ย้อนไปเมื่อ 18 ปีก่อน ในยุคที่ดนตรีฮิปฮอปและเพลงแรปทำให้ใครหลายคน ‘เหวอ’ ว่าสิ่งที่พวกเขาฟังอยู่คือเพลงอะไร วันหนึ่ง ตั้ม-สุวิชชา สุภาวีระ พนักงานขายเทปที่ร้าน Tower Records ในวัย 22 ปี เริ่มคิดที่จะทำอัลบั้มเพลงฮิปฮอปที่ตัวเองชอบออกมาในชื่อ Dajim
ด้วยจังหวะจะโคนของดนตรีที่สนุกสนาน เล่าเรื่องประสบการณ์รอบตัวที่เขาเจอมาด้วยเนื้อเพลงที่หยาบคาย ตรงไปตรงมา จนชื่อเสียงของเขาเริ่มสะเทือนโลกใต้ดิน กลายเป็นหนึ่งในหัวหอกที่บุกเบิกเส้นทางให้แนวเพลงฮิปฮอปเริ่มเป็นที่รู้จัก ร่วมกับแรปเปอร์รุ่นใหญ่อย่าง โจอี้ บอย และ ไทยเทเนี่ยม หลังจากนั้นชีวิตของเขาผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านจุดสูงสุดในชีวิต และค่อยๆ ถอยหลังหายไปจากวงการจนเริ่มถูกลืมเลือนไป
ตัดภาพมายุคปัจจุบัน ฮิปฮอปกลายเป็นดนตรีกระแสหลักที่เราได้ยินทุกที่ทุกเวลา มีแฟนเพลงหลายพันคนยินดีซื้อบัตรเพื่อฟังเหล่าแรปเปอร์ขึ้นไปฟาดคำกลอนใส่กันบนเวที Rap is Now ช่วงที่ทุกอย่างกำลังเฟื่องฟู ดาจิมในวัย 40 ปี เปรียบตัวเองเหมือนคุณลุงที่คอยยืนมองและส่งแรงเชียร์ในวันที่หลานๆ ต้องขึ้นไปประกวดความสามารถบนเวที
แม้ว่าภาพที่เขาอยากเห็นมาตลอดชีวิตจะเพิ่งเกิดขึ้นในวันที่แสงไฟไม่ได้สาดส่องมาที่ตัวเขาอีกแล้ว คุณลุงคนนี้ไม่เคยคิดอิจฉา แม้ว่าเขาจะไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับความรู้สึกนั้น กลับมีแต่ความปลื้มใจแทนแรปเปอร์รุ่นใหม่ที่มีคนรักและให้การยอมรับมากขนาดนี้ จนถึงขนาด ‘น้ำตาแรปเปอร์’ ที่ไม่ได้เสียให้ใครง่ายๆ ต้องหลั่งออกมา
ในฐานะแรปเปอร์รุ่นพี่ที่บุกเบิกวงการฮิปฮอปเมืองไทยตั้งแต่วันที่ยังไม่มีคนรู้จัก รู้สึกอย่างไรบ้างพอได้เห็นว่าวันหนึ่ง น้องๆ แรปเปอร์รุ่นใหม่มีพื้นที่ยืนเป็นของตัวเอง มีเวทีให้ขึ้นไปโชว์ความสามารถ และมีคนให้การยอมรับมากขนาดนี้
ผมไปตั้งแต่ Rap is Now ซีซัน 2 รอบชิงชนะเลิศที่ Repaze ได้แชมป์ นึกถึงภาพเก่าๆ ผมน้ำตาไหลเลยนะ เมื่อ 20 ปีที่แล้วไม่เคยมีอะไรแบบนี้ ย้อนไปตั้งแต่วันที่ผมไปยืนดูวง TKO ศิลปินฮิปฮอปเบอร์แรกๆ ของเมืองไทยเล่นคอนเสิร์ต แล้วทุกคนยืนงงกันหมด เพลงอีหยังหว่า (หัวเราะ) ไม่มีใครเก็ตเลยว่าเพลงที่เขาร้องอยู่คืออะไร จนวันที่ผมเริ่มทำเพลงอัลบั้มใต้ดิน ไม่มีคนช่วย ไม่มีคนสนับสนุน ต้องตัดปกเทป แปะสติกเกอร์เอง แบกเทปใส่กล่องเอาไปขายร้านพี่เปี๊ยก ดีเจสยาม, ร้านน้อง ท่าพระจันทร์, ป้าโด ร้านโดเรมี ฯลฯ วันนั้นสิ่งที่ทำมันไม่ใช่อะไรเลย นอกจากความฝันของตัวเอง แต่คนอื่นเขายังไม่ได้อินกับความฝันนั้น แต่วันนี้ดูสิ ฮิปฮอปกลายเป็นหนึ่งในเพลงกระแสหลัก ทุกร้านต้องเปิด แล้วไม่ใช่แค่นั้น ยังมีเวทีให้แรปเปอร์รุ่นใหม่ๆ ขึ้นไปโชว์ จัดเวทีเป็นสนามมวยเหมือนเมืองนอก พูดอะไรคนก็กรี๊ด เฮกันทุกบาร์ มันปลาบปลื้มมากจริงๆ ที่วันหนึ่งสิ่งที่เราเคยพยายามทำมามีคนยอมรับมากขนาดนี้
เคยมีความคิดอยากขึ้นไปยืนบนเวทีแบบนั้นอีกครั้งบ้างไหม
บ้า ไม่ไหวหรอก (หัวเราะ) ด้วยอายุที่มากขึ้น ให้ไปตอนนี้ยอมรับว่าสมองคงไม่เหมือนเดิมแล้ว เพราะการแรป การโฟลว์ ต้องมีการฝึกฝนตลอดเวลา แล้วผมไม่เคยฝึกเรื่องแรปแบตเทิลมาเลย ทำเพลงอย่างเดียว อย่างที่เขาพูดกันในโซเชียลแหละ แรปสดกับแรปจด คือช่วงหลังทำเพลงมากๆ กลายเป็นผมเป็นสายแรปจดมาตลอด ต้องกลับไปฝึกก่อน ซึ่งแปลกนะ ตอนเด็กๆ ผมก็แรปสดมาตลอด แต่พอโตขึ้นมาทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว มีคนพูดเยอะเหมือนกันนะว่าทำไมถึงไม่ไป แต่ถ้าไปจริงๆ ผมว่าโดนด่าเละเทะแน่ (หัวเราะ) หนึ่ง B-King ไปยังโดนตบ ซึ่งเราต้องยอมรับก่อนว่าบนเวทีมันเหมือนลงไปต่อยมวย ไม่มีทางที่คุณจะต่อยได้ฝั่งเดียว มันต้องโดนหมัดอยู่แล้ว แถมอันนี้ไม่ใช่หมัดคู่ต่อสู้อย่างเดียว ดีไม่ดีมีหมัดคนดูมาด้วย (หัวเราะ) แต่ไม่แน่อีกสักปีสองปีอาจจะไปก็ได้ ขอฝึกก่อน
มีอะไรอยากฝากถึงแรปเปอร์รุ่นใหม่ หรือวงการฮิปฮอปในยุคต่อไปบ้างไหม
ถ้าเป็นน้องๆ แรปเปอร์ผมคงไม่มีอะไรพูดถึงนะ เพราะเชื่อว่าสิ่งที่พวกเขาทำดีอยู่แล้ว ส่วนผมคงเป็นเหมือนคุณลุงแก่ๆ ที่คอยให้กำลังใจอยู่ไกลๆ ตามไปดูหลานๆ เวลาได้ขึ้นคอนเสิร์ต แค่อยากให้ระวังไว้อย่างหนึ่งว่า ไม่ว่าจะทำเพลงของตัวเองหรือขึ้นเวทีไปแบตเทิลกับใคร อย่าคิดว่าเราต้องขึ้นไป ‘แข่ง’ กับใคร เราเอาชนะตัวเองให้ได้อย่างเดียวก็พอแล้ว อยู่บนเวทีก็คิดว่าจะขึ้นไปแรปให้ดีที่สุด เวลาทำเพลงก็คิดว่าจะตั้งใจผลิตผลงานออกมาให้กับโลกนี้ให้ดีที่สุดแค่นั้นก็พอ ซึ่งผมเชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะคิดแบบนั้นอยู่แล้ว
สิ่งที่อยากพูดถึงจริงๆ น่าจะเป็นเรื่องของแฟนคลับมากกว่า จริงๆ เรื่องนี้มีมาตั้งนานแล้วนะ เหมือนคนไทยยังมีวัฒนธรรมชอบเปรียบเทียบ ชอบจับให้คนเป็นคู่แข่งกันอยู่ ตั้งแต่โจอี้ บอย กับดาจิม หรือ ก้านคอคลับ กับไทยเทเนี่ยม คนนั้นเจ๋งกว่า คนนี้เก๋ากว่า ซึ่งผมกล้าพูดเลยนะว่าตัวศิลปินเขาไม่มาไฟต์กันหรอก มีแต่แฟนคลับไปสร้างประเด็นให้เขา (หัวเราะ) พวกเขาคิดแค่ว่าต่างคนต่างทำมาหากิน แค่ผลิตผลงานออกมาให้ประเทศนี้แค่นั้นเอง
ในแรปแบตเทิลก็เหมือนกัน ทุกคนมีของดีและสไตล์เป็นของตัวเอง แรปเปอร์รุ่นใหม่มีคนเก่งๆ เยอะมาก อย่างเจ้าอ้วน (กอล์ฟ-ฟักกลิ้ง ฮีโร่) ก็เก่งมาก สไตล์เจ้าบทเจ้ากลอน ปู่จ๋าน ลองไมค์ (a.k.a. PMC) หรือคนใน Rap is Now ทุกซีซัน ผมว่ามันน่าเสียดายที่เราจะเอาเวลามานั่งเปรียบเทียบหาจุดแย่ของอีกคนหนึ่งเพื่อมาทำให้คนที่ตัวเองเชียร์เหนือกว่า ผมว่าเอาเวลาไปเสพด้านที่ดี ด้านที่เก่ง ด้านที่มีความสามารถของพวกเขา แล้วผลักให้เขาเป็นแรงสำคัญในการพัฒนาวงการต่อไปดีกว่า
มีแรปเปอร์รุ่นใหม่คนไหนที่คุณประทับใจเป็นพิเศษบ้าง
ผมยกย่อง เจ้าโต้ง (a.k.a. 2P วง Southside) จำได้ว่าตอนปี 2548 ผมไปเล่นคอนเสิร์ตที่ภูเก็ต เจ้าของร้านมาบอกว่าขอให้เด็ก 4 คนมาเล่นเป็นวงเปิดให้ผม ภาพที่ผมเห็นคือเด็กอายุแค่ 13-14 ปี มายืนแรปๆๆๆ บนเวทีให้คนอื่นฟัง ซึ่งตอนผมอายุเท่านั้น ผมทำอะไรอยู่ยังจำไม่ได้เลย พอคอนเสิร์ตจบ เด็กพวกนั้นบอกว่าผมเป็นไอดอล เอาแผ่นเพลงที่ทำกันเองมาให้ฟัง แล้วเวลาผ่านไป หนึ่งในเด็กกลุ่มนั้นก็โตมากลายเป็น 2P ของวง Southside ที่ไปเล่นที่ไหนคนดูก็เต็มแทบทุกคอนเสิร์ต มันแสดงให้เห็นว่าตั้งแต่อายุ 13 เขาไม่เคยวอกแวกออกนอกเส้นทางที่เขาตั้งใจเอาไว้เลย ผมเคารพเขามากนะในเรื่องนี้
เสียใจไหมที่ฮิปฮอปเพิ่งมาบูมมากๆ ในวันที่คุณไม่มีโอกาสได้ยืนอยู่หน้าแสงไฟแบบนั้นอีกแล้ว
ไม่ครับ ถ้าเราไปเสียใจกับมัน เราจะยืนอยู่ตรงนี้ไม่ได้ จะมัวนั่งคิดว่าทำไมเราไม่เป็นเหมือนก่อน ก็มันจะเป็นอย่างนั้นได้ยังไงเล่า ชีวิตคนมันมีเปลี่ยนไป ตอนนี้ผ่านยุคของเรามาแล้วก็ต้องยอมรับ ไม่จำเป็นต้องดังหรอก แค่มีพื้นที่ยืนก็พอแล้ว คือยังมีแรงทำเพลงออกมา อาจจะไม่เยอะเหมือนเมื่อก่อน แต่ยังปล่อยปีละเพลงสองเพลง แต่เป็นเพลงที่เราอยากทำจริงๆ หรือในแต่ละเดือนมีงานแค่ 1 หรือ 2 งาน แต่เวลาขึ้นไปร้องเพลงแล้วผมโคตรมีความสุขเลย แค่นั้นก็พอแล้ว
แสดงว่ามีช่วงที่คุณต้องร้องเพลงที่ไม่อยากร้อง และขึ้นไปร้องเพลงแบบไม่มีความสุขด้วยเหรอ
ไม่ถึงขนาดนั้นหรอก ผมพูดแบบนี้ดีกว่า ผมเริ่มต้นจากศูนย์ ไม่มีอะไรเลยนอกจากเป็นคนชอบฟังเพลง ไปเป็นพนักงานขายเทปที่ทาวเวอร์ เรคคอร์ดส์ แล้วก็เริ่มอยากมีอัลบั้มเก็บไว้เป็นที่ระลึกให้ตัวเอง คิดแค่นั้นเลยนะ ไม่ได้อยากดังอะไรเลย ทำเพราะความชอบ ไฟแรงมากตอนนั้น อยากทำเพลงมาก ให้ทำอะไรก็ยอม เริ่มทำอัลบั้มแรก Hip Hop Underworld ในปี 2543 เงียบหน่อยๆ แล้วปีต่อมาทำอัลบั้มสอง Hip Hop Above The Law ปรากฏว่าคนชอบ ดังมากถึงขนาดโดนจับ (หัวเราะ) หลังจากนั้นก็เซ็นสัญญากับแกรมมี่ทำชุด แร็พไทย ตอนปี 45 เป็นยุคเฟื่องฟูสุดๆ ออกรายการ Twilight Show ได้กรอบรูปยักษ์แบบที่ไม่เคยคิดว่าจะมี ได้เล่นคอนเสิร์ตใหญ่ๆ ทุกเวที มีงานโชว์เยอะมาก มีรายได้คืนละ 2-3 หมื่น แต่กลายเป็นการที่ได้ทุกอย่างมาหมดแล้วกับการต้องทำอะไรซ้ำๆ มันเริ่มทำให้ไฟที่เคยมีค่อยๆ หายไป
จากที่เคยอยากขึ้นไปร้องเพลงมากๆ ตื่นเต้นกับการขึ้นไปโชว์ให้คนดูเยอะๆ กลายเป็นคิดแค่ว่าเมื่อไหร่จะครบเวลาโชว์ จะได้ลงจากเวทีสักที หรือเวลาไปไหนมีคนจำได้ มาขอถ่ายรูป แรกๆ ยังสนุกอยู่เป็นเรื่องธรรมดา แต่ตอนหลังเวลาไปไหน หิวข้าวมาก อยากนั่งกินข้าวสบายๆ หรือยืนฉี่อยู่ ก็จะได้ยินตลอดว่าแรปสดให้ฟังหน่อย อารมณ์เหมือนคนเจอพี่โน้ต (อุดม แต้พานิช) หรือพี่หม่ำ เท่ง โหน่ง แก๊ง 3 ช่า ที่มีแต่คนบอกว่าเล่นตลกให้ดูหน่อย ผมเข้าใจความรู้สึกตอนนั้นเลยว่า เฮ้ย ขอแค่ยืนฉี่ให้เสร็จก่อนไม่ได้เหรอ (หัวเราะ)
แค่นั้นยังไม่พอ ตอนหมดสัญญากับแกรมมี่ ปี 2550 ก็ไปทะเลาะกับเขา ไม่ต่อสัญญา ออกมาทำอัลบั้ม Independence Day เป็นแบบใต้ดินเองอีกครั้ง คิดว่าปีกกล้าขาแข็ง ทั้งๆ ที่มาคิดตอนนี้เขามีเหตุผลของเขา แถมยังทำเพลงด่าเขาอีก 2 เพลงด้วย (หัวเราะ) แล้วพอกลับมาทำคราวนี้ไม่ประสบความสำเร็จแล้ว ปล่อยซีดีออกมาวันแรก วันต่อมามี MP3 ของเราวางขาย ขายซีดีไม่ได้ เพลงไม่ดังเหมือนเมื่อก่อน แล้วเข้าสู่ช่วงขาลงยาวเลย
ผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมาได้อย่างไร
โชคดีที่ผมมีพื้นฐานพุทธศาสนาค่อนข้างดี คือเรียนพุทธศาสนาทุกวันอาทิตย์ตั้งแต่เด็ก เห็นผมเป็นแบบนี้ก็เถอะนะ (หัวเราะ) คือต่อให้เคยทำตัวเหลวไหล หลงไปกับแสงสี ชื่อเสียง ความสำเร็จ และรายได้ที่เข้ามาเยอะมากเท่าไหร่ แต่พอวันหนึ่งที่สิ่งเหล่านั้นหายไป เรื่องสัจธรรมและความไม่แน่นอนยังอยู่ในหัวผมเสมอ ทำให้ผมค่อนข้างปลงและยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้ดี เมื่อก่อนมีรายได้คืนละ 3 หมื่น เราก็เอาไปใช้หมด ตอนนี้มีให้ใช้วันละ 200 บาท เราก็อยู่ได้เหมือนกัน เมื่อก่อนเปิดเหล้าขวดละ 3,500 มิกเซอร์ขวดละหลายสิบ เดี๋ยวนี้อยู่บ้านซื้อเบียร์ขวดละ 60 บาท กิน 2 ขวดก็อยู่ได้แล้ว หรือถ้าหิวไม่มีเงิน ไข่ไก่ฟองละ 5 บาท ก็ช่วยชีวิตเราได้แล้ว
แล้วการใช้ชีวิตนิ่งๆ แบบนี้ไม่ใช่เรื่องแย่เลย เวลาอยู่บ้านใช้ชีวิตนิ่งๆ เก็บพลังงานเอาไว้ระเบิดเวลาออกไปข้างนอก ซึ่งนั่นมันทำให้ผมกลับมาร้องเพลงได้อย่างมีความสุขอีกครั้ง ตอนนี้ผมอายุ 40 แล้วนะ แต่เล่นคอนเสิร์ต 1-2 ชั่วโมงได้แบบไม่รู้สึกเหนื่อย แล้วสนุกมากขึ้นด้วย เพราะหลังจากได้กลับมาคิดทบทวนเลยได้รู้ว่า เออ นี่ล่ะคือสิ่งที่เรารัก สิ่งที่เราอยากทำมันจริงๆ และตอนนี้ความสนุกอีกอย่างคือการพยายามขึ้นไปโชว์ให้คนได้รู้ว่าเพลงในยุคเก่าแบบที่ผมเคยโตมามันดียังไง เพราะตอนนี้ผมไม่ได้ขายงานร้องเพลงอย่างเดียว ผมมีทีมดีเจเปิดเพลงด้วย ก็จะเน้นเปิดเพลงยุคเก่าๆ ผสมกับเพลงตัวเองสลับๆ กันไปให้มีสีสันมากขึ้น
เสน่ห์สำคัญที่สุดของเพลงในยุคนั้นคืออะไร
ความยากครับ อย่างแรกคือความยากในการเข้าถึงเพลงแต่ละเพลง เมื่อก่อนถ้าอยากฟังเพลงฮิปฮอป เราต้องไปร้านเล็กๆ หรือแหล่งที่มีฝรั่งเขาไปเที่ยวกัน ไม่มีทางได้ยินในผับทั่วไปแน่นอน เพราะฉะนั้นถ้าเราไป นั่นคือการไปฟังดนตรีจริงๆ เวลาได้ยินเพลงอะไรแล้วรู้สึกน่าสนใจ ถ้าเป็นสมัยนี้หยิบโทรศัพท์มือถือเสิร์ชหาได้เลย ซึ่งไม่นานเดี๋ยวก็ลืมเพราะมันมีเพลงใหม่ๆ เข้ามาเยอะมาก แต่ถ้าเป็นเมื่อก่อน อยากรู้ว่าเพลงนั้นคืออะไรต้องจำ แล้วไปหาซื้อที่ร้านดีเจสยาม ร้านโดเรมี ร้านน้อง ท่าพระจันทร์ แล้วต้องซื้อมาทั้งอัลบั้มของศิลปินคนนั้น พอได้มาเราก็จะลงลึกกับมันมาก นั่งศึกษาดนตรี ศึกษาเนื้อเพลง ศึกษาทุกอย่าง ฟังซ้ำแล้วซ้ำอีก ใช้นิ้วหรือปากกากรอซ้ำไปซ้ำมาจนเทปยานแล้วเอาไปแช่ตู้เย็น แล้วผมว่าการที่มีเทปหรือซีดีให้เก็บ มันให้ความรู้สึกน่าภูมิใจในการเก็บสะสมมากกว่าการอัดเพลงเป็นร้อยเป็นพันในคอมพิวเตอร์เยอะเลย
อย่างที่สองคือความยากในการทำเพลง เดี๋ยวนี้เวลาเข้าห้องอัด ถ้าร้องไม่ได้ก็ร้องทีละบาร์ แล้วเอามาปะต่อๆ กัน แต่เมื่อก่อนอย่างน้อยๆ ต้องร้องให้ได้ 16 บาร์แล้วเอามาต่อ เทคโนโลยีที่ยังไม่ทันสมัย มันทำให้เราต้องตั้งใจกับผลงานของเรามากๆ เรารู้ว่าโอกาสในการทำเพลงมีน้อย เพราะฉะนั้นพอเราได้โอกาสแต่ละครั้ง ทุกคนจะตั้งใจทำเพลงมากๆ เพราะนั่นคือผลงานที่จะอยู่กับพวกเราไปตลอดชีวิต มันไปอยู่ในเทปคาสเซตต์ ในฟิสิคัลซีดีที่ไม่มีวันหายไปไหน ไม่เหมือนสมัยนี้ที่ทำเพลงแป๊บเดียวเสร็จ ออกมาแปะในยูทูบ โอเค ไม่ปฏิเสธว่าเพลงนั้นจะอยู่บนโลกไปตราบเท่าเซิร์ฟเวอร์อินเทอร์เน็ตจะพัง แต่ในความรู้สึกล่ะ มันมีกี่เพลงที่จะอยู่ในใจคนได้ ผมว่ายอดวิวเป็นร้อยล้านที่โชว์ใต้คลิป ยังไม่เท่าเทป 1 ตลับหรือซีดี 1 แผ่น ที่ใครสักคนเก็บรักษาเอาไว้อย่างดีเลย
แต่ในยุคหลังคุณก็ทำเพลงออกมาแปะในยูทูบแบบนั้นเหมือนกัน
นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของการยอมรับความเปลี่ยนแปลง ผมบอกตรงนี้ได้เลยว่าจะไม่มีทางได้เห็นฟิสิคัลซีดีอัลบั้มเต็มออกมาอีกแล้ว เพราะผมรู้ว่าทำออกมามีแต่เจ๊ง แต่ผมยังมีความสุขกับการทำเพลงอยู่ ความรู้สึกในการทำเพลงของผมเหมือนเมื่อก่อนทุกอย่าง ถึงแม้จำนวนเพลงจะไม่มากเท่าเดิม แต่ว่าทุกเพลงต้องตั้งใจทำมากๆ แล้วจะยอดวิวเท่าไหร่ก็ตาม ไม่เป็นไร ขอแค่ยังได้ทำเพลงออกมาพอ
แล้วตอนนี้ผมสนุกกับการเลือกทำเพลงแบบไหนก็ได้โดยที่ไม่ต้องมีข้อจำกัด เมื่อก่อนตอนอยู่ใต้ดิน คนคาดหวังในความรุนแรง หยาบคาย พอขึ้นมาบนดิน กรอบของสังคมต้องการให้ไม่พูดคำหยาบ แล้วแฟนเพลงใต้ดินบอกว่า โห ทำไมอัลบั้มไม่หยาบคายเลย เวลาทำแต่ละเพลงต้องมีความคิดพวกนี้เข้ามาอยู่ในใจตลอด แต่ตอนนี้ผมจะทำเพลงแบบไหนขึ้นอยู่กับอารมณ์ของ ‘คุณดาจิม’ ณ ตอนนั้นเลย อาจจะเป็นเพลงเรียบร้อยๆ ใสๆ ไม่มีคำหยาบ หรือบางทีอาจจะกลับมาใต้ดินแบบสุดๆ อีกก็ได้ มันอิสระมากเลยนะตอนนี้
เคยมีความคิดสักช่วงไหมว่าจะเลิกทำเพลง
ไม่เคยเลย จะมากจะน้อย จะมีคนฟังหรือเปล่าผมก็จะทำ และผมปฏิญาณได้เลยว่าจะไม่มีวันไหนที่คุณจะได้ยินคำว่า “ดาจิมจะไม่ทำเพลง” ออกมา แล้วเดี๋ยวผมจะทำให้ดู
Photo: ปรมภัทร ผูกทอง
- ดาจิม คือศิลปินคนแรกที่โดนตำรวจจับกุมจากนโยบายจัดระเบียบสังคมในปี 2544 จากข้อหาเนื้อเพลงในอัลบั้ม Hip Hop Above The Law (เสือกทำไม และ มันอยู่ใต้พรม Hardcore Version) มีเนื้อหาที่หยาบคายและดูหมิ่นเจ้าหน้าที่ตำรวจ
- ดาจิม เคยทำเพลงประกอบละครเรื่อง อุทัยเทวี ทางช่อง 7 ที่เอาเพลงฮิปฮอปและการแรปมาผสมกับเนื้อหานิทานพื้นบ้านได้อย่างน่าสนใจ และจะมีเพลงประกอบละครเรื่อง กระสือ, สี่ยอดกุมาร และ ขวานฟ้าหน้าดำ มาให้ฟังกันอีกในอนาคต
- ก่อนมาเป็นนักร้อง ดาจิมเรียนด้านการขายมาก่อน และเคยเปิดร้านขายสินค้าตามตลาดนัดแทบทุกอย่าง รวมทั้งอุปกรณ์เสริมความงามของผู้หญิงเป็นรายได้เสริมตั้งแต่สมัยเรียน ปวช.
- ติดต่องานจ้างดาจิมโดยตรงได้ที่แฟนเฟจ DSC.Dajim และ Dajim Pedhuayak