เมื่อไม่นานมานี้ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกออกมาประเมินว่าในอีก 5 ปีข้างหน้านี้ โลกจะร้อนขึ้นและเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม ทำให้ระหว่างช่วงนี้มีโอกาสที่ใน 5 ปีข้างหน้า โลกจะทุบสถิติร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ ท่ามกลางการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากภาคพลังงานพุ่งขึ้นไม่หยุด
ทำให้นานาประเทศต่างพยายามตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอน และทยอยลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลลง หันไปผลิตเชื้อเพลิงจากพลังงานสะอาด โดยเฉพาะการหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ ณ เวลานี้ดีมานด์กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาครองสัดส่วนอุตสาหกรรมไปแล้วมากกว่า 50%
สำนักข่าว The guardian รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศยกให้ปี 2023 ว่าเป็น ‘จุดเริ่มต้นของจุดจบ’ สำหรับยุคแห่งการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเชื่อว่าปี 2023 จะเป็นปีที่ถูกบันทึกว่ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประจำปีแตะระดับสูงสุด
ท่ามกลางความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจที่พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลทั่วโลกมาโดยตลอด จะทยอยเริ่มลดการใช้ลงอย่างรวดเร็วในที่สุด และถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการผลักดันการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
โดยที่ผ่านมาบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศเตือนอยู่เสมอว่า หากผู้นำแต่ละประเทศมีเป้าหมายในการรักษาอุณหภูมิโลก 1.5 องศาเซลเซียส เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ต้องพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากที่สุดก่อนไปถึงปี 2030
Neil Grant ผู้จัดทำรายงานพลังงานฉบับนี้ ระบุว่า ขณะนี้เรากำลังเข้าใกล้จุดเปลี่ยนของพลังงานหมุนเวียนแซงหน้าการเติบโตของอุปสงค์ฟอสซิล ที่เริ่มเห็นการเข้ามาแทนที่ของถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบของเศรษฐกิจที่พึ่งพาฟอสซิล
ขณะที่ Ember หน่วยงานวิจัยด้านพลังงาน ระบุว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการผลิตไฟฟ้าได้แตะระดับสูงสุดในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ไปแล้ว และอาจเริ่มลดลงตั้งแต่ปีหน้า
โดยที่ผ่านมาจะพบว่าการผลิตไฟฟ้าของ 78 ประเทศซึ่งคิดเป็น 92% ของความต้องการไฟฟ้าทั่วโลกนั้น เป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้น 16% และจากพลังงานลมเพิ่มขึ้น 10%
นอกจากนี้ การใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั่วโลกคาดว่าจะเริ่มลดความต้องการเชื้อเพลิงรถยนต์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50% ของความต้องการน้ำมันในประเทศพัฒนาแล้ว
Fatih Birol ผู้อำนวยการสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ย้ำอีกว่า การเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาด ยิ่งทำเร็วเท่าไรก็ยิ่งดีสำหรับเราทุกคน
“It’s not a question of ‘if’, it’s just a matter of ‘how soon’ and the sooner the better for all of us”
อย่างไรก็ตาม บางฝ่ายมองว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนของทุกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลังงานจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการน้ำมันทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นจนถึงปี 2050 โดยบรรดาประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) ยังคาดการณ์ด้วยว่าความต้องการน้ำมันของทั่วโลกจะยังคงเติบโตต่อไปจนถึงปี 2588 แม้ว่าจะมีอัตราที่แผ่วลงหากเทียบกับในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็ตาม
อ้างอิง: