก้าวหน้า แต่ถ้าไม่พร้อมลงแข่ง ผมเสนอให้จัดเวทีแล้วเอาคนที่จะลงนายก อบต. มาคุยกันว่า เรื่องนี้จะเอาอย่างไรในฐานะผู้สมัครนายก อบต. นี่คือการใช้สิทธิพลเมือง ถ้าให้คำมั่นสัญญาก็เอาคะแนนเสียงเราไป

 

  1. เรื่องเหมืองหินในระดับชาติ ยืนยันว่าเราไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนา เพียงแต่การพัฒนานั้นคนที่ได้รับผลกระทบต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ชุมชนต้องร่วมตัดสินใจด้วย ข้อมูลต้องเปิดออกมาให้ประชาชนเลือกเอง อย่าให้พวกเขาต้องเสียสละในนามของการพัฒนา มีประชาชนกี่ชุมชนแล้วที่เสียสละชีวิตความเป็นอยู่ เสียสละทรัพยากรธรรมชาติในนามการพัฒนา โดยที่ดอกผลตกอยู่กับนายทุนบางกลุ่ม ตกอยู่กับส่วนกลางใน กทม. ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ต้องเป็นผู้รับกรรม พอแล้วกับการพัฒนาแบบนี้

 

ชี้ 26 ปี แห่งความคับแค้นใจ รัฐล้มเหลว ไม่ปกป้องนักสิทธิมนุษยชน ไร้เยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ

อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า การต่อสู้ของชาวบ้านดงมะไฟเต็มไปด้วยเจ็บปวดทรมานคับแค้นใจ ​เริ่มแรกของการต่อสู้ พวกชาวบ้านต้องเผชิญกับบริษัททุนใหญ่เพียงลำพัง โดยภาครัฐไม่ใส่ใจความทุกข์ร้อน ไม่รับฟัง พวกชาวบ้านไม่เคยถูกกล่าวถึงในฐานะนักปกป้องสิทธิชุมชน หากแต่ถูกกล่าวถึงในฐานะ ‘ผู้ต่อต้านความเจริญและการพัฒนาประเทศ’ โดยชาวบ้านได้ใช้สิทธิทางศาลเพื่อปกป้องทรัพยากรท้องถิ่น ​

 

“ผ่านมา 26 ปี คดีการสังหารชาวบ้าน 4 คนหมดอายุความ โดยที่รัฐไม่สามารถนำคนผิดมาลงโทษได้ บนความขมขื่นของครอบครัวและชุมชน แต่เจ้าหน้าที่รัฐกลับปล่อยให้คนผิดลอยนวลและชาวบ้านยังต้องจมอยู่กับความหวาดกลัว” อังคณาระบุ

 

​อดีต กสม. ยังระบุด้วยว่า ในการต่อสู้ของชาวบ้าน ผู้หญิงมีบทบาทอย่างมาก แต่การต่อสู้ของผู้หญิงมีอุปสรรคมากมาย ทั้งด้วยภาระหน้าที่ที่ต้องแบกรับ ทั้งการต้องเผชิญกับการถูกข่มขู่คุกคาม โดยเฉพาะการนำเพศมาเป็นเครื่องมือในการลดทอนศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้หญิง แต่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได กลับไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคที่ผ่านเข้ามา คุณูปการการต่อสู้ของผู้หญิงในหลายพื้นที่ทำให้รัฐบาลประกาศแผนปฏิบัติการชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ที่ยืนยันหลักการว่าธุรกิจต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือหากเมื่อมีการละเมิดก็ต้องมีการชดใช้เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น รวมถึงการให้คำมั่นในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน   

 

อังคณาระบุด้วยว่า แต่ผ่านมา 2 ปีรัฐบาลกลับล้มเหลวทั้งในด้านการปกป้องนักสิทธิมนุษยชน และการชดใช้เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชุมชน ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ชาวบ้านเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ได้ยกระดับการต่อสู้ คือการร้องเรียนต่อ กสม. เพื่อประสานการคุ้มครองความปลอดภัยของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่านักปกป้องสิทธิฯ จะได้เข้าถึงกลไกของรัฐ สามารถมีส่วนร่วมในนโยบายเรื่องการจัดสรรทรัพยากร​

 

“ในฐานะอดีต กสม. ดิฉันเห็นว่า กสม. ต้องมีความกล้าหาญในการปกป้องประชาชน หรือผู้ทรงสิทธิ (Rights Holders) ต้องยืนยันหลักการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ในการที่ชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในโครงการต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน ต้องไม่ยอมให้ประชาชนถูกรังแก ถูกฆ่า ถูกคุกคามโดยผู้กระทำผิดยังคงลอยนวล” อดีต กสม. ระบุ

ลั่น ไม่หยุดแค่นี้ เดินหน้าสู้ต่อ ฟื้นฟูอดีตเหมือง พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว หารายได้เข้าชุมชน

