วันนี้ (14 กรกฎาคม) กฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า การบังคับใช้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณปี 2567 คาดว่าจะล่าช้าไม่เกิน 6 เดือน แม้เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล ได้คะแนนเสียงจากสภาไม่ถึง 375 เสียง หรือไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งในการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย
ขณะที่ พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงได้ประเมินไว้ว่า การบังคับใช้งบปี 2567 ล่าช้า จะส่งผลต่อเศรษฐกิจประมาณ 0.05% ของ GDP เท่านั้น เนื่องจากโดยปกติแล้วช่วงต้นปีงบประมาณ งบลงทุนจะถูกเบิกค่อนข้างช้า
อย่างไรก็ตาม เพื่อรับมือกับความล่าช้าดังกล่าว พรชัยกล่าวว่า กระทรวงการคลังได้เตรียมแผนรับรองเพื่อชดเชย 0.05% ของ GDP ที่หายไปนี้แล้ว ดังนี้
ประการแรก กระทรวงการคลังได้หารือกับสำนักงบประมาณให้เตรียมออกกติกาและหลักเกณฑ์ในการใช้งบประมาณปี 2566 ไปพลางก่อน เพื่อช่วยประคับประคองเศรษฐกิจ ในกรณีที่ พ.ร.บ.งบประมาณฉบับใหม่ไม่สามารถออกใช้ได้ตามกำหนด แต่มีเงื่อนไขว่าจะใช้ได้เฉพาะในหมวดของงบที่เป็นรายจ่ายประจำ และงบโครงการลงทุนที่เป็นโครงการต่อเนื่อง
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังเตรียมเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานราชการที่จะใช้ในปลายปีงบประมาณ ให้มาใช้ในต้นปีงบประมาณแทน (Front Load) เช่น งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจบางรายการ ซึ่งประเมินว่ามีประมาณ 5 หมื่นล้านบาท (จากงบลงทุนรวมของรัฐวิสาหกิจที่มี รวมทั้งปีงบ 2567 ที่ 5 แสนล้านบาท) และจากโครงการต่างๆ ที่ขับเคลื่อนโดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) อีกประมาณ 7 หมื่นล้านบาท
สำหรับกระบวนการหลังคณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ฯ กระทรวงการคลังเปิดเผยว่า จะร่วมมือกับรัฐบาลใหม่เพื่อเริ่มทำ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 และทบทวนแผนการคลังระยะปานกลาง นอกจากนี้ หลังการพูดคุยกับสำนักงบประมาณคาดว่า การทำงบประมาณปี 2567 และ 2568 จะทำควบคู่กันไป เนื่องจากเดือนพฤศจิกายน 2566 ควรต้องเริ่มทำงบประมาณปี 2568 แล้ว