×

2 สถานะของ ‘พระยามโนปกรณ์นิติธาดา’ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง นายกฯ คนแรก และผู้เริ่มก่อรัฐประหาร

24.06.2023
  • LOADING...
พระยามโนปกรณ์นิติธาดา

HIGHLIGHTS

  • พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เกิดในตระกูลชาวไทยเชื้อสายจีน เมื่อพุทธศักราช 2427 กลางแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 
  • เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 ชื่อของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ปรากฏขึ้นในฐานะประธานกรรมการราษฎร
  • พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย และยังเป็นผู้ที่ทำรัฐประหารครั้งแรกเมื่อ 90 ปีก่อน

 

เมื่อ 92 ปีมาแล้ว การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นในเวลาเช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 ได้นำความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญมาสู่ชีวิตของข้าราชการผู้หนึ่ง ผู้มีเกียรติยศชื่อเสียงปรากฏมาแต่เดิมว่าเป็นนักกฎหมายมือสะอาดให้ต้องละทิ้งชีวิตที่เงียบสงบที่มีมาแต่เดิมก้าวเข้าสู่ตำแหน่งประมุขฝ่ายบริหารคนแรกของประเทศในระบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข 

 

และดูเหมือนโชคชะตาจะเล่นตลกกับบุคคลผู้นี้มิใช่น้อย เพราะถัดมาอีกเพียงหนึ่งปี ในเดือนมิถุนายน พุทธศักราช 2476 ลมพายุทางการเมืองก็พัดพาท่านให้พลัดพรากจากที่อยู่ต้องลี้ภัยไปอยู่ในต่างประเทศที่เกาะปีนัง ซึ่งเวลานั้นอยู่ในความปกครองของอังกฤษ และไม่ได้หวนคืนกลับมายังประเทศบ้านเกิดเมืองนอนอีกเลยจนกระทั่งเสียชีวิตในเวลาอีก 15 ปีต่อมา

 

บุคคลผู้นี้ไม่ใช่ใครอื่น ท่านคือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) ผู้ที่นักเรียนของทุกโรงเรียนในประเทศไทยจำได้แม่นยำว่าท่านเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศ หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

 

 

พระยามโนปกรณ์นิติธาดา คือใคร

 

พระยามโนปกรณ์ฯ ผู้มีชื่อจารึกอยู่ในประวัติศาสตร์ท่านนี้ เกิดในตระกูลชาวไทยเชื้อสายจีน เมื่อพุทธศักราช 2427 กลางแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 

 

เมื่อเติบใหญ่ขึ้นได้เข้าเรียนกฎหมายที่โรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม สำเร็จการศึกษาเป็นเนติบัณฑิตสยามแล้วได้ทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาต่อในชั้นเนติบัณฑิตที่สำนัก Middle Temple กรุงลอนดอน เรียนจบแล้วกลับมารับราชการเป็นผู้พิพากษาในกระทรวงยุติธรรม มีความเจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับจนได้เป็นสมุหพระนิติศาสตร์ในที่สุด

 

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 ชื่อของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาปรากฏขึ้นในฐานะประธานกรรมการราษฎรตามพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองสยามชั่วคราว พระพุทธศักราช 2475 ท่ามกลางความแปลกใจของหลายคน

 

พระยามโนปกรณ์นิติธาดาขณะปราศรัยต่อฝูงชนอาณาประชาราษฎร์ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม

ทำไมคณะราษฎรเลือกพระยามโนปกรณ์นิติธาดามาเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก

 

เหตุผลที่คณะราษฎรมิได้คัดสรรสมาชิกในคณะราษฎรเองขึ้นทำหน้าที่สำคัญดังกล่าว มีข้อสันนิษฐานว่าเป็นไปเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจของคณะราษฎรว่ามิได้มุ่งปรารถนาแสวงหาอำนาจใส่ตนเองหรือพวกพ้อง จึงไปเสาะแสวงหาบุคคลภายนอกซึ่งไม่ใช่สมาชิกของคณะราษฎรมาทำหน้าที่สำคัญในตำแหน่งดังกล่าว

 

วิธีคิดอย่างนี้ปรากฏขึ้นอีกหลายครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศไทย และมักจะได้ผลลงเอยอย่างเดียวกัน คือบุคคลภายนอกกับคณะรัฐประหารไปด้วยกันไม่รอด ต้องแยกทางกันเดินในที่สุด

 

อีกเหตุผลหนึ่งน่าจะเป็นด้วยคุณสมบัติส่วนตัวของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเอง ที่เป็นนักกฎหมายมีชื่อเสียง มีลูกศิษย์ลูกหามาก สำเร็จการศึกษากฎหมายทั้งในเมืองไทยและจากประเทศอังกฤษ เราต้องไม่ลืมว่าเวลานั้นอังกฤษยังเป็นเจ้าอาณานิคมอยู่ในย่านนี้หลายประเทศ การมีประธานกรรมการราษฎรหรือที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีเป็น ‘นักเรียนเก่าอังกฤษ’ น่าจะเป็นแต้มเครดิตของรัฐบาลใหม่มิใช่น้อย

 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475

 

แต่ข้อสำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งที่มองข้ามไปไม่ได้เลย คือส่วนตัวของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเองเป็นผู้ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรู้จักคุ้นเคยมาแต่เดิม ปรากฏชัดจาก คุณหญิงนิตย์ มโนปกรณ์นิติธาดา (สกุลเดิม สาณะเสน) ได้เข้ารับราชการในหน้าที่นางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และได้อยู่ในขบวนตามเสด็จประพาสอินโดจีนฝรั่งเศสในช่วงต้นปีพุทธศักราช 2473 ด้วย 

 

เพราะคุณหญิงเป็นผู้มีความสามารถ โดยสามารถสื่อสารภาษาฝรั่งเศส ภาษาอังกฤษ ภาษาเยอรมัน และภาษาอิตาลีได้เป็นอย่างดี แต่เคราะห์กรรมก็ทำให้คุณหญิงต้องประสบอุบัติเหตุในระหว่างตามเสด็จปฏิบัติราชการคราวนั้นเอง เพราะรถยนต์ที่อยู่ในขบวนตามเสด็จพุ่งเข้าชนเสาโทรเลขเนื่องจากความประมาทของพลขับ งานศพของคุณหญิงจึงเป็นงานหลวง อยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ และทรงพระมหากรุณาสร้างอนุสาวรีย์พระราชทานไว้ที่วัดปทุมวนาราม ซึ่งยังปรากฏหลักฐานอยู่มาจนทุกวันนี้

 

ด้วยฐานะใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทเช่นนี้ ทำให้หลายคนอดคิดไม่ได้ว่า คณะราษฎรคงหมายใจที่จะให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นโซ่ข้อกลางเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคณะราษฎรกับพระเจ้าแผ่นดินในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ

 

ส่วนเชื่อมแล้วสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

คณะราษฎรคงหมายใจที่จะให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นโซ่ข้อกลางเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคณะราษฎรกับพระเจ้าแผ่นดินในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ

 

พระยามโนปกรณ์นิติธาดาในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

 

พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการราษฎรตามพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองสยามชั่วคราว ตั้งแต่เดือนมิถุนายนมาจนถึงเดือนธันวาคมปีเดียวกัน แล้วเปลี่ยนชื่อตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475

 

ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ได้เพียงไม่กี่เดือนก็เกิดวิกฤตขึ้น เพราะหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) มันสมองสำคัญของคณะราษฎร ได้เสนอเอกสารเป็นสมุดปกเหลืองที่เรียกว่า ‘เค้าโครงเศรษฐกิจ’ ต่อสาธารณะ เพื่อยกเครื่องเศรษฐกิจของประเทศสยามครั้งใหญ่ ในความเห็นของพระยามโนปกรณ์ฯ แล้ว แนวทางดังกล่าวเป็นแนวคิดฝ่ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งท่านไม่สบอัธยาศัยเลย แถมหลวงประดิษฐ์มนูธรรมก็เป็นรัฐมนตรีร่วมคณะรัฐมนตรีที่มีท่านเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย เรื่องจึงอึดอัดยุ่งยากไปหมด

 

สมุดปกเหลืองนำเสนอ ‘เค้าโครงเศรษฐกิจ’ โดย หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ ปรีดี พนมยงค์

 

เพื่อแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างดังกล่าว พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ตัดสินใจทำรัฐประหารครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองยุคประชาธิปไตยของไทยขึ้น เป็นการทำรัฐประหารเงียบเมื่อเดือนเมษายน พุทธศักราช 2476 โดยท่านได้สมคบกับสมาชิกบางส่วนของคณะราษฎรสายทหารบก ออกพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา พร้อมกันนั้นก็เนรเทศหลวงประดิษฐ์มนูธรรมไปประเทศฝรั่งเศส เรียกว่าขุดรากถอนโคนกันเลยทีเดียว

 

พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ตัดสินใจทำรัฐประหารครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองยุคประชาธิปไตยของไทยขึ้น เป็นการทำรัฐประหารเงียบเมื่อเดือนเมษายน พุทธศักราช 2476 

 

ใครเลยจะนึกว่า วลีที่ว่า ‘งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา’ ซึ่งพระยามโนปกรณ์ฯ เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์คิดค้นขึ้น เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ยังมีคนย้อนยุคหยิบขึ้นมาใช้อีกครั้งหนึ่ง ทำให้เป็นที่หัวร่อหัวไห้กันทั่วทั้งประเทศ

 

เพราะในสายตาของผู้ที่เรียนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาปฏิบัติไปคราวนั้น เป็นการกระทำนอกบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น แต่ท่านก็ทำไปแล้วด้วยความตั้งใจอะไรก็แล้วแต่

 

จากคนสั่งเนรเทศปรีดี กลายเป็นคนถูกเนรเทศ

 

แต่แล้วอีกเพียงสองเดือนต่อมา กงเกวียนกำเกวียนก็ย้อนรอยมาถึงตัวท่าน ในเดือนมิถุนายน พุทธศักราช 2476 นั้นเอง พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรชุดเดิมได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดากลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง แล้วเนรเทศพระยามโนปกรณ์ไปอยู่ที่ปีนัง โดยให้เดินทางด้วยรถไฟไปในโอกาสแรก พร้อมกับเรียกตัวปรีดีกลับมาจากประเทศฝรั่งเศส

 

เกาะปีนังครั้งนั้นเป็นแหล่งลี้ภัยทางการเมืองของคนไทยชั้นนำหลายคน มีทั้งเจ้านายและนักการเมือง เจ้านายพระองค์สำคัญอย่าง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิ์วัตนวิศิษฏ์ ส่วนนักการเมืองที่เป็นสามัญชนก็คือพระยามโนปกรณ์นิติธาดานี่เอง

 

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายถึงสภาพเมืองปีนังในยุคนั้นว่า

 

“…ที่ปีนังนี้แม้เป็นเกาะเล็กกว่าสิงคโปร์ก็เป็นที่เงียบสงัดกว่า อากาศดีกว่า ถ้าอยู่เสียทางที่เขาตั้งบ้านช่อง อย่าเข้าไปซอกแซกทางตำบลค้าขาย ก็อยู่ได้อย่างเงียบสงบเหมือนอย่างอยู่บ้านของตน นอกจากนั้น ที่ปีนังมีราษฎรที่เป็นไทยและมีพวกจีนที่คุ้นกับไทยมาก ทั้งมีภูเขาสูงสำหรับขึ้นหาอากาศเย็น และที่สุดส่งของมาจากบ้านก็ใกล้…”

 

ถ้าเราชาวไทยแวะไปเที่ยวเมืองปีนังทุกวันนี้ และประสงค์จะตามหาร่องรอยของชีวิตนายกรัฐมนตรีคนแรกของเมืองไทยที่ไปอยู่ที่ปีนังนานถึง 15 ปีก่อนจะถึงแก่อนิจกรรมในปีพุทธศักราช 2491 ผู้เขียนขอแนะนำให้แวะไปเยี่ยมชมสถานที่สักสองแห่ง

 


 

แห่งแรกคือวัดปิ่นบังอร เดิมชื่อวัดประตูลันจัง แล้วสมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ ทรงตั้งชื่อใหม่ประทาน ปัจจุบันมีพระครูปัญญาศาสนานุรักษ์เป็นเจ้าอาวาส ที่วัดนี้มีซุ้มคูหาก่อสูงประมาณเมตรเศษ มีป้ายอักษรจารึกบอกนามของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาพร้อมทั้งวันเกิดและวันตายเสร็จสรรพ ที่อนุสรณ์สถานแห่งนี้ ในอดีตเคยมีศพของท่านฝังอยู่ แต่ภายหลังทายาทของท่านได้เชิญศพท่านขึ้นฌาปนกิจเสียแล้ว ถึงเหลือเพียงซุ้มคูหาที่ว่านี้เป็นอนุสรณ์

 

สิ่งที่ชวนให้ระลึกนึกถึงท่านอีกอย่างหนึ่งคือถนนชื่อ Jalan Mano แปลเป็นไทยง่ายๆ ว่า ถนนมโน เป็นถนนสายเล็กๆ มีความยาวไม่มากนัก ได้รับคำอธิบายว่าถนนนี้เคยเป็นที่ตั้งของบ้านพักอาศัยของท่านในสมัยลี้ภัยครั้งนั้น ถ้าไปเมืองปีนังแล้วอยากไปดูถนนสายนี้เปิดแผนที่กูเกิลดูก็ได้พบกันแน่นอน

 

 

ในโอกาสที่วันที่ 24 มิถุนายนเวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่ง การนำเรื่องราวของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรกของเมืองไทยมาบอกเล่าคงไม่ไร้ประโยชน์เสียเลยทีเดียว อย่างน้อยก็เป็นการบันทึกไว้อีกประโยคหนึ่งในประวัติศาสตร์ว่า ผู้ที่ทำรัฐประหารครั้งแรกเมื่อ 90 ปีก่อน เรื่องราวตอนจบชีวิตของท่านเงียบเหงาและว้าเหว่พอสมควรเลยทีเดียว

 

บางทีประโยคสั้นๆ ประโยคนี้อาจจะเตือนใจใครก็ตามที่คิดจะทำรัฐประหาร (อีก) ได้บ้างกระมัง

 

ผู้ที่ทำรัฐประหารครั้งแรกเมื่อ 90 ปีก่อน เรื่องราวตอนจบชีวิตของท่านเงียบเหงาและว้าเหว่พอสมควรเลยทีเดียว

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising