×

ประเทศไทย 2017 คือปีแห่งสังคม (รอ) สงเคราะห์?

13.12.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

12 Mins. Read
  • ปี 2560 เป็นปีที่นโยบายด้านสวัสดิการรัฐเด่นชัดและได้รับการพูดถึงมากที่สุดนับตั้งแต่รัฐบาล คสช. เข้ามาบริหารประเทศ
  • ตูน บอดี้สแลม คือปรากฏการณ์เด่นในรอบปีที่ถูกนำมาวิเคราะห์วิจารณ์ได้ไกลถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ
  • ปีนี้มี 12 เดือนเหมือนทุกปี แต่ที่ไม่ปกติคือใน 12 เดือนนี้ หลายพื้นที่ในประเทศไทยจมน้ำไปนานกว่าครึ่ง หรือ 6 เดือน

‘จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ บทความอมตะของป๋วย อี๊งภากรณ์ เผยแพร่เมื่อปี 2516 อธิบายแนวความคิดเกี่ยวกับความต้องการโดยทั่วไปของประชาชนทุกคนที่ต้องการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิในครรภ์มารดา ได้รับความรักจากพ่อแม่ ได้รับการศึกษา ได้รับการบริการและสวัสดิการต่างๆ จากรัฐบาลและสังคมอย่างมีคุณภาพ จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

 

ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยมีแนวโน้มเริ่มขยับเข้าใกล้แนวคิดที่ว่านี้ผ่านการแข่งขันกันทางนโยบายของพรรคการเมือง แม้จะมีข้อถกเถียงถึงเส้นแบ่งระหว่าง ‘รัฐสวัสดิการ’ กับ ‘ประชานิยม’ แต่อย่างไรก็ตาม การสนใจดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนผ่านระบบสวัสดิการสังคมได้ถูกยกระดับขึ้นมาเป็นวาระสำคัญในทุกพรรคการเมืองที่ประกาศตัวจะเข้าไปเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ โดยสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถึงกับประกาศเป้าหมายว่าไทยจะเข้าสู่ระบบสวัสดิการถ้วนหน้าภายในปี 2560

 

จากสวัสดิการถ้วนหน้าสู่สวัสดิการเฉพาะคนจน?

รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดอยู่เสมอถึงการไม่เห็นด้วยกับแนวคิดสวัสดิการถ้วนหน้า แต่เห็นว่าประเทศไทยเหมาะกับสวัสดิการแบบกำหนดกลุ่มเป้าหมาย โดยเลือกสงเคราะห์คนจนและผู้ด้อยโอกาส

 

ประโยชน์ของระบบสวัสดิการแบบกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ทุกคนเห็นตรงกันคือทำให้ใช้เงินงบประมาณอย่างคุ้มค่า แต่จุดอ่อนคือความยากในการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายได้อย่างไม่ผิดพลาด ขณะที่ความเห็นของนักวิชาการระบุว่า หากไม่สามารถคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายได้ดีพอ สุดท้ายเงินก็จะไปไม่ถึงมือคนจนอย่างที่ตั้งใจ ส่วนเงินงบประมาณที่คิดว่าจะประหยัดขึ้นก็อาจไม่จริงเท่าที่ควร เพราะเสี่ยงต่อการรั่วไหล และมีต้นทุนการดำเนินการที่สูง

 

ตลอดปี 2560 ที่ผ่านมา หรือเข้าสู่ปีที่ 3 ของรัฐบาลทหาร แนวคิดของผู้นำทหารถูกถ่ายทอดไปสู่การปฏิบัติผ่านนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล คสช.

 

สวัสดิการสังคมของคนไทยตั้งเกิดยันแก่ มีบางอย่างยังคงได้รับสิทธิ์ถ้วนหน้ามากขึ้น แต่ก็มีบางอย่างถูกตัดหรือมีแนวโน้มจะถูกลดลง ณ ตอนนี้คงกล่าวไม่ได้ว่ารัฐบาล คสช. ละทิ้งสวัสดิการถ้วนหน้าและมุ่งหาสวัสดิการแบบกำหนดกลุ่มเป้าหมายเต็มตัว แต่ตลอดปี 2560 เราเห็นแนวโน้มที่รัฐพยายามจะมุ่งหน้าไปทางนั้นมากขึ้น

 

และปีเดียวกันนี้เอง เราได้เห็นแนวนโยบายสวัสดิการแบบเจาะจงสงเคราะห์อย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด

 

เราจึงเรียกประเทศไทยปี 2560 ว่า ปีแห่งสังคม (รอ) สงเคราะห์?

 

 

สิทธิ์จากครรภ์มารดาที่ถ้วนหน้ามากขึ้น

เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2560 คณะรัฐมนตรีอนุมัติเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินประจำปี 2560 วงเงิน 804.705 ล้านบาท ให้โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดถึง 3 ขวบ รายละ 600 บาท/คน/เดือน

 

โดยจะนำไปจ่ายให้กับผู้มีสิทธิ์ที่ต้องได้รับเงินต่อเนื่อง 4 เดือน (มิถุนายน-กันยายน 2560) จำนวน 85,752 คน และผู้มีสิทธิ์ที่ต้องได้รับเงินต่อเนื่อง 5 เดือน (พฤษภาคม-กันยายน 2560) จำนวน 136,229 คน รวมถึงผู้มีสิทธิ์ที่คาดว่าจะได้เพิ่มขึ้นในปี 2560 จำนวน 129,077 คน

 

ทั้งนี้โครงการดังกล่าว คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558 โดยตอนแรกจ่ายเงินอุดหนุนเดือนละ 400 บาท เป็นระยะเวลา 1 ปี ให้กับเด็กที่เกิดระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึง 30 กันยายน 2559 ต่อมาในวันที่ 22 มีนาคม 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติเพิ่มวงเงินจาก 400 บาท เป็น 600 บาท แถมขยายเวลาจากให้แค่ปีเดียวเป็นให้ไปจนถึงอายุ 3 ขวบ

 

สาระสำคัญคือคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ยกเลิกเงื่อนไขที่กำหนดว่า ผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดต้องเป็นผู้อยู่ในระบบประกันสังคม โดยให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561

 

นโยบายดังกล่าวถือเป็นการส่งเสริมสวัสดิการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดที่ถ้วนหน้ามากขึ้น จากเดิมที่มีเด็กที่จะได้รับเงินอุดหนุนเพียง 3,770 คน เนื่องจากเงินสงเคราะห์บุตรมีหลักเกณฑ์การจ่ายให้ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบเป็นระยะเวลา 6 ปี และจะมีการตรวจสอบภายในระยะเวลา 3 ปีว่าผู้ประกันตนส่งเงินสมทบเข้าประกันสังคมครบ 12 เดือนหรือไม่ หากไม่ครบ สำนักงานประกันสังคมจะตัดสิทธิ์

 

การศึกษาถ้วนหน้าที่ต้องจับตาว่าจะลดลง

สำหรับภาพรวมของนโยบายการศึกษาของ คสช. ในปีนี้ (2560) เน้นหนักไปที่การปฏิรูปโครงสร้างทางอำนาจของระบบราชการในกระทรวงศึกษาธิการ ข่าวใหญ่ที่สุดในรอบปีนี้คือการใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)  

 

สาระสำคัญคือการยุบกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา โอนอำนาจไปเป็นของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน รวมถึงมีการตัดอำนาจบริหารงานบุคคล หรืออำนาจในการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพฐ.) ไปอยู่ที่ศึกษาธิการจังหวัด

 

คำสั่งดังกล่าวเป็นการรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง จากเดิมที่โครงสร้างออกแบบให้กระจายอำนาจไปตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้อิสระโรงเรียนบริหารตัวเองร่วมกับท้องถิ่นชุมชน

 

คำสั่ง คสช. ฉบับนี้สร้างความขัดแย้งอย่างหนักในกระทรวงศึกษาธิการระหว่างหน่วยงานท้องถิ่นกับศึกษาธิการจังหวัด เป็นความขัดแย้งใหญ่ที่ต้องจับตาต่อไป แต่ดูเหมือนรัฐบาล คสช. จะไม่มองเรื่องนี้เป็นปัญหาเร่งด่วนนัก

 

ขณะที่ระบบสวัสดิการด้านการศึกษายังดำเนินต่อไปภายใต้คำสั่งมาตรา 44 ฉบับที่ 28/2559 เรื่อง ให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย โดยคำสั่งดังกล่าวสืบเนื่องจากกระแสต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ 7 สิงหาคม 2559 ที่ตัดสิทธิ์เรียนฟรีจาก 15 ปี เหลือ 12 ปี

 

สวัสดิการการศึกษาถ้วนหน้า 15 ปี จนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 จึงแขวนอยู่กับคำสั่งมาตรา 44 ของหัวหน้า คสช.

 

 

สวัสดิการค่าครองชีพ แบ่งแยกรวย-จนผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา คนไทยคุ้นเคยกับสวัสดิการช่วยเหลือค่าครองชีพการเดินทาง ‘รถเมล์ฟรี-รถไฟฟรี’ ซึ่งไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็สามารถใช้บริการได้ฟรี ไม่มีเงื่อนไข ปี 2560 นี้เองที่โครงการนี้ต้องปิดตำนานลง โดยรัฐบาล คสช. ได้ออกโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่ได้ลงทะเบียนและผ่านเกณฑ์กับภาครัฐจำนวน 11 ล้านคน โดยมีวงเงินใช้จ่ายซื้อสินค้าผ่านร้านธงฟ้าประชารัฐ วงเงิน 200-300 บาท รวมถึงมีวงเงินให้ใช้โดยสารรถเมล์ บขส. รถไฟ และรถไฟฟ้า (เฉพาะพื้นที่ กทม. และปริมณฑลรวม 7 จังหวัด)

 

โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐถูกตั้งชื่อเล่นโดยสื่อมวลชนว่า ‘บัตรคนจน’ ซึ่งถูกวิจารณ์ตั้งแต่ก่อนเริ่มแจกบัตรในเชิงหลักการที่มองคนไม่เท่ากัน แบ่งชนชั้นตีตราว่าจนชัดเจน นอกจากนี้ยังมีปัญหาในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การลงทะเบียนคนจนซึ่งปรากฏว่ามีผู้จบการศึกษาระดับปริญญาโทถึงปริญญาเอกมาลงทะเบียนด้วย รวมถึงยังปรากฏคนไม่จน แต่มีบัตรคนจน ซึ่งเป็นกระแสวิจารณ์โด่งดังในโลกออนไลน์

 

ดร.สมชัย จิตสุชน แห่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า แนวคิดเปิดให้คนจนมาลงทะเบียน ผลลัพธ์ที่ได้คือคนที่มาลงทะเบียนอาจไม่จน ส่วนคนจนอาจไม่ได้มาลงทะเบียน  

 

อีกทั้งปัญหาสำคัญกว่าคนไม่จนมารับสิทธิ์คือ ‘คนจนจริงๆ ไม่ได้รับสิทธิ์’ เนื่องจากเราไม่รู้เลยว่าคนจนจำนวน 4-5 ล้านคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนมาลงทะเบียนรับสิทธิ์กันครบหรือไม่

 

(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ดราม่าบัตรคนจนในมือคนไม่จน แต่ปัญหาคนจนตัวจริงไม่ได้รับสิทธิ์ และถูกมองข้าม)

 

สำหรับขั้นตอนการนำ ‘บัตรคนจน’ ไปใช้ก็มีปัญหาตามมาไม่น้อย ทั้งปัญหาร้านธงฟ้ามีไม่เพียงพอครอบคลุมทุกพื้นที่ ปัญหาเครื่อง EDC ที่ใช้งานจริงมักติดขัดบ่อยครั้ง

 

ส่วนโครงการรถเมล์อี-ทิกเก็ต ซึ่งเร่งติดตั้งให้ทันใช้กับบัตรคนจนจำนวน 800 คันก็มีปัญหาตามมาไม่หยุดหย่อน ทั้งสแกนไม่ได้ เครื่องพัง เป็นข่าววุ่นวายให้เห็นกันในช่วงปลายปีที่ผ่านมา

 

ขณะที่ปัญหาใหญ่ยังคงต้องลุ้นว่า บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) จะสามารถติดตั้งอี-ทิกเก็ต เสร็จสิ้นตามกำหนด TOR หรือไม่ ซึ่งหากไม่ทัน ขสมก. อาจต้องยกเลิกสัญญา ทำให้ปัญหาการติดตั้งล่าช้าออกไป

 

นอกจากนี้ยังต้องจับตาดูว่าจะสามารถใช้บัตรคนจนขึ้นรถไฟฟ้าทั้งระบบได้ในช่วงกลางปีหน้า (2561) ได้ตามที่กระทรวงการคลังรับปากไว้ได้หรือไม่

 

สวัสดิการช่วยเหลือค่าครองชีพในการเดินทาง ซึ่งเคยถ้วนหน้าผ่านโครงการรถเมล์-รถไฟฟรี ถูกทำให้เป็นสวัสดิการแบบกำหนดกลุ่มเป้าหมาย เลือกสงเคราะห์ให้เฉพาะคนจน ซึ่งยังมีปัญหาทั้งการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเงินอาจไปไม่ถึงมือคนจนอย่างที่ตั้งใจ ไปจนถึงปัญหายิบย่อยในการนำบัตรไปใช้จริง

 

 

แก่รวยช่วยแก่จน เปลี่ยนสิทธิ์ถ้วนหน้าเป็นเจาะจง แต่ได้เงินมากขึ้น

เป็นข่าวใหญ่เรียกเสียงฮือปนฮา โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางการดำเนินโครงการสละสิทธิ์เบี้ยยังชีพคนชรา เพื่อนำเงินที่คนชราสละสิทธิ์มาเพิ่มให้กลุ่มคนชราที่มีรายได้น้อย

 

โดยเปิดโอกาสให้คนชราแสดงความจำนงขอสละสิทธิ์รับเบี้ยคนชรา ถือเป็นการบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเข้ากองทุนผู้สูงอายุ

 

ทั้งนี้สามารถแสดงเจตจำนงบริจาคเบี้ยผู้สูงอายุได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2560 ณ สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร องค์การบริหารส่วนตำบล หรือเทศบาลที่ได้ลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไว้

 

โดยผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติ และสามารถนำเงินบริจาคไปหักภาษีบุคคลธรรมดาได้

 

นอกจากนี้ สนช. ยังได้ผ่านกฎหมายช่วยเหลือผ่านกองทุนผู้สูงอายุ โดยการนำภาษีจากสุรายาสูบ 2% จัดสรรเข้ากองทุนผู้สูงอายุ รัฐบาลคาดว่าเมื่อเงินกองทุนผู้สูงอายุมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากภาษีสุรายาสูบ 2% รวมกับเงินบริจาคที่อาจมีคนชราบางส่วนสละสิทธิ์ จะทำให้สามารถจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้มากขึ้น คาดว่าไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท/คน/เดือน จากปัจจุบันผู้สูงอายุตั้งแต่อายุ 60-70 ปี ได้รับเบี้ยเดือนละ 600 บาท อายุ 70-80 ปี ได้รับเบี้ย 700 บาท อายุ 80-90 ปี ได้รับเบี้ย 800 บาท และอายุตั้งแต่ 90 ปีขึ้นไป ได้รับเบี้ย 1,000 บาท

 

 

เมื่อ ‘ตูน บอดี้สแลม’ กำลังวิ่งไปพร้อมกับการแก้ไขกฎหมายบัตรทอง

ตูน บอดี้สแลม วิ่งเพื่อระดมทุนรับเงินบริจาคช่วยเหลือ 11 โรงพยายาลในการซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ผ่านโครงการ ‘ก้าวคนละก้าวเพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ’ ตูนออกวิ่งจากอำเภอเบตง จังหวัดยะลา เป้าหมายปลายทางคืออำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย รวมระยะทาง 2,191 กิโลเมตร ตั้งเป้าไว้ว่าจะได้เงินบริจาค 700 ล้านบาท

 

ไม่มีใครปฏิเสธความตั้งใจดีของโครงการนี้ ตูน บอดี้สแลม ได้รับคำชื่นชมยกย่องจากผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม แม้จะถูกวิจารณ์ว่าสิ่งที่เขาทำไม่สามารถแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่แท้จริงของระบบรักษาพยาบาลในไทยได้ แต่เสียงที่แว่วมาอีกฟากให้ชวนคิดก็คือ ปัญหาเชิงโครงสร้างไม่น่าใช่ภาระหน้าที่ของร็อกสตาร์ผู้นี้เพียงคนเดียว ในทางตรงข้าม กระแสสังคมจำนวนไม่น้อยพุ่งเป้าไปที่การทำงานของรัฐบาล

 

เมื่อครั้ง ‘ตูน บอดี้สแลม’ มาเปิดใจให้สัมภาษณ์สดที่ THE STANDARD

“ผมชอบทำมากกว่าพูด” เป็นคำพูดของตูนที่ถูกคัดลอกไปเผยแพร่เพื่อใช้ถากถางกระแสไม่เห็นด้วยกับโครงการเป็นหลัก

 

แต่เมื่อผู้ดำเนินรายการถามตูนถึงกระแสวิจารณ์โครงการในวันนั้น สิ่งที่ตูนสื่อสารออกมาอย่างน่าประทับใจคือ เขาเชื่อว่าอย่างน้อยสิ่งที่เขาทำจะช่วยให้คนตระหนักถึงปัญหานี้

 

ปัญหาที่ว่าคือ ทำไมเรายังขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์?

 

ตูน บอดี้สแลม ยังวิ่งต่อไปยังจุดหมายที่เขาตั้งไว้ แต่ดูเหมือนว่าจุดหมายจะไม่ใช่เป้าหมายของตูนเสียแล้ว

 

เพราะระหว่างทางต่างหากคือเป้าหมายของผู้ชายคนนี้

 

 

3 ประเด็นสำคัญแก้กฎหมายบัตรทอง

ในระหว่างที่ตูนวิ่งอยู่นั้น ‘ร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….’ หรือร่างกฎหมายบัตรทองฉบับใหม่ กำลังรอจ่อคิวเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ต่อไป

 

นี่เป็นการแก้ไขร่างกฎหมายครั้งแรกในรอบ 15 ปี นับแต่เริ่มมีกฎหมายฉบับนี้มา ซึ่งคนไทยรู้จักในชื่อโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค

 

สำหรับเงินค่ารักษาพยาบาลในโครงการบัตรทอง ถูกบริหารจัดสรรโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งได้รับจัดสรรงบประมาณมาจากรัฐบาล ปีล่าสุดได้งบประมาณกว่า 151,770 ล้านบาท

 

ปรับโครงสร้างบอร์ด สปสช.

โครงสร้าง สปสช. ประกอบด้วยคณะกรรมการ 30 คน มีหน้าที่บริหารงบประมาณจำนวนมหาศาลนี้ มีตัวแทนจากภาคประชาชน ประกอบด้วยท้องถิ่น เอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิ

 

ส่วนร่างกฎหมายใหม่ บอร์ด สปสช. จะเพิ่มเป็น 32 คน แต่ลดตัวแทนภาคประชาชน ไปเพิ่มตัวแทนจากผู้ให้บริการ ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลต่างๆ

 

ประเด็นนี้ฝ่ายคัดค้านมองว่าเป็นการลดสัดส่วนและอำนาจในการต่อรองและกำกับดูแลของภาคประชาชนลง ขณะที่ฝ่ายผู้ร่างกฎหมายฉบับใหม่มองว่า ฝ่ายผู้คัดค้านเสียประโยชน์จากการหลุดตำแหน่งใน สปสช.

 

แยกเงินเดือนบุคลากรออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว

หากจะอธิบายแบบรวบรัดถึงการกระจายเงินมาตามโรงพยาบาลต่างๆ ของโครงการบัตรทองคือ สปสช. จะจัดสรรงบไปยังโรงพยาบาลในท้องที่ต่างๆ ตามจำนวนประชากรในท้องที่นั้น สมมติง่ายๆ ว่างบเหมาจ่ายรายหัวปัจจุบันอยู่ที่ 3,109 บาท/คน/ปี ถ้าพื้นที่นั้นมีประชากร 100,000 คน ก็เอา 3,109 x 100,000 เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม งบเหมาจ่ายต่อหัวจำนวน 3,109 บาท/คน/ปี ไม่ใช่เงินค่ารักษาทั้งหมด แต่เป็นเงินที่รวมเงินเดือนบุคลากรทางการแพทย์แล้ว ในร่างกฎหมายฉบับใหม่จึงกำหนดให้แยกค่าใช้จ่ายบุคลากรออกมาเพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

 

ประเด็นนี้ฝ่ายคัดค้านมองว่า การแยกเงินเดือนออกมาจะทำให้บุคลากรทางการแพทย์ขอย้ายไปทำงานในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้หรืออยู่ในเขตเมือง โดยที่ตำแหน่งยังอยู่ที่โรงพยาบาลในเขตทุรกันดาร

 

ขณะที่ผู้ร่างกฎหมายฉบับใหม่เห็นว่า การแยกเงินเดือนก็เพื่อให้โรงพยาบาลต่างๆ บริหารจัดการได้ง่ายขึ้น ส่วนเรื่องบุคลากรนั้นจะมีคณะกรรมการดูแลอีกทีหนึ่ง

 

บัตรทองไม่ฟรี ประชาชนต้องร่วมจ่าย!

นี่คือประเด็นที่ถกเถียงเป็นวงกว้างมากกว่า 2 ประเด็นแรก เพราะกระทบคนจำนวนมาก โดยท่าทีของรัฐบาล คสช. ตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศมีความพยายามชี้แจงให้เห็นถึงข้อเสียและภาระงบประมาณมหาศาลที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลฟรีถ้วนหน้า เคยมีการโยนหินถามทางให้ประชาชนร่วมจ่ายมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ถูกโยนก้อนหินกลับจนต้องถอยและพับแนวคิดใส่ลิ้นชัก

 

ที่สุดแล้ว ร่างกฎหมายบัตรทองฉบับใหม่ไม่มีการแก้ไขเรื่องการ ‘ร่วมจ่าย’ โดยผู้ร่างกฎหมายฉบับใหม่ให้เหตุผลว่า การร่วมจ่ายเป็นเนื้อหาที่อยู่ในร่างกฎหมายบัตรทองเดิมอยู่แล้ว ซึ่งเป็นแนวทางที่มีไว้ให้เลือกในอนาคต

 

อย่างไรก็ตาม ประตูของการร่วมจ่ายไม่ได้ปิดตาย เพราะอย่าลืมว่าในรัฐธรรมนูญ 2560 มีการตัดคำสำคัญอย่าง ‘สิทธิเสมอกัน’ ออกไปจากการรับบริการสาธารณสุข ซึ่งภาคประชาชนมองว่าเป็นการเปิดช่องให้สามารถยกเลิกกฎหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้

 

สำหรับร่างกฎหมายบัตรทองฉบับใหม่ยังอยู่ในชั้นกฤษฎีกา รอเข้า ครม. พิจารณา ก่อนจะส่งให้ สนช. พิจารณาอีกครั้ง คาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะชัดเจนขึ้นในปีหน้า และเชื่อว่าประเด็นนี้จะได้รับการพูดถึงอย่างร้อนแรงอีกครั้ง

 

 

ปีแห่งการลอยคอ น้ำท่วมค่อนประเทศกว่าครึ่งปี

ปี 2560 เป็นปีที่พี่น้องชาวไทยกว่าค่อนประเทศต้องจมอยู่กับน้ำท่วมและน้ำขังรอระบาย ทั้งยังเป็นปีที่ปัญหาน้ำท่วมรุนแรงชวนให้คิดไปถึงเมื่อครั้งมหาอุทกภัยปี 2554

 

ตาลัส เซินกา และทกซูรี คือชื่อของพายุ 3 ลูกที่พัดผ่านเข้ามาใกล้ประเทศไทยในรอบ 3 เดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงกันยายน ส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนสะสมของไทยโดยเฉลี่ยในปี 2560 สูงใกล้เคียงกับปี 2554 ยกเว้นภาคอีสาน ซึ่งมีปริมาณฝนสะสมสูงกว่าเมื่อเทียบกับ 6 ปีก่อน

 

โดยเฉพาะช่วงเดือนกรกฎาคม พายุ 2 ลูกทั้งตาลัสและเซินกาส่งอิทธิพลเข้ามาต่อเนื่องกัน ทำให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะทางด้านตอนบนของภาคเหนือ รวมถึงบางพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

มวลน้ำบางส่วนในพื้นที่ภาคเหนือได้ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ประกอบกับมีฝนตกในพื้นที่ภาคกลาง ทำให้ปริมาณน้ำในลำน้ำมีค่อนข้างมาก และเกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำภาคกลาง

 

เฉพาะอิทธิพลจากพายุ 2 ลูกนี้ ส่งให้พื้นที่ค่อนประเทศรวม 44 จังหวัดจมน้ำ ประชาชนได้รับผลกระทบ 609,425 ครัวเรือน 1,898,322 คน มีผู้เสียชีวิต 44 ราย

 

ต่อมาในเดือนกันยายน พายุทกซูรีส่งอิทธิพลกระหน่ำไทยซ้ำเติมสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 44 จังหวัดให้เลวร้ายยิ่งกว่าเดิม

 

 

14 ตุลา ถึงคิวคนกรุงเทพฯ เจอน้ำรอระบาย

ขณะที่คนกรุงเทพฯ แม้จะรอดพ้นจากน้ำท่วม แต่ไม่พ้นต้องเจอกับปัญหา ‘น้ำขังรอระบาย’ โดยช่วงคืนวันที่ 13 ตุลาคมถึงเช้าวันที่ 14 ตุลาคม เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากกระจายตัวในทุกพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ปริมาณน้ำฝนทำสถิติสูงสุดในรอบ 31 ปี เปลี่ยนวันหยุดสุดสัปดาห์ของคนกรุงเป็นวันแห่งความโกลาหล ถนนหนทางน้ำท่วมขัง ไม่สามารถสัญจรไปไหนได้ กทม. ใช้เวลาตลอดทั้งวันเพื่อเร่งระบายน้ำคืนพื้นผิวถนนให้กลับสู่สภาพปกติ ท่ามกลางเสียงวิจารณ์อย่างหนักถึงการแก้ปัญหาน้ำท่วมขังที่ซ้ำซากนี้ไม่ได้เสียที

 

ฝนตกน้ำท่วมกรุงเทพฯ เมื่ออุโมงค์ระบายน้ำยักษ์ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

กทม. ใช้เวลาทั้งวันในการระบายน้ำขังรอระบาย แต่พื้นที่ภาคกลางอื่นๆ จมน้ำอยู่กว่า 4-5 เดือน โดยช่วงเดือนพฤศจิกายนยังมี 16 จังหวัดที่ยังจมน้ำอยู่ เช่น สุโขทัย, พิจิตร, นครสวรรค์, อุทัยธานี, ชัยนาท ฯลฯ ข่าวน้ำท่วมจางหายจากความสนใจของผู้คนไปค่อนข้างรวดเร็ว สวนทางกับปริมาณน้ำที่ค่อยๆ คลี่คลายลงอย่างช้าๆ

 

อย่างไรก็ตาม ช่วงท้ายปี (พฤศจิกายน-ธันวาคม) ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมขังในหลายจังหวัด

 

ชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ว่า ภาพรวมตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายนถึง 9 ธันวาคม 2560 มีพื้นที่น้ำท่วมใน 11 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี, ยะลา, สงขลา, พัทลุง, ตรัง, สตูล, ชุมพร, นราธิวาส,นครศรีธรรมราช, สุราษฎร์ธานี และกระบี่ รวม 121 อำเภอ 820 ตำบล 5,901 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 502,158 ครัวเรือน 1,616,447 คน เสียชีวิต 22 ราย

 

นี่คือภาพรวมตลอดปี 2560 ปีที่นโยบายด้านสวัสดิการสังคมโดดเด่นจนพอเห็นกรอบความคิดของรัฐบาล คสช. ขณะที่ปัญหาน้ำท่วมค่อนประเทศกว่าครึ่งปีก็เป็นอีกเหตุการณ์สำคัญที่สุดในรอบปี ที่แม้ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับนโยบายสวัสดิการรัฐ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือโจทย์ใหญ่ที่รัฐต้องขบคิดเพื่อป้องกันไม่ให้ความเสียหายจากน้ำท่วมนั้นมากมายซ้ำซากเหมือนกันในทุกๆ ปี

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising