เกาหลีใต้ กำลังเผชิญวิกฤตประชากรลดลงอย่างหนัก จนถึงขั้นที่บริษัทก่อสร้างรายใหญ่ Booyoung ต้องเสนอโบนัสให้พนักงานสูงถึง 75,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 2.6 ล้านบาท) สำหรับการมีลูกแต่ละคน เพื่อจูงใจให้คนอยากมีลูกมากขึ้น
อัตราการเจริญพันธุ์โดยรวมของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นจำนวนเด็กโดยเฉลี่ยที่ผู้หญิงคนหนึ่งคาดว่าจะคลอดบุตรในช่วงชีวิตของเธอได้ลดลงอย่างมาก จนเหลือเพียงเฉลี่ย 0.72 คนในปี 2023 และคาดว่าจะลดลงอีกเหลือ 0.68 คนในปีนี้ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศพัฒนาแล้วที่ต้องไม่ต่ำกว่า 2.1 คนเพื่อรักษาเสถียรภาพประชากร
ผลกระทบของอัตราการเกิดที่ต่ำเริ่มส่งผลแล้ว เช่น จำนวนบุคลากรทหารลดลงต่ำกว่า 500,000 นายเป็นครั้งแรก มหาวิทยาลัยเผชิญปัญหานักศึกษาหดหาย ขณะที่สถานรับเลี้ยงเด็กถูกเปลี่ยนเป็นบ้านพักผู้สูงอายุแทน
วิกฤตที่เกิดขึ้นอาจทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากประชากรวัยทำงานหดตัวลง ขณะที่สังคมต้องเผชิญภาระดูแลผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้น นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า GDP ของเกาหลีใต้จะลดลง 28% ในปี 2050 หากปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข
ต้นเหตุหลักมาจากแรงกดดันมหาศาลที่คนหนุ่มสาวเกาหลีใต้ต้องเผชิญ ทั้งการแข่งขันเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยชื่อดังและบริษัทใหญ่ รวมถึงปัญหาค่าครองชีพสูงลิ่ว ทำให้คนไม่อยากมีลูกเพราะไม่อยากให้ลูกต้องมาเผชิญความกดดันแบบเดียวกัน
นอกจากนี้ แนวคิดเรื่องบทบาททางเพศแบบดั้งเดิมก็ทำให้ผู้หญิงต้องลาออกจากงานเพื่อมาเลี้ยงลูก ส่งผลให้ผู้หญิงหลายคนเลือกที่จะไม่สร้างครอบครัวตั้งแต่แรก
รัฐบาลเกาหลีใต้พยายามทุ่มงบประมาณกว่า 2.70 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 9.5 ล้านล้านบาท) ไปกับนโยบายผลักดันประชากรในรอบ 17 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ให้เงินสด ช่วยออกค่าเลี้ยงลูก หรือรักษาภาวะมีบุตรยาก แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้
ด้วยเหตุนี้ภาคเอกชนจึงเข้ามามีบทบาทด้วย โดยบริษัทหลายแห่งเริ่มเสนอสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อจูงใจให้คนมีลูก เช่น LOTTE บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านค้าปลีก ที่ให้พนักงานลาคลอดได้ 2 ปีเต็ม และมีอัตราการเกิดมากกว่า 2 มาตั้งแต่ปี 2012 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการให้ Work-Life Balance ที่ดีก็อาจช่วยสร้างผลลัพธ์เชิงบวกได้
อย่างไรก็ตาม Booyoung Construction ไม่ใช่บริษัทแรกที่ใช้เงินเป็นแรงจูงใจ แต่ต้องรอดูผลลัพธ์ว่าวิธีนี้จะช่วยกระตุ้นอัตราการเกิดได้จริงหรือไม่
อ้างอิง: