×

ประมวลสงครามการค้า สหรัฐฯ-จีน ปี 2018 กับโอกาสขยายสมรภูมิสู่ AI และ 5G

27.12.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • เทรดวอร์ หรือ สงครามการค้า เป็นคำนิยามความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนในรอบปี 2018 ที่ผ่านมาได้ดีที่สุด เพราะสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกเปิดศึกการค้าต่อกันอย่างดุเดือด จนทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกตกอยู่ในความสั่นคลอน และส่งผลให้ความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีระหว่างปักกิ่งและวอชิงตันก้าวถอยหลัง
  • ปี 2018 สหรัฐฯ ใช้มาตรการภาษีกับสินค้าจีนรวมมูลค่า 250,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่จีนตอบโต้ด้วยมาตรการเดียวกันกับสินค้าสหรัฐฯ รวมมูลค่า 110,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะไม่จบลงเพียงเท่านี้
  • สงครามการค้าและมาตรการภาษีทำให้ทั่วโลกตื่นตระหนก และเป็นปัจจัยลบที่กำลังฉุดตลาดหุ้นสหรัฐฯ เข้าสู่ทิศทางขาลง (Bear Market) โดยในปี 2019 ตลาดหุ้นก็มีแนวโน้มที่ไม่สดใสนัก
  • ช่วงเวลา 90 วันของการเจรจาระหว่างจีนและสหรัฐฯ จึงเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะชี้ชะตาว่าสงครามการค้าจะยืดเยื้อต่อไปในปี 2019 หรือไม่ โดยโจทย์ใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไขคือปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การบังคับถ่ายทอดเทคโนโลยี การบุกรุกและจารกรรมข้อมูลในโลกไซเบอร์ และการขาดดุลการค้าอย่างไม่เป็นธรรม
  • แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่า สงครามการค้าจะไม่จบลงง่ายๆ และมีโอกาสขยายขอบเขตไปสู่สมรภูมิ AI และ 5G ซึ่งเป็นเซกเมนต์ที่จีนและสหรัฐฯ เป็นผู้เล่นรายหลักของโลก

ปี 2018 เป็นปีที่เศรษฐกิจโลกเผชิญความไม่แน่นอนมากที่สุดในรอบหลายๆ ปี สืบเนื่องจากสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งเป็นสองมหาอำนาจที่ค้ำจุนเศรษฐกิจโลก ห้ำหั่นกันเองบนสมรภูมิการค้าที่ร้อนระอุตั้งแต่ต้นปียันท้ายปี

 

ดังนั้นคำว่า ‘เทรดวอร์’ จึงเป็นคำที่อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนในรอบปี 2018 ที่ผ่านมาได้ดีที่สุด

 

ชนวนสงครามเริ่มมาจากผลการตรวจสอบของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (U.S. Trade Representative หรือ USTR) ซึ่งพบว่า จีนละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ ตามบทบัญญัติมาตรา 301 ของกฎหมายการค้าสหรัฐฯ ด้วยการดำเนินนโยบายบีบบังคับบริษัทอเมริกันให้ถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อแลกกับการลงทุนในจีน  นอกจากนี้รัฐยังสนับสนุนบริษัทจีนให้ซื้อกิจการในสหรัฐฯ เพื่อหวังครอบครองเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงส่งเสริมให้แฮกเกอร์เจาะระบบไซเบอร์ เพื่อล้วงข้อมูลลับทางธุรกิจและเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ซึ่งทำให้เกิดการค้าที่ไม่เป็นธรรม

 

สหรัฐฯ จึงลงดาบจีนด้วยการใช้มาตรการภาษีเป็นชุดในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งนำไปสู่การตอบโต้ด้วยวิธีการต่างๆ จากฝ่ายตรงข้าม จนแนวคิดกีดกันทางการค้าเริ่มขยายตัวเป็นวงกว้าง และทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกตกอยู่ในความสั่นคลอน

 

