×

ฟุตบอลโลก 2022 แฟนบอลไทยจะได้รับชมการถ่ายทอดสดแบบใด?

01.11.2022
  • LOADING...
ฟุตบอลโลก 2022

อีกไม่ถึง 20 วัน ศึกฟุตบอลโลก 2022 จะเริ่มต้นแข่งขันอย่างเป็นทางการ แต่สำหรับแฟนกีฬาในประเทศไทยตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องวิธีการรับชมการถ่ายทอดสดการแข่งขันมหกรรมกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลก 

 

THE STANDARD รวมความเคลื่อนไหวล่าสุดของดีลการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 ที่ดูเหมือนว่าไทยอาจเป็นชาติสุดท้ายในอาเซียนที่ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกครั้งนี้ 

 

กกท. ยืนยัน ได้ข้อสรุปการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ภายในสัปดาห์นี้ 

วานนี้ (31 ตุลาคม) สยามกีฬารายงานว่า ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. เปิดเผยว่า กำลังทำงานอย่างหนักและประสานงานทุกด้านอย่างเต็มที่ตามแนวทางของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานบอร์ด กกท. ที่ต้องการให้ชาวไทยได้ชมฟุตบอลโลกครั้งนี้แบบฟรีๆ โดยได้เจรจาพูดคุยกับทางเอเจนต์ถ่ายทอดสด ตัวแทนสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) และได้ส่งข้อมูลให้กับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งคาดว่าภายในสัปดาห์นี้ดีลถ่ายทอดสดครั้งนี้จะมีความเรียบร้อย 

 

โดยวันนี้ (1 พฤศจิกายน) THE STANDARD ได้ติดต่อไปยัง กกท. และได้รับคำตอบว่า การซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 คาดว่าจะได้ความชัดเจนใน 2-3 วันนี้ โดยค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดจะมีมูลค่าใกล้เคียงกับชาติอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน ส่วนรูปแบบการรับชมนั้นต้องรอความชัดเจนจากการพูดคุยกับทุกฝ่ายอีกครั้งหนึ่ง 

 

แฟนบอลในอาเซียนชมฟุตบอลโลกกันในรูปแบบใด? 

สำหรับการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 จากรายงานของสื่อต่างประเทศ 

 

  • สิงคโปร์ StarHub, Singtel และ MediaCorp ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกมาที่ราคา 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ​ 948 ล้านบาท และจะถ่ายทอดสดผ่านทางสตรีมมิงราคา 98 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 2,636 บาทต่อ 64 แมตช์ แต่จะมีการถ่ายทอดสดแบบ Free-to-Air ใน 9 แมตช์สำคัญทางช่อง MediaCorp 
  • ฟิลิปปินส์จะถ่ายทอดสดผ่านทาง TAP สามารถรับชมทุกแมตช์ด้วยระบบ Pay-Per-View (PPV) ที่ 1,999 เปโซ หรือประมาณ 1,306 บาท
  • มาเลเซียซื้อลิขสิทธิ์โดยสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลด้วยเงินประมาณ 32.5 ล้านริงกิต หรือประมาณ 261 ล้านบาท และจะถ่ายทอดสดฟรีทางช่อง RTM จำนวน 41 แมตช์
  • เวียดนามซื้อลิขสิทธิ์โดยสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลเช่นเดียวกันผ่านทาง VTV ด้วยเงินจำนวน 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ​ 532 ล้านบาท ถ่ายทอดสดครบทั้ง 64 แมตช์
  • อินโดนีเซียจะถ่ายทอดสดผ่านทางช่อง Emtek ซึ่งปิดดีลถ่ายทอดสดตามรายงานไปตั้งแต่ปี 2011 ที่ครอบคลุมการถ่ายทอดสดฟุตบอลรายการสำคัญของฟีฟ่าตั้งแต่ปี 2015-2022 ซึ่งรวมถึงฟุตบอลโลก 2018 และ 2022 ด้วย 
  • บรูไนจะถ่ายทอดสดผ่านทางช่อง Kristal-Astro
  • กัมพูชาผ่านทางช่อง TVK
  • ติมอร์ตะวันออกผ่านทางช่อง ETO-Telco

 

โดยตอนนี้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน เหลือเพียงไทย, สปป.ลาว และเมียนมา ที่ยังไม่ได้ลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 

 

กฎ Must Have เป็นอุปสรรคหรือตัวช่วยให้คนไทยได้ดูฟุตบอลโลก? 

กฎ Must Have เป็นกฎที่ออกโดย กสทช. โดยมี 7 มหกรรมกีฬาที่คนไทยต้องได้รับชมฟรีตั้งแต่ซีเกมส์, อาเซียนพาราเกมส์, เอเชียนเกมส์, เอเชียนพาราเกมส์, โอลิมปิกเกมส์, พาราลิมปิกเกมส์ และฟุตบอลโลก โดยกฎนี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2013 

 

ซึ่งกฎ Must Have อาจเป็นสิ่งที่เหมาะสมสำหรับ 6 มหกรรมกีฬาที่มีนักกีฬาทีมชาติไทยลงแข่งขัน แต่สำหรับฟุตบอลโลก โมเดลเดียวกันนี้อาจไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดีเหมือนกัน 

 

โดยก่อนหน้านั้นเอกชนสามารถซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกมา ซึ่งตัวอย่างที่หลายสื่อกล่าวถึงคือ ทศภาค หรือบริษัท ทศภาค จำกัด ที่ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2002 หรือประมาณ 20 ปีก่อน ด้วยเม็ดเงินเกือบ 300 ล้านบาท และสามารถจัดกิจกรรมทางการตลาด สร้างรายได้อย่างเต็มที่ แลกกับการถ่ายทอดสดผ่านฟรีทีวีให้กับคนไทยรับชมกันฟรีๆ 

 

จนกระทั่งปี 2014 กฎ Must Have เกิดปัญหาขึ้นจากการที่ RS ได้ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2014 ไว้แล้วเมื่อปี 2005 ก่อนประกาศของกฎ Must Have เมื่อปี 2013 และมีแผนจัดขายกล่องรับชมการแข่งขันสำหรับฟุตบอลโลก 2014 ที่ประเทศบราซิล 

 

ส่งผลให้เกิดการฟ้องร้องศาลปกครอง จนได้ข้อสรุปคือ ศาลปกครองตัดสินให้ RS เป็นฝ่ายชนะ สามารถถ่ายทอดสด 64 นัดผ่านกล่องรับสัญญาณที่ต้องเสียค่าเข้าชมได้ เนื่องจากได้ซื้อลิขสิทธิ์ก่อนการประกาศใช้กฎ 

 

แต่สุดท้ายก็เกิดการเจรจาอีกครั้งระหว่าง กสทช. กับ RS และมีมติจากบอร์ดบริหารให้จ่ายเงินจำนวน 427 ล้านบาทให้กับ RS เป็นค่าเสียโอกาสในการขายกล่องและการทำธุรกิจ เพื่อนำเอาการแข่งขันทั้งหมด 64 นัดมาถ่ายทอดสดผ่านทางช่องฟรีทีวี 

 

มาถึงฟุตบอลโลก 2018 แฟนบอลไทยต้องรอจนถึงเดือนสุดท้ายก่อนที่รัฐบาลไทยจะจับมือกับ 9 องค์กรเอกชน ลงเงินจำนวน 1,400 ล้านบาทซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกที่รัสเซียมา โดยมี TrueVisions เป็นผู้เจรจาซื้อลิขสิทธิ์ จนแฟนบอลไทยได้รับชมการแข่งขันแบบฟรีๆ อีกครั้ง 

 

มาถึงครั้งนี้หลายฝ่ายก็ยังคงตั้งคำถามว่า การมีหรือไม่มีกฎนี้จะช่วยให้การเข้าซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกของไทยสะดวกและรวดเร็วขึ้นหรือไม่ 

 

เพราะการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดภายใต้กฎนี้ เอกชนไม่สามารถสร้างรายได้จากค่าสมัครสมาชิกรับชมการแข่งขันได้ ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในรายได้หลักของผู้ให้บริการถ่ายทอดสดการแข่งขัน บวกกับค่าลิขสิทธิ์ที่สูงขึ้นภายใต้สภาพเศรษฐกิจหลังวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด อาจเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่านักสำหรับเอกชน 

 

เช่นเดียวกับการนำเอาเงินลงทุนจากภาครัฐที่มาจากภาษีประชาชน แน่นอนสำหรับคอบอลอาจเป็นสิ่งที่คุ้มค่า แต่สำหรับคนอื่นที่ไม่ได้รับชมกีฬาฟุตบอลก็มีสิทธิ์ตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าแก่การลงทุนเช่นเดียวกัน 

 

ทำให้ตอนนี้ดูเหมือนว่าทางออกเดียวที่มีอาจเป็นทางออกที่คล้ายกับฟุตบอลโลกครั้งที่แล้ว ที่เป็นการร่วมมือระหว่างเอกชนและภาครัฐ​ นำฟุตบอลโลกมาถ่ายทอดสดผ่านฟรีทีวีให้รับชม 

 

แต่ทางออกของการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งต่อไปในปี 2026 อีก 4 ปีข้างหน้า เราอาจจะต้องเริ่มคิดกันตั้งแต่วันนี้แล้ว 

 

เพราะการตัดสินใจช้าในการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกก็เท่ากับช่วงเวลาที่น้อยลงในการโปรโมตกิจกรรมทางการตลาด เพื่อหารายได้มาตอบโจทย์การลงทุน รวมถึงการขาดความต่อเนื่องในการพัฒนารูปแบบการถ่ายทอดสดและแผนการตลาดสำหรับมหกรรมกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่จัดขึ้น 4 ปีครั้ง 

 

สำหรับฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ จะแข่งขันวันแรกในวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ โดยเจ้าภาพกาตาร์จะลงสนามพบกับเอกวาดอร์ 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X