×

2567 การเมืองไทยใต้เงาตุลาการ: ปัดป้องความเปลี่ยนแปลง บทพิสูจน์รัฐบาลเพื่อไทย

11.12.2024
  • LOADING...
2567 การเมืองไทยใต้เงาตุลาการ: ปัดป้องความเปลี่ยนแปลง บทพิสูจน์รัฐบาลเพื่อไทย

การเมืองไทยในปี 2567 รัฐบาลพรรคเพื่อไทยถูกท้าทายจากหลายฝ่าย ทว่าทั้งหมดนี้ยังอยู่ในดุลอำนาจซึ่งชนชั้นนำของสังคมไทยพอใจ และสามารถกุมสภาพต่อไปได้ด้วยกลไกที่ไม่ต้องอาศัยการรัฐประหารอีกแล้ว

 

หลังการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลสืบทอดอำนาจจากคณะรัฐประหารสู่รัฐบาลพลเรือนที่นำโดยพรรคเพื่อไทย เหมือนกระตุ้นให้ตุลาการภิวัตน์หวนคืนมาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม เป้าประสงค์ในครั้งนี้อาจแตกต่างออกไปจากระลอกก่อนหน้า เมื่อพรรคเพื่อไทยสมานเข้ากับพรรคการเมืองตัวแทนฝ่ายอนุรักษนิยมแล้ว

 

1 ปีที่เวลาผ่านพ้นไป ไฉนการเมืองไทยเสมือนยังย้อนวนอยู่จุดเดิม หรือจะเดินหน้าไปได้บ้างก็ด้วยความกระท่อนกระแท่น ไม่ราบรื่น ดั่งแผ่นเสียงตะกุกตะกักตกค้างอยู่บนร่อง

 

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งเป็นภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาล แต่บัดนี้ด่านแรกคือการแก้ไขกฎหมายประชามติก็ยังไม่ได้ข้อสรุป โอกาสของการนิรโทษกรรมคดีการเมืองยังดูริบหรี่ คดีในมาตรา 112 ราวถูกปิดประตูแน่นหนาขึ้น เช่นเดียวกับประตูเรือนจำที่กักขัง เนติพร เสน่ห์สังคม ผู้ล่วงลับ ตลอดจน อานนท์ นำภา, อัญชัญ ปรีเลิศ และอีกหลายผู้คนไว้ต่อไปอีกปี

 

ซ้ำร้าย เศรษฐา ทวีสิน ยังต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังได้ทำงานเพียงไม่ถึง 365 วัน เป็นการปิดฉากผู้นำรัฐบาลพลเรือนคนแรกในรอบเกือบทศวรรษอย่างค่อนข้างฉุกละหุก

 

เศรษฐา ทวีสิน แถลงข่าวครั้งสุดท้ายในฐานะนายกรัฐมนตรี หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว วันที่ 14 สิงหาคม 2567

เศรษฐา ทวีสิน แถลงข่าวครั้งสุดท้ายในฐานะนายกรัฐมนตรี หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว วันที่ 14 สิงหาคม 2567

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

ในทางกลับกัน บทบาทของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้นำทางจิตวิญญาณของพรรคเพื่อไทย กลับเริ่มเด่นชัดขึ้นนับตั้งแต่เขาได้รับการปล่อยตัว ภายหลังรับโทษในโรงพยาบาลตำรวจครบ 6 เดือนเมื่อช่วงต้นปี และบางครั้งก็ชัดเจนเสียจนถูกสังคมวิจารณ์ว่า ระหว่างตัวเขากับลูกสาว แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ใครกันแน่คือผู้มีอำนาจสั่งการที่แท้จริง

 

การเมืองไทยในปี 2567 ดำเนินมาในลักษณะเช่นนี้ รัฐบาลนำโดยพรรคเพื่อไทยถูกท้าทายจากหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายอนุรักษนิยมสุดขั้ว แม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลที่คอยขัดขากันเอง ทว่าทั้งหมดนี้ยังอยู่ในดุลอำนาจซึ่งชนชั้นนำของสังคมไทยพอใจ และสามารถกุมสภาพต่อไปได้ด้วยกลไกที่ไม่ต้องอาศัยการรัฐประหารอีกแล้ว

 

กลไกกำหนดการเมืองหลังหมดยุครัฐประหาร

 

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 หรือครบรอบ 1 ปีที่ทักษิณกลับประเทศไทย คืนวันนั้นเขาเป็นไฮไลต์บนเวที Nation TV Dinner Talk : Vision for Thailand 2024 ที่มีการแสดงวิสัยทัศน์ครั้งแรกของอดีตนายกฯ ในรอบเกือบ 20 ปี โดยเฉพาะในช่วงหนึ่งที่เขาตอบคำถามว่าจะเกิดรัฐประหารขึ้นอีกหรือไม่

 

“ไม่มีแล้วครับ เพราะว่า Circle หายไปแล้ว ผมไม่เชื่อว่ามีแล้ว” ทักษิณตอบทันที เว้นคิดอยู่ครู่หนึ่งก่อนกล่าวต่อไปว่า “เพราะตอนนี้ผมเชื่อว่าทุกอย่างมันมีกลไกเยอะ คิดว่าเรื่องปฏิวัติรัฐประหารน่าจะไม่มีแล้ว”

 

เขายังยืนยันด้วยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของลูกสาวของเขาจะปลอดภัยจากการรัฐประหาร “แน่นอน 100%”

 

แพทองธาร ชินวัตร สวมกอด ทักษิณ ชินวัตร ก่อนพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31

แพทองธาร ชินวัตร สวมกอด ทักษิณ ชินวัตร ก่อนพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

ท่าทีของทักษิณบ่งชี้ได้หลายอย่างในการเมืองไทย คำตอบที่แสดงความมั่นใจว่าจะไม่มีการรัฐประหารแล้ว แต่ “ทุกอย่างมีกลไก” อาจสะท้อนถึงความเป็นจริงทางการเมืองในปัจจุบันว่า การรัฐประหารที่เคยทำให้การเมืองชะงักงันมาบ่อยครั้งจะไม่ใช่ทางเลือกของชนชั้นนำอีกต่อไป ทว่ากลไกใหม่จะถูกนำมาใช้งาน ซึ่งแม้แต่พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำก็จะต้องปรับตัวไปตามเงื่อนไขนั้น

 

เมื่อเข้าสู่เดือนสิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัย 2 คดีสำคัญ ที่จะพลิกโฉมหน้าของการเมืองไทยอีกครั้ง

 

7 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล พร้อมเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรค 10 ปี จากการลงชื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อันเป็นพฤติการณ์เซาะกร่อนบ่อนทำลายระบอบการปกครอง

 

และอีก 7 วันต่อมา คือ 14 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของเศรษฐาสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เนื่องจากมีพฤติกรรมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง จากการแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม

 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่อาคารอนาคตใหม่ ภายหลังรับทราบผลวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคก้าวไกล วันที่ 7 สิงหาคม 2567

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่อาคารอนาคตใหม่ ภายหลังรับทราบผลวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคก้าวไกล วันที่ 7 สิงหาคม 2567

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

หลังเหตุการณ์เหล่านั้นมีคำอธิบายตามมามากมาย โจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ BBC เขียนรายงานว่า พรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งได้จำนวน สส. มากที่สุด สะท้อนความต้องการเปลี่ยนแปลงของโหวตเตอร์ชาวไทย แต่ศาลรัฐธรรมนูญที่เคยวินิจฉัยยุบ 34 พรรคการเมืองตั้งแต่ปี 2549 วางตนเองเป็นผู้พิทักษ์ ‘สถานภาพเดิมของฝ่ายอนุรักษนิยม’ (Conservative Status Quo) ซึ่งมีใจกลางคือสถาบันพระมหากษัตริย์ ปกป้องโดยกองทัพที่มีจุดยืนทางการเมืองชัดเจน

 

ขณะที่ มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นกับ THE STANDARD ไว้ก่อนหน้านี้ว่า คดีการถอดถอนเศรษฐาไม่ควรจะถูกยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่แรก เพราะต้นเหตุมาจากการแต่งตั้งคนที่ขาดคุณสมบัติเป็นรัฐมนตรี ซึ่งมองว่าเป็น “เรื่องเล็กน้อยมาก” และการถอดถอนนายกฯ “จะส่งผลกระทบอันร้ายแรงต่อระบบกฎหมายและระบบการเมือง ที่นับจากนี้จะไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างราบรื่นเลย”

 

คำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญก่อให้เกิดแผ่นดินไหว ทั้งในฝ่ายบริหารประเทศที่ผู้นำตกจากเก้าอี้ และฝ่ายนิติบัญญัติที่พยายามเสนอแก้ไขกฎหมายแต่ถูกวินิจฉัยว่าล้มล้างการปกครอง นำมาสู่การจับตาว่ารัฐบาลของแพทองธารที่มีแนวโน้มจะถูกร้องเรียนมากมายตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มทำงานจะไปตลอดรอดฝั่งหรือไม่

 

ทักษิณ ชินวัตร และ แพทองธาร ชินวัตร ระหว่างเปิดบ้านจันทร์ส่องหล้าให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน หลังการทำบุญเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิดปีที่ 75

ทักษิณ ชินวัตร และ แพทองธาร ชินวัตร ระหว่างเปิดบ้านจันทร์ส่องหล้าให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน หลังการทำบุญเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิดปีที่ 75

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

แม้แต่ทักษิณเองก็ได้รับสัญญาณอันตราย ภายหลัง ธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความ ผู้เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล ยื่นร้องเรียนอีกครั้งใน 6 ประเด็น ลำดับเหตุการณ์ว่าทักษิณมีพฤติกรรมครอบงำชี้นำพรรคเพื่อไทย บานปลายจนถึงความผิดฐานล้มล้างการปกครอง ซึ่งอาจนำมาสู่การยุบพรรคเพื่อไทยด้วย

 

ทว่าเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 สถานการณ์คลี่คลาย เมื่อองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติ ‘เอกฉันท์’ ไม่รับคำร้องของธีรยุทธไว้พิจารณา เนื่องจาก “ยังไม่มีน้ำหนักพยานหลักฐานเพียงพอ” ซึ่งในมุมกฎหมายแน่นอนว่าสามารถอธิบายได้ตามหลักนิติศาสตร์

 

แต่หากมองกันอย่าง ‘การเมือง’ เพียวๆ ย่อมอธิบายได้เช่นกันว่า ทั้งทักษิณหรือองคาพยพในฝ่ายรัฐบาลเพื่อไทยต้องพยายามหาแนวทาง ‘ทำงาน’ ร่วมกับกลไกดังกล่าวให้ได้ เพื่อรักษาเสถียรภาพของการบริหารราชการแผ่นดิน โดยต้องไม่ลืมข้อวิเคราะห์ของเฮดว่า ศาลรัฐธรรมนูญอยู่ในฐานะผู้พิทักษ์ ‘สถานภาพเดิมของฝ่ายอนุรักษนิยม’ เป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัย ซึ่งสร้างผลกระทบต่อผู้เล่นทางการเมืองได้ทุกฝ่าย

 

ปัดป้องความเปลี่ยนแปลง: ระลอก 3 แห่งตุลาการภิวัตน์?

 

ตุลาการภิวัตน์ (Judicial Activism) เป็นศัพท์ทางวิชาการที่กลายมาเป็นคำอธิบายให้เข้าใจตรงกันในทางการเมือง แรน เฮิร์ชล์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยโทรอนโต นิยามว่า ตุลาการภิวัตน์เป็นปรากฏการณ์ที่สถาบันตุลาการมีบทบาทขยายตัวจากการตีความกฎหมายแบบดั้งเดิม โดยมักเข้าไปเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจทางการเมืองหรือประเด็นสาธารณะในวงกว้าง

 

เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า ธีรยุทธ บุญมี เป็นผู้ริเริ่มใช้คำว่าตุลาการภิวัตน์ในบริบทของประเทศไทย ภายหลังการพลิกบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญที่ขับเคี่ยวอย่างเข้มข้นขึ้น จนนำมาสู่การรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณเมื่อปี 2549 เป็นจุดเริ่มต้นของมหากาพย์คดีความที่ทำให้ทักษิณเองต้องลี้ภัยไปต่างประเทศและนักการเมืองหลายร้อยคนถูกตัดสิทธิ

 

เหตุการณ์บ่งชี้สำคัญคือคดีความเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 ที่พรรคร่วมฝ่ายค้านขณะนั้นคว่ำบาตรไม่ลงแข่ง และพรรคไทยรักไทยถูกกล่าวหาว่าทุจริตหลายประการ ต่อมามีการประชุมร่วมของ 3 ศาล คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา และศาลปกครอง ก่อนจะออกแถลงการณ์เน้นย้ำถึงการพิจารณาคดีโดยรวดเร็ว ยึดหลักกฎหมาย และความเป็นอิสระ จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ

 

 ภาพบรรยากาศสื่อมวลชนและประชาชนติดตามการถ่ายทอดสดตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยในคดีสำคัญ

ภาพบรรยากาศสื่อมวลชนและประชาชนติดตามการถ่ายทอดสดตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยในคดีสำคัญ

 

หากมองตามลำดับประวัติศาสตร์ ตุลาการภิวัตน์จะเกิดขึ้นแล้วหายไปเป็นระลอก ผันแปรตามดุลอำนาจทางการเมืองไทยขณะนั้น เห็นได้จากความสงบนิ่งระหว่างสมัยของรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ครั้นในช่วงท้ายของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ เนื่องด้วยไม่สามารถจัดการเลือกตั้งให้เสร็จในวันเดียว ทั้งนี้ เพราะกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. เข้าปิดล้อมหน่วยเลือกตั้งในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

 

ผ่านมา 10 ปี หลังผ่านพ้นรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ทำให้รัฐบาล ประยุทธ์ จันทร์โอชา สืบทอดอำนาจจากคณะรัฐประหารหยั่งรากลึกลงไป การกลับมาของรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยเหมือนกระตุ้นให้ตุลาการภิวัตน์หวนคืนมาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม เป้าประสงค์ในครั้งนี้อาจแตกต่างออกไปจากระลอกก่อนหน้า เมื่อพรรคเพื่อไทยสมานเข้ากับพรรคการเมืองตัวแทนฝ่ายอนุรักษนิยมแล้ว

 

แม้การรวมตัวครั้งนี้ไม่อาจมองได้ว่าเป็นเนื้อเดียวกันนัก ดังจะเห็นจากรอยแยกแตกร้าวระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลและนโยบายต่างๆ ที่ยังไม่ถึงไหน เพราะรัฐบาลไม่ได้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่ตุลาการภิวัตน์ก็ถูกใช้เป็นกลไกป้องกันกระแสความเปลี่ยนแปลงอันรุนแรงรวดเร็ว

 

ดังจะเห็นจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ มาจนถึงพรรคก้าวไกลในปีที่ผ่านมา ทั้งหมดนี้ก็เพื่อกุมสภาพเดิมของดุลอำนาจที่ชนชั้นนำพอใจให้ดำรงอยู่ โดยพรรคเพื่อไทยต้องพิสูจน์ตนเองอย่างต่อเนื่องว่ายังคงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในการรักษาสถานภาพเช่นนี้เอาไว้

 

แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย เดินทางเข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล

แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย เดินทางเข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

การเมืองใต้เงาตุลาการ: เสถียรภาพและความชอบธรรม

 

“ถ้าไม่ชอบ ถึงไม่ผิดก็ผิด ถ้าชอบ ถึงผิดก็ไม่ผิด” สรกล อดุลยานนท์ โฮสต์รายการ THE POWER GAME วิเคราะห์ถึงบทเรียนที่ทักษิณได้จากกระบวนการยุติธรรมไทย บนเวที THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2024

 

“คุณทักษิณเขารู้แล้วว่ามีสิ่งเดียว คือไม่ต้องสนใจว่าเนื้อหาจะเป็นอย่างไร ขอให้เชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริง” สรกลกล่าว “ดังนั้นก็ลุยเลย แล้วสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็จะบอกเอง”

 

ข้อวิเคราะห์ดังกล่าวก็ดูจะสอดคล้องไปด้วยกันได้กับถ้อยคำของทักษิณบนเวที Forbes Global CEO Conference ที่บอกว่า “ผมเห็นสวรรค์ในการเมือง และเห็นนรกตามมาทีหลัง นรก-สวรรค์คือชีวิตผมเลย มีขึ้นและมีลง ตอนนี้คิดว่าน่าจะอยู่บนพื้นดินแล้ว ไม่เอาสวรรค์ ไม่เอานรก”

 

แพทองธาร ชินวัตร อ่านผลของศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้องคดีล้มล้างการปกครอง กรณี ทักษิณ ชินวัตร ใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง วันที่ 22 พฤศจิกายน 2567

แพทองธาร ชินวัตร อ่านผลของศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้องคดีล้มล้างการปกครอง กรณี ทักษิณ ชินวัตร ใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง วันที่ 22 พฤศจิกายน 2567

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

หากเป็นไปตามสมมติฐานว่า ท่าทีของทักษิณจะสะท้อนทิศทางของรัฐบาลเพื่อไทยปัจจุบัน เท่ากับว่าพรรคเพื่อไทยยังถือเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองที่ตุลาการเข้ามามีบทบาทในการรักษาสภาพเดิมซึ่งเป็นที่พอใจของชนชั้นนำ เรื่องนี้อธิบายได้ทางวิชาการด้วยแนวคิดการทำตุลาการให้เป็นการเมือง (Politicization of the Judiciary)

 

ทอม กินส์เบิร์ก นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันอธิบายว่า ‘การทำตุลาการให้เป็นการเมือง’ เป็นกระบวนการที่มีความจำเป็น และมักเกิดขึ้นในบริบทของการเปลี่ยนผ่านจาก ‘ระบอบอำนาจนิยม’ มาสู่ ‘ประชาธิปไตย’ โดยชนชั้นนำจะใช้ตุลาการเป็นกลไก เพื่อถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ เพราะต้องการลดความเสี่ยงในการสูญเสียอำนาจในอนาคต

 

กินส์เบิร์กระบุด้วยว่า ศาลรัฐธรรมนูญในประชาธิปไตยใหม่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือที่ช่วยประกันว่ากติกาในระบอบประชาธิปไตยจะได้รับการปฏิบัติตาม แต่ในขณะเดียวกัน กระบวนการนี้ก็อาจนำไปสู่การที่ศาลแทรกแซงการเมืองจนเกินความจำเป็น ทำให้ศาลกลายเป็นผู้เล่นทางการเมืองมากกว่าผู้รักษากฎหมาย หากศาลถูกมองว่าเป็นพวกพ้องของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ความน่าเชื่อถือในสายตาประชาชนอาจลดลง

 

ดังนั้นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ควรบันทึกไว้ในปี 2567 คือวิกฤตความศรัทธาของสังคมไทยต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะหลังจาก อุดม สิทธิวิรัชธรรม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระหว่างร่วมสัมมนาทางวิชาการในหัวข้อ ‘ศาลรัฐธรรมนูญกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560’ ภายใต้โครงการเสริมสร้างความรู้สู่ประชาชนภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2567

 

คำกล่าวในช่วงหนึ่งของอุดมที่ระบุว่า “จริงๆ ต้องขอบคุณผมนะ มีการยุบพรรคเขา (พรรคก้าวไกล) เห็นไหมครับ เขาได้เงินตั้งกี่ล้านภายใน 2 วัน ถ้าไม่ยุบ เขาร้องไห้ฟรีเลยนะ ก่อนหน้านั้นเงินไม่มีนะ ต้องขอบคุณผมนะ ทำให้เขามีเงินเข้าไปตั้ง 20-30 ล้านบาท” จุดประกายให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง

 

เรียงจากซ้ายไปขวา: อุดม สิทธิวิรัชธรรม, จิรนิติ หะวานนท์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ ประเสริฐ บุญประสพ นายกเทศมนตรีนครสุราษฎร์ธานี

เรียงจากซ้ายไปขวา: อุดม สิทธิวิรัชธรรม, จิรนิติ หะวานนท์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ ประเสริฐ บุญประสพ นายกเทศมนตรีนครสุราษฎร์ธานี

ภาพ: สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

 

ร้อนถึง อดิศร เพียงเกษ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย สส. จากทั้ง 2 พรรค ที่ได้รับผลกระทบจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ยื่นญัตติด่วนขอให้สภาพิจารณาเกี่ยวกับการแสดงออกของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตุลาการบนเวทีสาธารณะ ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยประชาชน จนนำไปสู่การตั้งคำถามต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมและการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระ เพื่อส่งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของสภาให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาดำเนินการต่อไป นับเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติร่วมแรงกันตั้งคำถามต่อฝ่ายตุลาการ

 

ถึงกระนั้นก็ตาม ต่อมาสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญทำหนังสือตอบกลับมายังสภาว่า ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นว่า พฤติกรรมของอุดม “มิได้เป็นการแสดงความคิดเห็นอันมีลักษณะเป็นการเสียดสีหรือประชดประชันพรรคการเมืองใด … ไม่กระทบกระเทือนหรือก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่งตุลาการ”

 

แพทองธาร ชินวัตร ระหว่างร่วมการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ในวาระคณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายรัฐบาล วันที่ 12 กันยายน 2567

แพทองธาร ชินวัตร ระหว่างร่วมการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ในวาระคณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายรัฐบาล วันที่ 12 กันยายน 2567

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

มองต่อไปในปี 2568 ความพยายามรักษาสภาพเดิมของชนชั้นนำจะดำเนินไปอย่างไรต่อ บทบาทของตุลาการจะมากขึ้นหรือน้อยลง และที่สำคัญ พรรคเพื่อไทยจะยังกุมความเป็นผู้นำในพรรคการเมืองสายอนุรักษนิยมได้หรือไม่ ในเมื่อพรรคที่เป็นคู่แข่งสำคัญในรัฐบาลอย่างภูมิใจไทยก็เริ่มรุกคืบเข้ามาบนกระดานอำนาจ

 

ความเปลี่ยนแปลงเฉพาะหน้าที่ควรจับตาในปีต่อไปคือ การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศ สนามพิสูจน์ความแก่กล้าของพรรคอนุรักษนิยมและการท้าทายจากพรรคฝ่ายก้าวหน้าที่ยังไม่สำเร็จ

 

ตลอดจนการชิงเก้าอี้ 2 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่จะครบวาระ ซึ่งจากรายชื่อจะเห็นได้ว่ามีตัวแทนจากหลากหลายภูมิทัศน์ทางการเมืองเข้าท้าชิง แต่จนแล้วจนรอด ตำแหน่งดังกล่าวก็ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาให้ความเห็นชอบจาก สว. ซึ่งจากผลงานในปีที่ผ่านมาก็เห็นความเชื่อมโยงชัดเจนว่าเสียงข้างมากคือ ‘สีอะไร’ และเป็นตัวแทนของใคร

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X