227 นักวิชาการ-กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ออกแถลงการณ์ห่วงใยธนาคารแห่งประเทศไทยที่ถูกแทรกแซงจากกลุ่มการเมืองเพื่อผลประโยชน์ระยะสั้น ทำลายเสถียรภาพและความน่าเชื่อถือของประเทศในระยะยาว
วันนี้ (30 ตุลาคม) นักวิชาการและกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและสังคมจำนวน 227 คน ออกแถลงการณ์คัดค้านการครอบงำธนาคารแห่งประเทศไทยโดยกลุ่มการเมือง โดยระบุว่า ในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้จะมีการประชุมเพื่อคัดเลือกประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 2 ท่านในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเป็นที่ทราบกันอย่างกว้างขวางว่า รัฐบาลได้เสนอชื่อบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับฝ่ายการเมือง เพื่อดำรงตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย
กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคมและภาคส่วนต่างๆ ในสังคมมีความกังวลอย่างยิ่งถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศถูกครอบงำโดยฝ่ายการเมือง ซึ่งโดยทั่วไปฝ่ายการเมืองมักให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ในระยะสั้นเพื่อแสดงผลงานที่รวดเร็ว เพราะมีความเสี่ยงทางการเมืองที่อาจดำรงตำแหน่งได้ไม่ยืนยาวนัก จึงอาจทำให้เกิดผลเสียหายรุนแรงต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจในระยะยาว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เสียงสะท้อนจากอดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ชี้ชัด “มีแต่จิตสำนึกของคณะกรรมการสรรหาประธานธนาคารแห่งประเทศไทยเท่านั้นที่จะยับยั้งหายนะทางเศรษฐกิจ”
- จับตาศึกชิงเก้าอี้ร้อน ‘ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ’ ที่มีอำนาจควบคุม ธปท. และมีส่วนสำคัญเคาะเลือกชื่อผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนใหม่
- เลื่อนอีกรอบ เคาะชื่อประธานบอร์ดแบงก์ชาติเป็น 4 พ.ย. หลัง ป.ป.ช. ส่ง อส. อุทธรณ์ ‘กิตติรัตน์’ คดีระบายข้าว
ซึ่งเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยตามรูปแบบของสากลประเทศ ที่ธนาคารกลางของประเทศที่ดีจะต้องมุ่งมั่นรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้เหมาะสมตามสถานการณ์และสถานภาพของประเทศ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศที่มั่นคงยั่งยืนในระยะยาว
บทบาทของคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยครอบคลุมภารกิจสำคัญ ได้แก่ การกำกับดูแลการบริหารงาน การจัดการทุนสำรองระหว่างประเทศ และการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการต่างๆ โดยเฉพาะคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งทำหน้าที่สำคัญในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน อันเป็นเครื่องมือสำคัญของการดำเนินนโยบายการเงิน หากคณะกรรมการใช้อำนาจที่มีนี้เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ระยะสั้นของฝ่ายการเมือง ย่อมส่งผลเสียต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และอาจเกิดความเสียหายที่ไม่สามารถย้อนกลับได้
นอกจากนี้หากการครอบงำครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ก็มีแนวโน้มว่าฝ่ายการเมืองจะใช้วิธีเดียวกันในการคัดเลือกผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงกลางถึงปลายปีหน้า โดยส่งบุคคลที่มีความสนิทใกล้ชิดทางการเมืองเข้ามาดำรงตำแหน่งเพื่อประโยชน์ทางการเมือง
กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคมขอเรียกร้องต่อคณะกรรมการคัดเลือกที่จะพิจารณาในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ ให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม โปร่งใสและมีธรรมาภิบาล โดยไม่ยอมรับแรงกดดันทางการเมือง เพื่อร่วมรักษาสถาบันที่สำคัญคือธนาคารแห่งประเทศไทยที่บุคคลสำคัญในอดีตได้ร่วมกันพัฒนามาอย่างดี และเชิญชวนภาคส่วนอื่นในสังคมร่วมแสดงจุดยืน (โดยการร่วมลงนามข้างท้าย) เพื่อคงไว้ซึ่งความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทยให้หลุดพ้นจากผลประโยชน์ระยะสั้นทางการเมือง และธำรงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือของนานาอารยประเทศ
ทั้งนี้ ตัวอย่างนักวิชาการและกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคมที่ร่วมลงนาม เช่น
- ดร.อัจนา ไวความดี อดีตรองผู้ว่าการ ธปท. และอดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)
- ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการ ธปท.
- หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการ ธปท.
- ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการ ธปท.
- รศ. ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตรองศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.
- ดร.สมชัย จิตสุชน (ในนามส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานสังกัด)
- รศ. ดร.สิริลักษณา คอมันตร์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ.
- รศ. ดร.สุกัญญา นิธังกร อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ.
- รศ.วณี จีรแพทย์ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.
- รศ.สุขุม อัตวาวุฒิชัย อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.
- ผศ. ดร.วิศาล บุปผเวส อดีตคณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า
- รศ. ดร.ธวัชชัย ยงกิตติกุล อดีตคณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า