×

ครบรอบ 23 ปี One Piece มหากาพย์การ์ตูนที่เป็นมากกว่าเรื่องของเด็ก

21.07.2018
  • LOADING...

One Piece เล่าเรื่องราวของหนุ่มน้อย ลูฟี่ ที่ปรารถนาจะค้นพบมหาสมบัติวันพีซ และได้รับการขนานนามว่าเป็นเจ้าแห่งโจรสลัด ในโลกสมมติที่มีพื้นผิวเป็นทะเลเกือบทั้งหมด ลูฟี่ต้องออกเรือไปยังทะเลกว้างใหญ่ไพศาลเข้าไปยัง ‘แกรนด์ไลน์’ ทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งตั้งอยู่ตรงเส้นศูนย์สูตร แล้วออกเดินเรือผจญภัยไปรอบโลกเพื่อที่จะไปถึงเกาะสุดท้าย รัฟเทล ที่ว่ากันว่าสมบัติวันพีซถูกเก็บไว้ที่นั่น

 

วันที่ 22 กรกฎาคม 1997 การ์ตูนมังงะเรื่อง One Piece จากปลายปากกาของ เออิจิโระ โอดะ ตีพิมพ์ตอน ‘Romance Dawn รุ่งอรุณแห่งการผจญภัย’ เป็นตอนแรกในนิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ Shonen Jump หลังจากนั้น 23 ปี One Piece ตีพิมพ์ใน Shonen Jump มาอย่างต่อเนื่องถึง 985 ตอน (*นับถึงวันที่ 22 กรกฎาคม 2020) มีฉบับรวมเล่มทั้งสิ้น 96 เล่ม มียอดพิมพ์ฉบับรวมเล่มทั่วโลกกว่า 470 ล้านเล่ม นับเป็นการ์ตูนมังงะที่ขายดีที่สุดในโลกเท่าที่เคยมีมา

 

คำถามคืออะไรทำให้การ์ตูนเรื่องหนึ่งเป็นที่ชื่นชอบจนสร้างสถิติได้มากมายขนาดนั้น

 

 

จุดเริ่มต้นที่ความฝัน:

ประเด็นหลักที่ใหญ่ที่สุดของเรื่อง One Piece คือความฝัน ลูกเรือทุกคนบนเรือเธาซันด์ ซันนี ล้วนมีความฝันสูงสุดที่ต้องทำให้สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นลูฟี่ที่ต้องการเป็นเจ้าแห่งโจรสลัด นักดาบโซโลที่อยากเป็นนักดาบที่เก่งที่สุดในโลก ต้นหนเรือนามิที่อยากเขียนแผนที่โลกให้สำเร็จ ไปจนถึงนิโค โรบิน ลูกเรือนักประวัติศาสตร์ที่อยากค้นหาประวัติศาสตร์ 100 ปีที่หายไปของโลกใบนี้

 

ความฝันเป็นประเด็นที่เข้าถึงง่ายแต่ทรงพลัง การสร้างเจตจำนงให้ตัวละครอย่างเด่นชัดเป็นการสร้างพลังให้กับคนอ่านไปด้วยในตัว อีกทั้งอุปนิสัยของตัวละครเอกอย่างลูฟี่ยังเป็นคนที่มุ่งมั่น เชื่อมั่นในตัวเอง พัฒนาตัวเองไม่หยุดยั้ง และรักในพวกพ้อง ซึ่งแน่นอนว่าคนอ่านเกือบทุกคนย่อมอยากเป็นคนแบบนี้

 

 

อิสระเสรีที่ไม่ถูกปิดกั้น:

“คนที่มีอิสระที่สุดในทะเลแห่งนี้ก็คือเจ้าแห่งโจรสลัดไม่ใช่เหรอ”

 

เป้าหมายสูงสุดของเรื่องไม่ได้ถูกมองในฐานะรางวัลที่สูงส่งในสายตาของลูฟี่ แต่กลับเป็นสัญลักษณ์ของความเสรีที่ไม่ถูกปิดกั้น ทั้งจากกรอบในมโนทัศน์ของตนและกรอบของสังคม ในโลกที่การเป็นโจรสลัดคือภาพลักษณ์ของความชั่วร้าย ลูฟี่ออกเดินเรือเป็นโจรสลัดและพิสูจน์ให้ทุกคนบนเกาะต่างๆ เห็นว่าการตราหน้าว่าโจรสลัดนั้น ‘ชั่วช้า’ คือการตัดสินคนแค่ที่สถานะ โดยที่ไม่ได้รู้จักเขาจริงๆ

 

ใน One Piece การเป็นโจรสลัดไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นโจรสลัดชั่วช้าที่คอยปล้นสะดมประชาชนเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีพวกที่ออกทะเลเพื่อไล่ล่าหาสมบัติด้วย ซึ่ง ‘กลุ่มโจรสลัดหมวกฟาง’ ของลูฟี่ก็ดูจะเป็นโจรสลัดประเภทนั้น ที่นอกจากจะไม่ปล้นสะดมแล้ว หลายครั้งยังช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยากตามทางที่เดินเรือไปอีกด้วย

 

 

การส่งต่อเจตจำนง:

“สมบัติของข้าเรอะ ถ้าอยากได้ ข้าจะยกให้ ลองหาดูสิ ข้าได้เอาทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ไว้ ณ ที่แห่งนั้นแล้ว”

 

เจ้าแห่งโจรสลัดคนก่อน โกล ดี โรเจอร์ เสียชีวิตลงจากการประหารของรัฐบาลโลกและทหารเรือ แต่ก่อนตายเขาได้ประกาศออกมาว่ามหาสมบัติวันพีซมีอยู่จริง และเขาทิ้งมันไว้ที่ไหนสักแห่งในโลกนี้ ทำให้คนที่มีความฝันเกือบทุกคนมุ่งหน้าสู่ทะเลเพื่อตามหาสมบัตินั้น

 

การส่งต่อเปลวไฟแห่งความฝันให้ลุกโชติช่วงต่อไปก็เป็นอีกหนึ่งธีมหลักของเรื่อง เราจะได้เห็นการสืบทอดเจตนารมณ์ระหว่างรุ่นสู่รุ่น นัยว่าความปรารถนาบางอย่างไม่อาจทำให้สำเร็จได้ในอายุขัยของมนุษย์แค่รุ่นเดียว และการจะทำมันให้สำเร็จก็ต้องพึ่งพาหนุ่มสาวยุคใหม่ที่อยากเห็นโลกที่ดีกว่านี้ ในการลงมือทำ ไม่ว่าจะเป็นการสืบต่อความต้องการที่จะไขปริศนาประวัติศาสตร์ของนักวิชาการแห่งโอฮาราที่ถูกฆ่าตายจนหมด สู่ความอยากรู้อยากเห็นของนิโค โรบิน ความหวังของคณะปฏิวัติที่จะปลดแอกผู้คนจากการปกครองเบ็ดเสร็จของรัฐบาลโลก เรื่องราวเหล่านี้สะท้อนแนวคิดทางสังคมของโอดะได้เป็นอย่างดี

 

 

เพื่อนพ้องคือกุญแจสู่ความสำเร็จ:

เพื่อนพ้องลูกเรือของลูฟี่มีทั้งหมด 9 คน แม้ว่ากลุ่มจะเล็ก แต่ก็ครอบคลุมตำแหน่งเดินเรือทั้งหมด ไล่เรียงตั้งแต่กัปตัน ต้นหนเรือ กุ๊ก พลแม่นปืน หมอ ช่างเรือ (จริงๆ อาจจะเกินพอด้วยซ้ำ เพราะมีกระทั่งนักดนตรีประจำเรือ) เพื่อนพ้องเหล่านี้คือคนที่ทำให้การใหญ่สำเร็จอย่างสมบูรณ์ หลายครั้งที่ลูฟี่ติดพันกับการจัดการตัวร้ายหลักของเนื้อเรื่อง ก็ได้ลูกเรือนี่แหละที่เคลียร์คัตปัญหาอย่างอื่นออกไปให้ และคอยส่งเสริมกัน เข้าใจกัน ไม่ทอดทิ้งกัน และยังมีอิสระต่อกันด้วย

 

โอดะให้ความสำคัญเรื่องเพื่อนพ้องและลูกน้องมากๆ เห็นได้จากตัวร้ายเกือบทุกตัวที่จะมีอุปนิสัยไม่แคร์ความเป็นตายร้ายดีของลูกน้องหรือเพื่อนพ้องกลุ่มเดียวกัน หรือในบางกลุ่มอย่างโจรสลัด ‘บิ๊กมัม’ คนที่อยากออกจากกลุ่มก็ต้องแลกมาด้วยความตายหรือวิญญาณ ต่างจากลูฟี่ที่มีโจรสลัดแสดงเจตนาที่จะอยู่ใต้อาณัติของกลุ่มถึง 5,000 กว่าคน เขาก็ไม่รับไว้ในปกครอง แต่กลับบอกว่า “ถ้าใครเดือดร้อนเมื่อไรก็ส่งเสียงมา ทุกคนจะไปหาเอง”

 

 

แฝงประเด็นทางสังคมที่แยบคาย:

เนื้อเรื่องหลายช่วงของ One Piece มักแฝงประเด็นทางสังคมที่หาตัวอย่างที่คล้ายกันได้ในประวัติศาสตร์จริง ไม่ว่าจะเป็นเนื้อเรื่องช่วง ‘ราชอาณาจักรริวกู’ ของเผ่าเงือก ที่สะท้อนปัญหาการแบ่งแยกกันทางเผ่าพันธุ์ระหว่างคนกับเงือกที่คล้ายความขัดแย้งระหว่างสีผิวในโลกแห่งความจริงอย่างกับแกะ ราชินีเงือกโอโตฮิเมะที่เรียกร้องสิทธิเงือกอย่างสันติก็อาจเปรียบได้กับ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ส่วนฟิชเชอร์ ไทเกอร์ โจรสลัดเงือกที่หาความเท่าเทียมอย่างรุนแรงก็อาจเปรียบได้กับ มัลคอล์ม เอ็กซ์

 

หรือปัญหาความขัดแย้งเรื่องกรรมสิทธิ์ผืนดินระหว่างชาวเกาะแห่งท้องฟ้า ‘สกายเปีย’ และชาวเผ่าพื้นเมืองแชนเดียร์นั้นก็คล้ายกับการบุกเข้าสู่แผ่นดินอเมริกาของชาวยุโรปที่กลายเป็นประเด็นความรุนแรงกับชาวพื้นเมืองนานหลายร้อยปี

 

ซึ่งในท้ายที่สุดแต่ละเส้นเรื่องก็มักจบลงอย่างแฮปปี้เอนดิ้ง หลังจากการเข้ามาของกลุ่มหมวกฟางลูฟี่ นัยว่าเป็นความคาดหวังต่อสังคมโลกของโอดะผู้เขียนก็เป็นได้

 

 

ถึงวันนี้ก็เป็นเวลา 23 ปีแล้ว เรื่องราวของ One Piece ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงโดยง่าย การที่โอดะออกมาประกาศในช่วงปี 2011 ที่มีการพักเขียนและข้ามช่วงเวลาในเรื่องไป 2 ปีว่าเนื้อเรื่อง One Piece ได้ดำเนินมาถึงครึ่งเรื่องแล้ว ก็สร้างความหวังให้นักอ่านหลายเจเนอเรชันทั่วโลกว่าจะได้เห็นตอนจบของการ์ตูนมหากาพย์เรื่องนี้ก่อนจะหมดอายุขัย ไม่ต้องส่งต่อเจตนารมณ์ให้ลูกหลานเผากงเต็กไปให้อ่านต่อจนจบ

 

แต่ถ้าพูดในแง่นักอ่านที่ติดตามกันมากว่า 20 ปีแล้ว การได้เห็นพัฒนาการของเนื้อเรื่องและความแยบคายของแนวคิดทางปรัชญาและสังคมที่เพิ่มมากขึ้นในการ์ตูนเรื่องนี้ เป็นความน่ายินดีที่ได้เห็นการ์ตูนที่รักเป็นได้มากกว่าแค่การ์ตูนที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องของเด็ก

 

ซึ่งจะว่าไป นอกจากตอนจบที่ทุกคนน่าจะอยากรู้แล้ว เนื้อเรื่องที่จะดำเนินในอีก 20 ปีต่อไปจะนำพาผู้อ่านอย่างเราไปสู่จุดไหนก็เป็นเรื่องที่น่าติดตามไม่น้อยทีเดียว

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X