×

สรุปกรณีจำเลยคดีชุมนุม #19กันยา ขอถอนทนาย ชี้ไม่ได้รับความเป็นธรรม ศาลฯ ยืนยันให้สิทธิจำเลยอย่างเต็มที่

โดย THE STANDARD TEAM
10.04.2021
  • LOADING...
สรุปกรณีจำเลยคดีชุมนุม #19กันยา ขอถอนทนาย ชี้ไม่ได้รับความเป็นธรรม ศาลฯ ยืนยันให้สิทธิจำเลยอย่างเต็มที่

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 เมษายน ที่ศาลอาญา รัชดา ห้องพิจารณา 704 มีนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และสนามหลวง เมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2563 ซึ่งมีผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสิ้น 22 คน ในหลายข้อหา โดยมีแกนนำ 7 คน ประกอบด้วย อานนท์ นำภา, เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์, รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก, สมยศ พฤกษาเกษมสุข, ไผ่-จตุภัทร บุญภัทรรักษา และหมอลำแบงค์-ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และทั้ง 7 คนไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี แม้ยื่นประกันมาแล้วหลายครั้ง และจำเลยอีก 13 คน ถูกแจ้งข้อหาหลักตามประมาลกฎหมายอาญามาตรา 116

 

เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนตรวจพยานหลักฐานในคดี จําเลยทั้ง 22 คน ยกเว้น ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม จำเลยที่ 3 ได้แถลงความประสงค์ขอถอนทนายความ เนื่องด้วยกระบวนการพิจารณาคดีในศาลอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์และการปฏิบัติที่ไม่เอื้ออำนวยให้จำเลยได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ตามหลักการและเจตนารมณ์แห่งกฎหมาย โดยอธิบายเหตุผลประกอบเนื่องจาก

 

1. จำเลยไม่ได้รับสิทธิในการปรึกษาหารือกันในทางคดีอย่างเป็นส่วนตัวและเป็นความลับระหว่างทนายความและลูกความ เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ควบคุม จนสิทธิของจําเลยและทนายความถูกละเมิดแม้อยู่ในห้องพิจารณาคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีการออกมาตรการรักษาความปลอดภัยหลายส่วน 

 

ทั้งการตรวจรายชื่อทนายจําเลยและจําเลยที่เข้าร่วมการพิจารณาคดีอย่างเข้มงวด การทําร้ายร่างกายทนายความที่กําลังใช้สิทธิปรึกษากับจําเลยเป็นการเฉพาะตัว การยึดโทรศัพท์ของทนายจําเลย การไม่เปิดโอกาสให้จําเลยและทนายได้ปรึกษากันเป็นการเฉพาะตัว 

 

อานนท์ นำภา และจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ยังได้แถลงต่อศาล เพื่อขอให้ศาลซึ่งมีอํานาจควบคุมการพิจารณาคดี พิจารณาสั่งให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ปฏิบัติโดยเคารพสิทธิดังกล่าว ซึ่งศาลแจ้งว่าจะพิจารณาตามที่เห็นสมควร โดยไม่ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ปฏิบัติโดยเคารพสิทธิของจําเลยและทนายความแต่อย่างใด

 

2. จําเลยที่ต้องขังและจําเลยที่ได้รับการประกันตัวไม่ได้รับสิทธิในการปรึกษาหารือกันในทางคดี ไม่อนุญาตให้พูดคุยหารือกันอย่างเพียงพอ

 

3. คดีนี้ศาลไม่ได้สั่งให้พิจารณาคดีลับ แต่กลับมีคําสั่งหรือมาตรการต่างๆ ในการไม่อนุญาตให้ครอบครัว และ/หรือ ญาติของจําเลย รวมทั้งบุคคลภายนอกเข้ารับฟังการพิจารณาคดีได้ ตามหลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยและโปร่งใส จําเลยและทนายความได้แถลงต่อศาลหลายครั้ง แต่ก็ไม่ได้รับการพิจารณา โดยอ้างถึงพฤติการณ์เดิม

 

ดังนั้นจําเลยทั้งหมด ยกเว้นปติวัฒน์ จึงขอถอนทนายความ และทนายความของจําเลยดังกล่าวขอถอนตัวจากการปฏิบัติหน้าที่ เพราะไม่สามารถยอมรับกระบวนการพิจารณาคดีที่ไม่คํานึงสิทธิของจําเลยนี้ได้ แต่ในวันดังกล่าว ศาลยังไม่มีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอถอนทนายดังกล่าว

 

ขณะที่เมื่อวานนี้ (9 เมษายน) ศาลอาญาได้ออกเอกสารแจงข้อเท็จจริง โดยระบุว่าหลังศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนนำเสนอข่าวกระบวนพิจารณาคดีว่ามีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง โดยชี้แจงข้อเท็จจริงดังนี้

 

1. คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ 287/2564 ระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์และนายพริษฐ์หรือเพนกวิน ชิวารักษ์ กับพวกรวม 22 คน ศาลได้อนุญาตให้ญาติของจำเลย มวลชน ประชาชน ผู้แทนสถานทูตและองค์กรต่างๆ และสื่อมวลชนเข้าฟังการพิจารณาคดีดังกล่าวอย่างเต็มที่ 

 

แต่เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 เกิดเหตุการณ์ที่จำเลยและมวลชนบางคนถือโอกาสทำให้เกิดความวุ่นวาย เช่น ยืนแถลงการณ์ และขว้างปาสิ่งของในห้องพิจารณาโดยไม่สนใจกฎระเบียบ อันเป็นการขัดขวางกระบวนการพิจารณา และประพฤติตนไม่เรียบร้อย 

 

ทั้งมีบุคคลแอบถ่ายภาพในห้องพิจารณาและนำไปเผยแพร่ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ทำให้การพิจารณาคดีวันที่ 29 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา จำเป็นต้องคัดกรองผู้ที่จะเข้าไปในห้องพิจารณาเพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอีก รวมถึงเคร่งครัดในเรื่องเครื่องมือสื่อสารทุกชนิด โดยให้ปิดการใช้งานและฝากไว้ตามจุดที่กำหนด แต่ได้อนุญาตให้ญาติของจำเลยที่ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเข้าฟังในห้องพิจารณาคดีได้

 

2. ต่อมาเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างรุนแรงอีกครั้ง วันที่ 7 และ 8 เมษายน 2564 จึงจำเป็นต้องกำหนดจำนวนคนที่จะเข้าไปในห้องพิจารณาคดี โดยให้เฉพาะบุคคลที่จำเป็นเกี่ยวข้องในคดีเท่านั้น ได้แก่ จำเลยทั้งหมด 22 คน พนักงานอัยการ ทีมทนายความจำเลย และตัวแทนสถานทูตต่างๆ มีจำนวนเกือบ 50 คน นอกจากนั้นให้อยู่ในดุลพินิจของศาล เพื่อให้สามารถเว้นระยะห่างระหว่างกันได้ และลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

3. ศาลได้จัดสถานที่ให้ญาติและผู้ที่จะเข้าฟังการพิจารณาเข้าไปรับฟังการถ่ายทอดภาพและเสียงด้วยระบบประชุมทางไกลทางจอภาพที่ห้องพิจารณาอีกห้องหนึ่ง เพื่อให้ได้รับฟังการพิจารณาเช่นเดียวกับห้องพิจารณา

 

4. ศาลได้อนุญาตให้ญาติ มวลชน ผู้แทนสถานทูตต่างๆ และสื่อมวลชนเข้ารับฟังการพิจารณาได้ตลอดมา ให้สิทธิจำเลยที่จะพบทนายความและพูดคุยกับทนายความอย่างเต็มที่ และอนุญาตให้จำเลยพูดคุยกับบิดามารดาและญาติได้ หากขัดข้องอย่างไรแจ้งผู้พิพากษาได้ ซึ่งศาลอาญาถือว่าเป็นสิทธิที่สำคัญของฝ่ายจำเลยเสมอมาในทุกกรณี ไม่เคยเพิกเฉยตามที่มีการนำเสนอข่าวแต่อย่างใด

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X