×

‘สีจิ้นผิง’ กับ ‘อำนาจละมุน’ และทิศทางนโยบายปี 2018 ที่โลกห้ามกะพริบตา

13.12.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • สีจิ้นผิงให้ความสำคัญกับการใช้ ‘อำนาจละมุน’ เป็นพิเศษ เพื่อปรับภาพลักษณ์ใหม่ของจีนในฐานะประเทศที่ผงาดขึ้นมาอย่างสันติ และเป็นผู้นำโลกที่มีบทบาทสร้างสรรค์
  • ปี 2018 เป็นปีที่อำนาจ Hard Power ของโดนัลด์ ทรัมป์ จะปะทะกับ Soft Power ของสีจิ้นผิงอย่างเด่นชัดมากขึ้น
  • คาดกันว่าหลังจากที่สีจิ้นผิงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจีนต่ออีกสมัยในช่วงต้นปีหน้า เขาจะเตรียมปฏิรูปประเทศตามแนวทางสังคมนิยมแบบจีน พร้อมกับเชิดชูค่านิยมการเมืองแบบจีนให้โลกประจักษ์ว่า ประเทศต่างๆ ก็สามารถประสบความสำเร็จด้วยโมเดลที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยได้เช่นกัน

ปี 2017 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป ภูมิทัศน์การเมืองโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก สหรัฐอเมริกาและยุโรปถดถอยลงจากปัญหาการเมืองภายใน โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาภายใต้การบริหารประเทศปีแรกของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ดำเนินนโยบายต่างประเทศและเศรษฐกิจที่มุ่งเน้น ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ พร้อมกับลดบทบาทความเป็นผู้นำโลกบนเวทีความร่วมมือระดับนานาชาติโดยพฤตินัย ขณะที่ประเทศยักษ์ใหญ่ในยุโรปทั้งอังกฤษ เยอรมนี และสเปน ต่างก็เผชิญปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองและความไม่แน่นอนต่างๆ ที่บั่นทอนเสถียรภาพของภูมิภาค

 

 

ในปีที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าสีจิ้นผิงได้นำพาจีนผงาดขึ้นมาอย่างโดดเด่นบนเวทีโลก ขณะที่หลายๆ นโยบายของจีนได้รับความสนใจและถูกจับตาจากประชาคมโลกมากขึ้นในฐานะทางเลือกใหม่ เพราะสหรัฐฯ ได้กลับจุดยืนที่มีต่อนโยบายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในระดับพหุภาคี โดยหนึ่งในนั้นคือความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP ดังนั้นโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ทางบกและทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 หรือ Belt & Road ในดำริของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงจึงเฉิดฉายขึ้นและถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา

 

สีจิ้นผิงหมายมั่นปั้นมือว่าจะผลักดันโครงการ Belt & Road ให้สำเร็จลุล่วงโดยการสร้างโครงข่ายระบบคมนาคมขนาดมหึมา ทั้งทางรถไฟความเร็วสูง ถนน ท่าเรือ และระบบการสื่อสารที่จะเชื่อมต่อประเทศต่างๆ ในภูมิภาคและระหว่างภูมิภาคเข้าด้วยกัน เพื่อส่งเสริมการบูรณาการทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับเอเชีย รวมทั้งภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) ไปจนถึงยุโรป

 

หากจีนทำสำเร็จ ย่อมตีตราผลงานของรัฐบาลและแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของจีนที่เด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ บนเวทีโลก พร้อมกับยกระดับจีนสู่การเป็นมหาอำนาจเต็มตัวทัดเทียมกับสหรัฐฯ นอกจากนี้โครงการ Belt & Road ยังเป็นช่องทางขับเคลื่อน ‘อำนาจละมุน’ ของจีน ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สีจิ้นผิงใช้ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อให้จีนก้าวมาขึ้นเป็นมหาอำนาจและเป็นที่ยอมรับในประชาคมโลก

 

 

อำนาจละมุนคืออะไร? เหตุใดสีจิ้นผิงจึงผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ

อำนาจละมุนไม่ใช่ของแปลกใหม่สำหรับการกำหนดนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลทั่วโลก ผู้ที่คิดค้นทฤษฎีและใช้คำว่า Soft Power หรืออำนาจละมุน คนแรกคือโจเซฟ เอส. ไน จูเนียร์ (Joseph S. Nye Jr.) นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยเขานิยามคำว่าอำนาจละมุนไว้ในหนังสือ Bound to Lead: The Changing Nature of American Power ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1990 ว่าเป็นความสามารถของประเทศหนึ่งในการโน้มน้าวให้ประเทศอื่นต้องการในสิ่งที่ตนต้องการด้วยเครื่องมือทางวัฒนธรรม ค่านิยมทางการเมือง หรือนโยบายต่างประเทศ ซึ่งตรงข้ามกับอำนาจกระด้าง หรือ Hard Power ที่ชักจูงด้วยอิทธิพลหรือใช้กำลังบังคับให้ทำในสิ่งที่ตนต้องการ  

 

สีจิ้นผิงเคยกล่าวไว้ว่า การก้าวขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจในทุกมิติคือ ‘ความฝัน’ ของคนจีนทั้งประเทศ หรือที่เรียกว่า ‘จงกั๋วม่ง’ อย่างไรก็ตาม การที่จีนมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ กลับสร้างความหวาดระแวงให้กับนานาประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่มีปัญหาพิพาทเรื่องดินแดนกับจีน หลายประเทศหวั่นเกรงว่า จีนพยายามแผ่อิทธิพลครอบงำภูมิภาคเพื่อสร้างอำนาจต่อรองการเจรจาในประเด็นปัญหาต่างๆ ซึ่งส่งผลให้การผลักดันนโยบายระหว่างประเทศของจีนถูกตั้งคำถามอยู่บ่อยครั้งว่ามีวาระซ่อนเร้นทางการเมืองหรือไม่

 

ดังนั้นสีจิ้นผิงจึงให้ความสำคัญกับการใช้อำนาจละมุนเป็นพิเศษ เพื่อปรับภาพลักษณ์ใหม่ของจีนในฐานะประเทศที่ผงาดขึ้นมาอย่างสันติและเป็นผู้นำโลกที่มีบทบาทสร้างสรรค์ โดยนโยบายที่จีนผลักดันในช่วงหลังล้วนแล้วแต่สะท้อนถึงค่านิยมใหม่ของจีน เช่น การรับบทบาทเป็นผู้นำในการรณรงค์แก้ปัญหาโลกร้อน รวมทั้งส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดอย่างจริงจัง และผลักดันโครงการแลกเปลี่ยนทางสังคมและวัฒนธรรมระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ โดยสีจิ้นผิงมองว่า การเผยแพร่วัฒนธรรมและส่งเสริมค่านิยมจีนแบบใหม่จะช่วยขยายอิทธิพลของจีนจนเป็นที่ยอมรับอย่างยั่งยืนมากกว่าการใช้อำนาจดิบแบบ Hard Power   

 

สำหรับสีจิ้นผิงแล้ว เขาเคยกล่าวไว้ตั้งแต่ในปี 2014 ว่า “เราควรเพิ่มอำนาจละมุนของจีนเพื่อส่งข้อความจากจีนถึงชาวโลกให้ดียิ่งขึ้น” และเขาก็ได้ประกาศปณิธานอันแน่วแน่ในการส่งเสริมค่านิยมทางการเมืองแบบสังคมนิยมตามโมเดลจีนสมัยใหม่ในระหว่างพิธีปิดการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าเขาจะยังคงยึดมั่นแนวทางการพัฒนาประเทศและขยายอิทธิพลของจีนด้วยอำนาจละมุนต่อไป   

 

 

การปะทะระหว่าง Hard Power ของโดนัลด์ ทรัมป์ และ Soft Power ของสีจิ้นผิง

นับตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ เข้ารับตำแหน่งประมุขแห่งทำเนียบขาวในเดือนมกราคมที่ผ่านมา เขาได้ชูนโยบายที่แข็งกร้าวต่อบรรดาประเทศที่เขาเห็นว่าเอารัดเอาเปรียบสหรัฐฯ หรือทำให้ชาวอเมริกันสูญเสียผลประโยชน์ พร้อมกดดันประเทศต่างๆ ให้ปฏิบัติตามกฎกติกาใหม่ที่สหรัฐฯ กำหนดขึ้น สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าสหรัฐฯ กำลังใช้อำนาจแบบ Hard Power เพื่อทวงความยิ่งใหญ่ของสหรัฐฯ กลับคืนมาอีกครั้ง ดังสโลแกนที่ทรัมป์ใช้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งว่า ‘Make America Great Again’  

 

จุดยืนด้านนโยบายต่างประเทศของทรัมป์จึงแตกต่างจากนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดก่อนๆ ทั้งของอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา และบิล คลินตัน ที่ให้ความสำคัญกับ Soft Power ในการกำหนดทิศทางนโยบายต่างประเทศเป็นสำคัญ

 

ในรอบปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ผลักดันนโยบายที่มีลักษณะกีดกันเชื้อชาติและปกป้องการค้า เช่น ออกคำสั่งห้ามผู้อพยพชาวมุสลิมจากหลายประเทศไม่ให้เดินทางเข้าสหรัฐฯ และผลักดันโครงการสร้างกำแพงกั้นพรมแดนระหว่างสหรัฐฯ กับเม็กซิโก รวมถึงล้มโต๊ะเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ขณะที่นักวิเคราะห์จำนวนมากมองว่านโยบายของทรัมป์ในปีหน้าไม่น่าที่จะผิดแปลกไปจากเดิมมากนัก

 

ดังนั้น ปี 2018 จึงเป็นปีที่อำนาจ Hard Power ของทรัมป์จะปะทะกับ Soft Power ของสีจิ้นผิงอย่างเด่นชัดมากขึ้น โดยคาดกันว่าหลังจากที่สีจิ้นผิงได้รับการรับรองในที่ประชุมสภาประชาชนแห่งชาติของจีนให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจีนต่ออีกสมัยในช่วงต้นปีหน้าแล้ว เขาก็เตรียมที่จะเดินหน้าปฏิรูปประเทศตามแนวทางสังคมนิยมแบบจีนต่อไป พร้อมกับเชิดชูค่านิยมการเมืองแบบจีนให้โลกประจักษ์ว่า ประเทศต่างๆ ก็สามารถประสบความสำเร็จตามอย่างจีนด้วยโมเดลที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยได้เช่นกัน

 

นอกจากนี้ สีจิ้นผิงยังเตรียมสานต่อบทบาทการส่งเสริมความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรมกับนานาประเทศต่อไป

 

น่าสนใจว่าการที่จีนผงาดขึ้นมาอย่างโดดเด่นในช่วงปีที่ผ่านมาและมีบทบาทบนเวทีโลกมากขึ้นเรื่อยๆ นั้นจะบีบให้สหรัฐฯ ปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อแก้เกมหรือกลับมาคานอำนาจจีนหรือไม่?

 

ซึ่งเราคงต้องจับตาดูกันต่อไป       

  

Photo: AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising