วันนี้ (26 กุมภาพันธ์) 19 องค์กรภาคประชาชนได้ร่วมกันแถลงการณ์เรียกร้องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไม่อนุมัติพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 โดยมีรายละเอียดระบุว่า
ตามที่เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบให้ ตรา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ก่อนกฎหมายฉบับนี้จะมีผลวันที่ 22 กุมภาพันธ์ เพียง 4 วัน
สาระสำคัญของ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 ให้เลื่อนการบังคับใช้มาตรา 22, 23, 24 และ 25 ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าว กำหนดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องบันทึกภาพและเสียงตลอดเวลาที่เข้าตรวจค้น จับกุม ควบคุมตัวและขัง พร้อมกับแจ้งให้ฝ่ายปกครอง (อำเภอ) และอัยการทราบ ทำบันทึกการจับกุม สภาพร่างกายและจิตใจของผู้ถูกจับและควบคุมตัวโดยละเอียดเพื่อให้ญาติและทนายความสามารถตรวจสอบได้ เพื่อป้องกันการซ้อมทรมาน การอุ้มหาย อุ้มฆ่า และการกระทำทุจริตประพฤติมิชอบโดยเจ้าหน้าที่
ครม. มีมติให้ชะลอการบังคับใช้ออกไปจนถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ โดยให้เหตุผลว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการปฏิบัติการตามกฎหมายแจ้งว่า ยังมีปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับความพร้อมด้านงบประมาณการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์และขั้นตอนการปฏิบัติงานในการบังคับใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนซับซ้อนและมีผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของประชาชนโดยตรงหากมีการบังคับใช้กฎหมายขณะที่หน่วยงานยังไม่มีความพร้อมอาจเกิดผลร้ายต่อสังคมเป็นอย่างยิ่งนั้น
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และองค์กรสิทธิมนุษยชน ดังรายนามท้ายแถลงการณ์นี้ เห็นว่าการตรา พ.ร.ก. ดังกล่าวของ ครม. น่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 เนื่องจากเหตุในการออกพระราชกำหนดตามมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญนั้นต้องเป็นกรณีฉุกเฉิน มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ร่าง พ.ร.ก. ตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว มิได้เป็นกรณีฉุกเฉิน มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะ ผบ.ตร. เคยออกคำสั่งที่ 178/2564 ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กล้องติดตัว บันทึกภาพและเสียง ขณะทำการตรวจค้นจับกุมและการสอบสวน มาตั้งแต่ปี 2564 แล้ว ทั้งการเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายออกไป ก็มิใช่เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 172 แห่งรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด จึงมิใช่เป็นเหตุผลเพียงพอที่ ครม. จะตรา พ.ร.ก. เพื่อเลื่อนการบังคับใช้ออกไป
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ เป็นกฎหมายที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันประชาชนจากอาชญากรรมที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ได้แก่ การกระทำทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการบังคับให้บุคคลสูญหาย การที่ ครม. เห็นชอบให้เลื่อนการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวออกไป แม้เป็นเพียงบางมาตรา แต่เป็นมาตราที่กำหนดมาตรการที่สำคัญในการปกป้องคุ้มครองประชาชนจากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ โดยการตรา พ.ร.ก. ที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในครั้งนี้นั้น แสดงให้เห็นถึงความ ‘ไม่เต็มใจ’ (Unwilling) ของรัฐบาลในการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของประเทศในเวทีนานาชาติอย่างยิ่ง
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และองค์กรสิทธิมนุษยชน ดังรายนามท้ายแถลงการณ์นี้ จึงขอเรียกร้องให้พรรคการเมืองทุกพรรคและ ส.ส. พิจารณาไม่อนุมัติ พ.ร.ก. ตามที่ ครม. เสนอ ด้วยความเชื่อมั่นในศักดิ์ศรีของมนุษย์ สิทธิมนุษยชน และระบอบประชาธิปไตย
สำหรับรายชื่อองค์กรที่ร่วมออกแถลงการณ์มีดังต่อไปนี้
- สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
- มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CRCF)
- สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
- มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)
- กลุ่มนอนไบนารีแห่งประเทศไทย
- ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR)
- กลุ่มด้วยใจ
- คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)
- เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ JASAD
- เครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี HAP
- ศูนย์ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนภาคอีสาน (ศสอ.)
- มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ
- มูลนิธิสายเด็ก 1387
- มูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี
- มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ (FAR)
- คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35
- มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (pro-rights)
- มูลนิธิรักษ์เด็ก
- มูลนิธิเพื่อยุติการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก