×

เปิดเทอมใหม่ปี 2567 กทม. เตรียมก้าวผ่าน ‘โรงเรียนคนจน’ ลดวิชาการ-เพิ่มวิชาชีวิต ยกระดับคุณค่าครู

27.11.2023
  • LOADING...
ศานนท์ หวังสร้างบุญ

โรงเรียนที่ดีที่สุดในความหมายของคุณเป็นแบบไหน 

 

ใช่โรงเรียนในความหมายเหล่านี้หรือไม่ เป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงสืบต่อมานาน เป็นโรงเรียนที่มีรางวัลมากมายการันตี หรือเป็นโรงเรียนที่มีหลักสูตรอัดแน่น

 

แล้วคุณเคยนึกถึงตัวเลือก ‘โรงเรียนใกล้บ้าน’ บ้างไหม ที่จะส่งลูก หลาน หรือคนในครอบครัวเข้าสู่ระบบการศึกษา

 

THE STANDARD คุยกับ ‘ศานนท์ หวังสร้างบุญ’ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ถึงการรื้อระบบ ปรับแผนการศึกษา ปรับปรุงภาพลักษณ์ของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครทั้ง 437 โรงเรียน ในปีการศึกษา 2567 

 

สุดท้ายแล้วความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดจะทำให้โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) โรงเรียนที่อยู่ใกล้บ้าน เป็นหนึ่งในตัวเลือกโรงเรียนในฝันได้หรือไม่ มาหาคำตอบจากบทสนทนานี้กัน

 

 

โรงเรียน กทม. ต้องก้าวข้ามความคิดที่ว่าเป็นโรงเรียนคนจน

 

“การที่สังคมติดภาพลักษณ์ว่าโรงเรียน กทม. เป็นโรงเรียนของคนจน เรื่องนี้คือสิ่งที่ตัวเราเองอยากทำให้ได้ดีที่สุด เราอยากบอกให้ได้ว่าโรงเรียนที่ดีที่สุดคือโรงเรียนที่ใกล้บ้านเรา ถึงแม้โรงเรียนนั้นจะเป็นสังกัด กทม.” ศานนท์กล่าว

 

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมอีกว่า อย่างน้อยตัวเราเองในฐานะผู้บริหารต้องเกิดความภาคภูมิใจโรงเรียนในสังกัดของเราก่อน 

 

เราในฐานะคนที่พัฒนาต้องภูมิใจว่านี่คือสถานที่ที่เราอยากจะส่งลูกมาเรียน แต่ถ้าเรายังรู้สึกว่าโรงเรียนนี้เป็น ‘โรงเรียนสำหรับคนจน’ สำหรับคนที่มีเงินน้อย มีรายได้น้อย สุดท้ายเราก็ไม่สามารถที่จะพัฒนาได้เท่าเทียมโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) หรือโรงเรียนเอกชน

 

ถ้าดูในหลายๆ ทรัพยากร โรงเรียน กทม. ถือว่ามีโอกาสมากกว่าคนอื่นๆ กทม. มีการร่วมมือกับสถานทูตมากมาย ผู้ว่าฯ กทม. ไปพบกับสถานทูตแทบจะทั้งกรุงเทพฯ แล้ว เรายังมีโครงการแลกเปลี่ยนอีกเยอะแยะ 

 

ฉะนั้นก้าวต่อไปคือ เรื่องกายภาพเราต้องทำให้ดี เรื่องหลักสูตรเราต้องทำให้ดี เรื่องการช่วยคุณครูให้มีวิทยฐานะที่ดีขึ้น การพัฒนาสุขภาวะ อาหารต่างๆ สิ่งเหล่านี้คือเงื่อนไขสำคัญที่จะลดความเหลื่อมล้ำในอนาคตด้วย

 

“ท่านผู้ว่าฯ กทม. พูดไว้เลยว่าการศึกษาคือเครื่องมือเดียวและเป็นเครื่องมือที่สำคัญมากในการลดความเหลื่อมล้ำในอนาคต ถ้าเรายังไม่สามารถทำให้เด็กเข้าถึงการศึกษาที่ดี เราไม่ต้องคาดหวังเลยว่าเด็กโตไปจะเป็นอย่างไร เราต้องทำโรงเรียนในสังกัดให้ดีก่อนเป็นบันไดขั้นแรก” ศานนท์กล่าว

 

 

บันไดขั้นแรกของการศึกษาของเด็กกรุงเทพฯ อยู่ในมือ กทม.

 

ศานนท์ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า การแก้ปัญหาเรื่องการศึกษาของ กทม. เป็นโจทย์ยาก แต่ก็เป็นโจทย์ที่มีความหมาย วันนี้ดีใจที่ได้ทำและจะทำให้เต็มที่

 

การแก้ปัญหาเรื่องการศึกษาถือเป็นแผนระยะยาว แต่ข้อดีคือเราจะเห็นลำดับขั้นและพัฒนาการการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ทุกวัน 

 

หากวิเคราะห์แบบละเอียดเรื่องโครงสร้างของโรงเรียนสังกัด กทม. เราต้องเริ่มมองที่ภาพรวมของทั้งเมือง ซึ่งนับรวมโรงเรียนทุกสังกัดจะอยู่ที่ประมาณ 600 กว่าโรงเรียน แยกออกมาเป็นสังกัด กทม. คือ กทม. ดูแลจัดการโดยตรง 437 โรงเรียน 

 

แปลว่า 2 ใน 3 โรงเรียนที่เจอจะเป็นโรงเรียนสังกัด กทม. ซึ่งถือว่ามีจำนวนเยอะมาก แต่ถ้ามาคิดถึงโรงเรียนของภาครัฐที่ดีๆ มีชื่อเสียง และเป็นที่นิยม แทบจะไม่มีใครนึกถึงโรงเรียนสังกัด กทม. เลย เท่ากับว่าวันนี้โรงเรียนของ กทม. ยังมีคุณภาพไม่พอ 

 

 

โรงเรียนสังกัด กทม. ในจำนวน 437 โรง แบ่งเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย 10 โรงเรียน ส่วนที่เหลือคือโรงเรียนอนุบาลถึงประถมศึกษา ‘กทม. กำลังดูแลเด็กกว่า 50% ของเด็กทั้งกรุงเทพฯ และหัวใจอยู่ที่เด็กประถมวัยและประถมศึกษา’

 

ประเด็นดังกล่าวสะท้อนว่า กทม. มีหน้าที่ให้การศึกษาในช่วงแรกสุดของชีวิตเด็ก เพื่อจะส่งต่อไปยังโรงเรียนในสังกัด สพฐ. หรือโรงเรียนเอกชน 

 

โจทย์ที่ กทม. ต้องทำคือ ทำการศึกษาให้ดี เพื่อส่งต่อให้ขั้นต่อไป

 

เพราะไม่ว่าเด็กคนนั้นจะศึกษาต่อด้วยระบบการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สายอาชีวะ หรือสายสามัญ กทม. ต้องสามารถส่งต่อเด็กๆ ได้ลื่นไหลที่สุด และทบทวนดูว่าที่ผ่านมาส่งต่อได้ครบ มีเด็กตกหล่นไปที่ไหนหรือไม่

 

ศานนท์กล่าวว่า ข้อมูลน่าสนใจที่เราได้รับคือ ในจำนวนเด็กนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ต้องไปต่อสายเรียนต่างๆ จากจำนวนเด็กประมาณ 10,000 กว่าคน มีเด็กประมาณเกือบ 2,000 คน ที่ กทม. ไม่มีข้อมูลว่าเด็กเหล่านั้นไปเรียนอะไรต่อ ไปอยู่ที่ไหน นี่คือโจทย์อีกอย่างที่เราตั้งใจว่าจะลดจำนวนเด็กที่หลุดจากระบบให้ได้

 

 

โรงเรียนคือบ้านหลังที่สองต่อจากพ่อแม่ที่ให้กำเนิด

 

ศานนท์ชวนพิจารณาข้อมูลเด็กช่วงปฐมวัยอายุ 0-6 ปี ในกรุงเทพฯ จากข้อมูลทะเบียนราษฎร ปี 2566 ระบุว่า มีเด็กกลุ่มนี้อยู่ในกรุงเทพฯ 259,264 คน ที่ผ่านมาระบบการศึกษาของ กทม. ดูแลอยู่ที่ 82,990 คน 

 

โดยแบ่งเป็น 

 