​ขณะที่ มนีนุด อุทัยเรือง ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได กล่าวถึงความประทับใจว่า นักต่อสู้ทุกคนมีความมุ่งมั่นและอดทน ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาเราไม่เคยปิดหมู่บ้านแม้แต่วันเดียว เพื่อส่งต่อเจตนารมณ์จุดมุ่งหมายเหมือนกัน คือความตั้งใจที่จะปกปักษ์ หวงแหนและฟื้นฟูเหมืองหิน จากรุ่นสู่รุ่น จากตามาสู่แม่ จากแม่มาสู่ตน และต่อไปที่เด็กรุ่นหลังต่อไปอีก

 

“ระหว่างทางของการต่อสู้เจออุปสรรคมากมาย เราใช้กระบวนการของภาครัฐ แต่ก็ติดขัด ไม่มีประสิทธิภาพ ปัญหานี้เป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องมาตั้งหมู่บ้านผาฮวกพัฒนากัน ไม่ใช่ว่าเราไม่เคยใช้กลไกรัฐ เราใช้ทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แล้ว กสม. ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลไกของรัฐที่มีทั้งหมด แต่ไม่ได้เกิดประโยชน์กับชาวบ้านเลย”

 

ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการฟื้นฟูอดีตเหมือง เพื่อทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้ชุมชน โดยมีความคืบหน้าไปมากแล้ว ที่ผ่านมาได้ช่วยกันปลูกต้นไม้จำนวนมาก เพราะฉะนั้นแม้ว่าจะผ่านมา 365 วันแล้ว แต่พวกเราจะไม่ยุติการเคลื่อนไหวเพียงเท่านี้ และยืนยันว่าจะมีการเคลื่อนไหวต่อไปอย่างแน่นอน อย่างน้อยเราวางแผนกันไว้อย่างต่ำ 3 ปี ที่จะปักหลักเพื่อพัฒนาให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในชุมชนได้ ชาวบ้านก็จะหลุดพ้นจากความยากจน ซึ่งจะเป็นชดเชยจากที่เหมืองหินได้มาทำลาย ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนระบุ

 

ผิดหวังดีเอสไอไม่รับคดีลอบสังหาร 4 นักสู้ดงมะไฟเป็นคดีพิเศษ พร้อมเตรียมเล็งลง อบต. ขอเป็นกลไกฟังเสียงชาวบ้าน

​เช่นเดียวกับ สอน คำแจ่ม ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ที่บอกเล่าความรู้สึกของการต่อสู้ว่า ประทับใจที่จากพื้นที่ที่เคยวุ่นวาย ในวันนี้เราสามารถกลับมาใช้ประโยชน์ในป่าของเราได้เหมือนเดิม ทำให้เราหาเห็ด หาหน่อไม้ เพื่อไปทำกินได้ บางครอบครัวยังสามารถนำไปขายหารายได้ได้ด้วย นอกจากนี้การต่อสู้ยังทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในตัวเอง มีพลังในการต่อสู้

“จากเดิมที่ไม่กล้าพูด แต่เมื่อมีการรวมกลุ่ม มีเครือข่าย มีนักวิชาการมาให้ความรู้ มีอาสาสมัครขึ้นมาช่วย ก็ทำให้มีความกล้าจากความรู้ที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อก่อนคิดอะไรไม่ออกมีแต่กลัวกับกลัว เดี๋ยวนี้ไม่กลัวแล้วมีแต่จะบุก บุกให้ดงมะไฟเจริญให้ได้ ให้เป็นตำบลที่ดีขึ้นให้ได้ ให้ดงมะไฟเป็นที่สวยงดงาม เป็นแหล่งท่องเที่ยวให้ได้”

 

​สอนยังกล่าวถึงการรื้อคดีกำนันทองม้วน คำแจ่ม ผู้เป็นสามีที่ลุกขึ้นมาคัดค้านเหมืองหินบนภูผาฮวกถูกลอบยิงเสียชีวิต ว่าตอนแรกเราก็รอดูท่าทีของดีเอสไอว่าจะพิจารณาเป็นคดีพิเศษหรือไม่ แล้วก็อยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด จึงทำให้เราไม่สามารถเดินทางไปติดตามความคืบหน้าคดีที่ดีเอสไอได้ ซึ่งส่วนตัวหวังว่าดีเอสไอจะรับทำคดีนี้ให้เป็นคดีพิเศษ ถ้าดีเอสไออยู่เคียงข้างประชาชนจริงก็น่าจะรับเป็นคดีพิเศษและช่วยตามหาความจริงเอาคนผิดมาลงโทษให้ได้ ถ้าไม่รับแสดงว่าอิทธิพลยังมีอยู่ และทำให้เราต่อสู้ลำบากขึ้น แต่เราก็จะสู้ต่อ” สอนระบุ

 

ชี้ ดงมะไฟ บทเรียนสำคัญของการออกใบอนุญาตของรัฐ ย้ำ กระบวนการยุติธรรมที่ไม่ทันต่อสถานการณ์ กว่าชาวบ้านชนะ ภูเขาหายหมด จี้ เปิดรับฟังความเห็นชาวบ้าน – มีส่วนตัดสินใจตั้งแต่ต้น  

​​ขณะที่ สุภาภรณ์ มาลัยลอย นักกิจกรรมเพื่อความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ประทับใจในการต่อสู้ของชาวบ้านดงมะไฟ เพราะถือเป็นการต่อสู้ที่ยาวนานมาก ที่สำคัญเป็นการร่วมกันสู้ของกลุ่มคนทุกช่วงวัย ทั้งที่สถานการณ์ในขณะนี้ไม่ปกติ มีการแพร่ระบาดของโควิดและมีอีกหลายปัญหาที่รุมเร้า ดังนั้นสะท้อนให้เลยว่าภูเขาลูกนี้ ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งนี้ เป็นส่วนสำคัญของชุมชนของชีวิตพวกเขา ทำให้ทุกคนออกมารวมกลุ่มปกป้องและเรียกร้องในการดูแลจัดการทรัพยากร

 

​ระบุว่า พื้นที่นี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญในการต่อสู้ในกระบวนการ ที่ศาลชั้นต้นมีพิพากษาให้เพิกถอนประทานบัตร แต่ในปี 2553 ศาลปกครองสูงสุดกลับคำพิพากษาอันนี้คือรอบหนึ่ง แต่ชาวบ้านก็ยังใช้กระบวนการทางศาลต่อสู้ในรอบสองหลังจากที่ผู้ประกอบการได้ใบอนุญาต ก่อนที่ในปี 2561 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้เพิกถอนหนังสืออนุญาต อันนี้คือชัยชนะอีกรอบหนึ่งของชาวบ้าน แต่เป็นชัยชนะที่ไม่ได้หยุดการดำเนินการของบริษัทในพื้นที่

 

“ศาลปกครองชั้นต้นให้ชนะแต่ไม่คุ้มครอง ทำให้บริษัทดำเนินการจนภูเขาหมดไป ระบบนิเวศเสียหาย แม้ว่าคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดชาวบ้านจะได้ชัยชนะ สิ่งที่มันหวนกลับมาไม่ได้ก็คือเขาที่ถูกระเบิดไป แล้ววิถีชีวิตที่ชาวบ้านจะอยู่ร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติมันไม่มีแล้ว นี่คือสะท้อนว่ากระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรมและไม่เท่าทันต่อสถานการณ์ ความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรมมันไม่สามารถที่จะคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตชุมชนได้ นอกจากนี้กรณีดงมะไฟยังสะท้อนว่า กระบวนการให้ใบอนุญาตของหน่วยงานรัฐมีปัญหาใช่หรือไม่ เพราะศาลชั้นต้นพิพากษาให้ชาวบ้านชนะในสิ่งที่รัฐอนุญาต”

 

ด้าน ปรานม สมวงศ์ ตัวแทนจากองค์กร Protection International ระบุว่า ชัยชนะของนักปกป้องสิทธิฯ กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได นับเป็นครั้งแรกในไทยที่มีการชุมนุมโดยสงบปากทางเข้าเหมืองหิน 365 วัน จนยึดเหมืองหินได้สำเร็จ พร้อมกับลงมือลงแรงฟื้นฟูพื้นที่ที่เหมืองทำลายให้เป็นป่าชุมชน นักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้ทำให้ความฝันเป็นจริงด้วยการพลิกฟื้นพื้นที่ซึ่งอวลไปด้วยไอแห่งอยุติธรรม ระอุไปด้วยความร้อนแรงแห่งการกดขี่ของรัฐและทุน ให้แปรเปลี่ยนเป็นที่ชุ่มชื้นแห่งสิทธิและเสรีภาพ พร้อมกับความปรารถนาอย่างแรงกล้าต่อการแสวงหาความยุติธรรม ชัยชนะของประชาชนที่ดงมะไฟในครั้งนี้เสมือนทุกหุบผาถูกยกให้สูงขึ้น เรายินดีอย่างยิ่งกับชัยชนะนี้และภูมิใจที่ได้ยืนเคียงข้างกับกลุ่มอนุรักษ์ฯ และที่ปรึกษาอย่างโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ (PPM)  

 

​ทั้งนี้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ได้อ่านคำประกาศจากภูผาฝนโปรยปราย ครบรอบ 1 ปี ยึดเหมืองหินดงมะไฟ โดยบางช่วงบางตอนของประกาศระบุว่า ในวันครบรอบ 1 ปีของการยึดเหมืองความฝันของเรายังแจ่มชัด เรียบง่ายแต่หนักแน่น วันนี้เราปลูกต้นไม้ไปแล้ว 4,000 กว่าต้น เรายังจะปลูกต้นไม้ต่อไปเรื่อยๆ ในปีต่อๆ ไป ร่วมกับภารกิจด้านอื่นๆ เพื่อเปลี่ยนดงมะไฟของเราให้ร่มรื่นงดงามแก่ลูกหลาน อาทิเช่น เราจะฟ้องคดีต่อรัฐและบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการระเบิดทำลายภูผาฮวกของเราเพื่อเรียกร้องความเสียหายต่อระบบนิเวศ เราจะเข้าไปทำงานการเมืองใน อบต.ดงมะไฟ ด้วยการส่งตัวแทนของเราจากหลายหมู่บ้านลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อผลักดันวิสัยทัศน์ใหม่ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของเรา

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X