แต่ก่อนจะลงลึกถึงสงครามการค้าที่เกิดขึ้น รวมถึงผลกระทบในภาพรวม และทิศทางของสมรภูมิการค้าในปีหน้า เราไปย้อนดูกันว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในรอบปีที่ผ่านมา

 

 

ประมวลเหตุการณ์สำคัญในสงครามการค้าปี 2018

 

23 มีนาคม – สหรัฐฯ ประกาศตั้งกำแพงภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมนำเข้าจากจีนและหลายประเทศ

 

2 เมษายน – จีนตอบโต้โดยตั้งกำแพงภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมนำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

3 เมษายน – คณะบริหารของโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศแผนเก็บภาษีอากรกับสินค้าส่งออกของจีนมูลค่า 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่อัตรา 25%

 

4 เมษายน – รัฐบาลจีนเตือนสหรัฐฯ ว่าจะเอาคืนโดยการเก็บภาษีอากรกับสินค้าส่งออกของสหรัฐฯ มูลค่า 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่อัตรา 25% เช่นกัน

 

16 เมษายน – สหรัฐฯ ประกาศแบน ZTE ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่ของจีน ไม่ให้ทำธุรกิจกับบริษัทอเมริกันเป็นเวลา 7 ปี

 

3-7 พฤษภาคม – คณะผู้แทนจากจีนและสหรัฐฯ เจรจากันรอบแรก เพื่อยุติข้อพิพาททางการค้าที่กรุงปักกิ่ง

 

17 พฤษภาคม – การเจรจารอบที่ 2 ระหว่างสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจจัดขึ้นที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

 

20 พฤษภาคม – สองฝ่ายตกลงกันว่าจะยุติสงครามการค้าชั่วคราว

 

2-4 มิถุนายน – การเจรจารอบที่ 3 จัดขึ้นที่กรุงปักกิ่ง

 

6 กรกฎาคม – สหรัฐฯ อนุญาตให้ ZTE กลับมาทำธุรกิจกับบริษัทอเมริกันได้อีกครั้ง แต่อยู่ภายใต้ขอบเขตที่จำกัด ทว่าขณะเดียวกันก็ประกาศใช้มาตรการภาษีรอบแรกกับสินค้าจีน มูลค่า 34,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

11 กรกฎาคม – รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศแผนตั้งกำแพงภาษีกับสินค้าจีน มูลค่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

3 สิงหาคม – จีนตอบโต้โดยประกาศแผนเก็บภาษีกับสินค้าสหรัฐฯ มูลค่า 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

23 สิงหาคม – สหรัฐฯ ประกาศตั้งกำแพงภาษีรอบที่ 2 กับสินค้าจีน มูลค่า 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

17-18 กันยายน – สหรัฐฯ ประกาศมาตรการเก็บภาษีสินค้าจีน มูลค่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่อัตรา 10% และเพิ่มเป็น 25% ในปี 2019

 

ขณะที่จีนประกาศมาตรการตอบโต้ โดยเรียกเก็บภาษีสินค้าสหรัฐฯ มูลค่า 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

24 กันยายน – มาตรการภาษีรอบที่ 3 ของสหรัฐฯ เริ่มมีผลบังคับใช้

 

1 พฤศจิกายน – ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ต่อสายหารือทางโทรศัพท์

 

1 ธันวาคม – ผู้นำสหรัฐฯ และจีนตกลงสงบศึกการค้าชั่วคราวเป็นเวลา 90 วันในที่ประชุมซัมมิต G20 ที่ประเทศอาร์เจนตินา โดยช่วงเวลา 3 เดือน คณะเจรจาจาก 2 ประเทศจะหารือกันต่อเพื่อหาทางสะสางปัญหาที่ไม่ลงรอย ตั้งแต่การขาดดุลการค้า การบังคับถ่ายทอดเทคโนโลยี และการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

 

ทางการแคนาดาควบคุมตัว เมิ่ง หว่านโจว ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของบริษัท Huawei ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมเบอร์ 1 ของจีน ตามคำขอของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเมิ่งถูกกล่าวหาว่าละเมิดกฎหมายคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ในการทำธุรกิจกับอิหร่าน

 

14 ธันวาคม – จีนประกาศระงับการเก็บภาษีจากรถยนต์สหรัฐฯ ที่อัตรา 25% ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2019

 

 

การปะทะกันของ 2 ขั้วเศรษฐกิจต่างแนวคิด

ในรอบปี 2018 ที่ผ่านมา สิ่งที่เห็นได้เด่นชัดบนเวทีการค้าโลกก็คือ จีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง เชิดชูนโยบายส่งเสริมการค้าเสรี และปกป้องระเบียบการค้าโลกภายใต้กรอบกติกาของ WTO

 

ตรงข้ามกับสหรัฐฯ ซึ่งแม้รัฐบาลชุดก่อนๆ จะเชิดชูค่านิยมตะวันตกในเรื่องประชาธิปไตยและทุนนิยมเสรี แต่วันนี้ในยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เขากลับมองว่ากฎเกณฑ์ของ WTO ทำให้อเมริกาสูญเสียผลประโยชน์ ดังนั้นจึงต้องการยกเครื่องจัดระเบียบการค้าโลกใหม่

 

ด้วยเหตุนี้การปะทะกันของสองขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

 

 

นับตั้งแต่ทรัมป์ชนะเลือกตั้งในปี 2016 เขาพยายามแก้ไขข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศหลายฉบับที่เขาเห็นว่าทำให้สหรัฐฯ เสียเปรียบ ดังจะเห็นได้จากการฉีกข้อตกลงการค้าหลายฉบับ รวมถึงหันหลังให้กับความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP และเปิดการเจรจาใหม่กับประเทศคู่ค้า เช่น แคนาดาและเม็กซิโกในข้อตกลง NAFTA

 

ในส่วนของ NAFTA นั้น ทรัมป์เพิ่งลงนามในข้อตกลงฉบับใหม่ ร่วมกับนายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ของแคนาดา และประธานาธิบดีอันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ ของเม็กซิโก บนเวทีซัมมิต G20 ที่ประเทศอาร์เจนตินาเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยทรัมป์หวังว่า ข้อตกลงฉบับนี้จะสามารถแทนที่ฉบับเก่า และเรียกมันว่า United States–Mexico–Canada Agreement แต่หลายฝ่ายมองว่ามันก็คือ NAFTA 2.0 นี่เอง

 

ย้อนกลับมาที่คู่ของจีนและสหรัฐฯ ความขัดแย้งที่เด่นชัดในเรื่องนโยบายการค้าได้ฉายภาพอีกด้านถึงการช่วงชิงตำแหน่งผู้นำการจัดระเบียบการค้าโลกด้วย

 

กอปรกับปัญหาบาดหมางเกี่ยวกับประเด็นการค้าที่ยังไม่สะสางระหว่างสองประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก จึงสุมไฟลุกโชนกลายเป็นสงครามการค้าเต็มรูปแบบ

 

 

ปัญหาระหองระแหง

คณะบริหารของทรัมป์กล่าวหาจีนมาตลอดว่าใช้อำนาจอิทธิพลบีบบังคับประเทศคู่ค้าในทางเศรษฐกิจ และดำเนินนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับสินค้าประเทศอื่น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ อย่างมหาศาลถึง 370,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2017 โดยสินค้าหมวดเทคโนโลยีนั้น สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับจีนสูงถึง 140,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่สินค้าประเภทเครื่องจักร เฟอร์นิเจอร์ และของเล่น สหรัฐฯ ขาดดุลราว 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

สิ่งที่สหรัฐฯ ขุ่นเคืองจีนมาตลอดคือปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และการบีบประเทศคู่ค้าถ่ายทอดโนว์ฮาวในเทคโนโลยีต่างๆ ผ่านความร่วมมือในรูปแบบ Joint Venture

 

หลายประเทศรวมถึงสหรัฐฯ ระบุว่าสายลับและแฮกเกอร์จีนได้ขโมยข้อมูลลับทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยการฝังบั๊กซอฟต์แวร์ หรือแทรกซึมเข้าไปในอุตสาหกรรม สถาบัน และมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือบริษัทจีนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทัดเทียมกับนานาชาติคือหน่วยงานด้านข่าวกรองของรัฐบาลจีน

 

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่กลาโหมของสหรัฐฯ ยังกล่าวหาว่า แฮกเกอร์จีนได้จารกรรมข้อมูลลับด้านการค้าจากบริษัทผู้ทำสัญญาว่าจ้างผลิตอาวุธของสหรัฐ เพื่อประโยชน์ในด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมยุทโธปกรณ์ด้วย

 

สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของจีนนั้น สหรัฐฯ ประเมินว่าอาจมีมูลค่าสูงถึง 225,000-600,000 ล้านเหรียญต่อปีเลยทีเดียว

 

 

ผลกระทบจากมวยคู่ซูเปอร์เฮฟวีเวต

แน่นอนว่าสงครามการค้าจากมาตรการภาษีได้เพิ่มต้นทุนให้กับสินค้าและบริการอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะค่าอากรที่เรียกเก็บทำให้ราคาสินค้านำเข้าแพงขึ้น ซึ่งผู้ผลิตอาจตั้งราคาสินค้าให้สูงขึ้นเพื่อรักษาผลกำไร และทำให้ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระไป

 

สงครามการค้าและมาตรการกีดกันต่างๆ ยังส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งทำให้ทิศทางการไหลเวียนของสินค้าและบริการต้องเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการไหลเข้าสู่ประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่า ซึ่งอาจส่งผลให้หลายประเทศเผชิญกับภาวะสินค้าล้นตลาด หรืออุปทานส่วนเกิน

 

คริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เคยเตือนว่าความขัดแย้งทางการค้าและกำแพงภาษีที่สูงขึ้นจะสร้างความเสียหายต่อการค้าทั่วโลกโดยรวม โดยมาตรการภาษีที่ต่างฝ่ายต่างงัดมาใช้กับอีกฝ่ายจะสร้างผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ทั่วโลกคิดเป็นสัดส่วนราว 0.5%

 

ในมุมของเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้น นักวิเคราะห์จาก Strategas บริษัทวิจัยกลยุทธ์การลงทุน ประเมินว่า ภายใต้สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด กำแพงภาษีจะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถึง 120,000 ล้านเหรียญ แต่สำหรับสหรัฐฯ อาจไม่สะทกสะท้านมากนัก เมื่อพิจารณาถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการปฏิรูประบบภาษีของทรัมป์ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับสหรัฐฯ ถึง 800,000 ล้านเหรียญ

 

เช่นเดียวกับ Goldman Sachs สถาบันการเงินชั้นนำของสหรัฐฯ ที่มองว่า การตั้งกำแพงภาษีจะไม่สะเทือนเศรษฐกิจสหรัฐฯ มาก เพราะอาจฉุด GDP สหรัฐฯ เพียง 0.1 จุด เมื่อเทียบกับการไม่มีมาตรการภาษีใดๆ

 

แต่นั่นเป็นเพียงแรงกระเพื่อมบนผิวน้ำที่เห็นได้ชัดเท่านั้น เพราะคลื่นใต้น้ำที่เกิดจากมาตรการต่างๆ เป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยากและส่งผลกระทบมากกว่า ดังจะเห็นได้จากตลาดเงินและตลาดหุ้นทั่วโลกที่ล้วนได้รับปัจจัยลบจากความไม่แน่นอนในสงครามการค้าระหว่างสองยักษ์เศรษฐกิจกันอย่างถ้วนหน้า

 

ความกังวลที่เกิดขึ้นกับนักลงทุน (จากสงครามการค้า การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลาง (เฟด) และปัจจัยอื่นๆ) ได้ฉุดตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง โดยนับจนถึงวันที่ 26 ธันวาคม 2018 ดัชนี S&P 500 ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทได้ปรับตัวลดลงจากจุดสูงสุดกว่า 20% ภายในระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดหุ้นได้เข้าสู่ทิศทางขาลง (Bear Market) อย่างเต็มตัว สอดคล้องตามคำทำนายของ FactSet Research Systems เมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ระบุว่า สงครามการค้าจะฉุดตลาดหุ้นสหรัฐฯ ร่วงลงเกือบ 22% และเข้าสู่ทิศทางขาลง

 

จากสถิตินับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ตลาดขาลง หรือ ‘ภาวะตลาดหมี’ จะกินเวลาเฉลี่ย 13 เดือน และทำให้ตลาดมีมูลค่าลดลง 30.4% ขณะที่นักวิเคราะห์จาก Goldman Sachs เชื่อว่า ด้วยปัจจัยต่างๆ ที่เป็นอยู่นี้ จะทำให้ตลาดหุ้นต้องใช้เวลาถึง 22 เดือนในการฟื้นตัว ซึ่งหมายความว่า ตลาดหุ้นในปี 2019 จะมีทิศทางที่ไม่สดใสนัก    

 

ไทยได้รับผลกระทบแค่ไหน

สำหรับผลกระทบของสงครามการค้าที่มีต่อไทยในรอบปี 2018 ที่ผ่านมานั้น ศูนย์ Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ รายงานว่า หลังจากที่สหรัฐฯ เริ่มใช้มาตรการภาษีกับจีน ทั้งจากมาตรา 232 ที่เรียกเก็บภาษีนำเข้าแผงโซลาร์ เครื่องซักผ้า เหล็ก และอะลูมิเนียมตั้งแต่ต้นปี 2018 และมาตรา 301 ที่เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนหลายชนิดตั้งแต่กลางปี 2018 ทำให้ไทยได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะสินค้าหมวดเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่จีนส่งออกไปยังสหรัฐฯ เป็นผลิตภัณฑ์ที่จีนใช้วัตถุดิบแผ่นชิ้นไม้อัด (particleboard) ที่นำเข้าจากไทย

 

นอกจากแผ่นไม้อัดที่เห็นได้ชัดเจนแล้ว ยังมีวัตถุดิบอีกหลายอย่างที่ไทยได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่ในวิกฤตก็มีโอกาสเสมอ เพราะสินค้าที่จีนถูกชาร์จภาษีจนแพงขึ้น จะเปิดโอกาสให้สินค้าบางอย่างของไทยส่งออกได้มากขึ้น ด้วยความสามารถในการแข่งขันในด้านราคา

 

 

กฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา: สนธิสัญญาสันติภาพ?

นับเป็นสัญญาณบวกในช่วงปลายปีก่อนก้าวสู่ศักราชใหม่ หลังจีนรับปากสหรัฐฯ ว่าจะให้ความคุ้มครองบริษัทต่างชาติที่ดำเนินงานในจีน โดยในร่างกฎหมายใหม่ที่กำลังจะผ่านความเห็นชอบในสภาประชาชนแห่งชาติ ซึ่งเปรียบเสมือนสภาตรายางของจีนนั้น มีบทบัญญัติที่ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทต่างชาติมากขึ้น

 

นอกจากนี้กฎหมายใหม่ยังกำหนดให้มีการปฏิบัติต่อบริษัทต่างชาติอย่างเท่าเทียมกัน ตลอดจนสร้างสภาพแวดล้อมการลงทุนที่มั่นคง โปร่งใส และทำนายได้ โดยผู้เล่นต่างชาติจะได้รับประโยชน์จากนโยบายรัฐที่มุ่งส่งเสริมการพัฒนาภาคธุรกิจ อีกทั้งสามารถเข้าร่วมโครงการจัดซื้อของรัฐอย่างเท่าเทียม  

 

ซึ่งจะทำได้ดีแค่ไหน และทรัมป์จะพอใจหรือไม่ คงต้องติดตามดูกันต่อไป

 

ก่อนหน้านี้ในที่ประชุม G20 ที่กรุงบัวโนสไอเรส เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ผู้นำจีนยอมโอนอ่อนผ่อนตามเงื่อนไขของสหรัฐฯ โดยรับปากว่าจะนำเข้าสินค้าสินค้าเกษตรและพลังงานจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น เพื่อลดยอดการขาดดุลการค้าระหว่างสองประเทศ ขณะเดียวกันก็จะระงับมาตรการภาษีที่ใช้กับรถยนต์และชิ้นส่วนนำเข้าจากสหรัฐฯ เป็นการชั่วคราว

 

 

อะไรน่าจับตาในสงครามการค้า ปี 2019

แม้จะมีสัญญาณบวกเกิดขึ้น แต่ยังไม่มีอะไรที่แน่นอน ขณะที่สัญญาสงบศึกมีผลเพียง 90 วันเท่านั้น และสิ่งที่ทั่วโลกต้องการเห็นคือข้อตกลงที่เปรียบเหมือน ‘สนธิสัญญาสันติภาพ’ เพื่อยุติสงครามการค้าอย่างถาวร

 

ดังนั้นช่วงเวลา 3 เดือนที่คาบเกี่ยวจนถึงต้นปีหน้านี้ จึงเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะชี้ชะตาว่าสงครามการค้าจะยืดเยื้อต่อไปในปีหน้าหรือไม่

 

หากทรัมป์และสีจิ้นผิงไม่สามารถหาทางออกในข้อพิพาทต่างๆ เช่น การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การบังคับถ่ายทอดเทคโนโลยี มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี การแทรกซึมทางไซเบอร์ และการจารกรรมข้อมูลเทคโนโลยี รัฐบาลสหรัฐฯ ก็มีแนวโน้มขยับพิกัดอัตราภาษีที่เก็บกับสินค้าจีนมูลค่า 200,000 ล้านเหรียญจาก 10% เป็น 25% เมื่อนั้นสงครามการค้าอาจปะทุขึ้นอีกระลอก

 

ไม่เพียงเท่านี้ คณะบริหารของทรัมป์ยังพิจารณาตั้งกำแพงภาษีเพิ่มกับสินค้าจีนอีก 267,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่อัตรา 10% หรือ 25% ด้วย

 

ในปีหน้า หากทั้งคู่แลกหมัดกันด้วยมาตรการภาษีโดยตรง สหรัฐฯ อาจกุมความได้เปรียบตรงที่มีไพ่ในมือเหนือกว่า เพราะสำหรับจีนซึ่งมียอดนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ น้อยกว่ายอดส่งออกแล้ว ถือว่ามีข้อจำกัดในการตอบโต้สหรัฐฯ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่จีนอาจงัดมาตรการอย่างอื่นมาเล่นงานสหรัฐฯ แทน เป็นต้นว่าการผ่อนคลายนโยบายการคลังและการเงิน หรือปล่อยให้สกุลเงินหยวนอ่อนค่าลง ซึ่งนั่นอาจสร้างความผันผวนที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดเงินทั่วโลก

 

 

สงครามการค้ากับสมรภูมิ AI และ 5G

นอกจากสงครามการค้าจะส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนของสินค้าและบริการทั่วโลกแล้ว พอล โรเมอร์ นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์คนล่าสุดจากผลงานวิจัยเรื่องอิทธิพลของเทคโนโลยีที่มีต่อการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ยังแสดงความกังวลด้วยว่า ศึกการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนของความคิดและไอเดียที่เป็นต้นทุนของนวัตกรรมต่างๆ ด้วย

 

โรเมอร์ มองว่า แนวคิดกีดกันทางการค้าซึ่งกำลังขยายตัวไปทั่วโลกในรูปแบบต่างๆ เป็นอันตรายใหญ่หลวง โดยหนึ่งในความเสี่ยงคือความพยายามขับเคี่ยวกันระหว่างสหรัฐฯ และจีนเพื่อช่วงชิงความผู้นำในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI

 

ที่ผ่านมาสหรัฐฯ ระแวงจีนที่พยายามครอบครองเทคโนโลยีอันเป็นกุญแจสำคัญสำหรับอนาคต และยิ่งไม่พอใจที่จีนพยายามพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีโดยการขโมยไอเดียจากชาวอเมริกัน

 

แต่โรเมอร์มองว่า ในอดีตอังกฤษก็เคยกล่าวหาสหรัฐฯ ในลักษณะนี้ โดยยุคที่อเมริกากำลังผงาดขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจทางอุตสาหกรรมเมื่อศตวรรษที่ 19 นั้น สหรัฐฯ ก็พยายามก๊อบปี้หรือลอกเลียนเทคโนโลยีของอังกฤษเพื่อไล่ตามให้ทันเช่นกัน

 

ในมุมมองของโรเมอร์นั้น สภาพแวดล้อมที่ดีที่สุดสำหรับการส่งเสริมการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ก็คือ สังคมที่มีการแบ่งปันแนวคิด และการกำหนดนโยบายจากภาครัฐที่เอื้อต่อระบบนิเวศแห่งนวัตกรรม

 

กลยุทธ์ที่เหมาะสมในเวลานี้คือการส่งเสริมให้ข้อมูลต่างๆ มีความโปร่งใสยิ่งขึ้น และผลักดันให้เกิดตลาดเสรี แต่รัฐบาลก็มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเครื่องจักรแห่งนวัตกรรมในโลกที่ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเปิดกว้าง ทว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากมีสงครามการค้าและมาตรการกีดกันรูปแบบต่างๆ เป็นตัวปิดกั้น

 

สิ่งที่น่าจับตาในปีหน้า นอกจากเรื่องการชิงความเป็นผู้นำในเทคโนโลยี AI ในบริบทของสงครามการค้าแล้ว เทคโนโลยี 5G ก็เป็นอีกประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจ

 

ในบทวิเคราะห์ของ Financial Times มองว่า การจับกุมเมิ่ง หว่านโจว ซีเอฟโอของ Huawei ในแคนาดาเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา อาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เมื่อดูจากช่วงเวลาที่ Huawei กำลังผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำในเทคโนโลยี 5G ของโลก

 

การที่ Huawei มีอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมทั่วโลกมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สหรัฐฯ เกิดความวิตกเกี่ยวกับปัญหาความมั่นคง เพราะพวกเขาระแวงว่ารัฐบาลจีนอาจใช้สายสัมพันธ์ที่ดีกับ Huawei เป็นช่องทางล้วงความลับของทางการหรือข้อมูลเทคโนโลยีสำคัญในต่างประเทศ

 

ขณะที่ทรัมป์ได้แย้มท่าทีอย่างชัดเจนแล้วว่า เขาพร้อมใช้ผู้บริหารหญิงของ Huawei เป็นหมากต่อรองในการเจรจาการค้ากับจีน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประเด็น Huawei, 5G และข้อพิพาททางการค้าต่างๆ จะอยู่ขอบข่ายการเจรจาระหว่างสองประเทศมหาอำนาจหลังจากนี้  

 

ดังนั้นสงครามการค้าที่ดำเนินอยู่จึงไม่ใช่แค่สงครามภาษีที่เราเห็นกันผิวเผินเท่านั้น แต่อาจขยายขอบเขตไปถึงสงครามในสมรภูมิ AI และ 5G ที่มีสหรัฐฯ และจีนเป็นผู้เล่นรายหลักในปีหน้า

 

ดูแล้วศึกใหญ่ระหว่างสองมหาอำนาจจึงไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ แม้ว่าสองฝ่ายอาจตกลงแก้ปัญหาบางอย่างกันได้ทันกำหนดเส้นตาย 90 วันก็ตาม เพราะความเป็นคู่อริและคู่แข่งทางยุทธศาสตร์ในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการช่วงชิงความเป็นผู้นำเทคโนโลยีกุญแจสำคัญแห่งอนาคต ทำให้ไม่มีใครยอมใคร ขณะที่การค้าเป็นเพียงเครื่องมือส่วนหนึ่งของประเทศมหาอำนาจเท่านั้น

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X