วันนี้ (19 กรกฎาคม) ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม พร้อมด้วยเครือข่าย นัดมวลชนจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์โดยใช้ชื่อว่า ‘19 กรกฎา วันฌาปนกิจ ส.ว.’
เวลา 16.20 น. หยก เยาวชน อายุ 15 ปี ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และกลุ่มทะลุวังบางส่วน ได้ปีนขึ้นไปบนส่วนของฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมโบกธงสัญลักษณ์ของกลุ่ม ขณะที่มวลชนเริ่มเดินทางมารวมตัวที่บริเวณเกาะกลางของวงเวียน และทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ด้วยการเขียนข้อความสะท้อนถึงสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ลงบนกระดาษ และมีแกนนำบางส่วนสลับขึ้นปราศรัยบนรถขยายเสียง
เวลา 16.59 น. กลุ่มผู้ร่วมชุมนุมนำแผงรั้วมากีดขวางบริเวณรอบวงเวียนลานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อจัดระเบียบพื้นที่ให้กลุ่มมวลชนที่เหลือได้มานั่งฟังการปราศรัยของแกนนำที่สลับสับเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัยบนเวที
เวลา 17.16 น. ธัชพงศ์ แกดำ ขึ้นเวทีปราศรัยแจ้งกับผู้ชุมนุม ว่าที่ประชุมรัฐสภามีมติไม่ให้เสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นรอบที่ 2 หลังการประกาศมวลชนได้ส่งเสียงโห่และแสดงความไม่พอใจ และมีบางส่วนที่นำป้ายผ้าระบุข้อความว่า ‘นายกฯ พิธาฉันทมติประชาชน’ ผูกไว้ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
นอกจากนี้ในการชุมนุมมีการแจกใบปลิวการชุมนุมครั้งถัดไปของกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า ‘สภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย’ โดยนัดเดินขบวนรอบจัตุรัสปทุมวัน ต่อเนื่องสยามสแควร์ มาบุญครอง พารากอน และเซ็นทรัลเวิลด์ จุดประสงค์เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ปักหมุดหยุดเผด็จการ หนุนรัฐบาลเสียงประชาชน ในวันอาทิตย์ที่ 23 กรกฎาคม 2566
เวลา 19.30 น. พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์หลังเดินทางมาลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การชุมนุม
พริษฐ์กล่าวว่า วันนี้หลักๆ ก็ถือว่ามาสังเกตการณ์ มาพูดคุยกับประชาชนถึงความรู้สึกที่เขามีหลังจากการลงมติของการประชุมรัฐสภาถึง 2 ครั้ง ทั้งวันที่ 13 และ 19 กรกฎาคม มาขอบคุณประชาชนที่ให้ใจ
ส่วนตัวคิดว่าสาเหตุของการมารวมตัวกันวันนี้เป็นปฏิกิริยาต่อผลการลงมติของรัฐสภาถึง 2 ครั้ง ส่วนตัวขออธิบายว่าการลงมติทั้ง 2 วันดังกล่าวมีความสำคัญ เพราะเป็นความพยายามที่จะคืนความปกติให้กับสังคม ซึ่งวันที่ 13 กรกฎาคม พรรคก้าวไกลยืนยันมาตลอด เรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โหวตให้กับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้การโหวตไม่ได้เป็นการโหวตให้เพราะความชื่นชอบในตัวพิธาหรือพรรคก้าวไกล แต่ขอให้เคารพเสียงของประชาชนทุกคนที่ลงคะแนนจากการเลือกตั้งทั้ง 40 ล้านเสียง จนกลายมาเป็นผู้แทนราษฎรจำนวน 500 คน
พริษฐ์กล่าวต่อว่า การโหวตให้แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคที่ได้รับความไว้วางใจ จนสามารถรวบรวมเสียงได้กึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรเป็นไปตามครรลองประชาธิปไตยตามปกติ
วันนี้ในการอภิปรายในสภา เกี่ยวข้องกับการตีความข้อบังคับซึ่งพรรคก้าวไกลยืนยันว่าหลักการสำคัญไม่ได้เกี่ยวข้องกับพิธาโดยส่วนตัว แต่เราต้องยึดมั่นในหลักการที่ถูกต้อง และการตีความต้องสอดคล้องกับหลักรัฐธรรมนูญ
ในส่วนของพรรคก้าวไกลมีการอภิปรายชัดเจนที่เห็นว่าพรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วยตามมติของที่ประชุมรัฐสภาในวันนี้ เพราะมองว่ามันไม่ได้อยู่บนฐานที่เกี่ยวข้องกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่เป็นเหตุผลทางกฎหมายเหตุผลทางรัฐศาสตร์ ว่าทำไมไม่ควรจะตีความว่าการเสนอชื่อนายกฯ เข้าญัตติทั่วไปอยู่ในข้อบังคับข้อที่ 41
“ผมยืนยันมาตลอดว่าการลงมติวันที่ 13 กรกฎาคม คือเราต้องเคารพเสียงของประชาชนทุกคน ผมย้ำว่าเราต้องโหวตให้พิธาเพื่อเคารพเสียงของประชาชนทุกคน ไม่ใช่แค่เคารพเสียงของประชาชนที่เลือกพิธาและพรรคก้าวไกล หรือประชาชนที่โหวต 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลเท่านั้น แต่ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนเคารพเสียงของประชาชนที่ออกมาเลือกตั้ง”
พริษฐ์กล่าวต่อว่า ฉะนั้นแล้วการเคารพเสียงข้างมากของ ส.ส. ก็คือการเคารพเสียงของประชาชน เป็นหลักการที่เรายืนยันมาตลอด ทั้งนี้ คนที่ไม่เข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ล้วนอยากเห็นการเมืองเดินหน้าด้วยกติกาประชาธิปไตย
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ขั้นต่อไปจะมีการหารือให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ พริษฐ์ระบุว่า ในส่วนนี้ก็ขอให้เป็นการหารือของพรรคในลำดับต่อไป
ยังไงก็ตาม การเมืองไทยขณะนี้ไม่ได้เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยปกติ ไม่ว่าจะเป็นการให้ ส.ว. เคารพเสียงข้างมากของ ส.ส. เคารพเสียงข้างมากของประชาชน การที่พรรคก้าวไกลพยายามอภิปรายคัดค้านให้การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีไม่ถูกจำกัดด้วยข้อบังคับข้อที่ 41 ทั้งหมดล้วนเป็นการพยายามคืนความปกติให้สังคมไทย
เวลา 19.50 น. อานนท์ นำภา ปราศรัยช่วงหนึ่งระบุว่า คนรุ่นใหม่ลงถนนครั้งแรกเมื่อ 3 ปีที่แล้ว หลายคนปรามาสว่า ลงถนนแล้วได้อะไร โดยเฉพาะปี 2563 ก็สามารถเปลี่ยนประเทศได้ โดยใช้ถนนราชดำเนินเป็นจุดตั้งต้น ตนจึงถือว่าวันนี้ถือเป็นวันแรก เป็นวันตั้งต้นในการชุมนุมให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์
“เรากำลังถูกผลักและถูกให้ต่อสู้เผชิญหน้ากับกลุ่มคนที่ครองอำนาจในประเทศนี้ เขาเหยียบเราให้จมดิน แต่เราคือเมล็ดพืช ยิ่งเหยียบยิ่งงอกงาม จาก 80 กว่าเสียงอนาคตใหม่ มาวันนี้ ก้าวไกลเป็นพรรคอันดับ 1 ปีนี้ได้ 14 ล้านเสียง อีก 4 ปีได้ 20 ล้านเสียงแน่นอน หากทำลายพิธาได้ อีก 4 ปีเจอ รังสิมันต์ โรม ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่ากรุงโรมไม่ได้สร้างภายในวันเดียว”
อานนท์ยังปราศรัยอีกว่า จะเลือกพรรคไหนกันก็ไม่ว่า แต่พรรคที่จะหยุดเผด็จการได้คือพรรคเพื่อไทย ดังนั้นขอให้พรรคเพื่อไทยตั้งหลักให้มั่น อย่าทรยศประชาชนเด็ดขาด ถ้าจะไปจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ ให้นึกถึงหน้า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถ้าจะจับมือกับพรรคภูมิใจไทย ให้นึกถึงหน้า เนวิน ชิดชอบ ถ้าจะไปจับมือกับ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้นึกถึงคนที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ชุมนุมคนเสื้อแดง และผู้ลี้ภัยทางการเมือง
วันนี้ถือเป็นวันแรกที่ลงถนน หลังจากนี้จะนัดกันให้บ่อยขึ้น เพื่อให้มวลชนจากต่างจังหวัดเข้ามาชุมนุมนอนกันที่ถนนราชดำเนินแห่งนี้ และขอให้เตรียมรองเท้าไว้ วันไหนพร้อมจะเดินไปทำเนียบรัฐบาลอย่างแน่นอน และขออย่าดูถูกประชาชน เพราะความอดทนมีข้อจำกัด คนที่มารวมกันที่นี่ก็เพราะข้อจำกัดสิ้นสุดแล้วทำให้การต่อสู้เริ่มต้นขึ้น และยืนยันว่าการชุมนุมปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย และหลังจากนี้จะมีการชุมนุมภายในมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นทั่วประเทศอย่างแน่นอน และเมื่อใดที่คนมารวมกันเป็นแสนเผด็จการอยู่ไม่ได้แน่นอน
เวลา 20.00 น. อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล อดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ถือโอกาสนี้มาเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชนที่ออกมาให้กำลังใจตั้งแต่ที่บริเวณหน้าอาคารรัฐสภา และที่มารวมตัวที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ตนมาดูความปกติเรียบร้อยและการจัดการของเจ้าหน้าที่ต่อผู้ชุมนุม ยอมรับว่าดีใจที่อย่างน้อยวันนี้เราได้พื้นที่นี้กลับคืนมา ก็คือลานวงกลมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อสมัยการชุมนุมต่อต้าน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็จะเห็นว่ามีการนำกระถางต้นไม้มาวางเต็มไปหมดในพื้นที่ ซึ่งตอนนี้กลับมาเป็นพื้นที่ของประชาชน พื้นที่ชุมนุมที่ปลอดภัย
อมรัตน์กล่าวต่อว่า เท่าที่ดูสถานการณ์ตอนนี้การชุมนุมถือว่าเรียบร้อยดี ทราบว่าพี่น้องประชาชนสมัยนี้มีส่วนร่วมทางการเมืองสูง มีความตื่นตัว สนใจติดตามการประชุมสภา ตนเห็นใจพี่น้องมวลชนที่เลือกตั้งเสร็จแล้วก็ยังต้องออกมาปกป้องเสียงตัวเอง
ไม่น่าเชื่อว่าผู้มีอำนาจเหนือการเลือกตั้งจะใช้วิธีแบบนี้ องค์กรอิสระด้วย โดยเฉพาะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ไม่เปิดโอกาสให้พิธาได้เข้าไปชี้แจงแสดงเหตุผลแต่กลับส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญเลย จากนี้ก็ต้องหาช่องทางทางกฎหมายในการดำเนินการกับ กกต. การกระทำขององค์กรอิสระเหล่านี้ได้เปิดเปลือยสังคมการเมืองไทย ประชาชนได้เห็นแล้วว่าเป็นอย่างไร ชัดเจนที่สุดแล้ว ไม่มีประเทศใดที่ผลการเลือกตั้งพรรคที่ได้อันดับ 1 รวมเสียงข้างมากได้ถึง 312 เสียงจะไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ด้วยข้อกล่าวหาแบบนี้
อมรัตน์กล่าวว่า เมื่อสักครู่ที่แยกมาจากพิธา ทำให้เห็นว่าคุณพิธามีภาวะผู้นำมาก เป็นคนที่น่าเลื่อมใส เพราะสถานการณ์ที่คับขันแบบนี้เราได้เห็นพิธาวางท่าทีที่ให้กำลังใจพวกเราและลูกพรรค และฝากให้กำลังใจพี่น้องมวลชนที่มาลุ้นมาให้กำลังใจ พิธาเหมาะที่จะเป็นผู้นำทางการเมืองในยุคนี้มากๆ
สำหรับกิจกรรมสุดท้ายของการชุมนุม คือการอ่านแถลงการณ์จากแกนนำเครือข่ายต่างๆ ระบุ 3 ข้อเรียกร้องต่อ ส.ว. และพรรคร่วมฝ่ายประชาธิปไตย ว่า เนื่องด้วยการเลือกนายกรัฐมนตรีได้จบสิ้นไป ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า ส.ว. พยายามใช้ทุกวิถีทางในการทำลายความฝันของประชาชนและหักหาญเจตจำนงของประชาชน ดังนั้นจึงขอเรียกร้องดังนี้
- ส.ว. ต้องไม่ขัดขวางและปฏิบัติตามเจตจำนงของประชาชน ด้วยการลาออกจากตำแหน่ง ส.ว. โดยทันที
- พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยทั้ง 8 พรรค ต้องธำรงความสามัคคีอย่างเหนียวแน่น จับมือร่วมกันเป็นปึกแผ่นในการร่วมรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยอย่างมั่นคง
- พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยทั้ง 8 พรรคต้องยึดมั่นในสัจจะสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ไม่ลดระดับสัญญาทางนโยบายใดๆ ที่ให้ไว้กับประชาชนแม้แต่ข้อเดียว เพราะเห็นว่าไม่อาจทนทานการดูหมิ่นเกียรติและศักดิ์ศรีต่อประชาธิปไตยได้อีกต่อไป จึงขอเชิญชวนคนทุกช่วงวัย ทุกอาชีพ ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ร่วมกันใช้สิทธิเสรีภาพในการขับเคลื่อนเรียกร้องต่อ ส.ว. และพรรคการเมือง เพื่อให้เจตจำนงของประชาชนได้รับการเคารพและนำไปปฏิบัติอย่างแท้จริง
จากนั้นผู้ชุมนุมได้ทำการวางดอกไม้จันทน์และเผาโลงศพเชิงสัญลักษณ์ ตามชื่อกิจกรรม ฌาปนกิจ ส.ว. และศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมกับจุดพลุส่งท้ายกิจกรรม ก่อนยุติการชุมนุมในเวลา 22.30 น.