  • นักเรียนอนุบาล (อายุ 4-5 ปี) 429 โรงเรียน 38,499 คน
  • นักเรียนชั้น ป.1 (อายุ 6 ปี) 431 โรงเรียน 26,945 คน
  • เด็กในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน (อายุ 2-5 ปี) 274 โรงเรียน 17,213 คน
  • เด็กในสถานรับเลี้ยงเด็กกลางวัน ศูนย์บริการสาธารณสุข (อายุ 2.5-5 ปี) 12 แห่ง 218 คน 
  • เด็กในศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่คู่นมแม่ โรงพยาบาล กทม. (อายุ 2.5-5 ปี) 8 แห่ง 115 คน

 

ในภาพรวมเท่ากับ กทม. ดูแลเด็กปฐมวัยคิดเป็น 1 ใน 3 จากเด็กทั้งกรุงเทพฯ คำถามที่ตามมาคือ แล้วเด็กๆ ที่เหลือพวกเขาเหล่านั้นไปอยู่ไหน เขากำลังอยู่ในชุมชนที่ไม่มีคนดูแล หรืออยู่ในโรงเรียนเอกชน

 

 

ฉะนั้นสิ่งที่เราพยายามทำคือ ขยายการดูแลจากจำนวนแค่ 80,000 คน อาจจะไม่ครบ 300,000 คน แต่ต้องเพิ่ม

 

สิ่งที่ กทม. ทำได้และมีแผนที่จะทำในปีการศึกษา 2567 คือการขยายชั้นเรียนอนุบาล จากปัจจุบันรับเด็กอายุเริ่มที่ 4 ปีเป็นต้นไป ต่อไปจะรับเด็กตั้งแต่อายุ 3 ปี เข้าไปในโรงเรียน 

 

จากเดิมโรงเรียนสังกัด กทม. มีเพียงอนุบาล 1 และ 2 อนาคตจะมีอนุบาล 3 เพิ่มขึ้นมา

 

นั่นหมายความว่า กทม. จะดูแลเด็กได้มากขึ้นถึง 7,000-15,000 คน ซึ่งปัจจุบันกว่า 400 โรงเรียน มีประมาณ 140 โรงเรียนที่ได้แจ้งความจำนงว่าต้องการขยายช่วงอายุอนุบาลให้มากขึ้นแล้ว 

 

ในปี 2567 จะมีห้องเรียนอนุบาลมากขึ้น มีการจัดการเรียนการสอนที่มากขึ้น

 

 

เมื่อการดูแลเด็กในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อไม่ใช่เรื่องง่าย

 

ต่อจากเด็กปฐมวัยคือเด็กประถมศึกษาซึ่งอยู่ในความดูแล กทม. ประมาณร้อยละ 50 จากเด็กทั้งกรุงเทพฯ สิ่งที่ กทม. มุ่งเน้นจะอยู่ในช่วงเด็ก ป.4-ป.6 ที่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่าจะดีหรือดื้อ 

 

กทม. ตั้งเป้าหมายไว้ว่าอยากทำให้ห้องเรียนเป็นแบบ Active Learning หรือกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมและมีปฏิสัมพันธ์กับกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติที่หลากหลายรูปแบบ 

 

โดยปีที่ผ่านมา กทม. เริ่มทำในโรงเรียนต้นแบบกับทาง Google for Education มีที่มาจากที่เราเห็นว่าหลายโรงเรียนมีการนำแล็ปท็อปเข้าไปเรียนบูรณาการกับการเรียนด้วยหนังสือมากขึ้น

 

ศานนท์มองว่าการเรียนแบบ Active Learning ไม่ได้เกิดจากคุณครูเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่ว่าครูต้องเพิ่มระดับการเรียนการสอนจาก 100% เป็น 500% แต่จริงๆ แล้ว Active Learning เป็นการปรับเปลี่ยนที่ตัวอุปกรณ์ เช่น การเอาคอมพิวเตอร์เข้าไปสู่ห้องเรียน ซึ่งสิ่งที่ กทม. ได้เห็นคือเด็กนักเรียนมีปฏิกิริยาโต้ตอบกับการเรียนรู้มากขึ้น 3 เท่า

 

ยกตัวอย่างห้องเรียนหนึ่งที่มีการแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่ม จากเดิมที่การเรียนเกิดแบบหนึ่งต่อหนึ่ง มองครูคนเดียว ก็ถูกแบ่งเป็นเด็กเก่งสอนเด็กไม่เก่ง เด็กพิเศษได้เรียนรู้กับเพื่อนคนอื่นๆ ที่มีทักษะดี นั่นหมายถึงเด็กต่างสอนซึ่งกันและกันได้ ในอนาคตหาก กทม. ทำเป็นโรงเรียนต้นแบบได้สำเร็จ ก็จะสามารถขยายผลไปโรงเรียนอื่นๆ ในสังกัดได้

 

ในส่วนนี้สอดคล้องไปถึงโครงการปัจจุบันของ กทม. ที่เปิดรับบริจาคคอมพิวเตอร์เก่าจากประชาชน เพื่อนำมาล้างโปรแกรมและใส่โปรแกรมใหม่ที่เกี่ยวกับเรื่องทางการศึกษาเฉพาะเข้าไป ประโยชน์จากโครงการนี้นอกจากเป็นการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ยังถือเป็นการเปิดโลกใหม่ให้กับเด็กๆ ด้วย 

 

ศานนท์ระบุว่า สำหรับเด็กกลุ่มนี้ในปี 2567 กทม. ตั้งเป้าขยายผลกับผู้บริหารสถานศึกษา ครู ศึกษานิเทศก์ให้ครบทั้ง 437 โรงเรียน ให้มุ่งเน้นสร้างพัฒนาการสมวัย ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ พฤติกรรม และทักษะสมอง EF (Executive Function) ให้เด็ก

 

 

โลกหมุนไป โรงเรียนเองก็ต้องหมุนตาม

 

ศานนท์กล่าวว่า เรื่องการศึกษา กทม. มีการเพิ่มกลุ่มวิชาใหม่ในหลักสูตร เช่น วิชา Data Analytic ทำในโรงเรียนมัธยมศึกษาต้นแบบ 5 โรงเรียน ซึ่งในคาบเรียนจะมีครูพิเศษมาสอน สอนทั้งครูประจำวิชาคอมพิวเตอร์ของโรงเรียนและสอนนักเรียนไปพร้อมกัน เมื่อเรียนครบหลักสูตร เด็กทั้ง 5 โรงเรียนจะได้แข่งขันกันเพื่อดูว่าหลักสูตรนี้มีประสิทธิภาพหรือไม่

 

นอกจากนี้ยังมีวิชา Excel ที่ กทม. มองว่าเป็นวิชาสำคัญและใช้จริงทุกวัน ส่วนวิชาการเงินตอนนี้โรงเรียน กทม. กำลังทดลองเรียนอยู่ 10 โรงเรียน เป็นการร่วมมือกันกับธนาคารแห่งประเทศไทยและภาคีสอนทั้งวิชาพื้นฐานการเก็บออมเงิน การดูแลค่าใช้จ่ายแต่ละวัน และการจัดการภาษี 

 

แต่เราขอนำเสนอพื้นที่มีการยกระดับการเรียนการสอนขึ้นไปอีกระดับคือโรงเรียนเขตบางพลัด 11 โรงเรียน โดยใช้แนวคิด ‘ลดชั่วโมงเรียนวิชาการลง เพิ่มวิชาชีวิตให้มากขึ้น’ 

 

“ผมเชื่อว่าโลกอนาคตการเรียนรู้แบบเดิมอาจจะไม่สำคัญแล้ว สิ่งที่โรงเรียนควรมุ่งคือการผลิตเด็กที่มีความเข้าใจโลก เข้าใจคน เข้าใจจิตใจมนุษย์ เราอาจจะเอาวิชาชีวิตมาเป็นตัวตั้ง แล้วเปลี่ยนหลักสูตรให้เด็กเห็นว่าโลกวันนี้มีการเรียนอะไรบ้าง” ศานนท์กล่าว

 

ศานนท์ยกตัวอย่างว่าใน 1 สัปดาห์เรียนวิชาภาษาอังกฤษ 4 คาบ ลดให้เหลือ 2 คาบ อีก 2 คาบให้บูรณาการร่วมกับวิชาอื่น ทางโรงเรียนจะสะสมชั่วโมงเรียนที่ลดลงมารวมกันแล้วทำเป็น Maker Space

