ถึงแม้จะมีปัญหาเรื่อง ‘วิจารณญาณ’ ของผู้ทรงคุณวุฒิและมีอิทธิพลที่ชวนให้ตั้งคำถามถึงอนาคตของวงการภาพยนตร์ไทยจากกรณี ไทบ้านเดอะซีรีส์ 2.2 รวมถึงกรณีที่หนังนอกกระแสยังต้องเดินทางขอทุนและเข้าฉายจากเทศกาลหนังต่างประเทศก่อน เพื่อเตรียมตัวให้นักดูหนังชาวไทยได้ดูในภายหลัง
แต่ในภาพรวมของวงการหนังไทยในปี 2018 หลายๆ ด้าน โดยเฉพาะรายได้รวมที่สูงขึ้น แสดงให้เห็นว่า คนไทยยังมีความตื่นเต้นและมี ‘กำลัง’ ในการดูหนังในโรงภาพยนตร์อยู่ โดยเฉพาะคนต่างจังหวัด ที่นับว่าเป็นตลาดใหญ่ที่ทีมผู้สร้างต้องกลับมาตีโจทย์ตรงนี้ให้มากขึ้น
นอกจากนี้เราก็ได้เห็นความน่ารักสดใสของสมาชิก BNK48 ที่หลายคนเริ่มฉายแววเข้ามาเป็นบุคลากรด้านงานแสดงที่สำคัญในอนาคต ได้เห็นพัฒนาการด้านวิชวลเอฟเฟกต์ที่เหมือนเป็น ‘หลุมดำ’ ของวงการมาโดยตลอด และยังมีโปรเจกต์หนังเกี่ยวกับภารกิจช่วยชีวิต 13 สมาชิกทีมหมูป่าอะคาเดมี ที่น่าจะเริ่มได้ดูในกันช่วงปีหน้า ก็ยังนับว่าเป็นสัญญาณที่ดีในการสร้างความหวังและทางเลือกใหม่ๆ ให้กับวงการหนังไทยในปีต่อๆ ไปได้ดีเหมือนกัน
BNK48 บุกโรงภาพยนตร์
นับตั้งแต่ส่งเพลง คุกกี้เสี่ยงทาย ออกมา ก็ดูเหมือนว่าจะไม่มีใครหยุดความโด่งดังของสมาชิกวง BNK48 รุ่นแรกได้อีกต่อไป เริ่มจากการเห็นหน้าพวกเธออยู่ในทุกๆ ที่ ตั้งแต่งานอีเวนต์ โฆษณา รถไฟฟ้า ร้านอาหาร โทรศัพท์มือถือ ข้างขวดน้ำ ไปจนถึงซองขนม รวมทั้งการขยายไปสู่สเกลที่ใหญ่กว่าอย่างจอภาพยนตร์
เริ่มตั้งแต่ อร-พัศชนันท์ เจียจิรโชติ ที่แจ้งเกิดเป็นคนแรกในภาพยนตร์ App War แอปชนแอป หนังใหม่จากค่าย TMoment ถึงแม้บทของเธอจะยังมีไม่มาก และยังไม่ได้โชว์ทักษะทางการแสดงออกมาเท่าไรนัก แต่ ‘เสน่ห์’ ในแบบ ‘แม่อร’ หรือ ‘อรอุ๋ง’ ก็ยังทำงานกระชากใจแฟนคลับได้อยู่หมัดเหมือนเดิม
เฌอปราง อารีย์กุล กัปตันของวง ก็ไม่ยอมแพ้ กับบทบาทการแสดงที่ท้าทายความสามารถแบบสุดๆ จาก Homestay หนังทริลเลอร์แฟนตาซีของค่าย GDH ที่นอกจากมีฉากน่ารักมาเซอร์วิสแฟนคลับแบบจุใจ ผู้กำกับอย่าง โอ๋-ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ ก็แสนจะใจร้าย ด้วยการมอบฉากอันแสนเจ็บปวดที่ทำให้เฌอปรางต้องร้องไห้แบบไม่เป็นภาษา รวมทั้ง ‘ฉาก’ ที่โอตะทั้งประเทศไม่อยากเห็น ถึงแม้จะเป็นงานที่หนัก แต่เฌอปรางถือว่าสอบผ่านในฐานะผลงานเรื่องแรกจริงๆ
ปัญ-ปัญสิกรณ์ ติยะกร ถึงแม้จะยังไม่มีงานแสดงเต็มตัว แต่ก็ยังได้แสดงทักษะด้านการพากย์เสียงเป็นครั้งแรกในบท ชาร์ลี วัตสัน (รับบทโดย ไฮลี สไตน์เฟลด์) นางเอกของภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ส่งท้ายปีอย่าง Bumblebee
ส่วนสมาชิกคนอื่นๆ ก็ได้ปรากฏตัวกันแบบเต็มๆ ใน BNK48: Girls Don’t Cry หนังสารคดีของวง กำกับโดย เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ถึงแม้จะมีเวลาให้แต่คนละไม่มากนัก แต่ต้องยอมรับว่าความในใจและหยดน้ำตาของเด็กสาวทั้ง 26 คน ที่ผ่านการต่อสู้และเรื่องราวหนักๆ มาเป็นระยะเวลา 1 ปี นั้นมีพลังมากพอทำให้หลายคนที่ไม่จำเป็นต้องเป็นโอตะ เสียน้ำตาออกมาได้เหมือนกัน
ในปี 2019 คาดว่าเรายังจะได้ชมผลงานการแสดงของเมมเบอร์อีกหลายคน ที่ชัดเจนแล้วคือ เฌอปราง อารีย์กุล ที่จะมีโปรเจกต์ใหม่กับค่าย GDH ส่วน มิวสิค-แพรวา สุธรรมพงษ์ และ เจนนิษฐ์-เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ จะมีงานแสดงใน Where We Belong ภาพยนตร์เรื่องใหม่ของ คงเดช จาตุรันต์รัศมี
และขยับไปที่จอโทรทัศน์ใน One Year ซีรีส์จากค่าย GDH ที่จะได้เห็นเหล่าเมมเบอร์จาก BNK48 มาร่วมแสดงถึง 8 คน! นำทีมโดยรุ่นที่ 1 อย่าง เฌอปราง อารีย์กุล, เจน-กุลจิราณัฐ อินทรศิลป์, น้ำใส-พิชญาภา นาถา, ปัญ-ปัญสิกรณ์ ติยะกร และรุ่นที่ 2 คือ ฟ้อนด์-ณัฐทิชา จันทรวารีเลขา, จูเน่-เพลินพิชญา โกมลารชุน, มิวนิค-นันท์นภัส เลิศนามเชิดสกุล และ วี-วีรยา จาง
ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ออน ฟิล์ม
จากภารกิจ Mission Impossible ที่มา ‘Possible’ ในประเทศไทย กับภารกิจช่วยชีวิต ‘ทีมหมูป่า’ 13 คนที่ติดอยู่ในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน กลายเป็นงานระดับโลกที่ทั้งคนไทยและผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศต้องใช้เวลา 17 วัน ในการพาสมาชิกทั้ง 13 คน ออกมาได้สำเร็จ ได้กลายเป็นวัตถุดิบชั้นเลิศที่ทีมผู้สร้างภาพยนตร์อยากนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้บนแผ่นฟิล์ม
เรื่องแรกที่คาดว่าทุกคนจะได้ดูกันก่อนคือ The Cave – นางนอน ของ ทอม วอลเลอร์ ผู้กำกับลูกครึ่งไทย-ไอริช เจ้าของผลงาน เพชฌฆาต และ ศพไม่เงียบ ที่เริ่มเปิดกล้องไปเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พร้อมกับเปิดเผยภาพนักแสดงชาวไทยคนแรกที่มารับบทนำในหนังเรื่องนี้ คือ นิรุตติ์ ศิริจรรยา ที่ปรากฏตัวในชุดข้าราชการเต็มเครื่องแบบ แต่ยังไม่มีการยืนยันว่าเขาจะมารับบทเป็นใครในหนังเรื่องนี้
ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ที่เปิดเผยมาแล้วคือ จิม วาร์นีย์ นักดำน้ำชาวเบลเยียม หนึ่งในผู้มีส่วนร่วมภารกิจลำเลียงทุกคนออกมาจากถ้ำ และเป็นผู้รับผิดชอบนำตัว โค้ชเอก-เอกพล จันทะวงษ์ ออกมาจากถ้ำในวันสุดท้ายของปฏิบัติการ จะกลับมารับบทเป็นตัวเอง และยังได้ ลี ชาตะเมธีกุล จาก ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ, เฉิ่ม, ลุงบุญมีระลึกชาติ ฯลฯ มาเป็นคนตัดต่อภาพยนตร์เรื่องนี้
นอกจาก The Cave – นางนอน ที่อยู่ภายใต้การดูแลงานสร้างของ De Warrenne Productions ยังมีอีก 3 สตูดิโอ อย่าง Universal Pictures ที่ได้ ไมเคิล เดอ ลูกา กับ เดนา บรูเน็ตติ ผู้สร้างจาก The Social Network, Fifty Shades of Grey มาดูแลโปรเจกต์, Ivanhoe Pictures ที่ได้ จอน เอ็ม. ชู จาก Crazy Rich Asians และ Now You See Me 2 มาเป็นผู้กำกับ และ Pure Flix บริษัทที่ผลิตภาพยนตร์เกี่ยวกับศาสนาคริสต์ ความเชื่อ และแรงบันดาลใจ ที่อยู่ระหว่างการทำ Pre-Production ในตอนนี้
ไทบ้านเดอะซีรีส์ 2.2 ยิ่งโดนแบน หนังยิ่งดัง
กลายเป็นข่าวสุดเศร้าที่ชวนตั้งคำถามกับวงการหนังไทย เมื่อภาพยนตร์เรื่อง ไทบ้านเดอะซีรีส์ 2.2 ถูกคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อกองเซนเซอร์ภาพยนตร์ ตัดสินมติ ‘ห้ามฉาย’ ในราชอาณาจักร ก่อนถึงเวลาฉายรอบปฐมทัศน์เพียง 1 วัน โดยให้เหตุผลสั้นๆ ว่า เกี่ยวกับ ‘ประเด็นความอ่อนไหวทางศาสนา’
ฉากดังกล่าวคือ ฉากที่ตัวละครชายคนหนึ่งอกหักจากผู้หญิงจึงหนีไปบวช ซึ่งต่อมาผู้หญิงอดีตคนรักเสียชีวิตด้วยเหตุไม่ปกติ และปรากฏเป็นภาพชายคนนั้นยืนเคาะโลงศพและร้องไห้ฟูมฟายคิดถึงคนรักในขณะที่ยังนุ่งเครื่องแบบพระสงฆ์อยู่
ถึงขนาดที่สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ประกอบด้วย ธนิตย์ จิตนุกูล (นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย), ปรัชญา ปิ่นแก้ว, บัณฑิต ทองดี และ อนุชา บุญยวรรธนะ ได้จัดงานแถลงข่าวกรณี ‘ภาพยนตร์ไทบ้าน 2.2 ไม่ผ่านเซนเซอร์’ โดยเปิดคลิปวิดีโอบางช่วงของภาพยนตร์ที่ถูกมองว่าไม่เหมาะสม และตั้งคำถามถึงมาตรฐานในการพิจารณา ภาพยนตร์บางเรื่องที่ออกฉายก่อนหน้านี้มีภาพพฤติกรรมที่ไม่สำรวมยิ่งกว่า แต่ยังสามารถออกฉายได้ตามปกติมาเป็นกรณีเปรียบเทียบ
แต่ทุกเสียงเรียกร้องล้วนไม่มีผลใดๆ กับวิจารณญาณอันแสนเฉียบคมของคณะกรรมการ สุดท้ายทีมงานผู้สร้างภาพยนตร์ต้องยอมตัดฉากที่ถูกมองว่า ‘ล่อแหลม’ ออกไป ถึงจะผ่านการพิจารณา พร้อมเรตภาพยนตร์ 15+ ถึงจะสามารถเข้าฉายได้ตามปกติ
อย่างคำที่หลายคนบอกไว้ว่า ฟ้าหลังฝนย่อมสวยงามเสมอ เพราะทันทีที่ ไทบ้านเดอะซีรีส์ 2.2 เข้าฉาย มีคนที่อยากเข้าไปพิสูจน์ประเด็นอันแสน ‘อ่อนไหว’ เป็นจำนวนมาก และสามารถทำรายได้ให้กับหนังได้มากถึง 46 ล้านบาท ในระยะเวลาเพียง 2 วัน ก่อนที่จะปิดตัวเลขทั้งหมดตลอดโปรแกรมฉายด้วยรายได้ที่มากกว่า 100 ล้านบาททั่วประเทศ
ท่ามกลางความสำเร็จที่เกิดขึ้น ยังมีอีกหนึ่งคำถามถึงคณะกรรมการผู้ทรงเกียรติ ที่มีอำนาจชี้นิ้วตัดสินว่าหนังเรื่องไหนจะได้ฉายหรือไม่ได้ฉาย คือ ‘พวกท่านคิดว่าความศรัทธาในประเทศที่มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติหยั่งรากลึกมาเป็นเวลาหลายร้อยปีนั้น อ่อนแอถึงขนาดที่จะถูกทำลายได้ด้วยฉาก ‘พระร้องไห้’ ที่มีความยาวเพียงแค่ 7 วินาที ได้จริงๆ หรือ?’
หนังนอกกระแสที่ต้องเดินทางทั่วโลก ก่อนกลับมาฉายในประเทศไทย
เหมือนว่าจะกลายเป็นธรรมเนียมสำหรับหนังนอกกระแสที่ต้องตระเวนเดินสายตามเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศเสียก่อน เหตุผลข้อแรกคือ บางเรื่องได้รับทุนสร้างจากหน่วยงานที่เป็นผู้สนับสนุนเทศกาลต่างๆ และเหตุผลข้อที่สองคือ ฟีดแบ็กจากการได้ไปเดินสายในต่างประเทศ นับว่าเป็นการช่วยยืนยันคุณภาพและความเพิ่มน่าสนใจให้กับนักดูหนังที่ไม่คุ้นชินกับการดูหนังนอกกระแสได้ในระดับหนึ่ง
อย่างที่เราเห็นได้จากหนังเรื่อง Snap ของ คงเดช จาตุรันต์รัศมี, Motel Mist และ Someone from Nowhere ของ ปราบดา หยุ่น ฯลฯ หรืออย่างในปี 2017 หนังอย่าง Samui Song ของ เป็นเอก รัตนเรือง และ มะลิลา ของ อนุชา บุญยวรรธนะ ก็ใช้โมเดลคล้ายๆ กัน ก่อนที่หนังจะเข้าฉายในปี 2018 โดยเรื่องหลังยังคงเดินสายกวาดรางวัลตามเวทีต่างๆ ต่อเนื่องมาถึงตอนนี้
ส่วนในปีนี้ก็มีหนังไทยที่น่าสนใจหลายเรื่องที่ได้รับเชิญให้ไปฉายตามเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา อย่าง นคร-สวรรค์ ของ พวงสร้อย อักษรสว่าง ที่ได้ฉาย World Premiere จากเทศกาล Busan International Film Festival ประเทศเกาหลีใต้ และตามด้วยการได้รางวัล Observation Missions for Asian Cinema Award จากเทศกาล Taipei Golden Horse Film Festival
เรื่องที่สองคือ กระเบนราหู ของ พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง ที่เรียกได้ว่าเดินสายทั้งฉายและกวาดรางวัลจนแทบไม่ไหว ตั้งแต่ฉายที่เทศกาล International Film Festival Macao screening, Festival Des 3 Continents ประเทศฝรั่งเศส, International Film Festival of India, San Sebastien International Film Festival ประเทศสเปน, Pingyao Crouching Tiger Hidden Dragon Film Festival ประเทศจีน ฯลฯ
พร้อมกับรางวัล Orizzonti Award ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่เทศกาลภาพยนตร์เวนิส, รางวัลปิรามิดเงินจากเทศกาลภาพยนตร์ไคโร, 3 รางวัลใหญ่จาก Thessaloniki International Film Festival ประเทศกรีซ, รางวัลพิเศษจาก Zagreb Film Festival ประเทศโครเอเชีย, Minsk international film festival ประเทศเบลารุส และ Mumbai Film Festival ประเทศอินเดีย
ส่วน Ten Years Thailand โดย 4 ผู้กำกับอย่าง อาทิตย์ อัสสรัตน์, วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง, จุฬญาณนนท์ ศิริผล และ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่เพิ่งเข้าฉายไปเมื่อกลางเดือนธันวาคม ก็ผ่านเทศกาลอย่าง London East Asia Film Festival, Busan International Film Festival, Taipei Golden Horse Film Festival, Hongkong Asian Film Festival และเป็นหนังไทยเพียงหนึ่งเดียวที่ได้เข้าฉายในสาย Special Screenings ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ปรากฏการณ์เจ้าแม่นาคี โมเดลขยายความสำเร็จจากละครโทรทัศน์สู่จอภาพยนตร์
หลังจากใช้เวลาเกือบ 2 ปีเต็ม เพื่อขยายจักรวาลเจ้าแม่นาคี จากละครสุดฮิตของช่อง 3 (เรตติ้งเฉลี่ยต่อตอนทั่วทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 10.927 ส่วนตอนอวสานมีเรตติ้งสูงที่สุดที่ 17.291) สู่ นาคี ๒ บนจอภาพยนตร์ โดยผู้กำกับมากฝีมืออย่าง พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง และนักแสดงนำอย่าง ณเดชน์ คูกิมิยะ, ญาญ่า-อุรัสยา เสปอร์บันด์, แต้ว-ณฐพร เตมีรักษ์ และ เคน-ภูภูมิ พงศ์ภาณุภาค ซึ่งแฟนๆ ก็ตอบแทนผลแห่งความตั้งใจและทุ่มเทของพวกเขา ด้วยรายได้ระดับ ‘ปรากฏการณ์’ ที่ใช้เวลาเพียง 4 วัน แต่สามารถกวาดรายได้ทั่วประเทศไปได้ถึง 218 ล้านบาท ก่อนที่จะปิดตัวเลขตลอดโปรแกรมฉายไปที่ 441.2 ล้านบาท
สิ่งที่น่าสนใจคือ รายได้ส่วนใหญ่ของหนังมาจากผู้ชมในพื้นที่จากต่างจังหวัดเป็นหลัก ขณะที่รายได้เมื่อนับเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และเชียงใหม่ นาคี ๒ ยังขึ้นแท่นเป็นหนังไทยเปิดตัวสูงสุดของปี 2561 ด้วยรายได้สุดสัปดาห์แรกที่ 73.54 ล้านบาท แซงหน้าภาพยนตร์ น้อง.พี่.ที่รัก ที่เคยครองแชมป์ไว้ที่ตัวเลข 66.76 ล้านบาท
หากคิดในแง่นี้ อาจจะพอตอบคำถามยอดฮิตที่ว่า ‘คนไทยไม่ดูหนังไทยจริงหรือเปล่า?’ ได้ดีในระดับหนึ่ง เพราะจริงๆ อาจไม่ใช่ว่าคนไทยไม่ยอมดูหนัง แต่เป็นเพราะว่าไม่มีหนังที่ ‘ถูกใจ’ ออกมาให้ดูมากกว่าหรือเปล่า โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด ตลาดสำคัญที่ทีมผู้สร้างหลายคนมองข้าม เพราะทันทีที่เข้าฉาย ก็มีภาพคนรุ่นใหม่ที่ยินดีพาพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ที่เป็นแฟนละคร ไปรับชม นาคี ๒ เป็นจำนวนมาก
เช่นเดียวกับ ไทบ้านเดอะซีรีส์ ที่ในภาคก่อนๆ ก็มีรายได้หลักจากผู้ชมต่างจังหวัด ยกเว้นภาคล่าสุดที่เป็นข่าว จนเป็นกระแสให้คนกรุงเทพฯ เข้าไปชมเป็นจำนวนมากตามไปด้วย และ หอแต๋วแตก แหกต่อไม่รอแล้วนะ ที่กวาดรายได้จากผู้ชมต่างจังหวัดได้มากถึง 22 ล้านบาท ในขณะที่ทำรายได้จากเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปได้เพียง 9 ล้านบาทเท่านั้น
ปีทองที่อัดแน่นด้วยงาน CG คุณภาพเยี่ยม
นอกจาก นาคี ๒ จะโดดเด่นในเรื่องความสนุกที่ทำให้แฟนๆ ละครเพลิดเพลินไปได้ทั้งเรื่อง งานคอมพิวเตอร์กราฟิกที่ทำออกมาได้อย่างสมจริง เกินความคาดหวังของแฟนๆ ละคร (CG ใน นาคี ก็นับว่าทำได้ดีกว่าละครไทยหลายๆ เรื่องอยู่แล้ว) ไปไกลมาก
เมื่อพัฒนาเป็นเวอร์ชันภาพยนตร์ ทีมงาน Fatcat VFX ที่รับหน้าที่ทำวิชวลเอฟเฟกต์ในเวอร์ชันละคร ได้ร่วมมือกับ Riff Studio จนสามารถสร้างสรรค์ฉากต่อสู้ของพญานาคที่ถอดแบบออกมาจากท่าทางของนักแสดงจริงๆ ออกมาได้อย่างน่าตื่นเต้น และแทบไม่มีจุดผิดพลาดออกมาให้จับผิดได้เลย
The Pool นรก 6 เมตร จากฝีมือกำกับของ พิง ลำพระเพลิง ที่เขามีไอเดียทำหนังเรื่องนี้มาเป็นเวลา 10 ปี แต่ยังทำไม่ได้ เพราะติดเงื่อนไขด้านการทำ CG ที่ยังพัฒนาไม่ถึง กระทั่งปี 2018 ที่เขาและค่าย TMoment เห็นตรงกันว่า ถึงเวลาแล้วที่จะสร้างหนังไอเดียสุดแปลก ที่ต้องใช้ความกล้าและความบ้าของทีมงานในระดับสูงขึ้นมา
โดยผลงานวิชวลเอฟเฟกต์ทั้งหมดใน The Pool นรก 6 เมตร เป็นผลงานของ Riff Studio และ Alternate Studio ที่รวมๆ แล้วพวกเขาต้องสร้างช็อตด้วยเทคนิคพิเศษขึ้นมามากถึง 500 ช็อต ถึงออกมาเป็นงาน CG ที่เนียนตา โดยเฉพาะลักษณะและการเคลื่อนไหวของจระเข้ที่สมจริง ละเอียดยิบถึงขนาดคนดูไม่สามารถแยกออกว่าฉากไหนที่ใช้จระเข้จริงๆ หรือฉากไหนเป็นจระเข้ที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยคอมพิวเตอร์กราฟิกกันแน่
เรื่องสุดท้ายคือ Homestay ที่มีจุดขายสำคัญอีกอย่างคือ งานวิชวลเอฟเฟกต์ที่ได้ทีม Yggdrasil Studio ที่อยู่เบื้องหลังงานระดับฮอลลีวูดอย่าง Kingsglaive Final: Fantasy XV และ Duck Duck Goose รวมทั้งเป็นผู้สร้าง Home Sweet Home เกมฝีมือคนไทยที่ไปหลอนเกมเมอร์ทั่วโลก มาเป็นกำลังสำคัญในการสร้างฉาก ‘เหนือจินตนาการ’ ในเรื่องนี้ขึ้นมา
นอกจากงานสร้างภาพสวยๆ ทั้งฉากหยุดเม็ดยาในอากาศ เม็ดทรายในนาฬิกาที่ละเอียดทุกอณู งานกรีนสกรีนที่นับว่าเป็นหนึ่งในจุดอ่อนของงาน CG ไทยมาตลอด แต่ใน Homestay ทำได้อย่างยอดเยี่ยม โดยเฉพาะทุกฉากที่มีการเดินบนตึก หยาดฝน ภาพมุมมองที่เอียงไปมา ซึ่งกลายเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นที่ทำได้อย่างสวยงาม สมจริง และไร้ที่ติ
พัฒนาการแบบก้าวกระโดดที่เกิดขึ้นกับหนังไทย 3 เรื่อง ภายใน 1 ปี รวมทั้งเครดิตการทำงานเบื้องหลังให้กับผลงานของคนไทยหลายคนในหนังฮอลลีวูด นับว่าเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า หากมีคนมองเห็น มีเงินทุนสนับสนุนที่มากพอ เราก็สามารถสร้างงานที่มีคุณภาพระดับโลกออกมาได้เช่นกัน
หนังนอกกระแสยังซบเซา แต่ภาพรวมรายได้ทั้งตลาดสูงขึ้น
ถึงแม้ถ้ามองในด้านรายได้ของหนังนอกกระแสหลายๆ เรื่อง จะยังไม่ใช่แนวโน้มที่ดีในตลาดหนังไทยเท่าไรนัก แต่จากหลายๆ ปรากฏการณ์ที่ช่วยกระตุ้นความตื่นตัวในการดูหนังของคนไทยมากขึ้น ทำให้ภาพรวมรายได้หนังไทยในภายรวมทั้งหมดของปีนี้ ถือว่ามีพัฒนาการจากปีก่อน ที่หนังไทยค่อนข้างซบเซามากพอสมควร
โดยในปี 2017 มีหนังไทยเข้าฉายทั้งหมด 48 เรื่อง แต่มีเพียงแค่ 3 เรื่องคือ ส่ม ภัค เสี้ยน ของ M Pictures, ฉลาดเกมส์โกง ของ GDH และ มิสเตอร์เฮิร์ท มือวางอันดับเจ็บ ของ Transformation Films เท่านั้น ที่ทำรายได้ในประเทศเกิน 100 ล้านบาท
ในขณะที่ปี 2018 มีหนังไทยเข้าฉาย 43 เรื่อง แต่กลับมีถึง 7 เรื่อง คือ ๙ ศาสตรา ของ M Pictures,น้อง.พี่.ที่รัก ของ GDH, ไบค์แมน ศักรินทร์ ตูดหมึก ของ M39, ขุนพันธ์ 2 ของสหมงคลฟิล์ม, ไทบ้านเดอะซีรีส์ 2.2 และ Homestay ของ GDH ที่ทำรายได้เกิน 100 ล้านบาท นับเฉพาะ นาคี ๒ เรื่องเดียว ก็มากกว่ารายได้รวมกัน 3 เรื่องที่ที่ทำรายได้สูงสุดของปี 2017 ได้แล้ว
ถึงแม้จะน่าเสียดายอยู่บ้างที่ หอแต๋วแตก แหกต่อไม่รอแล้วนะ ทำรายได้ไปแค่ 84 ล้านบาท เพราะก่อนหน้านี้ พชร์ อานนท์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า หอแต๋วแตก ภาคนี้ต้องทำรายได้ถึง 100 ล้านบาท เขาถึงจะคิดทำ หอแต๋วแตก ภาคต่อไป ทำให้ความสนุกในการเฝ้าดูว่าตัวละครในจักรวาล ‘หอแต๋วแตก’ ที่ไม่อาจคาดเดาได้ จะพัฒนาต่อได้ไกลขนาดไหน คงต้องจบลงแต่เพียงเท่านี้
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: