×

นับถอยหลัง 20 วันทำการสุดท้ายของสวนสัตว์ดุสิต

โดย THE STANDARD TEAM
11.08.2018
  • LOADING...

คุณจำได้ไหมว่าครั้งแรกที่ไปเที่ยวสวนสัตว์คือตอนไหนกัน

 

แล้วครั้งสุดท้ายล่ะ

 

80 ปีที่แล้ว ‘สวนสัตว์ดุสิต’ สวนสัตว์แห่งแรกของประเทศไทยได้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นพื้นที่ให้ชาวกรุงเทพฯ ได้มาพักผ่อนหย่อนใจ

 

โดยแรกเริ่มเดิมที พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสวนดุสิตหรือที่เราเรียกติดปากกันว่า ‘เขาดินวนา’ ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2438 ภายหลังจากที่พระองค์ทรงเสด็จประพาสยุโรป ครานั้นได้ทอดพระเนตรกิจการสวนพฤกษชาติของต่างประเทศ และพบว่าสวนนี้เป็นสถานที่ที่ให้ความรู้ ความเพลิดเพลิน และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน พระองค์จึงมีพระราชดำริให้จัดสร้างขึ้นในประเทศไทยบ้าง

 

ชื่อ ‘เขาดิน’ เกิดขึ้นจากการขุดสระน้ำใหญ่ประกอบคูคลองระบายน้ำและถนน แล้วนำดินขึ้นมาถมเป็นเนินเขากลางน้ำ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกพรรณไม้นานาชนิดขึ้นเป็นสวนพฤกษชาติส่วนพระองค์ เรียกว่า ‘วนา’ รวมอาณาเขตส่วนนี้โปรดให้เรียกว่า ‘เขาดินวนา’

 

โดยขั้นต้น พระองค์ให้สร้างสวนแห่งนี้ขึ้นเป็นที่ประพาสส่วนพระองค์และข้าราชบริพารฝ่ายในก่อน ดังนั้นสวนดุสิตหรือเขาดินวนาจึงเป็นเขตพระราชฐานของพระราชวังดุสิต   

 

ต่อมา จอมพล ป. พิบูลสงคราม เล็งเห็นว่าเขตนครหลวงนั้นมีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับประชาชนน้อย จึงกราบบังคมทูลขอพระราชทานสวนดุสิตให้เทศบาลนครกรุงเทพฯ ดำเนินการจัดทำเป็นสวนสัตว์สำหรับประชาชนขึ้น โดยนำฝูงกวางดาวที่ขยายพันธุ์สืบต่อมาเมื่อครั้งที่รัชกาลที่ 5 ทรงนำมาจากเกาะชวา มาเลี้ยงไว้ โดยย้ายมาจากสวนกวาง (สวนอัมพรในปัจจุบัน) และได้นำสัตว์ส่วนหนึ่งจากสวนสราญรมย์มาไว้ให้ประชาชนได้เข้าชมที่นี่ด้วยสืบต่อมาถึงปัจจุบัน     

 

จากวันที่ 18 มีนาคม 2481 จวบจนปัจจุบัน นับเป็น 80 ปีที่สวนสัตว์ดุสิตเป็นพื้นที่แห่งความทรงจำในวัยเยาว์ของใครหลายคน แม่มะลิ ฮิปโปโปเตมัสดาวเด่นประจำสวนสัตว์ที่กำลังจะเข้าวัย 52 ปี ลูกนกกระเรียนพันธุ์ไทย ค่างห้าสี ละมั่งพันธุ์ไทย และสัตว์นานาพันธุ์ หลุมหลบภัยเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมไปถึงสวนน้ำที่ให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้มาเล่นน้ำคลายร้อน

 

ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า สถานที่แห่งนี้จะกลายเป็นความทรงจำ

 

31 สิงหาคม 2561 เป็นวันสุดท้ายที่ #สวนสัตว์ดุสิต จะเปิดทำการ

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising