×

ส่องกล้องมองปี 2020 จุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์

08.12.2020
  • LOADING...

ใกล้จะผ่านพ้นไปสำหรับปี 2020 ปีแห่งอาถรรพ์ เนื่องจากโรคระบาดแห่งศตวรรษที่เปลี่ยนภาพเศรษฐกิจ การเมือง การลงทุน การทำงาน รวมถึงวิถีชีวิตชาวโลกอย่างสิ้นเชิง จึงเป็นที่น่าสนใจหากจะพิจารณาสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลประหนึ่งพสุธาพลิก (Tectonic Shift) ที่เกิดขึ้นในปี 2020 นี้ผ่านคำทำนายในปี 2019

 

ณ สิ้นปี 2019 เราได้มีคำทำนาย 5 ประการของสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2020 อันได้แก่

 

1. เศรษฐกิจโลกจะแย่ลง แต่จะไม่เกิดวิกฤตในปี 2020 โดยเรามองเช่นนั้นเพราะมีสัญญาณบางอย่างเกิดขึ้นในปี 2019 อันได้แก่ Inverted Yield Curve หรือผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ กลับทิศ ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้วิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้แทบทุกครั้ง อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าเศรษฐกิจโลกในช่วงต้นปี 2020 จะอยู่ในภาวะ Late Cycle คือชะลอลงมาก แต่จะ ‘ไม่แตก ไม่ตาย แต่ไม่โต’ เนื่องจากนโยบายการเงินและการคลังทั่วโลกจะยังสนับสนุน ประกอบกับไม่มีฟองสบู่ขนาดใหญ่ที่จะทำให้เกิดวิกฤตได้

 

2. การเมืองสหรัฐฯ จะดุเดือดเลือดพล่าน แต่ทรัมป์จะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 แม้ทรัมป์จะเป็นประธานาธิบดีขบถ ก้าวร้าว และนำพาสหรัฐฯ ไปสู่ความแตกแยก แต่ผลงานเศรษฐกิจของทรัมป์ดีมาก การว่างงานต่ำสุดในรอบ 50 ปี ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนสูงขึ้น อันเป็นผลจากนโยบายลดภาษีและลดกฎระเบียบต่างๆ ทำให้เราเชื่อว่าทรัมป์จะได้เป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง

 

3. ผลตอบแทนการลงทุนโลกจะพอไปได้ในปี 2020 ด้วยภาวะ Low Rate, Low Growth ประกอบกับการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในช่วงปี 2018 ยุติลง สภาพคล่องโลกที่สูงมาก รวมถึงเกิดความร่วมมือด้านสนธิสัญญาการค้าเฟส 1 ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ทำให้เราเชื่อว่าการลงทุนในปี 2020 จะพอไปได้ต่อเนื่อง

 

4. สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะไม่ทวีความรุนแรงขึ้น หลังจากทวีความรุนแรงจนกระทบทั้งสองฝ่าย โดยในช่วงนั้นทั้งสหรัฐฯ และจีนส่งสัญญาณว่าจะมีการตกลงทำสนธิสัญญาการค้า โดยสหรัฐฯ จะลดภาษีจีนลงเล็กน้อย แลกกับการที่จีนนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น รวมถึงเปิดประเทศและเคารพทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้น ทำให้เราเชื่อว่าสงครามการค้าจะไม่ทวีความรุนแรงขึ้น แต่จะเปลี่ยนไปในสมรภูมิอื่น เช่น เทคโนโลยี เงินทุน รวมถึงด้านความมั่นคงแทน

 

5. ปี 2020 จะเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘ศตวรรษแห่งเอเชีย’ เรามองว่าการเปิดประเทศของจีน การจัดโอลิมปิกของญี่ปุ่น และการทำข้อตกลง RCEP และ CPTPP จะทำให้เศรษฐกิจของจีน ญี่ปุ่น รวมถึงเอเชียเติบโตขึ้น และเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวขึ้นเป็นผู้นำเศรษฐกิจและการเมืองโลกในศตวรรษนี้

 

คำทำนายทั้ง 5 เป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ นักกลยุทธ์ รวมถึงสำนักวิจัยระดับโลกต่างๆ ก็มีความเห็นคล้ายกันเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อวิกฤตสาธารณสุขแห่งศตวรรษระเบิดขึ้นเมื่อต้นปี ภาพทั้งหมดก็เปลี่ยนแปลงไป ดังนี้

 

1. เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่รุนแรงที่สุดในรอบกว่า 80 ปี อันเป็นผลจากการระบาดของโรคโควิด-19 นำมาสู่การปิดเมืองของเขตเศรษฐกิจในกว่า 2 ใน 3 ของเศรษฐกิจทั่วโลก และเมื่อเปิดเมืองแล้ว ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการปฏิสัมพันธ์ อันได้แก่ ภาคบริการ ก็ยังไม่สามารถเปิดได้เต็มที่ และยังต้องปิดตัวลงอีกครั้งจากการระบาดรอบสองเมื่อฤดูหนาวมาเยือน 

 

2. ประธานาธิบดีทรัมป์แพ้เลือกตั้ง โดยแม้ว่าทรัมป์จะได้คะแนนนิยมสูงกว่าเมื่อสมัยที่เขาชนะการเลือกตั้งรอบแรก แต่ข้อผิดพลาดในการบริหารจัดการโรคโควิด-19 ทำให้เขาพลาดการกลับมาครองตำแหน่งอีกครั้ง และต้องพ่ายแพ้แก่ โจ ไบเดน ผู้มีมุมมองและแนวคิดแตกต่างจากทรัมป์ในทุกทาง

 

3. การลงทุนในภาพรวมเติบโตดีมาก ทั้งสินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้นโลกที่ดัชนีเติบโตในระดับ 10-20% (ยกเว้นบางตลาดที่ค่อนข้างแย่ เช่น ไทย ที่เพิ่งฟื้นตัวได้ในช่วงท้ายปี) ขณะที่สินทรัพย์ปลอดภัยทั้งพันธบัตรและทองคำก็ปรับตัวได้ดีเช่นเดียวกัน แม้ว่าจะหดตัวรุนแรงในช่วงเดือนมีนาคม อันเป็นเดือนที่โควิด-19 ระบาดทั่วโลกก็ตาม แต่ก็ฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในเดือนต่อๆ ไป ทำให้ภาพรวมของผลตอบแทนการลงทุนในปัจจุบันเสมือนประหนึ่งว่าไม่เกิดวิกฤตโควิด-19 ขึ้น ซึ่งสาเหตุหลักเป็นผลจากการอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางทั่วโลกอย่างมหาศาล ทำให้ผลตอบแทนของทั้งสินทรัพย์เสี่ยงและสินทรัพย์ปลอดภัยพุ่งสูงขึ้น แม้ปัจจัยพื้นฐานจะแย่ลงก็ตาม

 

4. สงครามเย็นระหว่างสองมหาอำนาจมีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนรูปแบบไป โดยแนวนโยบายของว่าที่ประธานาธิบดีไบเดนคือจะใช้พันธมิตรรวมถึงมาตรฐานโลกด้านต่างๆ เช่น สิ่งแวดล้อม ทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงสิทธิมนุษยชนมากดดันจีนมากขึ้น ในขณะที่จีนก็หันมาเน้นยุทธศาสตร์การผลิตภายในประเทศผ่านปรัชญา Dual Circulation ทำให้สงครามการค้าแบบใช้ภาษีอาจยุติลง

 

5. จะยังคงเป็น ‘ศตวรรษแห่งเอเชีย’ ต่อไป โดยแม้ว่าญี่ปุ่นจะไม่สามารถจัดโอลิมปิกได้ในปีนี้ ขณะที่จีนมีการคุมเข้มและกดดันฮ่องกงมากขึ้น แต่ภาพรวมเศรษฐกิจและการเมืองในเอเชียในปี 2020 ค่อนข้างแข็งแกร่ง ผลจากการบริหารจัดการด้านโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพกว่าฝั่งซีกโลกตะวันตก ขณะที่มองไปในอนาคตแล้วจะพบว่าเศรษฐกิจเอเชียมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ดีกว่าในระยะยาวจากปัจจัยพื้นฐานที่ดี ทั้งประชากรที่ยังไม่เข้าสู่สังคมสูงวัยรุนแรงเท่าฝั่งตะวันตก และการเป็นศูนย์กลางของการผลิตสินค้าเทคโนโลยีที่จะเป็นหลักของกระแส Digitalization ในอนาคต

 

กล่าวโดยสรุป ปี 2020 เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์โลกทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ การเมือง การลงทุน สงครามเย็น รวมถึงการพัฒนาระยะยาวของโลก แต่แนวโน้มในอนาคตจะเป็นอย่างไรนั้น โปรดติดตาม

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X