 

ตัวอย่าง ห้องเรียนหนึ่งนักเรียนสนใจด้านกีฬา เก่งกีฬา ก็มีการทำบอร์ดเกมกีฬาบูรณาการกับวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ บูรณาการทุกวิชาเข้าหากัน

 

ศานนท์กล่าวเสริมว่า “สิ่งที่การเรียนรู้ขาดไปในปัจจุบันคือเราเรียนแล้วไม่รู้ว่าเรียนไปทำไม สิ่งที่โรงเรียนควรทำคือการลดวิชาการลง และลองให้เด็กนำวิชาการมาประยุกต์ใช้ให้เขารู้ว่าเรียนไปทำไม เรียนตรีโกณมิติไปทำไม เรียนการคำนวณไปทำไม นั่นก็เพื่อเอามาคำนวณกับการสร้างสิ่งประดิษฐ์”

 

 

อย่าให้เกรดตัดสินทุกอย่างในชีวิต อย่าให้การเปลี่ยนแปลงจบลง

 

ศานนท์เชื่อมั่นว่าความจริงแล้วตอนนี้โรงเรียน กทม. ไม่ได้เรียนน้อยหน้ากว่าโรงเรียนอื่น ถ้าดูในรายละเอียดเราสอนค่อนข้างเข้มข้น แต่อีกสิ่งที่ต้องเปลี่ยนคือเรื่องของการประเมินผล ‘นวัตกรรมที่เข้ามาทั้งหมดส่วนมากจะมาตกม้าตายเมื่อโรงเรียนใช้ระบบประเมินแบบเดิม วัดผลที่การสอบ’ แล้วส่งผลไปที่กระทรวงศึกษาธิการ หรือจัดแข่งกันว่าโรงเรียนไหนได้ลำดับที่เท่าไร

 

รวมถึงการวัดระดับความสามารถของครู ถ้าเรายังต้องวัดแบบเดิมๆ ครูเองก็ต้องมาแข่งกันว่าโรงเรียนไหนผลการสอบดีที่สุด ฉะนั้นต่อให้เรามีนวัตกรรมเข้ามา ครูก็จะไปโฟกัสที่การแข่งขันอยู่ดี สิ่งที่ กทม. กำลังเดินหน้าคือเข้าร่วม พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาฯ ของกระทรวงศึกษาธิการ ทำให้เราสามารถเปลี่ยนตัวชี้วัดของโรงเรียนได้ ในการทดลองนี้จะเหมือนแซนด์บ็อกซ์พิเศษที่ กทม. สามารถลองเปลี่ยนตัวชี้วัดการประเมินได้ 

 

เราสนใจเรื่องตัวชี้วัด เพราะจะเป็นการเปลี่ยนปัญหาจากปลายน้ำเพื่อให้ต้นน้ำเปลี่ยนแปลง ‘การวัดประเมินที่วัดจากสภาพความเป็นจริง สิ่งนี้ต่างหากคือหัวใจ’ 

 

ศานนท์ยกตัวอย่างว่า เด็กที่ทำการทดลองจากการบูรณาการวิชาต่างๆ ถ้าเขาสามารถคำนวณหลักการทางคณิตศาสตร์ได้ ก็ไม่ต้องไปสอบเลขอีก เพราะเข้าใจผ่านสิ่งที่เขาทำไปแล้ว และต้องบอกว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นกับ 58 โรงเรียนในช่วงเดือนพฤษภาคม ปีการศึกษา 2567 

 

“ถ้ามันเป็นไปได้ด้วยดีก็จะเป็นตัวประเมินผลใหม่ให้โรงเรียนสังกัด กทม. เมื่อเราเปลี่ยนการประเมินแล้วก็จะเห็นว่าหลายโรงเรียนได้ชีวิตใหม่ เหมือนปลดห่วงภาระต่างๆ ของคุณครูออกไป” ศานนท์กล่าว

 

 

คืนครูกลับห้องเรียน ลดภาระงานที่ไม่จำเป็น หาทางยกระดับอนาคต

 

อีกเรื่องในระบบการศึกษาที่เราจะหลงลืมไม่ได้เลยคือเรื่องวิทยฐานะของครูที่ต้องมาแข่งกันทำนวัตกรรม ศานนท์กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้ครูต้องออกนอกห้องเรียน ถ้าครูคนไหนสอนเก่งแต่ไม่มีนวัตกรรม ครูคนนั้นจะไม่ได้ขยับไปไหน  กลับกันครูที่ได้เลื่อนขั้นคือครูที่อยู่นอกห้องเรียนไปทำงานวิจัยต่างๆ

 

เพราะฉะนั้นเรื่องเหล่านี้จึงส่งเสริมให้ครูไม่อยากอยู่ในห้องเรียน เพราะถ้าอยู่ในห้องเรียนก็ไม่ได้เลื่อนขั้น โจทย์ กทม. คือจะทำอย่างไรให้ครูสามารถสร้างนวัตกรรมในห้องเรียนและนำมาใช้เพิ่มวิทยฐานะได้ 

 

แผนการปลดล็อกข้อจำกัดและลดภาระครูปีการศึกษา 2567 อย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่

 

  • เพิ่มงบค่าวัสดุอุปกรณ์เด็กในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน จาก 100 บาท/คน/ปี เป็น 600 บาท/คน/ปี
  • เพิ่มค่าอาหารเด็กและนมในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน จาก 20 บาท/คน/วัน เป็น 32 บาท/คน/วัน
  • ปรับเพิ่มค่าตอบแทนอาสาสมัครผู้ดูแลเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน  
  • จ่ายเงินตรงเวลา โดยกำชับให้เขตจ่ายเงินค่าตอบแทนและค่าอาหารให้ตรงเวลา 
  • ลดภาระงานครู โดยการจ้างเหมาธุรการในโรงเรียนและลดงานเอกสาร
  • ปรับเกณฑ์รูปแบบและขั้นตอนการเลื่อนวิทยฐานะครูให้เหมาะสม
  • เติมอัตรากำลังครู โดยเฉพาะครูปฐมวัย ครูแนะแนว และครูการศึกษาพิเศษ ให้เพียงพอต่ออัตรากำลังที่ว่างอยู่

 

ทางผู้บริการ กทม. กำลังทำงานกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร, สำนักการศึกษา กทม. เพราะเราเชื่อว่าการปรับเปลี่ยนในเรื่องพวกนี้เป็นการเปลี่ยนเชิงโครงสร้างที่ทำให้โรงเรียนดีขึ้นได้จริงๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่ได้เปลี่ยนได้ทันที ต้องค่อยๆ ปรับ แต่ในท้ายที่สุดโรงเรียน กทม. จะไม่แพ้โรงเรียนไหนอย่างแน่นอน

 

“ก้าวต่อไป ความหวังต่อไปที่ผมอยากเห็นคือเด็กรู้ตัวเองว่าเขาสนใจเรื่องอะไร การเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่ในห้องเรียนอีกแล้ว เราอยากให้เขารู้จักตัวเอง อยากให้เขาได้ทดลองในโรงเรียนของเรา โรงเรียน กทม. จะทำให้เขารู้ว่าต้องการอะไรในชีวิต โรงเรียน กทม. จะเป็นที่แรกที่เขาจะล้มเหลว และเป็นที่แรกที่เขาจะประสบความสำเร็จ” ศานนท์กล่าว

 

เราหวังว่าถ้าเด็กรู้ว่าตัวเขาอยากเป็นอะไร หน้าที่ของโรงเรียนจะเป็นแค่ใบเบิกทางให้เขารู้จักตัวเอง เพราะสุดท้ายสิ่งที่เขาจะเรียนรู้มันอยู่ภายนอก เมื่อเปิดหนังสือเขาเห็นแล้วว่าสิ่งที่อ่านคืออะไร เขาเดินไปทำกิจกรรมกับเพื่อน ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ โรงเรียนแค่ทำให้เขารู้จักตัวเอง มีคุณครูมาช่วยทำให้ดีขึ้น มีสังคม มีเพื่อน ทำให้เขารู้ว่าคนไม่เหมือนกัน 

 

โรงเรียนคือการสร้างสังคมแล้วพาเขาไปสู่อนาคตที่เขาเลือกเองได้ นี่จะเป็นเป้าหมายที่เราอยากจะทำที่โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X