ปี 2021 ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมกีฬาทั่วโลก หากนับแค่อีเวนต์ใหญ่ที่จะเกิดขึ้นมีทั้งโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และฟุตบอลยูโร ที่ทั้งสองรายการถูกเลื่อนมาเป็นเวลา 1 ปี เนื่องจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19
นอกจากนี้อุตสาหกรรมกีฬาจะก้าวเข้าสู่โลกใหม่ที่ไม่เคยมีใครสัมผัสมาก่อนในช่วงเวลาที่สถานการณ์การแพร่ระบาดในหลายๆ ประเทศยังไม่จบลง แม้ว่าหลายพื้นที่จะเริ่มต้นฉีดวัคซีนให้กับคนบางกลุ่มแล้ว
สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนส่งผลให้กีฬาไม่สามารถบริหารจัดการรายได้เหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากการปิดเมือง ล็อกดาวน์ หรือยกระดับของมาตรการรับมือวิกฤตการแพร่ระบาดต่างส่งผลกระทบโดยตรง ตั้งแต่รูปแบบการจัดจนถึงการอนุญาตให้แฟนกีฬาเข้าชมที่สนามแข่งขัน
ปี 2021 จึงนับเป็นช่วงเวลาสำคัญที่กีฬาจะก้าวเข้าสู่การปฏิรูปครั้งใหญ่ โดยเฉพาะโมเดลการหารายได้ที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ใช้ Data ผลักดันโมเดลการหารายได้ใหม่ให้กับอุตสาหกรรมกีฬา
เมเจอร์ลีกซอกเกอร์ หรือ MLS ฟุตบอลลีกสูงสุดในสหรัฐฯ ยืนยันการสูญเสียรายได้ในปี 2020 กว่า 1,000 ล้านดอลลาห์สหรัฐ เช่นเดียวกับบาสเกตบอล NBA ที่สูญเสียรายได้จากการขายตั๋วเข้าชมการแข่งขันไปกว่า 500 ล้านดอลลาห์สหรัฐ จากการที่แฟนกีฬาไม่สามารถเข้าชมการแข่งขันที่สนามได้ รวมถึงการแข่งขันต้องลงทุนเพื่อจัดในรูปแบบที่มีความรัดกุมปลอดภัยสำหรับทุกฝ่าย
ผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งผลให้อุตสาหกรรมกีฬาต่างๆ ทั่วโลกเริ่มต้นมองหาโมเดลการจัดเก็บรายได้แหล่งใหม่เพื่อมาทดแทนรายได้จากค่าเข้าชมการแข่งขันในสถานการณ์ที่ปี 2021 ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าแฟนกีฬาจะสามารถเข้าชมการแข่งขันได้เต็มรูปแบบเมื่อใด รวมถึงค่าใช้จ่ายในการสร้างประสบการณ์การชมและการแข่งขันอย่างปลอดภัยย่อมมีมูลค่าที่สูงขึ้นกว่าสถานการณ์ปกติ
โดยฝั่งกีฬาสหรัฐฯ Deloitte บริษัทการบัญชีชื่อดังระดับโลก มองว่ามี 3 องค์ประกอบสำคัญที่จะเข้ามามีส่วนสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมกีฬาในสหรัฐฯ ประกอบไปด้วย วิวัฒนาการของการใช้ Data ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารกับแฟนๆ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ การใช้ Data สำหรับนักกีฬาและทีม รวมถึงการพนันกีฬาอย่างถูกกฎหมาย
การใช้ Data ผลักดันการสื่อสารกับแฟนกีฬาจะสามารถช่วยการทำการตลาดของทีมเพื่อให้สามารถเข้าใจความต้องการของแฟนๆ มากขึ้น โดยสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ รวมถึงปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI
ส่วนหนึ่งของรายได้อาจเกิดจากการที่ Facebook เริ่มต้นใช้โมเดลการจัดเก็บรายได้ใหม่สำหรับการเข้าถึงคอนเทนต์บนแพลตฟอร์ม ที่จะมีทั้งระบบ Subscription สมัครแบบรายเดือน หรือสมัครเข้าชมเป็นรายครั้ง หรือตามอีเวนต์ รวมถึงระบบ Virtual Reality ที่ก้าวเข้าใกล้ความเป็นจริงในการใช้งานของผู้คนทั่วไปมากขึ้น
โดย Facebook ได้เปิดเผยเครื่องมือใหม่ในการทำคอนเทนต์ออนไลน์สำหรับกีฬาที่สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ผลิตรายการภายในงาน Sports Capital Symposium ที่ประกอบไปด้วย
1. Paid Online Events ระบบที่เปิดให้มีการเก็บค่าเข้าชมรายการสดแบบจ่ายหนึ่งครั้งต่อหนึ่งรายการถ่ายทอดสด ซึ่งช่องทางนี้เกิดขึ้นจากการที่อีเวนต์ต่างๆ ต้องปรับตัวมาจัดแบบออนไลน์มากขึ้น
2. Fan Subscriptions แฟนๆ สามารถสมัครรับชมรายการต่างๆ แบบจ่ายรายเดือน ซึ่งจะแตกต่างจาก Paid Online Events คือจะเป็นการจ่ายเหมาแบบรายเดือน โดยไม่จำกัดว่าคอนเทนต์ที่ได้รับจะเป็นแบบไลฟ์เพียงเท่านั้น แต่จะเป็นภาพนิ่ง วิดีโอ หรือบทความก็ได้ โดยตัวอย่างก่อนหน้านี้มีสโมสรรักบี้ในอังกฤษที่เปิดรับสมัครเป็นรายเดือน คิดราคา 3.49 ปอนด์ต่อเดือน และขายสมาชิกได้ทั้งหมด 800 คน เพื่อให้แฟนๆ เข้าถึงคอนเทนต์ทั้งวิดีโอ ไฮไลต์ เข้าชมเกมเก่าๆ รีรันแมตช์การแข่งขัน และระหว่างฤดูกาลยังสามารถเข้าชมไฮไลต์ที่ยาวขึ้นได้
3. VR Oculus Venues ช่องทางการเข้าถึงในการรับชมและการสื่อสารระหว่างชมคอนเทนต์ที่ทำให้แฟนๆ เข้าใกล้กับความเป็นจริงในการรับชมกีฬามากที่สุด ภายใต้วิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้แฟนๆ ยังไม่สามารถเข้าชมเกมที่สนามได้
4. Watch Together On Messenger สร้างประสบการณ์การรับชมพร้อมกันผ่าน Messenger ที่ทำให้หลายคนสามารถเข้าถึงคอนเทนต์ได้พร้อมๆ กัน
ซึ่งในปี 2021 หากแฟนกีฬาสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็ว 5G ได้อย่างทั่วถึง ประสบการณ์การรับชมจากอุปกรณ์และสถานที่ต่างๆ นอกสนามกีฬา ทั้งสมาร์ทโฟน ระบบสตรีมมิง และ VR/AR จะถูกยกระดับขึ้นจนกลายเป็นสิ่งที่องค์กรกีฬาชั้นนำทั่วโลกเลือกใช้กันอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสในการสร้างช่องทางการขายสินค้าของทีมต่างๆ ผ่านระบบการรับชมออนไลน์ด้วยการออกแบบประสบการณ์การใช้งาน เช่น การชมกีฬาบนแพลตฟอร์มมือถือที่เป็นมิตรกับแฟนกีฬามากยิ่งขึ้น
องค์กรกีฬายังสามารถนำเอาข้อมูลต่างๆ ที่ได้จากการฝึกซ้อมและการแข่งขันมาพัฒนารูปแบบการเล่น เหมือนกับที่เราเห็นในการแข่งขันกีฬาอาชีพหลายประเภท
อัลเบิร์ต มันเดต ตัวแทนจาก Barca Innovation Hub แห่งสโมสรบาร์เซโลนา ได้กล่าวภายในงาน Sports Capital Symposium ว่า “ที่ Barca Innovation Hub เรากำลังพัฒนา Internal ID งานวิจัยเกี่ยวกับ Genetics และที่สำคัญอีกอย่างคือระบบ AI ที่จะมาออกแบบแท็กติกสำหรับอนาคต ซึ่งเป็นดีเอ็นเอของสโมสรบาร์เซโลนาเอง
“แน่นอนว่าเราต้องใช้เวลานาน แต่หวังว่าประมาณ 5-10 ปี ระบบที่เราพัฒนาอยู่จะสามารถใช้งานได้จริง เป็นวิสัยทัศน์ในอนาคตของเราที่เชื่อว่าทำได้ เพราะว่านี่เป็นโอกาสที่จะนำองค์ความรู้ที่มีในสโมสรมาพัฒนา
“การทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพในมุมนี้เราจะไม่เริ่มกับทีมชุดใหญ่โดยตรง แต่จะเริ่มกับอคาเดมีก่อน และเมื่อเราเริ่มต้นทดสอบระบบจนพร้อมก็จะก้าวขึ้นไปสู่ทีม B ก่อนจะนำไปใช้กับทีมชุดใหญ่ ก่อนหน้านี้เราใช้เวลา 5 ปีทดสอบระบบ GPS จนสามารถนำไปใช้กับทีมชุดใหญ่ได้”
โดยมีการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรม Sports Analytics จะมีมูลค่าสูงถึง 4,000 ล้านดอลลาห์สหรัฐภายในปี 2023 ในช่วงที่สายพานอุตสาหกรรมกีฬาตั้งแต่ทีม โค้ช ผู้ถ่ายทอดสด และผู้ถือลิขสิทธิ์ เริ่มเก็บข้อมูล Data มาช่วยยกระดับผลงานของทีม และเชื่อมโยงกับแฟนกีฬาอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
Data หรือสถิติจากการแข่งขัน ยังจะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเติบโตของการพนันกีฬาอย่างถูกกฎหมายที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในแต่ละรัฐของสหรัฐฯ
เนื่องจากข้อมูลต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการแข่งขันสามารถจัดทำเป็นแพ็กเกจและขายให้กับบริษัทรับพนันอย่างถูกกฎหมาย เพื่อเพิ่มประสบการณ์การพนันกีฬาได้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
รวมถึงกฎหมายใหม่ของการพนันกีฬาที่ระบุไว้ว่าผู้ให้บริการจำเป็นต้องซื้อข้อมูลจากลีกอย่างเป็นทางการเท่านั้น เพื่อให้ลีกสามารถสร้างรายได้เพิ่มจากข้อมูลที่จัดเก็บอยู่แล้ว
นอกจากนี้ในงานเสวนาวิชาการ Sports Capital Symposium ยังได้กล่าวถึงโอกาสการสร้างรายได้จากการพนันกีฬาอย่างถูกกฎหมาย อาจอยู่ในรูปแบบของความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการถ่ายทอดสดกับผู้ให้บริการการพนันที่จับมือกันออกแบบแอปพลิเคชันการรับชมกีฬาที่มี Interface ให้แฟนๆ สามารถพนันระหว่างการรับชมกีฬาแบบ One Access Point อีกด้วย
ช่องทางการสร้างรายได้ในรูปแบบอื่นๆ ยังมีการจับมือกับผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยยกระดับประสบการณ์การรับชมกีฬา ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนเมษายน NBA ได้เซ็นสัญญาหลายปีกับผู้ให้บริการด้าน AI และ Machine Learning ในการสร้างแพลตฟอร์มที่เข้าถึงแฟนกีฬาในรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับแฟนกีฬาในแต่ละพื้นที่ของโลก
ยกตัวอย่างเช่น การถ่ายทอดสดกีฬาโดยมีการพากย์เป็นภาษาท้องถิ่น การเปิดให้มีการสื่อสารกับแฟนระหว่างเกม ข้อมูลสถิติการแข่งขันแบบเรียลไทม์ รวมถึงการใช้ฟุตเทจในคลังภาพมาสร้างเป็นประสบการณ์การรับชมแบบ Augmented Reality อีกด้วย
แม้ว่า Data Analytics จะสามารถสร้างโอกาสและช่องทางการสร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรมกีฬา แต่ปัจจัยสำคัญของการใช้งาน Data ให้มีประสิทธิภาพคือการลงทุนสร้างระบบการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายมหาศาล
รวมถึงวิธีการจับเก็บข้อมูลต่างๆ อาจเป็นสิ่งที่ทำความเข้าใจกับผู้ลงทุนได้ยาก หากเจ้าของทุนมองไม่เห็นรายได้และโอกาสที่จะตามมาจากการลงทุนสร้างระบบ
รวมถึงปัญหาสำคัญที่หลายฝ่ายมักจะพบเจอคือ Data ที่จัดเก็บมาในส่วนต่างๆ นี้จะเป็นของใคร ลีก? สหภาพนักกีฬา? ทีม? ซึ่งฝ่ายจัดเก็บข้อมูลทั้งหมดยังต้องทำตามกฎระเบียบการป้องกันสิทธิส่วนบุคคล เช่น กฎข้อมูลของ GDPR ในยุโรป หรือ California Consumer Privacy Act
สิ่งสำคัญที่สุดที่บริษัทหรืออุตสาหกรรมกีฬาต้องเริ่มต้นทำในวันนี้คือการจัดระเบียบความสำคัญของการลงทุนในโลกออนไลน์และการจัดเก็บข้อมูลของแฟนกีฬา รวมถึงการดึงเอาผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาเปิดมุมมองที่แตกต่างให้กับการทำงานที่ปฏิวัติรูปแบบเดิมของการทำธุรกิจกีฬา
สุดท้ายคือความกล้าที่จะทดลองทำสิ่งใหม่ๆ จากสภาพแวดล้อมที่ท้าทายในวันนี้
บทบาทและหน้าที่ของกีฬามีต่อสังคมถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ
ลูอิส แฮมิลตัน, เลอบรอน เจมส์, แอนโทนี โจชัว, นาโอมิ โอซากะ และมาร์คัส แรชฟอร์ด นอกจากจะเป็นนักกีฬาอาชีพที่ชั้นนำของแต่ละวงการ แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขามีเหมือนกันคือการใช้แพลตฟอร์มของตัวเองเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นต่อสังคมหรือต่ออุตสาหกรรมของพวกเขา
เมื่อนักกีฬาเหล่านี้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของความเปลี่ยนแปลง ลีก สโมสร และวงการกีฬาต่างเริ่มเข้าใจถึงพลังบนแพลตฟอร์มที่พวกเขายืนอยู่ ที่จะเรียกร้อง สร้างการรับรู้ให้กับปัญหาต่างๆ ในสังคม ซึ่งจะกลายเป็นสิ่งที่แฟนกีฬาคาดหวังจากตัวนักกีฬาและองค์กรกีฬามากขึ้นในอนาคต
ด้วยแก่นสารของกีฬาแล้ว กีฬาคือพื้นที่เปิดสำหรับผู้คนที่หลากหลายที่มาร่วมกันแข่งขันภายในกฎกติกาที่มอบโอกาสให้ทุกคนสามารถเป็นผู้ชนะได้อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของความเท่าเทียมของการเข้าถึงโอกาสของทุกๆ คน ไม่ว่าจะมีสีผิว ความเชื่อ เพศ หรือภูมิหลังมาจากไหน
ในปี 2021 นี้ทาง Deloitte เชื่อว่าจะเป็นปีที่องค์กรกีฬาทั้งลีก สโมสร และนักกีฬาจะต้องทำความเข้าใจและมีเฟรมเวิร์กในการสร้างคุณค่าใหม่ให้กับองค์กร โดยใช้เฟรมเวิร์กที่มีชื่อว่า LEAD ดังนี้
Listen: ฟังและทำความเข้าใจทุกรายละเอียดของความท้าทายในแต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนจะตัดสินใจลงมือทำอะไรก็ตาม
Engage:ใช้การสนทนาและสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ไปสู่หนทางการตัดสินใจทำที่ถูกต้อง
Acknowledge: รณรงค์ให้เกิดการถกเถียงเพื่อทำความเข้าใจอย่างจริงจังเกี่ยวกับ เชื้อชาติ ภูมิหลัง และบางเรื่องที่อาจเป็นความไม่เท่าเทียมทางเพศในที่ทำงาน
Do: การลงมือทำเป็นสิ่งสำคัญกว่าการบอกกล่าวเฉยๆ ว่าคุณจะทำอะไร และลงมือทำมันอย่างจริงจัง
นอกจากนี้ความหลากหลายในวงการกีฬายังคงเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2020 ที่ผ่านมา บาสเกตบอลหญิง WNBA มียอดผู้ชมสูงขึ้นถึง 68% ในช่วงฤดูกาลปกติ
ในปี 2021 กีฬาอาชีพหญิงจะสามารถเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการร่วมมือกับแบรนด์ที่เหมาะสม สร้างนวัตกรรมคอนเทนต์แปลกใหม่ และจับมือกับศิลปินนอกวงการกีฬา และทำการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียไปสู่แฟนๆ
การสร้างความสัมพันธ์รูปแบบใหม่กับแฟนกีฬา
ปลายปี 2021 เรายังคงได้เห็นความเปลี่ยนแปลงสำหรับการอนุญาตให้แฟนกีฬาเข้าชมที่สนามอย่างต่อเนื่องจากความไม่แน่นอนของวิกฤตการแพร่ระบาดที่ยังคงเกิดขึ้นเป็นครั้งที่สอง
แต่ความท้าทายของลีกกีฬาอาชีพจะอยู่ที่การดึงดูดแฟนกีฬากลับเข้าสนามอีกครั้ง โดยงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเซตันฮอลล์ในสหรัฐฯ เผยว่า 61% ของคนที่ระบุว่าตัวเองว่าเป็นแฟนกีฬาจะไม่กลับเข้าชมการแข่งขันจนกว่าวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 จะแจกจ่ายอย่างทั่วถึง
ซึ่ง โจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าประชาชนสหรัฐฯ จะได้รับวัคซีนครบทุกคนภายในสิ้นปี 2021
ทำให้องค์กรกีฬาต่างๆ จำเป็นต้องหาวิธีการสื่อสารและสร้างเอ็นเกจกับแฟนๆ ผ่านช่องทางดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง โดยมีหัวใจสำคัญที่สุดอยู่ที่ความไว้วางใจระหว่างกัน นั่นคือแฟนกีฬาจะสามารถไว้วางใจการบริหารจัดการในสนามกีฬาในแง่ของความปลอดภัยได้มากน้อยขนาดไหน
แฟนกีฬาสามารถไว้ใจได้ว่าการควักเงินของพวกเขาต่อการแข่งขันแต่ละแมตช์คุ้มค่าหรือไม่
และแฟนกีฬาสามารถไว้วางใจข้อมูลส่วนบุคคลผ่านช่องทางต่างๆ ว่าจะได้รับการปกป้องจากทางลีกหรือสโมสรกีฬามากน้อยขนาดไหน
หลังจากที่สร้างความไว้วางใจระหว่างกันได้แล้ว สิ่งสำคัญต่อไปคือการสื่อสารกันอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยจากสถิติของ Deloitte เผยว่า 95% ของแฟนกีฬายังคงสื่อสารกับทีมโปรดหรือลีกที่ชื่นชอบแม้ว่าจะอยู่ในช่วงปิดฤดูกาล รวมถึงเชื่อว่าการสื่อสารกับแฟนๆ ตลอดทั้งปีจะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการซื้อบัตรเข้าชมการแข่งขันในอนาคต
เชื้อเพลิง Biofuel ในศึก F1 และกีฬาโอลิมปิกที่ยั่งยืน อนาคตของโลกกีฬาที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ
สหรัฐฯ จีน และสหภาพยุโรปต่างมอบคำสัญญาที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจนไปถึงศูนย์ หรือไปถึงจุดที่เรียกว่าการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในการต่อกรกับปัญหาโลกร้อน (สหรัฐฯ Carbon Neutral ปี 2050, จีน Carbon Neutral ปี 2060, ยุโรป Net Zero ปี 2050)
ซึ่งจากการที่ 3 มหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกต่างมองไปในทิศทางเดียวกัน ฉายภาพให้เห็นว่าทุกอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับตัวไปสู่ทิศทางการลดคาร์บอนและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธรรมชาติจากทำกิจกรรรมต่างๆ ให้มากที่สุด
ปี 2021 ถือเป็นปีที่หลายฝ่ายจับตามองความเปลี่ยนครั้งสำคัญในด้านของการจัดการแข่งขันกีฬาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การแข่งขันรถยนต์ความเร็วสูงอย่างศึกฟอร์มูลาวัน จนถึงมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว ญี่ปุ่นได้สัญญาไว้ว่าจะเป็นมหกรรมโอลิมปิกที่จัดเพื่อความยั่งยืนมากที่สุด
เริ่มจากฝั่งของฟอร์มูลาวัน ทางสหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ หรือ FIA ได้คิดค้นและส่งมอบเชื้อเพลิง Biofuel ให้กับผู้ผลิตเครื่องยนต์ของแต่ละทีม ตั้งแต่เฟอร์รารี เมอร์ซีดีส และเรโนลด์ เพื่อให้ผู้ผลิตเครื่องยนต์ได้ทดสอบประสิทธิภาพของเชื้อเพลิงที่ผลิตจากขยะชีวภาพ และให้ผู้ผลิตนำไปต่อยอดพัฒนาเชื้อเพลิงที่เป็น Sustainable Fuel สำหรับรถแข่งในศึกฟอร์มูลาวันต่อไป
โดยเป้าหมายของ FIA คือให้การแข่งขันฟอร์มูลาวันเป็นการแข่งขันที่สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ถึงจุดที่เป็น Carbon Neutral ในปี 2021 และสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เหลือศูนย์ได้ภายในปี 2030
ส่วนของมหกรรมกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ ทางเจ้าภาพโตเกียวได้ตั้งเป้าหมายไว้ตั้งแต่เริ่มว่าจะเป็นโอลิมปิกที่ยั่งยืนที่สุดที่เคยมีมา ภายใต้คอนเซปต์ ‘Be better, together – for the planet and the people’
ตั้งแต่การนำเอาชนะขยะอิเล็กทรอนิกส์กว่า 70,000 ตันมาผลิตเป็นเหรียญรางวัล 5,000 เหรียญ รวมถึงการนำเอาวัสดุรีไซเคิลต่างๆ มาเป็นองค์ประกอบสำคัญของการแข่งขันเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและลดค่าใช้จ่ายในการจัดการแข่งขัน
ซึ่งหากการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้สามารถทำได้ตามเป้าหมายของเจ้าภาพ โอลิมปิกที่กรุงโตเกียวอาจเป็นต้นแบบของการจัดการแข่งขันอย่างยั่งยืนต่อไปสู่มหกรรมกีฬาระดับนานาชาติในอนาคต
ขณะที่สหรัฐฯ หลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีเสร็จสิ้น ทาง Yahoo Sports ได้เผยนโยบายของ โจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีคนต่อไปของสหรัฐฯ ว่าเขามีแผนสำหรับอุตสาหกรรมกีฬาที่มีชื่อว่า Green Sports
โดยหัวข้อนี้เป็นจุดสนใจของผู้ที่มีแผนก่อสร้างสนามหรือสถานที่สำหรับการแข่งขันกีฬา การขนส่ง รวมถึงที่พักของนักกีฬา ซึ่งแม้ว่าไบเดนไม่เห็นด้วยกับแผน Green New Deal ที่เป็นข้อเสนอของฝ่ายหัวก้าวหน้าหรือ Progressives แต่เขาได้สัญญาว่าประเทศจะเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงที่เคลื่อนตัวออกจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างน้ำมันและก๊าซธรรมชาติภายใต้การบริหารของเขา และในทศวรรษต่อจากนี้ประเทศจะก้าวเข้าสู่ยุคไร้มลภาวะ
โดยรัฐบาลของไบเดนจะผลักดันให้เกิดนโยบาย Green Sports ที่มีข้อบังคับเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและผลกระทบทางธรรมชาติที่จะถูกบังคับใช้ทั้งในภาครัฐ และผู้นำท้องถิ่น พร้อมกับแก้ไขมาตรการของภาครัฐส่วนกลางที่จะช่วยในการออกแบบและรักษาสนามกีฬาทั้งอาชีพและชุมชน
ปี 2021 เป็นปีที่สถานการณ์ความไม่แน่นอนจะยังคงดำเนินต่อไป ส่งผลให้อุตสาหกรรมกีฬาจำเป็นต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วตลอดเวลา
ความกังวลที่หลายฝ่ายมีว่าการแจกจ่ายวัคซีนอาจทำได้ไม่ทันกำหนดการแข่งขันของมหกรรมกีฬาทั้งฟุตบอลยูโรและโอลิมปิกยังคงมีอย่างต่อเนื่อง
แต่เวลานี้สิ่งที่หลายองค์กรในอุตสาหกรรมกีฬาเริ่มต้นทำคือการค้นหาหนทางใหม่ๆ เพื่อความอยู่รอด ทั้งการสร้างโมเดลการหารายได้ใหม่ การสื่อสารกับแฟนกีฬาที่ไม่จำเป็นต้องทำเพียงแค่การพบเจอกันในสนามกีฬา รวมถึงการพัฒนาคุณค่าของกีฬาอย่างต่อเนื่องด้วยการส่งเสริมให้สนามกีฬาเป็นพื้นที่เปิดกว้างสำหรับผู้ที่คนแตกต่างกัน ทั้งมุมมอง ความเชื่อ ทัศนคติ เพศ เชื้อชาติ และภูมิหลังที่แตกต่างกัน
รวมถึงกีฬาจะก้าวเข้าสู่การพัฒนาเพื่อความยั่งยืนมากขึ้นจากแผนการต่างๆ ที่ออกมาจากองค์กรกีฬาที่แสดงให้เห็นถึงการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนมากขึ้นเรื่อยๆ
ปี 2021 จึงเป็นหมุดหมายสำคัญของความเปลี่ยนแปลงที่จะบ่งบอกถึงเส้นทาง และ คุณค่าที่วงการกีฬาเลือกที่จะส่งเสริมต่อไปสู่อนาคตอีกหลายปีต่อจากนี้
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- https://thestandard.co/sports-capital-symposium/
- https://www.reuters.com/article/climate-change-china-idUSKCN26E33G
- https://www.autosport.com/f1/news/154280/f1-develops-100%25-sustainable-fuel
- https://www.standard.co.uk/syndication/fc-barcelona-use-artificial-intelligence-technology-improve-coaching-bring-fans-closer-training-youth-matches-a4545951.html
- https://www2.deloitte.com/us/en/pages/technology-media-and-telecommunications/articles/sports-business-trends-disruption.html