×

‘ชีวิตใต้เงามืด’ ครบรอบ 2 ปี รัฐประหาร ชีวิตชาวเมียนมาเป็นอย่างไร

01.02.2023
  • LOADING...

ผ่านมาแล้ว 2 ปี หลังกองทัพเมียนมาใช้กำลังเข้ายึดครองอำนาจบริหารประเทศ และขับไล่รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้การนำของ ออง ซาน ซูจี

 

กระแสความไม่พอใจถึงขั้นโกรธแค้นของประชาชนที่มีต่อกองทัพหลังก่อการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ส่งผลให้ชาวเมียนมาจำนวนมากตัดสินใจลุกฮือขึ้นจับอาวุธต่อต้านเผด็จการทหาร ท่ามกลางความขัดแย้งและความรุนแรงที่บานปลายไม่ต่างจากสงครามกลางเมือง 

 

แต่พลังประชาชนไม่อาจต่อสู้กับอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพ ชีวิตประชาชนไม่น้อยต้องสูญเสียไปทั้ง ‘จากตาย’ และ ‘จากเป็น’ ด้วยการถูกกวาดล้างและจับขังคุก 

 

วิกฤตมนุษยธรรมแพร่กระจายทั่วประเทศ หลายชีวิตต้องหนีเข้าป่าหรือออกนอกประเทศ หาทางต่อสู้โดยไม่ถอดใจ เพื่อหวังชิงประเทศกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย แม้แสงแห่งความหวังจนถึงตอนนี้จะยังดู ‘ริบหรี่’

 

ชีวิตของชาวเมียนมาใต้เงากองทัพตลอด 2 ปีที่ผ่านมา พวกเขามีสภาวะความเป็นอยู่อย่างไร ต้องสูญเสียอะไรไปบ้าง และซูจี ผู้นำหญิงแกร่งที่ทำให้เมียนมาหลุดพ้นจากการปกครองของทหารมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อ 10 ปีก่อน ชะตากรรมของเธอตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง THE STANDARD จะพาไปติดตามกัน

 

เกิดอะไรขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021

 

  • กำลังทหารเมียนมาเคลื่อนพลออกปฏิบัติการอุกอาจ ก่อรัฐประหารโค่นอำนาจรัฐบาล จับกุม ออง ซาน ซูจี และผู้นำรัฐบาลพลเรือน พร้อมด้วยสมาชิกระดับสูงของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) หลังจากที่คว้าชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งทั่วไปสมัยที่ 2 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020

 

  • กองทัพเมียนมาภายใต้การนำของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย อ้างเหตุผลยึดอำนาจเพราะพรรครัฐบาลพลเรือนโกงการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งใหญ่ แม้ค้านสายตาผู้สังเกตการณ์นานาชาติที่ยืนยันว่าไม่พบความผิดปกติที่สำคัญใดๆ 

 

  • หลังรัฐประหาร มิน อ่อง หล่าย ก้าวขึ้นรับตำแหน่งผู้นำรัฐบาล ความเด็ดขาดของเขา ซึ่งเป็นที่รู้จักจากบทบาทปราบปรามการประท้วงในปี 2007 ทำให้รัฐบาลทหารไม่หวั่นต่อกระแสประท้วง พร้อมสั่งการใช้กำลังขั้นเด็ดขาดกวาดล้างประชาชนที่กล้าต่อต้าน ไม่เว้นแม้ผู้ที่แสดงออกด้วยวิธี ‘อารยะขัดขืน’ 

 

  • ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กองกำลังความมั่นคงเมียนมาได้ใช้ความรุนแรงต่อเนื่อง ทั้งกวาดล้างภาคพื้นดินและส่งเครื่องบินรบทิ้งระเบิดโจมตีทางอากาศ บดขยี้การแสดงออกของฝ่ายต่อต้านอย่างหนักหน่วง การต่อสู้ระหว่างทหารกับพลเรือนที่จับอาวุธ และบางครั้งก็เป็นพันธมิตรชนกลุ่มน้อยที่ต่อสู้เพื่อเอกราชมานานหลายทศวรรษ ส่งผลให้ขณะนี้มีพลเรือนเกือบ 3,000 คนถูกสังหาร และหลายหมื่นคนจำต้องทิ้งบ้านเรือนหนีเอาชีวิตรอด 

 

  • และแม้ว่าการยึดอำนาจของกองทัพเมียนมาจะทำให้นานาชาติออกมาประณาม รัฐบาลหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และชาติตะวันตก ไม่คบค้าสมาคม บ้างก็คว่ำบาตรในหลายหนทาง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสถานะการเงินของเมียนมา 

 

  • แต่ขณะเดียวกัน หลายประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนและจีน ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ทรงอิทธิพลที่สุดของเมียนมา ยังคงจุดยืนไม่แทรกแซงและไม่ยินยอมพร้อมใจที่จะต่อต้านการกระทำของรัฐบาลเผด็จการด้วยการคว่ำบาตร

 

ชะตากรรม ออง ซาน ซูจี เป็นอย่างไร?

 

  • ซูจี วัย 77 ปี ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ถือเป็นหัวหน้ารัฐบาลพลเรือนโดยพฤตินัย แม้จะดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐในช่วงที่กองทัพจับกุมเธอและเข้ายึดอำนาจเมื่อ 2 ปีที่แล้ว 

 

  • ในเดือนธันวาคม ปี 2022 ศาลตัดสินจำคุกเธอเป็นเวลา 7 ปี ในข้อหาคอร์รัปชันจากคดีอาญาล่าสุดที่ถูกยัดเยียดให้กับเธอด้วยแรงจูงใจทางการเมือง ส่งผลให้เธอต้องโทษจำคุกรวมจนถึงตอนนี้ทั้งหมด 33 ปี

 

  • ผู้สนับสนุนซูจีและนักวิเคราะห์อิสระกล่าวว่า ข้อกล่าวหามากมายต่อซูจีและพันธมิตรของเธอเป็นความพยายามที่จะทำให้การยึดอำนาจของกองทัพนั้นมีความชอบธรรม ในขณะเดียวกันยังเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว ด้วยการกำจัดซูจีที่ชาวเมียนมาจำนวนมากเคารพนับถือให้ออกไปจากเวทีการเมือง ก่อนที่พวกเขาจะยินยอมให้มีการเลือกตั้งตามสัญญาที่อาจจะมีขึ้นในช่วงปลายปีนี้

 

  • ในอดีต ซูจี ลูกสาวของนายพล ออง ซาน วีรบุรุษผู้พลีชีพเพื่อเอกราชของเมียนมา ใช้เวลาเกือบ 15 ปีในฐานะนักโทษการเมืองภายใต้การกักบริเวณในบ้านพักระหว่างปี 1989-2010 แต่ตอนนี้เธอถูกควบคุมตัวในอาคารที่สร้างขึ้นใหม่ภายในเรือนจำในกรุงเนปิดอว์ ใกล้กับศาลที่พิจารณาคดีของเธอ

 

ชีวิตใต้เงาเผด็จการทหารเป็นอย่างไร?

 

  • 2 ปีหลังจากกองทัพเข้ายึดอำนาจ ชีวิตของประชาชนในย่างกุ้งและเมืองใหญ่อื่นๆ กลับสู่ภาวะปกติ แต่การสู้รบในพื้นที่ชนบทและเขตปกครองของกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ทำให้ประเทศจมปลักอยู่ในความขัดแย้งที่ฝังลึก

 

  • กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนชี้ว่า กองทัพและกองกำลังความมั่นคงเมียนมาได้ดำเนินการจับกุม ทรมาน และปฏิบัติโดยมิชอบอื่นๆ ตามอำเภอใจ เพื่อปราบปรามกลุ่มผู้เห็นต่าง หน่วยงานเฝ้าระวังด้านสิทธิมนุษยชนเปิดเผยเมื่อวานนี้ (31 มกราคม) ว่า กองทัพเมียนมาหันไปใช้การโจมตีทางอากาศที่มีผลถึงขั้นทำให้ผู้คนเสียชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อพยายามที่จะกวาดล้างกองกำลังต่อต้านติดอาวุธ เช่น กองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People’s Defense Force: PDF)

 

  • ในขณะที่กองทัพต้องรับผิดชอบต่อการใช้ความรุนแรงครั้งใหญ่ทั่วประเทศ ฝ่ายต่อต้านได้หันไปใช้วิธีวางระเบิดและสังหารเจ้าหน้าที่ทหารและผู้สนับสนุนกองทัพ โดยวานนี้ มิน อ่อง หล่าย กล่าวหากลุ่มต่อต้านว่าพยายามยึดอำนาจด้วย ‘วิธีการบีบบังคับที่มิชอบ’

 

  • สำหรับภาวะเศรษฐกิจในยุครัฐบาลเผด็จการทหาร มีการคาดการณ์จากธนาคารโลกระบุว่า เศรษฐกิจเมียนมาจะเติบโตเพียง 3% ในปีนี้ โดยจุดแข็งที่ยังมีอยู่คือด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม เช่น การทำเครื่องนุ่งห่ม แต่ยังคงมีขนาดเล็กกว่าในช่วงปี 2019 หรือก่อนเกิดโควิดระบาดและก่อนรัฐประหาร

 

  • ขณะที่การกลับคืนสู่อำนาจของกองทัพยังได้ขัดขวางการปฏิรูปตลอดทศวรรษที่ผ่านมา และทำให้ประชากร 40% ต้องอยู่อย่างยากจนข้นแค้น

 

  • อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่เข้มงวดและมีความไม่แน่นอน เกี่ยวกับกฎและข้อบังคับภายใต้การปกครองของกองทัพ แต่บางธุรกิจก็ยังหาหนทางดำเนินกิจการได้ โดยใช้การชำระเงินนอกระบบและหลากหลายช่องทางการค้า อีกทั้งการเปิดเส้นทางการค้าระหว่างเมียนมากับจีนอีกครั้งก็มีส่วนช่วยด้านเศรษฐกิจเช่นกัน

 

  • แต่ถึงกระนั้นความเสี่ยงของสถานการณ์บ้านเมืองและความมั่นคงของเมียนมายังคงสูงจนน่าหวั่นใจ เนื่องจากความขัดแย้งและการสู้รบในประเทศยังไม่มีวี่แววว่าจะพบทางออกหรือแม้แต่ทางเจรจา

 

หลังจากนี้จะเกิดอะไรขึ้น?

 

  • ในระหว่างที่ทางออกของวิกฤตยังไม่ชัดเจน ฝ่ายรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมาได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับการจดทะเบียนตั้งพรรคการเมือง ซึ่งจะส่งผลให้ฝ่ายค้านเผชิญความยากลำบากมากขึ้นในการเอาชนะผู้สมัครที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพในการเลือกตั้งทั่วไปที่คาดว่าจะจัดขึ้นปลายปีนี้

 

  • กลุ่มต่อต้านและนักวิจารณ์ชี้ว่า การเลือกตั้งตามแผนที่กองทัพเมียนมาวางไว้จะไม่มีทั้งความโปร่งใส อิสระ และยุติธรรม เพราะไม่มีสื่อเสรี และผู้นำส่วนใหญ่ของพรรค NLD รวมถึงซูจี ยังถูกจับกุม

 

  • พรรค NLD ยังประกาศว่า จะไม่ยอมรับการเลือกตั้ง ซึ่งพวกเขามองว่าเป็น ‘การเลือกตั้งจอมปลอม’ และเป็นอุบายของกองทัพ เพื่อให้ได้มาซึ่งความชอบธรรมทางการเมืองและการยอมรับในระดับสากล โดยการลงคะแนนเสียงยังถูกต่อต้านจากรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government: NUG) หรือรัฐบาลเงา ซึ่งสมาชิกหลายคนที่เป็นอดีต ส.ส. รัฐบาลพลเรือน ต่างถูกขัดขวางไม่ให้ดำรงตำแหน่งหลังกองทัพเข้ายึดอำนาจ

 

  • ส่วนกองกำลัง PDF ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเคลื่อนไหวสนับสนุนประชาธิปไตยในเมียนมา ได้พยายามขัดขวางการเตรียมจัดการเลือกตั้ง โดยมีการโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐบาลทหารที่กำลังสำรวจจำนวนประชากรที่อาจนำไปใช้ในการรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

 

ประเทศต่างๆ มีท่าทีอย่างไร?

 

  • แคนาดา สหรัฐฯ และพันธมิตรชาติตะวันตกอื่นๆ รำลึกวันครบรอบ 2 ปีของการรัฐประหาร ด้วยการประกาศคว่ำบาตรแบบประสานงานกัน โดยคว่ำบาตรบุคคลจำนวนมากที่เชื่อมโยงกับรัฐบาลทหาร เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมพลังงานของเมียนมา

 

  • กระทรวงการต่างประเทศแคนาดาประกาศเมื่อวานนี้ว่า ได้คว่ำบาตร 6 บุคคล พร้อมทั้งห้ามการส่งออก ขาย จัดหา หรือจัดส่ง เชื้อเพลิงการบินให้แก่เมียนมา

 

  • “มาตรการของแคนาดาตอบสนองโดยตรงต่อความขัดแย้งทางอาวุธที่เลวร้ายลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้การโจมตีทางอากาศต่อพลเรือนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งขัดต่อกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ” กระทรวงการต่างประเทศแคนาดาระบุในถ้อยแถลง

 

  • ส่วนออสเตรเลียและสหราชอาณาจักรได้ประกาศคว่ำบาตรเมียนมาเช่นกัน โดยออสเตรเลียกำหนดเป้าหมายคว่ำบาตรไปที่สมาชิกรัฐบาลทหารและบริษัทที่ดำเนินการโดยทหาร ส่วนสหราชอาณาจักรกำหนดมาตรการคว่ำบาตร 2 บริษัท และ 2 บุคคล ที่ช่วยจัดหาเชื้อเพลิงการบินให้กับกองทัพอากาศเมียนมา เพื่อใช้ในการทิ้งระเบิดใส่พลเรือนของตนเอง

 

แฟ้มภาพ: Photo by Hkun Lat / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X