×

ปี 2019 กับการย้ายถิ่นลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดกีฬาจาก Broadcasting สู่ Streaming

26.12.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

12 Mins. Read
  • ปี 2019 คือจุดเริ่มต้นสำคัญของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกและยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ซึ่งเจ้าของลิขสิทธิ์ทั้งสองในไทยเป็นของ Facebook และ DAZN ผู้ให้บริการผ่านช่องทางออนไลน์
  • สองผู้ให้บริการคาดว่า จะขายลิขสิทธิ์ระบบ Broadcasting โดยขณะนี้มีทรูวิชั่นส์ที่ออกมาเผยว่า สนใจเจรจาซื้อสิทธิ์พรีเมียร์ลีกจาก Facebook แต่ในขณะเดียวกัน Facebook ต้องออกแบบระบบสมาชิกสำหรับแฟนกีฬาในไทย ขณะที่ DAZN คาดว่า จะเปิดให้บริการในรูปแบบของ OTT หรือ Over the Top เหมือนกับฉายา Netflix แห่งวงการกีฬา
  • ความเปลี่ยนแปลงของการรับชมกีฬาในปี 2019 ถือเป็นการทดลองระบบต่างๆ เพื่อการแข่งขันโอลิมปิกปี 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเจ้าภาพการแข่งขันได้สัญญาไว้ว่า จะมีการถ่ายทอดสดการแข่งขันด้วยความชัด 8K ผ่านความเร็วอินเทอร์เน็ต 5G

“ยุคสมัยที่การรับชมกีฬาและคอนเทนต์พรีเมียมผ่านทางระบบ Broadcasting เพียงเจ้าเดียวนั้นได้จบลงแล้ว” เป็นส่วนหนึ่งของคำตอบที่ THE STANDARD ได้รับ เมื่อเราสอบถามไปยัง เมาริซิโอ บาบีรี Head of Sports Partnerships, SEA and Greater China จาก Twitter หนึ่งในโซเชียลมีเดียที่มีอิทธิพลต่อการสื่อสารมากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง

 

ซึ่งประโยคนี้เป็นบทสรุปของระบบการรับชมการแข่งขันฟุตบอลผ่าน Broadcasting ทั้งเคเบิลหรือฟรีทีวีในปี 2018 ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากปี 2018 นี้เป็นปีสุดท้ายของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกระหว่างปี 2016-2019 ซึ่งเจ้าของลิขสิทธิ์ช่วงที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นผู้ให้บริการในระบบ Broadcasting

 

แต่ในช่วง 2019-2022 ภายในเกาะอังกฤษเอง แม้ว่า Sky Sports และ BT Sports คู่แข่งหลักจากระบบ Broadcasting จะคว้าสิทธิ์ส่วนใหญ่ไป แต่ขณะเดียวกัน Amazon Prime ผู้ให้บริการระบบ Over the Top (OTT) ก็เข้ามาแย่งชิงแพ็กเกจไปได้ส่วนหนึ่ง

 

ขณะที่ในภูมิภาคอาเซียนนั้นชัดเจนที่สุด เนื่องจาก BeIN Sports ผู้ให้บริการระบบ BeIN Connect และเจ้าของลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกในภูมิภาคอาเซียนตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เสียลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกให้กับ Facebook ขณะเดียวกัน ฟุตบอลยูฟ่าแชมเปี้ยนส์ลีกฤดูกาล 2018/19 ก็เริ่มต้นรอบแบ่งกลุ่มด้วยการถ่ายทอดผ่านลิงก์ในเว็บ Goal Thailand ก่อนจะสร้างประวัติศาสตร์ ถ่ายทอดสดฟุตบอลรายการนี้ผ่านทาง Facebook Live แบบถูกลิขสิทธิ์เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในเกมที่ลิเวอร์พูลพบกับปารีส แซงต์ แชร์กแมง

 

 

ซึ่งสาเหตุหลักก็มาจากการที่ DAZN บริษัทในเครือของ Perform Group เจ้าของสื่อฟุตบอล Goal ผู้ให้บริการสตรีมมิงคอนเทนต์กีฬาทั้งการถ่ายทอดสดและไฮไลต์ผ่านระบบสมาชิกแบบ OTT จากประเทศอังกฤษ เป็นผู้คว้าลิขสิทธิ์ในภูมิภาคนี้ไปครองตั้งแต่ฤดูกาล 2018/19

 

จึงเห็นได้ว่า รากฐานของความเปลี่ยนแปลงในปี 2019 สำหรับพฤติกรรมการรับชมกีฬาโดยเฉพาะในประเทศไทยนั้นได้เริ่มต้นขึ้นแล้วในปีนี้ แต่คำถามสำคัญคือ การปรับตัวเพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ แต่ละภาคส่วนมีการเตรียมพร้อมกันอย่างไรบ้าง  

 

Twitter ผู้ผลักดันแฟนกีฬากลับสู่หน้าจอโทรทัศน์

THE STANDARD ได้สอบถามไปยังทวิตเตอร์ แม้ว่าจะยังไม่มีการถ่ายทอดสดกีฬาผ่านแพลตฟอร์ม แต่จากที่ THE STANDARD ได้เข้าร่วมเสวนากับ เมาริซิโอ บาบีรี Head of Sports Partnerships, SEA and Greater China จาก Twitter ทำให้เราได้ทราบถึงบทบาทสำคัญที่ทวิตเตอร์มีต่อการผลักดันผู้คนกลับเข้าสู่การรับชมคอนเทนต์ต่างๆ ผ่านทางโทรทัศน์ โดยเฉพาะระหว่างการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ที่ประเทศรัสเซีย ซึ่งมีแฟนบอลชาวไทยจำนวนมากติดตามข่าวสาร ผลการแข่งขัน และ สถิติต่างๆ ผ่านทางทวิตเตอร์

 

 

สำหรับความเปลี่ยนแปลงในปีหน้า เมาริซิโอมองว่า เทคโนโลยีมีส่วนสำคัญในการผลักดันการรับชมกีฬามาโดยตลอด ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่เทคโนโลยีดิจิทัลจะมอบทางเลือกในการรับชมกีฬาใหม่ๆ ทั้งในทวิตเตอร์และอีกหลายทางเลือกในโลกออนไลน์

 

“ยุคสมัยที่การรับชมกีฬาและคอนเทนต์พรีเมียมผ่านทางระบบ Broadcasting เพียงเจ้าเดียวนั้นได้จบลงแล้ว ตอนนี้เรามีพรีเมียมคอนเทนต์จากผู้ผลิตที่หลากหลายในแพลตฟอร์มต่างๆ ดังนั้นแฟนกีฬาจึงสามารถเลือกช่องทางรับชมและสมัครเป็นสมาชิก เพื่อเข้าถึงคอนเทนต์ต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย

 

“สำหรับผู้ให้บริการทางด้านแพลตฟอร์มนั้น สิ่งสำคัญคือการเป็นแพลตฟอร์มที่เข้าถึงง่าย และมีความจำเป็นต้องพิจารณางบประมาณอย่างถี่ถ้วน เนื่องจากการแข่งขันที่สูงและหลากหลายมากขึ้น เพื่อให้แฟนกีฬาสามารถรับรู้ช่องทางที่พวกเขาจะสามารถเข้าถึงคอนเทนต์กีฬาที่พวกเขาต้องการได้

 

“สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้ทวิตเตอร์เป็นเครือข่ายที่ดีเยี่ยมสำหรับ Publishers หรือผู้ผลิตคอนเทนต์ เพื่อช่วยเหลือในการผลักดันคอนเทนต์และวิดีโอในระดับพรีเมียม เนื่องจากแฟนกีฬาใช้เวลาค่อนข้างมากในทวิตเตอร์ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการสนทนาเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสนามแข่งขัน

 

“สิ่งสำคัญสำหรับทวิตเตอร์คือ หน้าที่ของมันไม่ใช่ผู้ที่มาสร้างความเปลี่ยนแปลง แต่เป็นผู้ช่วยเหลือในการให้ข้อมูล และเป็นสถานที่สำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในขณะเดียวกันช่วยเหลือ Broadcasters ให้เข้าถึงกลุ่มคนที่หลากหลายมากขึ้น รวมถึงเป็นช่องทางช่วยเหลือพวกเขาในการสร้างประโยชน์สูงสุดจากคอนเทนต์พรีเมียมของพวกเขา

 

“ปี 2018 ที่ผ่านมา ทวิตเตอร์ประสบความสำเร็จในการเพิ่มฐานแฟนๆ และรายได้ของผู้ผลิตคอนเทนต์ระหว่างการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2018 และเราตื่นเต้นสำหรับการเตรียมพร้อมทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์มากขึ้นในปี 2019 โดยเฉพาะในประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีกลุ่มผู้ใช้งานทวิตเตอร์ที่เติบโตขึ้นเร็วที่สุดในโลก และกีฬายังคงเป็นหนึ่งในหัวข้อที่เป็นที่พูดถึงมากที่สุดในแพลตฟอร์มของเรา

 

วิสัยทัศน์ของ DAZN กับแผนการเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในการรับชมกีฬา

 

 

สำหรับ DAZN คงหนีไม่พ้นการเลือกระบบ OTT เข้ามาใช้ในประเทศไทย

 

ไซมอน เดนเยอร์ ประธานบริหารของ DAZN ให้สัมภาษณ์กับ EveningStandard ในประเทศอังกฤษ ถึงประสบการณ์การทำข่าวรายงานผลการแข่งขันกีฬาจากวันเสาร์ ที่เขานั่งเขียนบันทึกไฮไลต์การแข่งขันฟุตบอล ส่วนวันอาทิตย์เขาจะพิมพ์ลงเครื่องพิมพ์ดีด ส่งให้สำนักพิมพ์ ก่อนที่จะส่งข่าวนั้นผ่านตู้จดหมายให้กับผู้อ่านในคืนวันศุกร์  

 

 

“ปัจจุบันนี้เราสามารถทำแบบนั้นได้เพียงไม่กี่วินาที เรารายงานผลการแข่งขันแบบเรียลไทม์ ส่งข้อมูล และสตรีมภาพสดจากสนามถึงคนดูได้ในเวลาเพียงวินาทีเดียว จากสมัยก่อนที่ผมต้องใช้เวลา 6 วันในการทำแบบนั้น”  ไซมอนกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงของการรายงานผลการแข่งขัน

 

 

บางคนยกให้ DAZN เป็น Netflix บ้างก็ยกให้เป็น Spotify แห่งวงการกีฬา เนื่องจาก DAZN มีลักษณะการให้บริการเหมือนกัน หรือที่เรียกว่า Subscribing Culture หรือวัฒนธรรมการสมัครสมาชิกแบบเหมาจ่ายจำนวนไม่มากต่อเดือน แต่สมาชิกสามารถเข้าถึงคอนเทนต์หลากหลายรูปแบบ

 

ไซมอนเชื่อว่า ระบบ Pay-Per-View เป็นสิ่งที่ห่วยแตก เนื่องจากรูปแบบการให้บริการของเขาในอังกฤษดึงดูดแฟนกีฬาด้วยการจ่ายเงินเพียง 10 เหรียญสหรัฐ​ต่อเดือน เพื่อการเข้าถึงคอนเทนต์กีฬาที่หลากหลาย แทนที่การจ่ายเงินเพื่อเข้าชมเกมการแข่งขัน อย่างเช่น การขึ้นชกหนึ่งไฟท์หรือแมตช์ฟุตบอลสำคัญเพียงหนึ่งเกม

 

“กีฬาในบางครั้งก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่บางครั้งทุกอย่างก็เกิดขึ้นพร้อมกัน และปัญหาของการมีช่องกีฬาเพียง 2 ช่อง คือ คุณสามารถเลือกถ่ายทอดสดได้แค่ 2 เกมพร้อมกัน

 

“ที่ผ่านมาช่องกีฬาจะตัดสินใจเลือกถ่ายทอดจากตารางที่พวกเขาวางไว้ พวกเขาต้องตัดสินใจในสิ่งที่ดีที่สุด เพื่อธุรกิจของเขา แต่หากคุณเป็นแฟนของทีมเชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ การตัดสินใจของเขาอาจไม่เป็นประโยชน์ต่อพวกคุณ”

 

โดย DAZN วางแผนจะเป็นผู้ที่มาสร้างความเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับที่ Sportify ส่งผลต่อวงการเพลง หรือ Netflix มีอิทธิพลกับวงการภาพยนตร์ สำหรับวงการกีฬา DAZN เชื่อว่า พวกเขาจะสามารถเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดจาก Sky Sports และ BT Sports ผู้ที่มีอิทธิพลในการแย่งชิงลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก จนค่าลิขสิทธิ์ทะยานสูงขึ้นไปถึง 5 พันกว่าล้านปอนด​์ ในการประมูลลิขสิทธิ์ระหว่างปี 2016-2019 ที่ผ่านมา

 

 

จากการประมูลล่าสุด เราได้เห็นมูลค่าลิขสิทธิ์ลดลง เนื่องจากสองบริษัทนั้นหันหน้าเข้าหากัน เพื่อยอมลดมูลค่าในการต่อสู้แย่งสิทธิ์ สถานการณ์นี้ส่งผลให้ ซูซาน ดินาจ ประธานบริหารพรีเมียร์ลีกคนใหม่ในปี 2019 มีความกังวลเป็นอย่างมาก

 

“พวกเขาไม่สามารถปล่อยให้มูลค่าลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกในอังกฤษลดลงได้อย่างแน่นอน และพวกเขาต้องมองหาผู้ให้บริการรูปแบบอื่นๆ เหมือน Amazon และ DAZN พวกเขาต้องยกระดับการแข่งขันขึ้นไปอีก” ไซมอนกล่าวบนความเชื่อที่ว่า ในการประมูลลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกครั้งหน้า ผู้ให้บริการหน้าใหม่จะได้รับโอกาสมากขึ้น

 

แฟนบอลเตรียมพร้อมรับมือการรับชมและสมาชิกรูปแบบใหม่สำหรับปี 2019

สำหรับแฟนบอลในประเทศไทยที่ได้มีโอกาสชิมลางกับความเปลี่ยนแปลงในการรับชมฟุตบอลยุโรปผ่านลิงก์และเฟซบุ๊กไลฟ์ของศึกยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกมาแล้ว จากที่ THE STANDARD สำรวจคอมเมนต์ต่างๆ และผลตอบรับพบว่า จุดเด่นของระบบนี้อย่างแรกคือ ความสะดวกสบายในการรับชมผ่านอุปกรณ์อย่างสมาร์ทโฟนที่สามารถพกพาไปรับชมที่ใดก็ได้ ซึ่งหลายคนที่เป็นสมาชิก BeIN Connect คงมีความคุ้นเคยกับระบบการรับชมกีฬาแบบ On Demand มาบ้างแล้ว

 

แต่ในขณะเดียวกัน การรับชมผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์และลิงก์ออนไลน์ อาจมีความซับซ้อนมากขึ้น หากต้องการชมฟุตบอลแมตช์สำคัญแบบเต็มอรรถรสผ่านจอโทรทัศน์ แม้ว่าจะเป็นแบบ Smart TV ก็ตาม

 

ซึ่งจุดนี้เองในปี 2019 หาก DAZN และ Facebook ขายสิทธิ์ให้กับผู้ให้บริการ Broadcasting ในไทย ซึ่งในเวลานี้มีเพียงทรูวิชั่นส์ที่ส่งสัญญาณแล้วว่า พร้อมเจรจาคว้าสิทธิ์ฟุตบอลยุโรปในปีหน้า ก็จะเป็นการตอบโจทย์แฟนกีฬาได้ไม่น้อย

 

สิ่งที่ต้องหาคำตอบในปีหน้าอย่างแท้จริงคือ เรื่องของรายได้สำหรับผู้ถือสิทธิ์ทั้งสอง ราย แม้ว่าพวกเขาจะขายสิทธิ์ถ่ายทอดสดของระบบ Broadcasting ไปแล้ว แต่สำหรับระบบออนไลน์นั้น แม้ว่าจะมีเฟซบุ๊กไลฟ์ในมือ แต่การเก็บค่าสมาชิกยังคงเป็นคำถามว่า ‘แฟนกีฬาต้องจ่ายค่ารับชมอย่างไร’ เพราะก่อนหน้านี้ทุกคนต่างเสพคอนเทนต์ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์แบบฟรีๆ มาโดยตลอด

 

ขณะเดียวกันปัญหาของระบบสตรีมมิงก็ยังมีให้เห็น เนื่องจากไฮไลต์ของคอนเทนต์กีฬาอยู่ที่การรับชมแบบเรียลไทม์ และอาการล่าช้าเพียงเสี้ยววินาทีก็อาจสร้างความหงุดหงิดให้กับแฟนกีฬาได้แล้ว รวมถึงระบบการถ่ายทอดสดพร้อมๆ กันจากสนามกีฬาทั่วโลก หากระบบไม่แข็งแรงพอก็อาจพบกับการกระตุกหรือแม้กระทั่งระบบล่มได้ ซึ่งแน่นอนว่า หากมีปัญหาในเกมใหญ่เพียงครั้งเดียว ก็อาจจะเพียงพอให้แฟนกีฬาหมดความเชื่อถือในระบบได้แล้ว

 

สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับแฟนกีฬาในปี 2019 คือการที่เจ้าของลิขสิทธิ์ฟุตบอลรายการใหญ่ ต่างก็ทำแพลตฟอร์มและช่องทางการรับชมของตนเองในระบบสมาชิก ซึ่งแฟนบอลชาวไทยหลายคนน่าจะคุ้นเคยดีกับวันที่ลิขสิทธิ์ฟุตบอลลีกชั้นนำของยุโรปกระจายไปอยู่ในมือผู้ถือสิทธิ์เคเบิลทีวีหลายๆ เจ้า

 

จนมีภาพล้อเลียนในวันนั้นว่า หากคุณต้องการรับชมฟุตบอลครบทุกลีก คุณต้องสมัครสมาชิกครบทุกเจ้า เหมือนกับแฟนภาพยนตร์ Netflix หลายคนกำลังมีความกังวลว่า ในวันที่ Disney Streaming บุกตลาดทำระบบ OTT ของตนเอง และดึงคอนเทนต์กลับไปลงที่แพลตฟอร์มตัวเองหมด วันนั้นเราอาจต้องจ่ายค่าสมาชิกทั้ง Disney เพื่อชมภาพยนตร์ในซีรีส์ของ Marvel และ Star Wars จ่ายค่าสมาชิกของ HBO ผ่าน AIS เพื่อดู Games of Thrones ซีซันสุดท้าย และจ่ายค่าสมาชิกของ Netflix เพื่อรับชมซีรีส์ต่างๆ

 

เช่นเดียวกันในปีหน้า หากคุณต้องการรับชมฟุตบอลพรีเมียร์ลีก คุณก็ต้องรอดีลจากทาง Facebook ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกจาก DAZN ฟุตบอลลาลีกาสเปนจาก BeIN Sport และฟุตบอลไทยลีกจากทรูวิชั่นส์ เว้นเสียแต่ว่าทรูวิชั่นส์จะตัดสินใจคว้าสิทธิ์ทั้งหมดนั้นกลับมาไว้ที่เดียว ซึ่งด้วยโมเดลการหารายได้จากผู้สนับสนุนผ่านการถ่ายทอดสดฟุตบอลเปลี่ยนแปลงไปจากทีวีสู่ออนไลน์ ความฝันที่แฟนบอลจะจ่ายค่าสมาชิกเพียงเจ้าเดียว เพื่อสิทธิ์ในการเข้าถึงฟุตบอลชั้นนำของลีกยุโรปทั้งหมดนั้นดูเหมือนว่าจะจบลงแล้วเช่นกัน

 

ปี 2019 สำหรับลิขสิทธิ์ฟุตบอลในประเทศไทยจึงเป็นปีแห่งการทดลองระบบ ทั้งฝ่ายผู้ให้บริการต่างๆ รวมถึงฝั่งต้นทางของผู้ผลิตคอนเทนต์ ลีกการแข่งขันกีฬาต่างๆ ทั่วโลกต่างก็เริ่มต้นปรับรูปแบบการนำเสนอคอนเทนต์ให้เข้ากับพฤติกรรมการรับชมที่เปลี่ยนแปลงไป ตั้งแต่การเพิ่มมุมถ่ายทอดสดการแข่งขัน จนถึงการเปิดเบื้องหลังห้องแต่งตัวของนักเตะในแต่ละทีม ที่เราเริ่มได้เห็นไฮไลต์เบื้องหลังนอกจากช่วงเวลาแข่งขันมากขึ้นทุกวันจากทั้งสโมสรและลีก

 

เนื่องจากการทดลองต่างๆ ในปี 2019 นี้มีส่วนสำคัญอย่างมากสำหรับเป้าหมายของญี่ปุ่นกับโอลิมปิกในปี 2020 ที่ทางเจ้าภาพได้สัญญาว่า นวัตกรรมที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงหลากหลายอุตสาหกรรมสำหรับโลกอนาคต

 

การถ่ายทอดสดกีฬาด้วยความชัด 8K ผ่านความเร็วอินเทอร์เน็ต 5G และระบบขนส่งนักกีฬาด้วย Automation และการใช้ดาวตกจำลองแทนที่โดรน ที่เริ่มใช้ในพิธีสำคัญต่างๆ ในปี 2018 คือส่วนหนึ่งของคำสัญญาที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

 

ระบบการถ่ายทอดสดกีฬาเริ่มต้นตั้งแต่โอลิมปิกปี 1936 ที่ประเทศเยอรมนี โดยถ่ายทอดสดการแข่งขันในระบบปิดภายในกรุงเบอร์ลิน และบางเมืองในประเทศที่เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในปีนั้น การถ่ายทอดสดได้รับการพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ ตามความเร็วของการสื่อสาร เหมือนกับประโยคดังที่มีคนเคยกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงของสื่อไว้ว่า ยุคหินไม่ได้จบลงเพราะทรัพยากรหินหมดไป แต่เป็นเพราะเราค้นพบหนทางที่สามารถก่อสร้างสิ่งต่างๆ ได้สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

เช่นเดียวกับพัฒนาการการแข่งขันกีฬาที่เปลี่ยนแปลงทั้งในและนอกสนาม ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อการยกระดับประสบการณ์การรับชมการแข่งขันที่ช่วยให้ผู้คนทั่วทุกมุมโลกสามารถเข้าถึงพื้นที่ของสนามระหว่างการแข่งขันได้อย่างรวดเร็วและใกล้เคียงกับการอยู่ในสนามได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

ดังนั้นปี 2019 จึงเป็นก้าวสำคัญของการเชื่อมต่อแฟนกีฬาสู่การรับชมฟุตบอลรูปแบบใหม่ ที่ความเร็วอินเทอร์เน็ตที่สูงขึ้นจะช่วยนำเราเข้าไปสัมผัสทุกเหตุการณ์ได้ใกล้ชิด และเสมือนจริงมากที่สุด เท่าที่มนุษย์ที่อยู่อีกมุมหนึ่งของโลกจะทำได้

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

 

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X