ผ่านไปครบแล้วสำหรับหลักทรัพย์ที่เข้าจดทะเบียนใหม่ หรือ ‘หุ้น IPO’ ตลอดทั้งปี 2563 โดยมีหุ้นที่เข้าจดทะเบียนทั้งสิ้น 26 บริษัท แบ่งเป็นหุ้นที่เข้าจดทะเบียนในตลาด SET 14 บริษัท และตลาด mai 12 บริษัท
ซึ่งผลงานของหุ้นทั้ง 26 ตัวนี้ ล่าสุด ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2563 มีหุ้น IPO ถึง 20 ตัวที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวก โดยหุ้น IPO ที่เข้า SET ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 41.12% ขณะที่หุ้นที่เข้า mai ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงกว่าที่ 53.05% ซึ่งได้แรงหนุนจาก 3 หุ้น IPO ที่ปรับตัวขึ้นมากที่สุดของปีนี้ ได้แก่ บมจ.ไอแอนด์ไอ กรุ๊ป (IIG) +227.27%, บมจ.อิ๊กดราซิล (YGG) +210% และ บมจ.ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี (SICT) +200%
ทั้งนี้ หากนักลงทุนที่ลงทุนในหุ้น IPO ทุกตัวของปีนี้ จะได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 46.59%
อาทิตย์ จันทร์สว่าง ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรี เปิดเผยว่าหุ้น IPO ที่ค่อนข้างคึกคักในปีนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ตลาดอัดอั้นมาก่อนหน้านี้ ทั้งในมุมของบริษัทซึ่งวางแผนจะเข้าตลาดตั้งแต่เมื่อปี 2562 แต่ภาวะตลาดไม่เอื้ออำนวย ขณะเดียวกันก็ถูกกดดันจากโควิด-19 ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ก่อนที่จะเริ่มกลับเข้ามาจดทะเบียนกันได้ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ซึ่งเราจะเห็นว่าส่วนงานของวาณิชธนกิจก็กลับมาคึกคักเช่นกัน หลังจากเงียบไปประมาณ 2 ปี
ส่วนผลตอบแทนของหุ้น IPO ที่ถือว่าค่อนข้างดีในปีนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ตลาดหุ้นฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ทำให้นักลงทุนส่วนหนึ่งมองว่าหุ้น IPO ยังเป็นหุ้นที่สดใหม่ และหลายบริษัทก็เป็นธุรกิจที่นักลงทุนรู้จัก รวมถึงให้ความสนใจ เช่น ในกลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งได้รับอานิสงส์จากกระแสของการลงทุนในเทคโนโลยี และจะเห็นว่าบริษัทที่เข้ามาจดทะเบียนในระยะหลังนี้เป็นธุรกิจที่ยังคงสามารถทำกำไรได้
“ในปีหน้าหุ้น IPO น่าจะคึกคักยิ่งขึ้นอีก เพราะเศรษฐกิจในปีหน้าจะฟื้นตัวอย่างแท้จริง ทำให้ตลาดหุ้นพร้อมที่จะปรับตัวขึ้นตามการฟื้นตัวของกำไรบริษัทจดทะเบียน เมื่อภาพรวมตลาดคึกคัก หุ้น IPO มักจะคึกคักด้วย แล้วก็มีหุ้น IPO ขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาช่วยปลุกกระแสด้วย เช่น OR”
ทั้งนี้ กระแสของหุ้น IPO ที่เกิดขึ้นในปีนี้ยังเห็นได้จากเทรนด์การค้นหาคำว่า ‘IPO’ ในไทยผ่าน Google พุ่งขึ้นทำจุดสูงสุดในรอบ 15 ปี เช่นเดียวกับในสหรัฐฯ ซึ่งกระแสของหุ้น IPO ร้อนแรงไม่แพ้กัน และเทรนด์การค้นหาคำว่า ‘IPOs’ ในสหรัฐฯ ก็พุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์