×

1917 (2020) ‘ลองเทก’ บันลือโลก

31.01.2020
  • LOADING...
1917

HIGHLIGHTS

  • กล่าวเป็นอย่างอื่นไม่ได้จริงๆ ว่าความเต็มเม็ดเต็มหน่วยทางด้าน ‘อรรถรสและสุนทรียะ’ ของหนังเรื่อง 1917 สัมพันธ์กับการได้ดูหนังเรื่องนี้ในโรงภาพยนตร์
  • ทว่าความสําเร็จหรือล้มเหลวของการที่คนทําหนังเลือกใช้เทคนิคการถ่ายแบบช็อตเดียวตลอดเรื่อง หรืออีกนัยหนึ่ง (ดูเหมือน) ไม่มีการตัดภาพ และเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นแบบเรียลไทม์ ซึ่งต้องพึ่งพาการมีส่วนร่วมของผู้ชมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
  • สิ่งที่ปรากฏเบื้องหน้าจึงไม่ได้เป็นแค่เรื่องของการที่ผู้ชมได้ร่วม ‘รู้เห็น’ ความเลวร้ายของสงคราม แต่กลวิธีทั้งทางด้านภาพและเสียงในหลายช่วงเวลาหยิบยื่นทั้งความน่าหดหู่ สยดสยอง ความน่าตื่นเต้นระทึกขวัญ ความอลหม่านสับสน และความเศร้าสร้อยหม่นหมอง 
  • พร้อมๆ กับที่กาลเวลาผ่านพ้น ทั้งหลายทั้งปวงก็ค่อยๆ พัฒนากลายเป็นความรู้สึกเกี่ยวข้อง เชื่อมโยง ความห่วงหาอาทร และนั่นคือตอนที่กลไกดราม่าของหนังทํางานอย่างทรงพลัง และผู้ชมตระหนักได้ว่านี่เป็นการผจญภัยที่พวกเรามีส่วนได้ส่วนเสียและลืมไม่ลง

 

ตอนที่ แซม เมนเดส ขึ้นไปรับรางวัลลูกโลกทองคําสาขาผู้กํากับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากหนังเรื่อง 1917 ช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านพ้นไป หนึ่งในประโยคสําคัญของเขาบนเวทีได้แก่ถ้อยคําสรรเสริญความยิ่งใหญ่ต่อ มาร์ติน สกอร์เซซี ผู้กํากับหนังเรื่อง The Irishman (ซึ่งเข้าชิงในสาขานี้ด้วยเช่นกัน) เขากล่าวประโยคที่ทุกคนในห้องปรบมือเห็นด้วยอย่างพร้อมเพรียงว่า “ไม่มีผู้กํากับภาพยนตร์คนใดในโลกนี้ที่ไม่ได้อยู่ใต้ร่มเงาของสกอร์เซซี”

 

น่าเชื่อว่าเมนเดสไม่ได้หมายความถึงความปราดเปรื่องล้ำเลิศของสกอร์เซซีในฐานะของคนทําหนังเพียงอย่างเดียว แต่อย่างที่นักดูหนังสายแข็งรับรู้รับทราบเป็นอย่างดี (และคอลัมน์นี้ก็ได้เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ไปแล้ว) ในช่วงเวลาที่ระบบนิเวศของการสร้างและการนําหนังออกเผยแพร่เปลี่ยนแปลงไป และสตรีมมิงได้กลายเป็นผู้เล่นรายใหม่ที่สั่นคลอนองคาพยพของอุตสาหกรรมภาพยนตร์อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สกอร์เซซียังคงเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าโรงมหรสพเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์สําหรับการฉายหนัง ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของประสบการณ์ร่วมระหว่างผู้ชมด้วยกัน หรือที่เรียกว่า Collective Cinema Experience แต่อีกส่วนได้แก่เรื่องของความครบถ้วนสมบูรณ์ในแง่ภาพและเสียง ซึ่งการดูผ่าน ‘จอประเภทต่างๆ (จอโทรทัศน์, จอคอมพิวเตอร์, จอแท็บเล็ต จนถึงจอสมาร์ทโฟน) ล้วนไม่อาจทดแทนหรือให้ความรู้สึกอิ่มเอิบเท่ากับการดูผ่านจอใหญ่ในโรงภาพยนตร์

 

1917

1917

 

พูดแล้วก็เหมือนกับท่องคาถาวนไปเวียนมา แต่กล่าวเป็นอย่างอื่นไม่ได้จริงๆ ว่าความเต็มเม็ดเต็มหน่วยทางด้าน ‘อรรถรสและสุนทรียะ’ ของหนังเรื่อง 1917 สัมพันธ์กับการได้ดูหนังเรื่องนี้ในโรงภาพยนตร์ เพราะสิ่งที่หนังบอกเล่าไม่ได้เป็นเพียงแค่ข้อมูลข่าวสารเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นเรื่องที่เราสามารถเก็บเกี่ยวจากการดูผ่านจอแบบไหนก็ได้ ทว่าความสําเร็จหรือล้มเหลวของการที่คนทําหนังเลือกใช้เทคนิคการถ่ายแบบช็อตเดียวตลอดเรื่อง หรืออีกนัยหนึ่ง (ดูเหมือน) ไม่มีการตัดภาพ และเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นแบบเรียลไทม์ ซึ่งต้องพึ่งพาการมีส่วนร่วมของผู้ชมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง และการดูหนังเรื่องนี้ในสภาพปิดของโรงภาพยนตร์นั้นห่อหุ้มรวมถึงโอบอุ้มความรู้สึกและสภาวะการรับรู้ของผู้ชมได้อย่างเข้มข้นและหนักแน่นกว่าช่องทางอื่นๆ อย่างไม่ต้องเทียบเคียง และนั่นยังไม่ต้องเอ่ยถึงขนาดของจอ

 

โดยปริยาย สิ่งที่ปรากฏเบื้องหน้าจึงไม่ได้เป็นแค่เรื่องของการที่ผู้ชมได้ร่วม ‘รู้เห็น’ ความเลวร้ายของสงคราม แต่กลวิธีทั้งทางด้านภาพและเสียงในหลายช่วงเวลาหยิบยื่นทั้งความน่าหดหู่และสยดสยอง ความน่าตื่นเต้นระทึกขวัญ ความอลหม่านสับสน และความเศร้าสร้อยหม่นหมอง อีกทั้งเทคนิคแบบลองเทกดังที่กล่าวถึงการถ่ายอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีการตัดภาพก็ยังผูกมัดผู้ชมเอาไว้กับตัวละครอย่างชนิดไปไหนไปด้วยกัน ในแง่หนึ่งมันอาจจะก่อให้เกิดความรู้สึกเหมือนถูกจองจํา เพราะผู้ชมไม่มีทางเลือกนอกจากล่มหัวจมท้ายไปกับตัวละคร นั่นรวมถึงฉากหนึ่งที่ตัวละครต้องหนีตายด้วยการกระโจนลงแม่น้ําและการถูกกระแสอันเชี่ยวกรากพัดพาไปอย่างกระเซอะกระเซิง กล้องก็ ‘ดูเหมือน’ ลอยละลิ่วตามตัวละครไปด้วย แต่พร้อมๆ กับที่กาลเวลาผ่านพ้น ทั้งหลายทั้งปวงก็ค่อยๆ พัฒนากลายเป็นความรู้สึกเกี่ยวข้อง เชื่อมโยง ความห่วงหาอาทร และนั่นคือตอนที่กลไกดราม่าของหนังทํางานอย่างทรงพลัง และผู้ชมตระหนักได้ว่านี่เป็นการผจญภัยที่พวกเรามีส่วนได้ส่วนเสียและลืมไม่ลง

 

1917

 

พล็อตของหนังเรื่อง 1917 แทบจะไม่มีความสลับซับซ้อน เหตุการณ์ตามท้องเรื่องตรงกับวันที่ 6 เมษายน 1917 หรือช่วงเวลาที่การสู้รบในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งกําลังสุกงอม ฉากหลังคือเมืองชนบทในประเทศฝรั่งเศส และหนังเริ่มต้นด้วยภาพของทุ่งหญ้าเขียวขจี ดอกไม้กําลังผลิบาน ซึ่งว่าไปแล้วเป็นช็อตที่หลอกลวงความรู้สึก หรืออีกนัยหนึ่งคือตรงกันข้ามกับเรื่องที่กําลังจะได้รับการบอกเล่าอย่างชนิดฟ้ากับเหว เพราะนับจากนี้เป็นต้นไป สิ่งที่พวกเรากําลังจะได้ประสบพบเห็นก็เป็นอย่างเดียวกับที่บรรดาทหารเจอะเจอในสมรภูมิ การฆ่าแกง ความสูญเสีย การบาดเจ็บล้มตาย ซากปรักหักพัง ผลพวงอันน่าอเนจอนาถของสงคราม หลายครั้งหลายครามันดูเหมือนฉากสุดท้ายของวันสิ้นโลก

 

จุดปะทุของเรื่องทั้งหมดมาจากข้อมูลที่ฝ่ายอังกฤษสืบทราบว่าการเพลี่ยงพล้ำและล่าถอยครั้งล่าสุดของกองทัพเยอรมนีเป็นเพียงกลลวง และการเตรียมบุกโจมตีของทหารอังกฤษสองกองพันในตอนเช้าตรู่ของวันรุ่งขึ้น แท้ที่จริงแล้วมันก็คือการเดินไปติดกับดักของฝ่ายตรงข้าม และสิ่งที่น่าวิตกกังวลว่าจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จากคําบอกเล่าของนายพล (โคลิน เฟิร์ธ) ก็คือการจบชีวิตของทหารจํานวนมากภายใต้เงื่อนไขที่ระบบการสื่อสารถูกตัดขาดอย่างสิ้นเชิง ทหารยศนายสิบจํานวนสองนายได้รับมอบหมายให้เดินเท้าจากสนามเพลาะด้านหลัง ผ่านพื้นที่การสู้รบหรือที่เรียกว่า No Man’s Land เพื่อนําคําสั่งระงับการบุกโจมตีไปแจ้งให้กับผู้บังคับกองพันรับทราบก่อนหายนะใหญ่หลวงจะมาเยือน และพวกเขามีเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง

 

1917

 

นายสิบทั้งสอง ได้แก่ ทอม เบลก (ดีน-ชาร์ลส์ แชปแมน) ผู้ซึ่งมีความช่ำชองเรื่องแผนที่ อีกทั้งพี่ชายของเขาก็ยังร่วมรบอยู่ในกองพันดังกล่าวด้วย เป็นไปได้ว่านั่นคือเหตุผลที่นําพาให้เขาถูกเลือก และมันทําให้เดิมพันของการปฏิบัติภารกิจให้ลุล่วงก็ยิ่งเพิ่มสูงมากขึ้น อีกหนึ่งคนคือ วิลเลียม สโกฟิลด์ (จอร์จ แม็กคาย) ผู้ซึ่งสถานะของเขาเป็นเพียงแค่บัดดี้ติดสอยห้อยตาม หรืออีกนัยหนึ่งคือมาเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการครั้งนี้แบบตกกระไดพลอยโจน

 

ดูผิวเผินแล้ว ทั้งเบลกและสโกฟิลด์ก็เป็นทหารชั้นผู้น้อยที่ต้องปฏิบัติตามคําสั่งของผู้บังคับบัญชา แต่ยิ่งคนดูได้คลุกคลีตีโมง ระหว่างคนทั้งสองกลับมีบุคลิกที่ผิดแผกอย่างมีนัยสําคัญ อย่างน้อยเบลกก็เป็นตัวละครที่ไร้เดียงสาทีเดียว (เหมือนใบหน้าของเขา) เมื่อเทียบเคียงกับสโกฟิลด์ผู้ซึ่งบทสนทนาในช่วงหนึ่งบอกให้รู้ว่าเขาเคยได้รับเหรียญกล้าหาญ ซึ่งเป็นสิ่งที่ลึกๆ แล้วเบลกหมายมั่นปั้นมือ แต่จนแล้วจนรอดสโกฟิลด์ก็แลกมันกับไวน์ขวดหนึ่งอย่างมองไม่เห็นคุณค่า และความหมายไม่มากไม่น้อย ทัศนคติที่มีต่อสงครามของตัวละครทั้งสองก็ไม่เหมือนกัน ในมุมของสโกฟิลด์ มันไม่ใช่เวทีแสดงวีรกรรมห้าวหาญแต่อย่างใด และเขาดูเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้าจากสงคราม หรือแม้กระทั่งว้าวุ่นสับสน

 

โดยปริยาย ขณะที่ความมุ่งมาดปรารถนาของเบลกผู้ซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่นและกระตือรือร้นได้แก่การเซฟชีวิตทหารนับพันรวมถึงพี่ชายของเขาจากการถูกฝ่ายตรงข้ามซุ่มโจมตี สโกฟิลด์ดูเหมือนเป็นตัวละครที่หลงทาง เขาไม่มีความกระหายจะสู้รบ แต่ในขณะเดียวกันเราได้ยินเขาเอ่ยไม่น้อยกว่าสองครั้งว่าไม่อยากจะกลับบ้านเช่นกัน มองในแง่มุมหนึ่ง สโกฟิลด์เหมือนคนที่ตายไปแล้วในทางจิตวิญญาณ หรือในช่วงเวลาหนึ่งเขาก็เกือบจะตายไปแล้วจริงๆ แต่ก็นั่นแหละ ความไม่แน่ไม่นอนของเหตุการณ์ก็นําพาให้สุดท้ายแล้วเขากลายเป็นคนที่ต้องแบกความรับผิดชอบครั้งมหึมา และมันมีส่วนดลบันดาลให้เขากลายเป็นคนที่ ‘เกิดใหม่’ อีกครั้ง

 

ข้อน่าสังเกต หนังเริ่มต้นและสิ้นสุดด้วยช็อตที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือภาพของทุ่งหญ้าเขียวขจี แต่อย่างหนึ่งที่ผู้ชมบอกได้แน่ๆ ก็คือสโกฟิลด์ในตอนท้ายเป็นคนละคนกับในตอนต้น เขาดูเหมือนค้นพบความหมายบางอย่างที่ก่อนหน้านี้เจ้าตัวทําตกหล่นสูญหาย และอย่างหนึ่งที่ชัดแจ้งก็คือเขาเริ่มคิดถึงการกลับบ้าน

 

 

กล่าวจนถึงบรรทัดนี้ ความท้าทายอย่างยิ่งยวดของการถ่ายแบบลองเทกก็คือการที่คนทําหนังไม่สามารถยักย้ายถ่ายเทเรื่องเวลาและสถานที่ แน่นอนว่าการตัดต่อหรือเทคนิคแฟลชแบ็กน่าจะช่วยให้คนทําหนังบอกเล่าโน่นนี่นั่นได้อย่างคล่องแคล่ว หรืออธิบายตื้นลึกหนาบางเกี่ยวกับตัวละครได้สะดวกโยธิน ข้อจํากัดของลองเทกทําให้คนดูไม่มีอํานาจวิเศษแบบนั้น และนั่นทําให้เราตกที่นั่ง ‘คนตัวเล็กๆ’ ไม่แตกต่างจากตัวละคร แต่ในทางกลับกัน พลังของลองเทกได้แก่การที่ผู้ชมได้อยู่ร่วมกับทุกขณะจิตของตัวเอกจริงๆ หรืออีกนัยหนึ่งคือเวลาของเขาเป็นเวลาเดียวกับของเรา และทุกนาทีที่ผ่านพ้นไปก็คือการลงทุนในทางอารมณ์และความรู้สึกที่ค่อยๆ สั่งสมอย่างแน่นหนาและผนึกเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

 

แต่ลองเทกก็เรื่องหนึ่ง วิธีการเคลื่อนกล้องก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งโดยสิ้นเชิง และในขณะที่ตัวละครถูกกําหนดให้ต้องย้ายตัวเองไปทางไหนต่อไหน งานกํากับภาพของ โรเจอร์ ดีกินส์ ก็มีบทบาทคล้ายคลึงกัน บางครั้งกล้องต้องเคลื่อนถอยหลังเพื่อจับภาพตัวละครเดินตรงมา และพร้อมๆ กันนั้นเราก็ได้เห็นแบ็กกราวด์ที่ค่อยๆ เปลี่ยนไปอย่างน่าแปลกตา (เช่นฉากเปิดเรื่อง และต้องปรบมือให้กับงานออกแบบงานสร้าง) หรือบางครั้งกล้องก็ติดตามอยู่เบื้องหลัง โดยเฉพาะฉากที่ตัวละครต้องแหวกแถวทหารในช่องแคบๆ ของสนามเพลาะภายใต้สถานการณ์ที่สุดแสนคับขันและจวนเจียน แต่จริงๆ แล้วงานกํากับภาพของดีกินส์ยังครอบคลุมถึงการนําเสนอฉากกึ่งจริงกึ่งฝันอย่างวิจิตรบรรจงในยามค่ำคืนที่ทุกอย่างดู ‘เซอร์เรียล’ และมันทําให้พูดได้เต็มปากว่านี่เป็นหนังที่องค์ประกอบทางด้านภาพทั้งแพรวพราวและน่าพิศวงงงวย

 

 

อย่างที่รับรู้รับทราบ หนังสงครามที่ดีทุกเรื่องล้วนแล้วแต่มีแก่นเรื่องเดียวกัน นั่นก็คือสงครามคือขุมนรก หรือ ‘War is hell’ หนังเรื่อง 1917 ของเมนเดสก็ไม่ได้บอกเล่าอะไรที่ผิดแผกออกไป กระนั้นมันก็พูดถึงแง่มุมดังกล่าวได้อย่างฉาดฉาน คมคาย โน้มน้าวชักจูง และอีกอย่างหนึ่งที่เป็นเรื่องน่าเศร้าเมื่อนึกย้อนทบทวนก็คือในบรรดากลุ่มคนที่ต้องรับเคราะห์กรรมเป็นลําดับแรกๆ ของการสู้รบในสงครามก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นทหารชั้นผู้น้อยที่ถูกสั่งให้ไปเผชิญความเป็นความตายตามยถากรรมกลางสมรภูมิ ขณะที่ระดับนายพลหรือนายพันซ่อนตัวอยู่ในบังเกอร์อย่างปลอดภัย

 

สุดท้ายแล้ว สงครามคือขุมนรกสําหรับคนตัวเล็กๆ อย่างแท้จริง

 

 

1917 (2020)
กํากับ: แซม เมนเดส
นักแสดง: ดีน-ชาร์ลส์ แชปแมน, จอร์จ แม็กคาย, โคลิน เฟิร์ธ, เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ 

 

ติดตามบทความที่เกี่ยวข้องได้ที่

 

ร่วมลุ้นโมเมนต์ประวัติศาสตร์การประกาศผลครั้งนี้พร้อมกันในช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ ตามเวลาประเทศไทย ที่ www.facebook.com/thestandardpop

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์ 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X